มีคำถามอยู่เสมอว่า“มุสลิมกินอาหารเจได้หรือไม่?” ดังนั้นบทความนี้จะเป็นคำตอบให้แก่มุสลิม และผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมได้เป็นอย่างดีว่า ตกลงหลักการศาสนาอนุญาตให้มุสลิมกินอาหารเจได้หรือไม่?
ทำไมมุสลิมจึงกินอาหารเจไม่ได้ ? โดย อ.มุรีด ทิมะเสน
มุสลิมในยุคปัจจุบันดำเนินชีวิต ร่วมปะปนกับบุคคลที่ไม่ใช่มุสลิมเป็นจำนวนาก แต่ในการปะปนดังกล่าวบางครั้งมุสลิมเองก็แยกแยะไม่ออกว่าอะไรคืออิสลาม และอะไรที่ไม่ใช่อิสลาม จึงทำให้มุสลิมบางคนนำสิ่งที่มิใช่อิสลามมาปฏิบัติโดยเข้าใจว่าสิ่งนั้นอิสลามอนุญาตให้กระทำ หรือกระทำแล้วไม่เป็นอะไร ทำนองนี้เป็นต้น ผู้เขียนจึงตระหนักในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง โดยก่อนหน้านี้ผู้เขียนเองได้เขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ไม่ใช่อิสลามมาแล้วหลายเรื่อง เช่นเรื่อง ทำไมมุสลิมร่วมเทศกาลลอยกระทงไม่ได้? เป็นต้น แต่บทความต่อไปนี้ผู้เขียนจะนำเสนอเรื่องที่ใกล้ตัวมุสลิมเช่นกัน อีกทั้งผู้เขียนได้รับคำถามอยู่เสมอว่า“มุสลิมกินอาหารเจได้หรือไม่?” ดังนั้นบทความนี้จะเป็นคำตอบให้แก่มุสลิม และผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมได้เป็นอย่างดีว่า ตกลงหลักการศาสนาอนุญาตให้มุสลิมกินอาหารเจได้หรือไม่? (หมายเหตุ บทความดั่งต่อไปนี้เป็นบทความที่ชี้แจงให้มุสลิมโดยทั่วไปได้รับทราบว่า สาเหตุใดที่มุสลิมร่วมเทศกาลกินเจไม่ได้? เช่นนั้นจึงมีความจำเป็นอยู่เองที่จะต้องหยิบยกตำนาน และความเชื่อการกินเจมาอ้างอิงประกอบการเขียนเพื่อให้มุสลิมได้ทราบว่า ด้วยเหตุผลใดมุสลิมจึงร่วมเทศกาลกินเจไม่ได้เท่านั้นเอง แต่การหยิบยกตำนาน หรือความเชื่อดังกล่าวนั้นจึงมิใช่เพื่อเป็นการตำหนิแต่ประการใดทั้งสิ้น)
ความหมายของคำว่า“เจ”
คำว่า“เจ”ในภาษาจีนมีความหมายทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานว่า“อุโบสถ”คำว่า“กินเจ”ตามความหมายที่แท้จริงคือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวันดังเช่นที่ชาวพุทธในประเทศไทยถือ“อุโบสถศีล”หรือ“รักษาศีล8”จะไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว
แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายานไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมเรียก“การไม่กินเนื้อสัตว์”ไปรวมกับคำว่า“กินเจ”ซึ่งเป็นการถือศีลไปด้วย ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า“กินเจ”ฉะนั้นความหมายก็คือ“คนกินเจ”มิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่คนที่กินเจยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์สะอาด งดงามทั้งกาย วาจา ใจ เป็นการถือศีลบำเพ็ญธรรมไปด้วยพร้อมกัน เช่นนี้จึงจะเรียกว่า“กินเจที่แท้จริง”(หนังสือ“กินเจ เพื่อสุขภาพี่ดี จิตใจบริสุทธิ์”หน้า 8)
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่า“เจ”เป็นคำที่มีความหมายในเชิงของศาสนาอย่างชัดเจน โดยคำว่า“เจ”มีความหมายว่า การรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน ซึ่งนัยความหมายนั้นยังไปสอดคล้องกับการปฏิบัติรักษาศีล 8 ของชาวพุทธที่จะไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้วอีกต่างหาก จึงสรุปในเบื้องต้นได้เลยว่า ที่มาของอาหารเจเป็นเรื่องศาสนา หรือเป็นความเชื่ออย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อพื้นฐานของอาหารเจเป็นเรื่องของศาสนา มุสลิมจึงไม่สามารถเข้าไปร่วมเทศกาลการกินเจ หรือซื้ออาหารเจมารับประทานได้เลยแม้แต่น้อย เพราะพระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า
“لَكُمْدِيْنُكُمْوَلِيَدِيْنِ”
ความว่า“สำหรับพวกท่าน คือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันคือศาสนาของฉัน”
(สูเราะฮฺอัลกาฟิรูน:6)
ฉะนั้นเรื่องของศาสนาพุทธ เช่นเรื่องการรักษาศีล 8 ก็เป็นเรื่องของชาวพุทธที่พวกเขาจะต้องปฏิบัติกัน ส่วนเรื่องการกินเจ เป็นเรื่องของพี่น้องชาวจีน ซึ่งต้องการทำให้ตนเองบริสุทธิ์โดยไม่รับประทานเนื้อสัตว์ นั่นก็เป็นเรื่องของพวกเขา โดยสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับมุสลิมเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกิจกรรมการกินเจ หรือซื้ออาหารเจมารับประทานก็ตาม
อย่าว่าแต่กระนั้นเลย ตามร้านขายอาหารเจ เราจะพบเห็นตัวอักษรเขียนบนธงสีเหลือง คำนี้อ่านว่า“ไจ”(เจ) แปลว่า“ไม่มีของคาว”เขียนด้วยสีแดงบนพื้นสีเหลืองเสมอ ในช่วงเทศกาลกินเจเดือน 9 จะเห็นอักษรนี้เขียนบนธงสีเหลือง ปักอยู่ตามแผงขายอาหารเจ มองเห็นเป็นสะดุดตาของคนทั่วไป
ชาวจีนถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งสิริมงคลแก่ชีวิตสีเหลืองเป็นสีของผู้ทรงศีล ดังนั้นผู้ที่ตั้งใจถือศีลบำเพ็ญตนให้บริสุทธิ์ ตัวอักษรนี้ย่อมเป็นเครื่องหมายเตือนสติให้ระลึกไว้เสมอว่า“การกินเจงดเว้นเนื้อสัตว์ของคาว คือการปฏิบัติธรรมรักษาศีลของความเป็นมนุษย์ เป็นการเจริญมหาเมตตากรุณาธรรมโดยแท้ อันจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และก่อให้เกิดสันติสุขแก่ทุกชีวิตบนโลก”(หนังสือ“กินเจ เพื่อสุขภาพี่ดี จิตใจบริสุทธิ์”หน้า 8)
ดังนั้นพ่อค้า หรือแม่ค้ามุสลิมที่ขายสินค้า หรือขายอาหารตามร้านค้า หรือตามตลาดทั่วๆ ไปนั้นต้องระมัดระวังอย่านำธงเหลืองที่เขียนอักษรจีนสีแดงมาปักไว้ในร้านของมุสลิมโดยเด็ดขาด เพราะธงนั้นก็มีความเชื่อที่มิใช่ความเชื่อของอิสลามแฝงอยู่ด้วย, ถึงแม้ว่าประเด็นข้างต้นอาจจะมองว่าเป็นประเด็นเล็กๆ แต่เมื่อใดที่อ้างถึงความเชื่อแล้วไซร้ อิสลามก็ถือว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องใหญ่ทันที
บทความที่น่าสนใจ
ตำนานการกินเจ
