มะกอม อิบรอฮีม ประวัติทีมารอยเท้าทั้งสองของนบีอิบรอฮีม
คำว่า มะกอม เป็นภาษาอาหรับแปลว่า ที่ยืนหรือรอยเท้าทั้งสองคำว่า มะกอมอิบรอฮีม หมายถึงแท่นหินที่ท่านนบีอิบรอฮีม อฺลัยฯ ใช้เป็นที่ยืนเพื่อก่อสร้าง อัล-กะอฺบะฮฺ เมื่ออัล-กะอฺบะฮฺได้ก่อสร้างเรียบร้อย ท่านนบีอิบรอฮีมได้ยืนบนแท่นหินนี้ วิงวอน(ดุอาอฺ) ต่ออัลลอฮฺ ซุบหฺฯ ให้มวลมนุษย์มาบำเพ็ญฮัจญ์ ณ.สถานที่เเห่งนี้ ดังที่เป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน
แท่นหินนี้ เป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง 2 คืบ สูง 3 คืบ เนื่องจากแท่นหินนี้มีอายุหลายพันปี มีมาตั้งเเต่สมัยนบีอิบรอฮีม สภาพของหินจึงชำรุดกร่อนไปบ้างตามสภาพการณ์ ท่านมุฮัมมัด อัล-มะหฺดีซึ่งเป็นประมุขของอาหรับสมัยนั้น ใช้ทองคำหลอมหินนั้นเพื่อรักษาสภาพของมันให้คงสภาพเดิมสืบต่อมา ในปีคศ.161 นับได้ว่าเป็นประมุขคนแรกที่หลอม และมีการต่อเติมในสมัยต่อฯมา ทั้งนี้เพื่อมิให้แท่นหินนี้แตกสลายหรือสึกกร่อน ในขณะที่ท่านนบีอิบรอฮีมยังมีชีวิตอยู่ แท่นหินนี้ตั้งอยู่ใกล้ อัล-กะอฺบะฮฺ และสมัยต่อฯมาได้มีการซ่อมแซมและเคลื่อนย้ายจากฐานเดิมบ้าง พอสมัยท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ ได้นำมาตั้งไว้ ณ.ที่เดิม สมัยเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนิ อัล-ค็อฎฏอบ มีฝนตกหนักครั้งใหญ่ น้ำท่วมบริเวณอัล-กะอฺบะฮฺ กระเเสน้ำได้พัดพาเอาแท่นหินนี้เคลื่อนไป ท่านเคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ จึงได้เอามาตั้งไว้ ณ.ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งห่างจากอัล-กะอฺบะฮฺพอสมควร ทั้งนี้เพื่อให้มีลานเวียนขวา(เฏาะวาฟ)กว้างขวางขึ้น เหมาะสมกับผู้คนที่มาเฏาะวาฟเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะเทศกาลบำเพ็ญฮัจญ์
มะกอมอิบรอฮีม (Maqam Ibrahim)
ในเวลาต่อมา บรรดาผู้ครองนครเเคว้นมักกะฮฺหลายสมัยด้วยกัน ได้สร้างโดมและอาคารหลอมแท่นหินนี้และประดับประดา ล้อมรั้วเหล็กทองเหลืองอย่างเเข็งแรง เพื่อป้องกันผู้คนไปลูบคลำแตะต้องหินนี้เสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บางพวกถือเป็นสิ่งบูชา อันเป็นการทำชิรฺกต่ออัลลอฮฺ และทำผิดศาสนาอย่างร้ายเเรง ในระยะหลังฯนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ได้ขยับขยายมัสยิดหะรอมให้กว้างขวางออกไปมาก เพื่อให้พอเพียงกับผู้ไปเฏาะวาฟซึ่งมีจำนวนเป็นแสนเป็นล้าน ที่ไปชุมนุมทำฮัจญ์ เฏาะวาฟ ละหมาดในมัสยิดแห่งนี้ตลอดเวลา ทางรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย จึงได้ขยายบริเวณมัสยิดแห่งนี้ออกไปอย่างมากมายจึงมีความจำเป็นที่จะต้องย้ายแท่นหินอันเก่าเเก่นี้ ไปทางด้านหลังกะฮฺบะฮฺ ห่างจากที่เดิม 10 เมตร โดยดำริที่จะให้มีบริเวณสร้างหินอ่อนเป็นฐานรองรับ มะกอมอิบรอฮีมด้วย
แต่การเคลื่อนย้ายเเท่นหินนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับในหลักศาสนา ที่จะถือเอาบริเวณหลังแท่นหินเป็นที่นมาซซุนนะหฺ เฏาะวาฟ จึงมีมติให้แท่นหินนี้ตั้งอยู่ที่เดิม และประดิษฐ์โคมแก้ว ประดับประดาด้วยทองเหลืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อเป็นสิ่งคุ้มกันโคมแก้วและให้ดูงดงาม ตลอดทั้งรักษา "มะกอมอิบรอฮีม" อันเป็นสิ่งเก่าเเก่สำคัญคู่กับ อัล-กะอฺบะฮฺ มาเเต่โบราณกาลนี้สืบไป และการละหมาด 2 ร็อกอะฮฺ ณ ที่นี้อันเป็นหลักสำคัญของผู้บำเพ็ญฮัจญ์ที่จะต้องกระทำ ได้คงที่เดิมอีกด้วย
ที่มา : นิตยสารอัล-ญิฮาด ปีที่ 9 ฉบับที่ 50