ประวัติ การสถาปนารัฐอิสราเอล จากคำบอกเล่าของชาวยิวและคริสเตียน


4,018 ผู้ชม

ประวัติ การสถาปนารัฐอิสราเอล จากคำบอกเล่าของชาวยิวและคริสเตียน


ประวัติ การสถาปนารัฐอิสราเอล จากคำบอกเล่าของชาวยิวและคริสเตียน

ประวัติการสถาปนารัฐอิสราเอลจากคำบอกเล่าของชาวยิวและคริสเตียน

นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักการฑูต และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวยิวและชาวคริสเตียนผู้มีใจเป็นธรรมจากมหาวิทยาลัยและองค์กรชั้นนำได้ออกมากล่าวปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของชาวปาเลสไตน์ และบอกเล่าถึงความเป็นมาของการจัดตั้งรัฐอิสราเอลบนชะตากรรมอันเลวร้ายของชาวปาเลสไตน์

Dauglas Dicks จากองค์กรบรรเทาทุกข์แคธอลิค (Catholic Relief Services) กล่าวว่า นิยายปรัมปราที่ชาวตะวันตกมักจะได้รับการเล่าขานกันเสมอเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ก็คืออาหรับและยิวเป็นศัตรูกันมาเป็นพัน ๆ ปีแล้วและพวกเขาจะยังคงเป็นศัตรูกันเช่นนี้ตลอดไป

James Akin ทูตอเมริกาประจำซาอุดิอารเบีย (ค.ศ. 1973-1975) กล่าวว่าความเชื่อดังกล่าวเป็นเรื่องประหลาดมาก เพราะหากเราศึกษาประวัติศาสตร์เพียงเล็กน้อยก็จะทราบได้ทันทีว่านิยายปรำปราดังกล่าวไม่มีความจริงอยู่เลย เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า "ความรู้สึกเป็นศัตรูที่มีมาแต่ดั้งเดิม" (congenital enmity) ระหว่างอาหรับและยิว บรรดาคนยิวต่างมีชีวิตที่รุ่งเรืองในโลกอาหรับ ในยามที่ชาวยิวถูกประหัตประหารทุกหนแห่งในยุโรป

Rashid Khalidi นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวว่า ในปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีกระแสต่อต้านชาวยิวในยุโรป พวกเขาได้เริ่มหาหนทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีการจัดตั้งกองกำลังขนาดเล็กของไซออนิสต์ซึ่งเล็งเห็นว่าชาวยิวจะปลอดภัยได้ก็ด้วยการจัดตั้งรัฐของยิวขึ้นเท่านั้น

Dauglas Dicks กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมดก็คือการทีชาวยิวไซออนิสต์ปรารถนาจะจัดตั้งรัฐของชาวยิวขึ้นมาในดินแดนของชาวปาเลสไตน์

Ilan Pappe นักประวัติศาสตร์อิสราเอล จากมหาวิทยาลัยฮัยฟา (Haifa University) กล่าวว่าชาวยิวส่วนใหญ่ในอิสราเอลถูกสอนกันมาว่าปาเลสไตน์เป็นดินแดนที่ว่างเปล่ามาช้านานแล้วก่อนที่จะมีชาวยิวจะเดินทางเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนแห่งนี้

Phyllis Bennis จาก Institute for Policy Studies ตั้งคำถามว่าใครต้องเป็นคนชดใช้ให้กับการลงหลักปักฐานของชาวยิว เป็นความจริงหรือที่ว่าอิสราเอล คือ "แผ่นดินที่ปราศจากผู้คน สำหรับผู้คนที่ปราศจากแผ่นดิน" (A land without people for a people without a land)

