ความเป็นมา ประวัติของชนชาวสะบะอฺและอุทกภัยอะริม ในอัลกรุอาน
ชาวสะบะอฺและอุทกภัยอะริม ในอัลกรุอาน
แคว้นสะบะอฺ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเยเมน - ผู้แปล) เป็นหนึ่งในสี่เมืองที่มีวิวัฒนาการก้าวหน้ามากที่สุดในแถบอารเบียตอนใต้แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวสะบะอฺ กล่าวว่าชุมชนแห่งนี้มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับการค้าขายเป็นอย่างมาก คล้ายกับชาวฟีนีเซีย (Pheonicia) ชาวสะบะอฺได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความเจริญก้าวหน้าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ในหลักจารึกของผู้ปกครองแคว้นสะบะอฺ มีการใช้คำชั้นสูงอย่างคำว่า “ปฏิสังขรณ์” “อุทิศ” และ “สถาปนา” บ่อยครั้ง เขื่อนมาริบ (Marib Dam) เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดของชาวสะบะอฺ และยังเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สุดที่แสดงถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของชาวสะบะอฺอีกด้วย แคว้นสะบะอฺมีกองทหารที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคนี้ มีการวางนโยบายแผ่ขยายอาณาจักรของตนเองไว้อย่างชัดเจน ซึ่งสามารถทำได้เพราะมีกองทหารที่เข้มแข็ง และด้วยอารยธรรมที่ก้าวหน้าและกองทหารที่เข้มแข็งนี้เอง ทำให้ ชาวสะบะอฺเป็นหนึ่งใน “มหาอำนาจสูงสุด” ของภูมิภาคในยุคนั้น
อัลกุรอานกล่าวถึงความเข้มแข็งอย่างที่สุดของกองทหารสะบะอฺไว้ ในซูเราะห์ อันนัมลฺ โดยอ้างถึงคำกล่าวของผู้บัญชาการทหารที่ถวายต่อพระราชินีแห่งแคว้นสะบะอฺว่า
“เราเป็นพวกที่มีพลัง และเป็นพวกที่มีกำลังรบเข้มแข็ง (มีกำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย และมีความเข้มแข็งอดทนในการทำสงคราม) สำหรับพระบัญชานั้นเป็นของพระนาง ดังนั้น พระนางได้โปรดตรึกตรองดู สิ่งใดที่พระนางจะทรงบัญชา” (อัลกุรอาน 27: 33)
เมืองหลวงของแคว้นสะบะอฺคือเมืองมาริบ ซึ่งเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งสมบูรณ์อย่างมาก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ เมืองหลวงนี้ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำอัดฮานะห์ (Adhanah) บริเวณที่แม่น้ำไหลมาถึงภูเขาบาลัคนั้นเป็นช่วงที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการสร้างเขื่อน ด้วยความได้เปรียบนี้ ชาวสะบะอฺจึงได้สร้างเขื่อนและพัฒนาระบบชลประทานขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการให้กำเนิดอารยธรรมของตนเอง พวกเขาได้พัฒนาจนมีความเจริญมั่งคั่งอย่างมาก เมืองหลวงมาริบจึงเป็นเมืองที่มีการพัฒนามากที่สุดในเวลานั้น พลีนี่ (Pliny) นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก ผู้ที่ได้มาเยือนดินแดนแห่งนี้ ได้แสดงความชื่นชมเป็นอย่างมากและได้บรรยายความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนแห่งนี้ไว้ในงานเขียนของเขาด้วย40
เขื่อนแห่งมาริบนี้ มีความสูง 16 เมตร กว้าง 60 เมตร และยาวถึง 620 เมตร จากการคำนวณพบว่า พื้นที่ชลประทานทั้งหมดที่ได้รับประโยชน์จากเขื่อนแห่งนี้ มีมากถึง 9,600 เฮคเตอร์ ซึ่งแบ่งออกเป็นบริเวณทุ่งทางตอนใต้ 5,300 เฮคเตอร์ ส่วนที่เหลือเป็นบริเวณทุ่งทางตอนเหนือ โดยมีการอ้างถึงทุ่งทั้งสองแห่งไว้ในหลักจารึกของชาวสะบะอฺ41ว่า “มาริบและทุ่งทั้งสอง” ในอัลกุรอานได้กล่าวถึง “สวนทั้งสองแห่งทางขวาและทางซ้าย” เป็นการชี้ถึงสวนที่สวยงามและไร่องุ่นที่มีอยู่ในทุ่งทั้งสองแห่งนี้
ผลจากการมีเขื่อนและระบบชลประทาน ทำให้ดินแดนแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่าเป็นดินแดนที่มีระบบชลประทานดีที่สุดและอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศเยเมน นาย เจ. โฮลวี่ (J. Holevy) ชาวฝรั่งเศส และนายเกลเซอร์ (Glaser) ชาวออสเตรีย ได้พบข้อพิสูจน์จากหลักฐานเอกสารต่างๆว่า เขื่อนมาริบแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในเอกสารซึ่งเขียนด้วยภาษา ไฮเมอร์ (Himer) ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น กล่าวว่า เขื่อนแห่งนี้ทำให้อาณาบริเวณดังกล่าวอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก
หากเราพิจารณาอัลกุรอานโดยใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ข้างต้น เราจะสังเกตเห็นความสอดคล้องตรงกันอย่างยิ่ง หลักฐานทางโบราณคดีและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทั้งสองด้านนั้นตรงกับสิ่งที่มีอยู่ในอัลกุรอาน อายะห์ของอัลกุรอานกล่าวไว้ว่า พวกเขาเหล่านี้ ไม่เชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนของศาสดา และเป็นพวกที่ปฏิเสธความศรัทธาโดยสิ้นเชิง พวกเขาจึงถูกลงโทษโดยให้น้ำท่วมจนตาย อัลกุรอานได้บรรยายถึงอุทกภัยครั้งนี้ไว้ในอายะห์ต่อไปนี้
“โดยแน่นอน สำหรับพวกสะบะอฺนั้น มีสัญญาณหนึ่งในที่อาศัยของพวกเขา มีสวนสองแห่งทางขวาและทางซ้าย พวกเจ้าจงบริโภคจากปัจจัยยังชีพของพระเจ้าของพวกเจ้า และจงขอบคุณต่อพระองค์ อันเป็นดินแดนที่สมบูรณ์และมีพระเจ้าผู้ทรงให้อภัย”
“แต่พวกเขาได้ผินหลัง ดังนั้น เราจึงปล่อยน้ำจากเขื่อนให้ท่วมพวกเขา และเราได้เปลี่ยนให้พวกเขา สวนทั้งสองแห่งของพวกเขาแทนสวนอีกสองแห่ง มีผลไม้ขม และต้นไม้พุ่ม และต้นพุทราบ้างเล็กน้อย เช่นนั้นแหละเราได้ตอบแทนพวกเขา เนื่องจากพวกเขาเนรคุณ และเรามิได้ลงโทษผู้ใด (ด้วยการลงโทษอย่างรุนแรงเช่นนี้) นอกจากพวกเนรคุณ”
(อัลกุรอาน 34:15-17)
ในอัลกุรอานนั้น เรียกการลงโทษที่มีต่อชาวสะบะอฺว่า “ไซลัลอะริม” ซึ่งหมายถึง “อุทกภัยแห่งอะริม” ข้อความในอัลกุรอานส่วนนี้ได้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบของการเกิดหายนะครั้งนี้ คำว่า “อะริม” หมายถึง เขื่อน หรือผนัง คำว่า “ไซลัลอะริม” จึงแสดงถึงน้ำท่วมที่เกิดจากการพังทลายของเขื่อนแห่งนี้ นักวิเคราะห์อิสลามสามารถตอบปัญหาในเรื่องเวลาและสถานที่ของเหตุการณ์นี้ได้จากข้อความในอัลกุรอานที่กล่าวถึง น้ำท่วมแห่งอะริม ดังที่เมาดูดิ (Mawdudi) แสดงความเห็นไว้ว่า
“จากการใช้ข้อความว่า ไซลัลอะริม นั้น คำว่า “อะริม” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “อะริมีน” เป็นภาษาท้องถิ่นทางตอนใต้ของคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งหมายถึงเขื่อน หรือผนัง ในซากปรักหักพังใต้พื้นดินในอุโมงค์ที่ขุดขึ้นในประเทศเยเมน มีการใช้คำนี้ในความหมายเดียวกันนี้หลายครั้ง เช่นในหลักจารึกที่สร้างขึ้นโดยกษัตริย์อับรอฮะห์ (Ebraha) ราชวงศ์ฮาเบช (Habesh) แห่งประเทศเยเมน ภายหลังการซ่อมแซมเขื่อนใหญ่แห่งมาริบ ในปี ค.ศ. 542 และ 543 คำนี้ถูกใช้หมายถึง เขื่อน (ผนัง) หลายครั้งด้วยกัน ดังนั้น ข้อความ “ไซลัลอะริม” จึงหมายถึง อุทกภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลังจากการพังถล่มของเขื่อน
“...และเราได้เปลี่ยนให้พวกเขา สวนทั้งสองแห่งของพวกเขาแทนสวนอีกสองแห่ง มีผลไม้ขม
และต้นไม้พุ่ม และต้นพุทราบ้างเล็กน้อย...” (อัลกุรอาน 34:16)
