ประวัติ หออะซานทรงก้นหอย โดยสังเขป


4,685 ผู้ชม

หออะซานทรงก้นหอย หรือ ทรงเกลียว ที่เรียกในภาษาอาหรับว่า มัลวียะห์ เป็นรูปแบบหออะซานที่มีลักษณะพิเศษมากรูปแบบหนึ่งในสถาปัตยกรรมอิสลาม....


การอะซาน คือการประกาศเชิญชวนให้ปฏิบัติละหมาด

ประวัติ หออะซานทรงก้นหอย โดยสังเขป

ประวัติ หออะซานทรงก้นหอย โดยสังเขป

หออะซานทรงก้นหอย หรือ ทรงเกลียว ที่เรียกในภาษาอาหรับว่า มัลวียะห์ เป็นรูปแบบหออะซานที่มีลักษณะพิเศษมากรูปแบบหนึ่งในสถาปัตยกรรมอิสลาม โดยมีลักษณะเป็นทรงกระบอก มีขั้นบันไดเวียนด้านนอกเป็นเกลียวค่อยๆไต่ระดับ และแต่ละชั้นสูงขึ้นไปนั้นจะมีขนาดเล็กลงตามลำดับ เปรียบได้กับลักษณะของก้นหอย การก่อสร้างหออะซานในรูปแบบดังกล่าวปรากฏครั้งแรกในสมัยราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ (ค.ศ.750-1258) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ทางตะวันออกในแคว้นอิรัก

สถานที่แรกที่ปรากฎหออะซานทรงก้นหอย คือ (ภาพซ้าย) มัสยิดใหญ่แห่งเมืองซะมัรรอ (เมืองหลวงแห่งที่สองของราชวงศ์อับบาสิยะฮ์) หรือรู้จักในชื่อว่ามัสยิดอัล-มุตะวักกิล (Great Mosque of Samarra - Al-Mutawakkil Mosque) ซึ่งถือเป็นหนึ่งเป็นมัสยิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (ขนาด 376 x 444 เมตร ประมาณการว่าสามารถจุคนได้ราวแปดหมื่นคน!) สร้างในปีค.ศ.848 โดยคำสั่งของคอลีฟะฮ์อัล-มุตะวักกิล อะลัลลอฮ์ (ค.ศ.847-861) หออะซาน "มัลวียะฮ์" ของมัสยิดแห่งนี้มีขนาดใหญ่โตเช่นกัน ส่วนฐานกว้าง 33 เมตร และมีความสูงโดยรวม 55 เมตร นอกจากนี้ยังมีหออะซานทรงก้นหอยอีกแห่งที่ (ภาพกลาง) มัสยิดอะบู ดูลาฟ (Abu Dulaf Mosque) ซึ่งอยู่ในเขต "ญะอฺฟะรียะฮ์" ซึ่งเป็นนิคมใหม่เหนือซะมัรรอไปเพียงเล็กน้อย เช่นกัน

มัสยิดแห่งนี้สร้างโดย คำสั่งคอลีฟะฮ์อัล-มุตะวักกิล ผู้ซึ่งรับผิดชอบในโครงการก่อสร้างขนาดมโหฬารของเมืองซะมัรรอ (ต่อจากพ่อของเขา อัล-มุอฺตะซิม บิลละฮ์ ผู้ก่อตั้ง) หออะซานทรงก้นหอยที่มัสยิดอะบู ดูลาฟ เป็นการย่อส่วนมาจากมัสยิดใหญ่แห่งซะมัรรอด้วยความสูงราว 20 เมตร มัสยิดทั้งสองแห่งนี้สร้างด้วยอิฐดินเผาและฉาบด้วยปูน ซึ่งลักษณะการก่อสร้างและวัสดุเป็นที่นิยมในดินแดนอิรักมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล (ด้วยความจำเป็นเพราะเป็นดินแดนทะเลทรายขาดแคลนแหล่งตัดหินและต้นไม้) 