อันที่จริงแล้วปาเลสไตน์ไม่ใช่ดินแดนที่ว่างเปล่า แต่เป็นดินแดนที่มีชาวอาหรับซึ่งมีทั้งวัฒนธรรมอันสูงส่งและมีการศึกษาอาศัยอยู่แล้วจำนวนมากมาย พวกเขามีพื้นที่ทำเกษตรกรรม มีตลาดร้านค้า มีเมือง มีหมู่บ้าน มีถนนหนทาง มีการค้าขายและการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในส่วนอื่น ๆ ของโลก มีจำนวนประชากรมากมายถึง 462,465 คนในปี ค.ศ.1878 โดยที่ 96.8 % คือชาวอาหรับที่เป็นมุสลิมและคริสเตียน มีชาวยิวอาศัยอยู่เพียง 3.2 % เท่านั้น ปี ค.ศ. 1882-1914 ชาวยิวจากยุโรปจำนวน 65,000 คนเริ่มอพยพเข้ามา ชาวยิวเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และต่อมาอังกฤษได้ออกคำประกาศบัลฟอร์ซึ่งให้สัญญาจะจัดตั้งดินแดนของชาวยิวขึ้นในปาเลสไตน์ มาตรการดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับคำสัญญาก่อนหน้านั้นของอังกฤษที่ทำขึ้นในปี ค.ศ. 1915 ซึ่งอังกฤษสัญญาว่าจะมอบสิทธิในการปกครองตนเองให้ชาวอาหรับที่อยู่ในภูมิภาคนั้นทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม โดยพื้นฐานแล้วอังกฤษให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันในการจัดตั้งรัฐอิสราเอล โดยให้การสนับสนุนการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันชาวอาหรับในปาเลสไตน์กลับถูกปฏิเสธสิทธิในการปกครองตนเองทั้งหมด ในปี 1922 ประชากรอาหรับมุสลิมและคริสเตียนมีจำนวน 757,182 คิดเป็น 87.6 % ของประชากรทั้งหมด ส่วนชาวยิวเพิ่มขึ้นเป็น 11% ชาวปาเลสไตน์เริ่มเห็นว่าคนยุโรปคือผู้กุมชะตากรรมของผู้อื่นที่ไม่ใช่คนยุโรปไว้ทั้งหมดทั้งในแง่การมีตำแหน่งแห่งที่ การมีตัวตนของพวกเขา รวมทั้งความปรารถนาและความต้องการของพวกเขา ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ชาวปาเลสไตน์เริ่มเห็นว่าแผ่นดินของพวกเขาถูกฉกชิงไปโดยชาวยุโรป การปะทะกันครั้งแรกระหว่างชาวปาเลสไตน์และชาวยิวจึงเริ่มต้นขึ้นและยังเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา

ระหว่างปี ค.ศ. 1920-1931 ชาวยิวจำนวน 108,825 เริ่มอพยพเข้ามาในดินแดนปาเลสไตน์ จนกระทั่งช่วงต้นของทศวรรษ 1930 จำนวนประชากรยิวในปาเลสไตน์ยังอยู่ที่ไม่เกิน 17% (จำนวนประชากรทั้งหมดในปาเลสไตน์ในปี 1930 อยู่ที่ 1,035,154 คน คิดเป็นชาวอาหรับมุสลิมและคริสเตียนจำนวน 81.6 % และชาวยิวจำนวน 16.9%) แต่การขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์ในเยอรมันได้ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ในเวลาเพียง 5 ปี ระหว่างปี 1932-1936 ชาวยิวจำนวน 174,000 คนได้หลั่งไหลกันเข้ามาในปาเลสไตน์ ทำให้จำนวนชาวยิวเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ปี ค.ศ. 1937-1945 ชาวยิวอพยพเข้ามาอีก 119,800 คน ในขณะที่ชาวโลกพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความน่าสะพรึงกลัวของมาตรการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซีเยอรมัน ความพยายามที่จะทำให้ปาเลสไตน์กลายเป็นดินแดนของชาวยิวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

Phyllis Bennis กล่าวว่าชาวปาเลสไตน์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับนาซี พวกเขาไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบอะไรกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว แต่พวกเขาต้องมาชดใช้ให้กับชะตากรรมของชาวยิว ในปี ค.ศ.1947 ความขัดแย้งระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวยิวเริ่มบานปลายจนเกินจะควบคุมได้ อังกฤษได้ตัดสินใจนำปัญหาเรื่องปาเลสไตน์เข้าสู่การพิจารณาขององค์กรสหประชาชาติซึ่งถูกกดดันให้ต้องแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ออกเป็นสองรัฐคือรัฐของชาวอาหรับและของชาวยิว ชาวอาหรับจะได้รับดินแดนทั้งหมด 43 % ทั้ง ๆ ที่อาหรับ (มุสลิมและคริสเตียน) มีประชากรอยู่ในสัดส่วนถึง 2/3 ของประชากรในพื้นที่และครอบครองที่ดินมากกว่า 92% ของดินแดนทั้งหมด ส่วนชาวยิวได้รับดินแดนทั้งหมด 53 % ถึงแม้ประชากรยิวจะมีเพียง 1/3 และเป็นเจ้าของที่ดินน้อยกว่า 8% ของดินแดนทั้งหมด นอกจากนั้นพื้นที่ทั้งหมดที่ชาวยิวได้ไปครอบครองนั้นล้วนเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก พวกไซออนิสต์ได้ฉวยโอกาสในความเหนือกว่าของตนในด้านความพร้อมทางทหารและฉวยโอกาสครอบครองเมืองสำคัญ ๆ ทั้งหมดของปาเลสไตน์

