ถือศีลอดเดือนรอมฎอนยังออกกำลังกายหรือแข่งขันกีฬาได้ไหม


2,037 ผู้ชม

เป็นที่ถกเกียงกันมานานว่านักกีฬาที่ต้องแข่งขันหรือฝึกซ้อมหรือแม้กระทั่งผู้นิยมเล่นกีฬาสมควรถือศีลอดไหม


ถกเกียงกันมานานว่า นักกีฬาที่ต้องแข่งขันหรือฝึกซ้อมหรือแม้กระทั่งผู้นิยมเล่นกีฬาสมควรถือศีลอดในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับมุสลิมที่อยู่ในวัยเข้าเกณฑ์หรือไม่ การถือศีลอดที่ต้องอดอาหารอดการดื่มแม้กระทั่งน้ำเปล่าตลอดช่วงเวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกอย่างนั้นยังสามารถฝึกซ้อมหรือเล่นหรือแข่งขันกีฬาได้หรือไม่ เป็นเพราะมีผู้ตั้งคำถามเช่นนี้เสมอ ทีมวิจัยจากหลายประเทศจึงพยายามหาข้อสรุป รวมถึงทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Sfax ประเทศตูนีเซีย นำทีมโดย ดร.Abaidia AE และคณะ ซึ่งทำวิจัยแบบ Meta-Analysis จากงานวิจัยทั่วโลกหลายชิ้น ตีพิมพ์ผลสรุปในวารสาร Sport Med ค.ศ.2020 ลองไปดูกัน

งานวิจัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ว่าการถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนส่งผลต่อสมรรถภาพทางร่างกายอย่างไรบ้าง ทำโดยค้นหาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จากงานวิจัยเรื่องผลการถือศีลอดเดือนรอมฎอนต่อสมรรถภาพทางร่างกายที่ทำกันทั่วโลก โดยค้นจากฐานข้อมูลที่นิยมใช้กันมากที่สุด ได้แก่ PubMed, ScienceDirect และ Web of Science เก็บข้อมูลย้อนหลังไล่เรียงกลับมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2019 ในการวิเคราะห์ผู้วิจัยลดความเสี่ยงของอคติที่อาจเกิดขึ้นโดยใช้ระเบียบวิธี Downs and Black รายงานความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (MDs) และช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) โดยใช้แบบจำลองผลกระทบแบบสุ่ม

ถือศีลอดเดือนรอมฎอนยังออกกำลังกายหรือแข่งขันกีฬาได้ไหม

ผลการศึกษาที่ได้จากงานวิจัยทั้งหมด 11 เรื่อง พบว่าการถือศีลอดเดือนรอมฎอนแม้ส่งผลเสียต่อกำลังเฉลี่ยและกำลังสูงสุดสำหรับการทดสอบการวิ่งปั่นหรือการวิ่งแบบ sprint ที่ทำซ้ำๆหลายครั้งในการซ้อมช่วงเช้า โดยพบว่าประสิทธิภาพการวิ่งเร็วได้รับผลกระทบอยู่บ้างจากการถือศีลอดเดือนรอมฎอน ทว่าในระหว่างการแข่งขันกลับไม่พบปัญหา ในส่วนประสิทธิภาพของการเล่นกีฬาแบบแอโรบิก เป็นต้นว่า การวิ่งทางไกล มาราธอน แม้กระทั่งการแข่งขันกีฬาประเภทลาน พบว่าความแข็งแรงของร่างกาย ความสูงของการกระโดด ดัชนีความล้า และการทำงานทั้งหมด ยังเป็นปกติ ไม่เกิดผลกระทบจากการอดอาหารในช่วงเดือนรอมฎอนแต่อย่างใด

ข้อสรุปของทีมวิจัยคือพารามิเตอร์ประสิทธิภาพทางกายภาพส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาจากการถือศีลอดเดือนรอมฎอนไม่ว่าจะทำการทดสอบในตอนเช้าหรือตอนบ่าย นักกีฬาทั้งนักวิ่งปั่น วิ่งทางไกล ทั้งนักกีฬาประเภทลู่และลานยังสามารถเข้าร่วมการแข่งขันในสภาวะการอดอาหารได้ โดยมีผลกระทบต่อสมรรถภาพร่างกายเพียงเล็กน้อย สิ่งที่ต้องระวังคือการปรับการนอนหลับและโภชนาการให้เหมาะสมทั้งนี้เพื่อลดโอกาสการสะสมความเหนื่อยล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการแข่งขันลักษณะทัวร์นาเมนท์ที่ต้องใช้เวลาหลายวัน ระวังกันเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

credit: Dr.Winai Dahlan

อัพเดทล่าสุด