หมายถึงเหตุการณ์หลังจากการถล่มของเขื่อน ทั่วทั้งประเทศจมอยู่ใต้น้ำ คลองที่ขุดขึ้นโดยชาวสะบะอฺและกำแพงที่สร้างเชื่อมต่อกันระหว่างภูเขาได้พังทลายลง ระบบชลประทานก็ใช้การไม่ได้ ทำให้อาณาบริเวณซึ่งเคยเป็นสวนที่อุดมสมบูรณ์มาก่อน กลายสภาพเป็นป่าที่ไม่มีไม้ผลเหลืออยู่เลย เหลือเพียงต้นไม้พุ่มเล็กๆ และต้นพุทราเพียงเล็กน้อยเท่านั้น42
นักโบราณคดีชาวคริสเตียน ชื่อ เวอร์เนอร์ เคลเลอร์ (Werner Keller) ผู้เขียนหนังสือชื่อ “The Holy Book Was Right” ยอมรับว่า เหตุการณ์อุทกภัยแห่งอะริมนั้นเกิดขึ้นจริงตามที่ได้บรรยายไว้ในอัลกุรอาน เขายังเขียนยืนยันไว้อีกว่าเขื่อนในลักษณะดังกล่าวนั้นมีอยู่จริง และการล่มสลายของประเทศที่เกิดจากการพังทลายของเขื่อนนั้นเป็นหลักฐานว่า เรื่องราวในอัลกุรอานที่กล่าวถึงประชาชาติในสวนที่อุดมสมบูรณ์นั้นเป็นเรื่องจริง43
หลังจากหายนะจากอุทกภัยแห่งอะริมแล้ว พื้นที่บริเวณดังกล่าวก็แปรเปลี่ยนไปเป็นทะเลทราย และชาวสะบะอฺต้องเสียขุมทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของพวกเขาไปพร้อมกับพื้นที่เกษตรกรรมที่สูญสลายไป ประชาชนผู้ซึ่งเพิกเฉยต่อการเชิญชวนให้เชื่อในพระเจ้า และขาดการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและความเมตตาของพระองค์ ต้องถูกลงโทษด้วยหายนะดังกล่าวในที่สุด
การค้นพบของนักโบราณคดีเกี่ยวกับชาวซะมูด (Archaeological Finds About Thamud)
ในบรรดาประชาชาติต่างๆ ที่กล่าวไว้ในอัลกุรอานนั้นชาวซามูตเป็นหนึ่งในประชาชาติที่เรามีข้อมูลความรู้มากที่สุดในปัจจุบัน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบในปัจจุบัน ยืนยันว่า ชาวซามูตนั้น มีอยู่จริง
ชุมชนชาวอัลฮิจร ที่กล่าวถึงในอัลกุรอานนั้น เป็นชนชาติเดียวกับชาวซามูต ซึ่งอีกชื่อหนึ่งของชาวซามูตคือ อะชาบ อัลฮิจร คำว่า “ซามูต” เป็นชื่อเรียกของคนในชนชาตินี้ ส่วนอัลฮิจร เป็นเมืองหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยชนกลุ่มเดียวกันนี้ นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก ชื่อ พลีนี่ (Pliny) เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานนี้ พลีนี่ เขียนถึง เมืองดมาธา (Domatha) และ เฮกรา (Hegra) ว่าเป็นเมืองที่ชาวซามูตอาศัยอยู่ และเฮกราเป็นส่วนหนึ่งของเมืองฮิจร ในปัจจุบัน29
แหล่งข้อมูลเก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงชาวซามูตคือ บันทึกประวัติศาสตร์แห่งชัยชนะของกษัตริย์ซาร์กอนที่สอง (Sargon II) แห่งอาณาจักรบาบิโลน (ประมาณ 800 ปี ก่อนคริสต์กาล) ผู้ทรงมีชัยชนะเหนือกลุ่มชนนี้ในการสู้รบทางภาคเหนือของคาบสมุทรอาหรับ ชาวกรีกเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ซะมูดี (Thamudaei) พวกเขาสาบสูญไปก่อนช่วงเวลาของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) (ประมาณ ค.ศ. 400-600)
ในอัลกุรอานได้กล่าวถึงชาวอ๊าดและชาวซามูตไว้ด้วยกันเสมอ นอกจากนี้ ในหลายอายะห์ของอัลกุรอานได้เตือนชาวซามูต ให้ดูการล่มสลายของชาวอ๊าดเป็นตัวอย่าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวซามูตนั้นรู้จักชาวอ๊าดเป็นอย่างดี
"และพวกท่านจงรำลึกขณะที่พระองค์ได้ทรงให้พวกท่านเป็นผู้สืบช่วงแทนมา หลังจากชาวอ๊าด และได้ทรงให้พวกท่านตั้งหลักแหล่งอยู่ในแผ่นดินส่วนนั้น โดยยึดเอาจากที่ราบของมันเป็นวัง และสกัดภูเขาเป็นบ้าน พวกท่านพึงรำลึกถึงความกรุณาของอัลลอฮ์เถิด และจงอย่าก่อกวนในแผ่นดินในฐานะผู้บ่อนทำลาย "
(ซูเราะห์อัลอะรอฟ: 74)
ที่มา: ดาบแห่งอัลเลาะห์ แอนตี้ไซออนิสต์
islamhouse.muslimthaipost.com