Hava Keller อดีตทหารหญิงอิสราเอลที่เข้าร่วมสงครามระหว่างชาวอาหรับและอิสราเอลในปี 1948 เหล่าว่า ขณะที่เธอและเพื่อนทหารนำกำลังเข้าไปในบริเวณดินแดนที่ถูกยึดครองแห่งหนึ่งในปาเลสไตน์นั้น พวกเธอได้เข้าไปในแฟลตแห่งหนึ่ง เธอเห็นรองเท้าของเด็กเล็ก ๆ อายุประมาณ 2 ขวบคู่หนึ่งถูกทิ้งไว้ เธอกล่าวว่าพวกเขาไม่มีเวลาแม้แต่จะสวมรองเท้า และต้องรีบหนีไปโดยไม่ได้เอาอะไรติดตัวไปเลย

Ilan Pappe กล่าวว่ามีการขจัดชาวปาเลสไตน์ออกไปจากดินแดนของพวกเขาอย่างเป็นระบบรวมทั้งมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น เหตุการณ์ที่สร้างชื่อในทางเลวร้ายให้ไซออนิสต์มากที่สุดคือการสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ในหมู่บ้านแดร์ยาซีน โดยที่ประชาชนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ๆ จำนวนร้อยกว่าคนถูกสังหารอย่างเป็นระบบ

หญิงชราชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า ตัวเธอ ลูก ๆ และพี่ชายไปแอบซ่อนตัวอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง พี่ชายของเธออยู่เป็นเพื่อนเธอและลูก ๆ ทั้งคืน พวกอิสราเอลได้ขว้างระเบิดใส่บ้านหลังนั้นและทำให้เธอและลูก ๆ ได้รับบาดเจ็บ เมื่อเหตุการณ์สงบลงพวกยิวก็เข้ามาในบ้านและนำตัวทุกคนออกไป จากนั้นพวกเขาเริ่มทุบตีมูซาพี่ชายของเธออย่างรุนแรง เธอได้ให้เงินกับทหารบางคนเพื่อไม่ให้พวกเขาฆ่ามูซา ทหารอิสราเอลคนหนึ่งกล่าวกับเธอว่า เธอนี่ใจดีจริง ๆ นะ เดี๋ยวฉันจะแสดงให้เห็นว่าฉันจะทำอย่างไรกับพี่ชายของเธอ จากนั้นทหารคนนั้นก็ผลักมูซาลงไปหมอบอยู่บนพื้น แล้วทหารคนดังกล่าวก็จ่อปืนไปที่หัวของมูซาและยิงเข้าที่หัวของเขาถึงห้านัดด้วยกัน สมาชิกส่วนใหญ่ในครอบครัวและญาติ ๆ ของเธอซึ่งประกอบไปด้วยลูกชายสองคน ลูกเลี้ยงหนึ่งคน พ่อแม่ พี่ชายสองคน ปู่ย่า ตายาย ลุงป้าน้าอาและลูก ๆ ของพวกเขาถูกฆ่าตายทั้งหมด ความโหดเหี้ยมของการโจมตีหมู่บ้านแดร์ยาซีนก่อให้เกิดความกลัวและหวาดผวาของประชาชนชาวปาเลสไตน์ และนำไปสู่การที่ชาวบ้านซึ่งปราศจากอาวุธป้องกันตัวทั่วทั้งดินแดนปาเลสไตน์พากันอพยพหนีภัยออกจากบ้านเรือน ผลก็คือชาวปาเลสไตน์ประมาณ 400,000 คนถูกบังคับให้ต้องหลบหนีออกจากปาเลสไตน์ไปยังดินแดนรอบ ๆ เช่น เลบานอน ซีเรีย จอร์แดน และอียิปต์ ก่อนที่ประเทศอาหรับบางประเทศจะส่งทหารเข้ามาช่วยชาวปาเลสไตน์ หลังจากนั้นวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1948 ซึ่งอิสราเอลได้ประกาศจัดตั้งรัฐอิสราเอลอย่างเป็นทางการ