ประเพณีการกินเจ กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือเริ่มต้นตั้นแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนทุกๆ ปี รวม 9 วัน 9 คืน มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีนนานมาแล้ว โดยการกินเจของจีนนั้นจะประกอบด้วยกิจกรรมหลักสองอย่างนั่นคือ หนึ่ง การรักษาอุโบสถศีล สอง กินของที่ถือว่าเป็นเจ (คือไม่มีเนื้อสัตว์ และผักกลิ่นฉุนอีก 5 ชนิด)
มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับประเพณีการกินเจอยู่หลายตำนาน ตำนานหนึ่งเข้าใจว่าเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว เป็นช่วงที่ประเทศจีนกำลังถูกรุกรานจากชาวแมนจู เมื่อชาวจีนทำสงครามพ่ายแพ้, ชาวแมนจูจึงเข้ายึดครองและบังคับคนจีนให้ยอมรับวัฒนธรรมของชาวแมนจูรวมถึงการโกนศีรษะด้านหน้าไว้เปียยาวด้านหลัง
ในช่วงที่คนจีนสู้รบกับแมนจูนั้น นักรบชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า“หงี่หั่วท้วง”ได้รวมตัวกันต่อสู้กับกองทัพแมนจูอย่างห้าวหาญ ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้พากันถือศีลกินเจนุ่งขาวห่มขาว เพราะเชื่อว่าการประพฤติปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชำระจิตวิญญาณ เกิดความเข็มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทว่าในที่สุดแล้วก็ไม่สามารถต้านทานกองกำลังของชาวแมนจูได้และพ่ายแพ้ไปในที่สุด
เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของเหล่านักรบหงี่หั่วท้วง เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 9 ชาวจีนภายใต้การปกครองของชาวแมนจูจึงพากันถือศีลกินเจ ไม่เสพของมึนเมา ไม่กินเนื้อสัตว์ และไม่กินพืชผักที่มีกลิ่นฉุน ซึ่งมีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม, หัวหอม, หลักเกียว (คือกระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียม แต่มีขนาดเล็กและยาวกว่า), กุยช่าย (ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กว่า) ใบยาสูบ เพราะเชื่อว่าพืชผักเหล่านี้จะเข้าไปเพิ่มความกำหนัดทำลายพลังธาตุในร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะสำคัญภายในทั้งห้า อันได้แก่ หัวใจ ไต ตับ ม้าม และปอดทำงานไม่ปกติ อันนำมาซึ่งความเจ็บไข้ทางร่างกาย
หลังจากนั้น การถือศีลกินเจก็เริ่มได้รับความนิยม แพร่หลายเป็นวงกว้าง และยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ( จากหนังสือ“กินเจ เพื่อสุขภาพี่ดี จิตใจบริสุทธิ์”หน้า 6)
จากตำนานการกินเจข้างต้นสามารถแบ่งออกเป็นประเด็นได้ดั่งนี้
ประเด็นแรกการกินเจเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษซึ่งเป็นนักรบที่เรียกตนเองว่า“หงี่หั่วท้าง”
ประเด็นที่สองการกินเจช่วยทำให้ชำระจิตวิญญาณได้ และทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดความเข้มแข็ง
ประเด็นที่สามการที่ไม่กินพืชผักที่มีกลิ่นฉุน ซึ่งมีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ เพราะเชื่อว่าพืชผักเหล่านี้จะเข้าไปเพิ่มความกำหนัดทำลายพลังธาตุในร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะสำคัญภายในทั้งห้า อันได้แก่ หัวใจ ไต ตับ ม้าม และปอดทำงานไม่ปกติ อันนำมาซึ่งความเจ็บไข้ทางร่างกาย
ผู้เขียนขออธิบายทีละประเด็นดั่งต่อไปนี้
ประเด็นแรกตามหลักการของศาสนาไม่มีการรำลึกถึงบุคคลใดอดีตไม่ว่าจะเป็นการรำลึกในแง่มุมใดก็ตาม ยกเว้นกรณีที่หยิบยกคุณงามความดี หรือถ้อยคำเตือนสติของบุคคลในอดีต หรือทำนองที่ใกล้เคียงกันเช่นนี้อนุญาตให้กระทำ แต่ถ้าเป็นการรำลึกในแง่ของการสรรเสริญ หรือยกยอปอปั้นเกินกว่าสิทธิที่เขาจะได้รับ เช่นนี้ ศาสนาไม่อนุญาตให้กระทำ ตัวอย่างเช่น ยกย่องท่านนบีอีสา (อ่านว่า อี-ซา) เป็นบุตรของพระเจ้า เป็นต้น ฉะนั้นมุสลิมคนใดที่รับประทานอาหารเจก็เท่ากับว่าเห็นด้วย หรือมีส่วนร่วมรำลึกวีรกรรมของเหล่านักรบของจีนในอดีตที่เรียกว่า“หงี่หั่วท้วง”นั่นเอง
ประเด็นที่สองศาสนาอิสลามสอนให้มุสลิมขัดเกลาจิตใจตนเองด้วยคำสอนของศาสนาเท่านั้น อาทิเช่น การขัดเขลาจิตวิญญาณของตนเองด้วยการรำลึกถึงพระองค์อัลลอฮฺ และการนมาซดั่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า
“قَدْأَفْلَحَ مَنْ تَزَكَّىوَذَكَرَاسْمَرَبِّهِ فََصَلَّى”
ความว่า“แน่นอนผู้ที่ขัดเกลาตนเอง ย่อมบรรลุความสำเร็จ, และเขารำลึกถึงนามแห่งพระผู้อภิบาลของเขา แล้วเขาปฏิบัตินมาซ”
(สูเราะฮฺอัลอะอฺลา:14-15)
ฉะนั้นเมื่อมุสลิมร่วมกิจกรรม หรือรับประทานอาหารเจ นั่นก็เท่ากับว่ามุสลิมผู้นั้นเห็นด้วยการต่อการชำระจิตวิญญาณ และทำให้ร่างกายและจิตใจเข็มแข็งด้วยการรับประทานอาหารเจนั่นเอง
ประเด็นที่สามหลักการของศาสนาระบุเรื่องอาหารที่หะลาล (อนุมัติ) และอาหารที่ไม่อนุมัติ (หะรอม) ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นสิ่งใดที่ศาสนาอนุญาตให้รับประทานได้ มุสลิมก็สามารถรับประทานสิ่งนั้นได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ศาสนาอนุญาตให้รับประทานกระเทียม หรือหัวหอมได้เพียงแต่ท่านนบีมุหัมมัดกำชับไว้ว่า ภายหลังที่รับประทานกระเทียม หรือหัวหอมแล้วมานมาซที่มัสญิดโดยไม่ได้บ้วนปาก หรือโดยไม่ได้แปรฟันนั้น ถือว่าน่ารังเกียจที่จะเข้าใกล้มัสญิด เพราะกลิ่นของกระเทียมหรือหัวหอมจะสร้างความรำคาญให้บุคคลอื่น ซึ่งท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
“مَنْأَكَلَفَلاَ يَقْرَبَنَّمَسْجِدَنَا”
ความว่า“บุคคลใดที่รับประทาน (หัวหอม หรือกระเทียม) อย่าเข้าใกล้มัสญิดของเรา”
(บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 5031)
ส่วนกรณีที่มุสลิมจะเชื่อว่าการกินกระเทียม หรือหัวหอมทำให้เพิ่มความกำหนัดทำลายพลังธาตุในร่างกายนั้นคงไม่ได้ เพราะพื้นฐานใดที่ศาสนาอนุญาตให้รับประทานมุสลิมสามารถรับประทานสิ่งนั้นได้อย่างไม่ต้องสงสัย เว้นไว้แต่ว่า สิ่งนั้นจะมีหลักฐานยืนยันว่าทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจริงๆ มุสลิมจึงจะยุติการรับประทานสิ่งนั้นทันที เช่น ใบยาสูบ เป็นต้น แต่เรื่องหัวหอมและกระเทียม (หรือแม้กระทั่งหลักเกียว หรือกุยช่ายเอง) ก็ไม่มีนักวิชาการท่านใดออกมาระบุว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย ส่วนความเชื่อของชาวจีนที่ไม่รับประทานหัวหอมหรือกระเทียม (หลักเกียว และกุยช่าย) ในช่วงเทศกาลกินเจ นั่นเป็นความเชื่อของพวกเขา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับมุสลิมเลยแม้แต่น้อย เมื่อไม่เกี่ยวข้อง นั่นจึงหมายรวมว่า ไม่อนุญาตให้มุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วมกับเทศกาลกินเจในทุกรูปแบบ
ส่วนอีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า ประเพณีการถือศีลกินเจเป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการะพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 อันได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ
ในพิธีกรรมสักการะบูชานี้ สาธุชนในพระพุทธศาสนาต่างสละเวลาและกิจการโลกมาบำเพ็ญศีล ตั้งปณิธานกินเจ บริโภคแต่อาหารผลไม้ งดเว้นอาหารเนื้อสดของคาวด้วยการสมาทานรักษาศีล 3 ข้อดังนี้
- เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาบำรุงชีวิตตน
- เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเลือดตน
- เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเนื้อตน
พิธีกรรมบูชาดาวนพเคราะห์นี้นับว่ามีอานิสงส์มากมายทั้งเป็นกรรมคติและเกิดธรรมมิตรสู่บรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย ต่างคนต่างมีจิตเบิกบานผ่องแผ้ว ถือศีลกินเจ นุ่งขาวห่มขาวอันเป็นปัจจัยเตือนตนเองให้สำนึกว่าคนเป็นคนบริสุทธิ์ขาวสะอาดทั้งกาย วาจา และใจ อยู่ในศีลธรรมและสามัคคีธรรม พรั่งพร้อมอยู่แล้วก็จะให้อภัย อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน ร่วมกันน้อมนมัสการเทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์นี้ เป็นการแสดงความเคารพในพระเมตตากรุณาธิคุณและร่วมกันถวายเครื่องสักการะบูชา น้อมขอพระมหากรุณาธิคุณได้โปรดประทานพระพรให้อยู่เย็นเป็นสุข
มีคนเป็นจำนวนมากที่ได้รับอานิสงส์จากการถือศีลกินเจเพียง 9 วัน 9 คืน โดยสามารถสัมผัสรู้ได้ด้วยตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจจึงถือเอาโอกาสอันดีนี้เป็นจุดเริ่มต้นตั้งปณิธานเลิกกินเนื้อสัตว์ไม่เบียดเบียนผู้อื่นไปตลอดชีวิต (หนังสือ“กินเจ เพื่อสุขภาพี่ดี จิตใจบริสุทธิ์”หน้า 6-7)
ตำนานที่สองว่าด้วยการกินเจนั้นมีประเด็นดั่งต่อไปนี้
ประเด็นแรกการกินเจเป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการะพระพุทธเจ้าในอดีตกาลทั้ง 7 องค์
ประเด็นที่สองกฎเกณฑ์ในการประกอบพิธีกรรมข้างต้นคือ บริโภคแต่อาหารผลไม้ งดเว้นอาหารเนื้อสดของคาว
ประเด็นที่สามการกินเจ ถือเป็นปัจจัยเตือนตนเองให้สำนึกว่าคนเป็นคนบริสุทธิ์ขาวสะอาดทั้งกาย วาจา และใจ อยู่ในศีลธรรมและสามัคคีธรรม พรั่งพร้อมอยู่แล้วก็จะให้อภัย อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน
ประเด็นที่สี่การกินเจ ถือเป็นการร่วมกันน้อมนมัสการเทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์นี้ เป็นการแสดงความเคารพในพระเมตตากรุณาธิคุณและร่วมกันถวายเครื่องสักการะ น้อมขอพระมหากรุณาธิคุณได้โปรดประทานพระพรให้อยู่เย็นเป็นสุข
ผู้เขียนเชื่อว่าประเด็นทั้งสี่ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่มีมุสลิมคนใดที่จะยอมรับว่านั่นคือคำสอนของอิสลาม หรือเป็นส่วนหนึ่งของอิสลามโดยเด็ดขาด ฉะนั้นเมื่อที่มาของเทศกาลกินเจมีตำนานมาจากข้อมูลข้างต้น ก็สรุปได้อย่างชัดเจนว่า ไม่มีหนทาง หรือข้อผ่อนผันใดเลยสำหรับมุสลิมที่จะเข้าร่วมเทศกาล หรือคิดที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในงานเทศกาลกินเจได้เลยแม้แต่น้อย เพราะพื้นฐานที่มาของการกินเจล้วนเป็นเรื่องของศาสนา หรือเป็นเรื่องของความเชื่ออื่นที่ไม่ใช่ความเชื่อของอิสลามทั้งสิ้น
อนึ่ง อย่าว่าแต่การร่วมกิจกรรมที่มีพื้นฐานความเชื่อทางศาสนาอื่นซึ่งมิใช่อิสลามเลยแม้แต่สถานที่ซึ่งเคยมีการบูชาเคารพรูปปั้นรูปเจว็ด หรือสถานที่ซึ่งเคยกระทำพิธีกรรมทางศาสนาอื่น หรือสถานที่มีไว้สำหรับงานรื่นเริงของศาสนาอื่นอิสลามยังไม่อนุมัติให้มุสลิมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานที่แห่งนั้นเลยจากท่านษาบิต บุตรของเฎาะฮากเล่าว่า“ชายผู้หนึ่งบนบาน (นะซัร) ว่าจะเชือดอูฐหนึ่งตัว ณ บริเวณ (ที่เรียกว่า) บุวานะฮฺ,ท่านรสูลุลลอฮฺจึงถามเขาว่า ณ สถานที่แห่งนั้นเคยมีรูปเจว็ดหนึ่งจากบรรดารูปเจว็ดที่เคยถูกเคารพภักดีในสมัยญาฮิลียะฮฺ(หมายถึงสมัยก่อนที่ท่านรสูลถูกแต่งตั้งให้เป็นนบี) หรือไม่?บรรดาเศาะหาบะฮฺตอบว่า ไม่เคยมีการกระเช่นนั้นครับ,ท่านรสูลถามต่ออีกว่า สถานที่แห่งนั้นเคยมีการจัดงานวันรื่นเริงของพวกเขาหรือไม่?บรรดาเศาะหาบะฮฺก็ตอบว่า ไม่เคยมีการกระทำกันครับ,ท่านรสูลจึงกล่าวขึ้นว่า เช่นนั้นท่านจงทำให้สิ่งที่ท่านบนบานให้ครบถ้วนสมบูรณ์เถิด แท้จริงไม่มีการทำการบนบานครบถ้วนสมบูรณ์ในเรื่องของการฝ่าฝืนพระองค์อัลลอฮ์“ (บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 2881) หะดีษข้างต้น คณะกรรมการถาวรเพื่อวินิจฉัยความรู้และการฟัตวาของประเทศซาอุดิอาระเบีย (เล่ม 1 หน้า 194) อธิบายว่า“ห้ามการเชือดสัตว์ยังสถานที่ซึ่งนามอื่นจากนามของอัลลอฮฺถูกกล่าวยังสถานที่แห่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ซึ่งเคยมีรูปเจว็ด,สุสาน หรือสถานที่ซึ่งกลุ่มชนในยุคญาฮิลียะฮฺเคยเฉลิมฉลองวันรื่นเริงของพวกเขา แม้ว่าการเชือดยังสถานที่ดังกล่าวจะมีเป้าหมายว่าเชือดเพื่อพระองค์อัลลอฮ์ก็ตาม“หะดีษข้างต้นเป็นหลักฐานให้รู้ว่า อย่าว่าแต่การไปร่วมกิจกรรมที่เป็นพิธีกรรมของศาสนาอื่น อาทิเช่น การร่วมเทศกาลกินเจ, ร่วมพิธีลอยกระทง หรืออื่นๆ แม้แต่สถานที่ซึ่งเคยมีรูปเจว็ดถูกตั้งไว้บูชา หรือเคยเป็นสถานที่ซึ่งจัดงานรื่นเริงของต่างศาสนา เช่นนี้ศาสนายังไม่อนุญาตให้มุสลิมไปเชือดสัตว์ตรงบริเวณดังกล่าว ดั่งตัวบทหะดีษที่ท่านรสูลุลลอฮฺ (صلىاللهعليهوسلم) ได้ถามบรรดาเศาะหาบะฮฺเกี่ยวกับสถานที่หนึ่งที่ชื่อ บุวานะฮฺ โดยรสูลถามว่าสถานที่แห่งนั้นเคยมีรูปเจว็ดตั้งไว้บูชา หรือเคารพกราบไว้หรือไม่?บรรดาเศาะหาบะฮฺตอบว่าไม่เคยมีมาก่อน ท่านรสูลจึงอนุญาตให้บุคคลที่ต้องการเชือดสัตว์ที่ตนเองบนบานเอาไว้ให้กระทำการเชือดสัตว์ยังสถานที่แห่งนั้นได้ เพราะสถานที่แห่งนั้นไม่เคยมีการเคารพหรือบูชารูปเจว็ด,โปรดอย่าลืมว่าอิสลามเป็นศาสนาแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง แม้ว่าสถานที่ใดที่เคยมีรูปเจว็ดที่ถูกบูชา หรือกราบไหว้มาก่อนหน้านี้ศาสนายังไม่อนุญาตให้มุสลิมเข้าไปเชือดสัตว์ยังสถานที่แห่งนั้นเลยอนึ่งอย่าว่าแต่สถานที่เช่นนั้นเลย แม้ว่าสถานที่ใดที่เคยเป็นสถานที่เฉลิมฉลองวันรื่นเริงของพวกญาฮิลียะฮฺ หรือพวกมุชริก (พวกตั้งภาคี) ศาสนายังห้ามมิให้มุสลิมเข้าไปเชือดสัตว์ยังสถานที่แห่งนั้นเลย นี่คือความยิ่งใหญ่ของอิสลามอย่างแท้จริง
สรุปก็คือว่า
มุสลิมคือผู้ที่ปฏิบัติตามคัมภีร์อัลกุรฺอาน และสุนนะฮฺของท่านนบีมุหัมมัด (صلىالله عليه وسلم) อย่างเคร่งครัด หากสิ่งใดที่ไม่มีอยู่ในบทบัญญัติทั้งสอง เช่นนี้มุสลิมจะต้องออกห่างจากสิ่งนั้นอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความเชื่อ และพิธีกรรมของศาสนาอื่นที่มิใช่อิสลามนั้น ยิ่งจำเป็น (วาญิบ) จะต้องออกห่าง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วมุสลิมจะนำแนวความเชื่อที่มิใช่อิสลามมาปะปนกับวิถีชีวิตของตนเองโดยไม่รู้ตัวอีกทั้งในวันกิยามะฮฺเขายังเป็นผู้ที่ขาดทุนอีกด้วย ดั่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า
“وَمَن يَبْتَغِ غَيْرَ الإِسْلاَمِدِيْنًا فَلنيُقْبَلَ مِنْهُ وَهُوَ فِي الآخِرَةِ مِنَ الخَاسِرِيْنَ”
ความว่า“และบุคคลใดที่แสวงศาสนาอื่นจาก (ศาสนา) อิสลาม, สิ่งที่แสวงหานั้นจะไม่ถูกรับ (จากพระองค์อัลลอฮฺ) และเขายังส่วนหนึ่งของผู้ที่ขาดทุนในวันอาคิเราะฮฺ”
(สูเราะฮฺอาลิอิมรอน:85)
ดังนั้นโปรดทำให้ชีวิตของมุสลิมเป็นไปตามบทบัญญัติของศาสนาเถิด ส่วนเรื่องการเข้าร่วมกิจกรรมกินเจ, เทศกาลกินเจ, ซื้ออาหารเจมารับประทาน หรือมีเข้าไปมีส่วนใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกินเจ เช่นนี้ศาสนาไม่อนุญาตให้มุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าอาหารเจที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปนั้นจะอ้างว่าเป็นอาหารที่ไม่สิ่งที่หะรอมเจือปนก็ตาม แต่ที่มุสลิมไม่สามารถซื้อมารับประทานได้ก็เนื่องจากว่าไปสนับสนุนการทำพิธีกรรมทางศาสนาที่ไม่ใช่อิสลาม ซึ่งเทศกาลกินเจเป็นเรื่องความเชื่อทางศาสนาล้วนๆ (ดั่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) ฉะนั้นจึงไม่มีหนทางใด หรือช่องทางใดที่จะกล่าวอ้างอิงอนุญาตให้มุสลิมมีส่วนร่วมกับเทศกาลกินเจได้เลยแม้แต่น้อย. (والسلام)
ที่มา: มูรีดดอนคอม