นักวิชาการพยายามหาที่มาที่ไปของ หออะซานทรงก้นหอยนี้ โดยได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า:
(1) ได้รับอิทธิพลมาจากซิกกุรัต (Ziggurat) ซึ่งเป็นวิหารทรงสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นลักษณะคล้ายพีระมิดขั้นบันได ปรากฏในอารยธรรมเมโสโปเตเมียโบราณ (สันนิษฐานว่าซิกกุรัตนี้เองเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของหอคอยบาเบลซึ่งปรากฎในพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเก่าด้วย) 
(2) ได้รับอิทธิพลมาจากหอคอยบูชาไฟของเมืองกูร์ (Tirbal of Gur ปัจจุบันคือ Firuzabad ในอิหร่าน) ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองเป็นศาสนาถานสำคัญของศาสนาโซโรแอสเตอร์ในสมัยจักรวรรดิเปอร์เซียราชวงศ์ซาสซานียะฮ์ (Sassanid) มีลักษณะเป็นหอคอยทรงสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นและมีบันไดวนขึ้นรอบนอก
(3) เป็นลักษณะที่คิดค้นขึ้นในสมัยอิสลามราชวงศ์อับบาสิยะฮ์เป็นครั้งแรก สดใหม่
(หลายคนเสนอให้ข้อสันนิษฐานแรกตกไป เพราะฟังค์ชั่นในการใช้งานต่างกัน ซิกกูรัตมีพื้นที่ที่สามารถเข้าไปประกอบพิธีกรรมได้ ซิกกุรัตไม่มีบันได้เวียนแต่มีลักษณะเป็นบันไดลาดยาวจากพื้นดินขึ้นไปสู่ชั้นหรือห้องวิหารโดยตรง แต่หออะซานไม่ใช่ อีกทั้งในสมัยที่สร้างหออะซานในคศว.ที่ 9 นั้นไม่น่ามีซิกกุรัตที่อยู่ในสภาพพอที่จะเลียนแบบได้อยู่เลย)
นอกจากอิรักแล้ว หออะซานทรงก้นหอยยังไปปรากฏยังดินแดนอีกแห่งหนึ่งคือ "อียิปต์" ที่มัสยิดอิบนุ ตูลูน (Mosque of Ibn Tulun) (ภาพขวา) ตั้งอยู่ในกรุงไคโรปัจจุบัน สร้างโดยอะฮ์หมัด อิบนุ ตูลูน ทาสชาวเติร์กผู้เคยรับราชการทหารอยู่ในเมืองซะมัรรอในสมัยคอลีฟะฮ์อัล-มุตะวักกิล ต่อมาเขาได้รับการแต่งตั้งโดยคอลีฟะฮ์มุอฺตัซ บิลละฮ์ ไปรั้งตำแหน่งเจ้าเมืองอียิปต์ (แต่ภายหลังประกาศแข็งเมืองเป็นเอกเทศจากคอลีฟะฮ์อับบาสิยะฮ์และตั้งราชวงศ์ของตนเองขึ้นมาซะเองอีกต่างหาก..) มัสยิดอิบนุ ตูลูนสร้างเสร็จในปีค.ศ.879 มัสยิดแห่งนี้สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากมัสยิดในเมืองซะมัรรอ (ตัวผังมัสยิด...) และมีหออะซานทรงก้นหอยเช่นกัน แต่มีฐานทรงสี่เหลี่ยมที่สูงกว่า รวมถึงส่วนยอดซึ่งมีห้องขนาดเล็ก (สำหรับมุอัซซิน) ซึ่งต่างจากในซะมัรรอในส่วนนี้ จึงมีข้อสันนิษฐานว่านอกจากแหล่งอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมที่ได้รับมาจากอิรักแล้ว น่าจะได้รับอิทธิพลเพิ่มเติมมาจากประภาคารแห่งอะเล็กซานเดรียในอียิปต์เองด้วย (ประภาคารยังคงมีการใช้งานเรื่อยมาจนกระทั้งเสียหายครั้งใหญ่จากแผ่นดินไหวในราวคศว.10 และพังทลายในราวคศว.14)
และนี้คือเรื่องราวของหออะซานทรงก้นหอย รูปแบบพิเศษซึ่งพบได้เพียงสามแห่งในโลกมุสลิมเท่านั้น


จากภาพ : (ซ้าย) หออะซานมัลวียะฮ์ของมัสยิดใหญ่แห่งเมืองซะมัรรอ,อิรัก (กลาง) หออะซานของมัสยิดอะบู ดูลาฟ ในเมืองซะมัรรอ,อิรัก (ขวา) หออะซานของมัสยิดอิบนุ ตูลูน ในกรุงไคโร, อียิปต์

ที่มา: โบราณคดีอิสลาม
islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด