การเจาะจงละหมาดตะฮัจญุดในค่ำคืนวันที่ 15 ชะอฺบาน


6,228 ผู้ชม

การละหมาดกิยาลุมลัยหรือตะฮัจญุด เป็นอีกอิบาดะฮฺหนึ่งที่ควรส่งเสริมและเป็นหนึ่งในการละหมาดที่ท่านนบี ไม่เคยทอดทิ้ง...


การเจาะจงละหมาดตะฮัจญุดในค่ำคืนวันที่ 15 ชะอฺบาน

การละหมาดกิยาลุมลัยหรือตะฮัจญุด เป็นอีกอิบาดะฮฺหนึ่งที่ควรส่งเสริมและเป็นหนึ่งในการละหมาดที่ท่านนบี  ไม่เคยทอดทิ้ง และเป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนสามารถทำได้ไม่ว่าในคืนใดก็ตาม โดยไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดเจาะจงค่ำคืนใดค่ำคืนหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือเจาะจงละหมาด ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง และการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นมุสตะหับบะฮฺ

อย่างไรก็ตาม การเจาะจงทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนของวันที่ 15 ชะอฺบานเป็นการเฉพาะ เนื่องเพราะเชื่อว่ามีความประเสริฐเหลื่อมล้ำกว่าค่ำคืนอื่นๆ หรือมีความเชื่อว่ามีผลบุญมากมายมหาศาลนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีปรากฏในแบบฉบับของท่านนบี  และเศาะหาบะฮฺ แต่เพื่อความชัดเจนมากขึ้น จึงต้องแบ่งประเด็นการละหมาดกิยามุลลัยหรือตะฮัจญุดในเดือนนี้ออกเป็น 3 กรณีด้วยกัน

การเจาะจงละหมาดตะฮัจญุดในค่ำคืนวันที่ 15 ชะอฺบาน

กรณีที่ 1  กรณีที่ละหมาดเป็นประจำอยู่แล้ว ประจวบเหมาะกับการมาถึงของเดือนชะอฺบาน และประจวบเหมาะกับการมาถึงค่ำคืนที่ 15 ของชะอฺบาน ในกรณีนี้ถือว่าไม่เป็นไร เพราะเป็นการละหมาดที่เคยปฏิบัติอย่างเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว และไม่ถือว่าเป็นการอุตริแต่ประการใด

กรณีที่ 2  กรณีที่ไม่ได้ละหมาดเป็นประจำอย่างเป็นกิจวัตร แต่มารอเจาะจงละหมาดเฉพาะในค่ำคืนของวันที่ 15 ชะอฺบานนี้ เพราะมีความเข้าใจว่าจะมีผลบุญมากมายมหาศาล กรณีนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีแบบอย่างที่ถูกต้องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม แม้ว่าจะมีหะดีษที่บ่งบอกถึงความประเสริฐในการลุกขึ้นทำอิบาดะฮในค่ำคืนแห่งนี้ก็ตาม แต่หะดีษเหล่านั้นล้วนเป็นหะดีษที่เฎาะอีฟมากๆ ซึ่งไม่สารามรถนำเป็นหลักฐานอ้างอิงได้

กรณีที่ 3 กรณีที่มีการเจาะจงละหมาดด้วยการกำหนดจำนวนร็อกอัตที่แน่นอน อาทิ 1,000 หรือ 100 ร็อกอัต และย้อนกลับไปกลับมาจนถึงจำนวนที่กำหนดไว้ กรณีนี้ถือว่าเป็นการละหมาดที่อุตริที่ใหญ่หลวง เพราะไม่มีในแบบฉบับของท่านนบี  แม้ว่ามีการอ้างถึงหะดีษที่ระบุถึงการละหมาดในลักษณะดังกล่าว

การเจาะจงละหมาดตะฮัจญุดในค่ำคืนวันที่ 15 ชะอฺบาน

ท่านอิมามอันนะวะวีย์กล่าวว่า “การละหมาดที่เรียกว่าละหมาดเราะฆออิบและการละหมาดอัลฟิยะฮฺในค่ำคืนวันที่ 15 ชะอฺบาน 100 ร็อกอัตนั้น ทั้งสองละหมาดนี้เป็นสิ่งที่อุตริ(บิดอะฮฺ)และน่ารังเกียจ และอย่าไปหลงเชื่อกับการที่ละหมาดทั้งสองถูกกล่าวถึงในหนังสือ “กูตุลกุลูบ และ อิหฺยาอฺอุลุมมิดดีน” และอย่าไปหลงเชื่อกับหะดีษที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว เพราะทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่จอมปลอม (บาฏิล)...” (ดู อัลมัจญ์มูอฺ เล่ม 7 หน้า 61)

ท่านอิมาม อัลอิรอกีย์ กล่าวว่า “ หะดีษต่างๆ ที่กล่าวถึงการละหมาดในค่ำคืนวันที่ 15 ของเดือนชะอฺบาน ล้วนแต่เป็นหะดีษปลอม (เมาฎูอฺ) และเป็นสิ่งที่โกหก (อุปโลกน์ขึ้นมา) ทั้งสิ้น”

ท่านอิมาม อบูชามะฮฺ กล่าวว่า “แท้จริงมีสายรายงานที่เกี่ยวกับการละหมาดในค่ำคืนวันที่ 15 ชะอฺบาน สองหะดีษซึ่งทั้งสองหะดีษนั้น ล้วนแต่เป็นหะดีษปลอม”

ท่านอิมามอัชเชากานีย์กล่าวว่า “หะดีษที่กล่าวถึงในเรื่องดังกล่าวเป็นหะดีษเมาฎูอฺ(หะดีษปลอม)”  (อัลฟะอาวิด อัลมัจญ์มูอะฮฺ หน้า 15)

ที่มา: www.islammore.com

อัพเดทล่าสุด