ถึงแม้จะมีการใช้ถ้อยคำสำนวนต่าง ๆ ที่ส่อให้เห็นบรรยากาศแห่งการทำสงครามในหมู่ชาวอาหรับ แต่อันที่จริงแล้วมีทหารอาหรับจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ถูกส่งเข้าไปในสมรภูมิรบ และส่วนใหญ่แล้วในสงครามครั้งนั้นกองทัพอิสราเอลมีความเหนือกว่ามาก ทหารอาหรับมีจำนวนทั้งหมด 68,000 คน ขณะที่ทหารอิสราเอลมีทั้งหมดถึง 90,000 คนด้วยกัน

Noam Chomsky นักวิเคราะห์เรื่องราวในตะวันออกกลางและนักเขียนกล่าวว่ากองทัพอิสราเอลได้ขจัดชาวปาเลสไตน์ออกไปและยึดครองดินแดนที่เคยเป็นของพวกเขาไว้เกือบทั้งหมด ดินแดนใหม่ของอิสราเอล (หลังสงครามครั้งนั้น) ครอบคลุมถึง 78% ของดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมด ดินแดนในเขต West Bank ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของจอร์แดน และฉนวนกาซ่าตกอยู่ภายใต้การครอบครองของอียิปต์ ถึงแม้จะมีการลงนามในสัญญาสงบศึกระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับต่าง ๆ แต่สันติภาพยังเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา นั่นเป็นเพราะว่าชาวปาเลสไตน์อีกถึงประมาณ 700,000 คนยังคงต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่กระจัดกระจายอยู่รอบ ๆ ผืนแผ่นดินและบ้านเรือนที่เคยเป็นของพวกเขาและเป็นที่ซึ่งพวกเขายังคงปรารถนาที่จะกลับไป ดินแดนที่ชาวปาเลสไตน์ต้องทิ้งร้างอันเป็นผลจากการถูกขับไล่ออกไปจากบ้านเรือนทั้งหมดนั้นถูกลบออกไปจากแผนที่ และดินแดนเหล่านี้ถูกแปลงให้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวยิวหรือไม่ก็จะกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกอันอุดมสมบูรณ์ของชาวยิว ในบรรดาหมู่บ้านทั้งหมด 500 หมู่บ้านซึ่งตกอยู่ภายใต้การครอบครองของอิสราเอลในปี ค.ศ. 1948 นั้น หมู่บ้านจำนวน 400 แห่งถูกทำลายทิ้ง ความพยายามในการขจัดโอกาสทั้งหมดไม่ให้ชาวปาเลสไตน์กลับไปยังบ้านเรือนของตนเองได้นั้นเป็นเรื่องที่สหประชาชาติยังคงให้ความสำคัญและยังคงชูประเด็นหลักในเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์ โดยมีความพยายามทั้งในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศและในเชิงมนุษยธรรมเพื่อคืนสิทธิการกลับคืนถิ่นฐานเดิมให้กับชาวปาเลสไตน์

Phyllis Bennis กล่าวทิ้งท้ายว่าชาวปาเลสไตน์ที่สูญเสียผืนแผ่นดินไปอันเป็นผลมาจากการจัดตั้งรัฐอิสราเอลในปี ค.ศ. 1948 นั้นไม่สามารถแม้แต่จะกลับไปเยี่ยมเยียนถิ่นฐานเดิมของตน แต่คน ๆ หนึ่งสามารถ “กลับ” ไปยังอิสราเอลได้และอ้างสิทธิการถือครองที่ดินของชาวปาเลสไตน์ได้ทันทีเสมือนว่านั่นคือการคืนสิทธิเดิมให้กับเขา โดยไม่จำเป็นต้องมีความผูกพันทางประวัติศาสตร์ต่อพื้นที่แห่งนั้น ไม่จำเป็นต้องพูดภาษาฮีบรูได้ ไม่จำเป็นต้องรู้จักใครในอิสราเอล ไม่จำเป็นต้องมีครอบครัวที่เคยอยู่ที่นั่น สิ่งเดียวที่คุณจำเป็นต้องมีคือการเป็นยิวซึ่งก็เป็นเพียงศาสนาหนึ่ง เหมือนศาสนาอื่น ๆ อีกมากมายเท่านั้นเอง

ถอดความโดย สุรัยยา สุไลมาน
29 กรกฎาคม ๒๕๕๗
กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

อัพเดทล่าสุด