ในอดีตทิ้งละหมาดฟัรดู 30 ปี ต้องทำอย่างไรดี?


5,540 ผู้ชม

ในอดีตผมทิ้งละหมาดฟัรดู จนปัจจุบันผมอายุ 30 ปีแล้ว อยากถามว่า การละหมาดที่ทิ้งไปก่อนหน้านี้ หากผมเตาบะฮฺตัวจะได้ไหม ซึ่งตอนนี้ผมละหมาดครบแล้ว หรือผมต้องทำอย่างไรดีครับ?..


ในอดีตทิ้งละหมาดฟัรดู 30 ปี ต้องทำอย่างไรดี?

ในอดีตผมทิ้งละหมาดฟัรดู จนปัจจุบันผมอายุ 30 ปีแล้ว อยากถามว่า การละหมาดที่ทิ้งไปก่อนหน้านี้ หากผมเตาบะฮฺตัวจะได้ไหม ซึ่งตอนนี้ผมละหมาดครบแล้ว หรือผมต้องทำอย่างไรดีครับ?

ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน

การทิ้งละหมาดฟัรดู ถือเป็นบาปใหญ่ เฉกเช่น บาปทำซินา หรือบาปดื่มสุรา เป็นต้น

ในอดีตทิ้งละหมาดฟัรดู 30 ปี ต้องทำอย่างไรดี?

ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

بَيْنَ الْعَبْدِ، وَبَيْنَ الْكُفْرِ تَرْكُ الصَّلَاةِ

“ระหว่างบ่าวคนหนึ่งกับการปฏิเสธ (กุฟรฺ) นั้นคือการละทิ้งการละหมาด (ฟัรดู)” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 4678]

หะดีษข้างต้นนักวิชาการได้อธิบายว่า การปฏิเสธข้างต้นหมายถึง การปฏิเสธความโปรดปราน (นิอฺมะฮฺ) ของอัลลอฮฺ กล่าวคือ อัลลอฮฺให้ริซกี ให้อากาศหายใจ ฯลฯ แต่ไม่ขอบคุณ ไม่เชื่อฟังพระองค์ ไม่สุญูด เป็นต้น แต่ความมิได้หมายรวมว่า มุสลิมคนหนึ่งทิ้งละหมาดฟัรดู เขาจะสิ้นสภาพการเป็นมุสลิม (ส่วนทัศนะที่ระบุว่าสิ้นสภาพการเป็นมุสลิมก็มีเช่นกัน) แต่ถ้ากรณีเขาปฏิเสธว่าการละหมาดฟัรดูไม่ใช่วาญิบ นั่นแหละถึงจะสิ้นสถาพการเป็นมุสลิม (ตกมุรฺตัด)

ประเด็นถัดมา เมื่อเราทำผิดหลักการ แล้วเตาบะฮฺ (กลับตัว) ยังพระองค์อัลลอฮฺ เช่นนี้เขาย่อมได้รับการอภัยโทษให้ อีกทั้งคนซึ่งกระทำความผิด แล้วขอลุแก่โทษ เช่นนี้ ถือว่าเขายังเป็นบุคคลที่ดีในทัศนะของอิสลามอีกด้วย

ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

كُلُّ ابْنِ آدَمَ خَطَّاءٌ وَخَيْرُ الخَطَّائِينَ التَّوَّابُونَ

“ลูกหลานอาดัมทุกคนล้วนมีความผิดทั้งสิ้น และบรรดาบุคคลซึ่งกระทำความผิดที่ดี คือ (ผิดแล้ว) เตาบะฮฺตัว (ขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺ) นั่นเอง” [หะดีษหะสัน, บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 2499]

ประการสุดท้าย กรณีในอดีตเราทิ้งละหมาดฟัรดูู ตั้งแต่เราบรรลุศาสนภาวะมา ขณะนี้เราอายุ 30 ปี หรือจะอายุเท่าไรก็ตาม เช่นนี้ให้เราเตาบะฮฺตัวต่ออัลลอฮฺว่า จะไม่ทิ้งนมาซอีกแล้ว จากนั้นให้เราละหมาดครบ 5 เวลาทุกวัน โดยไม่ต้องชดใช้ละหมาดที่ละทิ้งมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด,ทว่าให้เรานมาซสุนนะฮฺเยอะๆ เพราะการละหมาดสุนนะฮฺเยอะๆ จะช่วยให้การละหมาดฟัรฺฎูที่เคยบกพร่องในอดีตเกิดความสมบูรณ์

ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

" إِنَّ أَوَّلَ مَا يُحَاسَبُ بِهِ العَبْدُ يَوْمَ القِيَامَةِ مِنْ عَمَلِهِ صَلَاتُهُ، فَإِنْ صَلُحَتْ فَقَدْ أَفْلَحَ وَأَنْجَحَ، وَإِنْ فَسَدَتْ فَقَدْ خَابَ وَخَسِرَ، فَإِنْ انْتَقَصَ مِنْ فَرِيضَتِهِ شَيْءٌ، قَالَ الرَّبُّ عَزَّ وَجَلَّ: انْظُرُوا هَلْ لِعَبْدِي مِنْ تَطَوُّعٍ فَيُكَمَّلَ بِهَا مَا انْتَقَصَ مِنَ الفَرِيضَةِ، ثُمَّ يَكُونُ سَائِرُ عَمَلِهِ عَلَى ذَلِكَ "

“แท้จริงสิ่งแรกที่บ่าว (ของอัลลอฮฺ) จะถูกสอบสวนการงานของเขาในวันกิยามะฮฺคือ การละหมาด (ฟัรฺฎู) ของเขา, หากการละหมาด (ฟัรฺฎู) ของเขาครบถ้วน แน่นอนเขาจะประสบความสำเร็จ และความจำเริญ แต่หากการละหมาด (ฟัรฺฎู) ของเขาบกพร่อง เขาจะประสบกับความสิ้นหวัง และความเสียหาย, ซึ่งหากมีสิ่งหนึ่งทำให้การละหมาดฟัรดูของเขาบกพร่อง, พระผู้อภิบาลจักทรงตรัสขึ้นว่า พวกท่านจงพิจารณาดูเถิดว่า บ่าวของฉันมีละหมาดสุนนะฮฺไหม? (ถ้ามี) จงทำให้ละหมาดฟัรดูที่เคยบกพร่อง สมบูรณ์ด้วยการละหมาดสุนนะฮฺของเขาเถิด, ต่อมาเขาจะถูกสอบสวนการงานอื่นๆ หลังจากนั้น”

[หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 413]

(วัลลอฮุอะอฺลัม)

https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/23365

อัพเดทล่าสุด