4 ราชินีแห่งอณาจักรปัตตานี


65,383 ผู้ชม

ก่อนที่อาเจะห์จะมีสุลต่านหญิง ปัตตานีมีเจ้าเมืองเป็นสตรีมาแล้ว ไม่ได้เรียกสุลต่านะฮฺ แต่เรียกว่าราชา(ราชินี) อาจเป็นไปได้ว่า อาเจะห์เลียนแบบจากปัตตานีก็เป็นไปได้ กล่าวคือ เจ้าหญิงที่ทรงปกครองปัตตานี มีดังนี้


4 ราชินีแห่งอณาจักรปัตตานี

ก่อนที่อาเจะห์จะมีสุลต่านหญิง ปัตตานีมีเจ้าเมืองเป็นสตรีมาแล้ว ไม่ได้เรียกสุลต่านะฮฺ แต่เรียกว่าราชา(ราชินี) อาจเป็นไปได้ว่า อาเจะห์เลียนแบบจากปัตตานีก็เป็นไปได้ กล่าวคือ เจ้าหญิงที่ทรงปกครองปัตตานี มีดังนี้


1.ราชินี อิเยา (raja ijau) ทรงปกครองในระหว่าง ค.ศ.1584-1616 (พ.ศ.2127-2159)


2.ราชินี บีรู (raja biru) ทรงปกครองในระหว่าง ค.ศ.1616-1624 (พ.ศ.2159-2167)


3.ราชินี อูงู (raja ungu) ทรงปกครองในระหว่าง ค.ศ.1624-1635 (พ.ศ.2167-2178)

ราชินีหรือเจ้าหญิงทั้ง 3 พระองค์นี้เป็นพระธิดาของสุลต่าน มันศูร ซาร์ ซึ่งปกครองปัตตานีในระหว่าง ค.ศ.1564-1572 (พ.ศ.2107-2115)


4.ราชินี กูนิง (raja kunning) ทรงปกครองในระหว่าง ค.ศ.1635-1688 (พ.ศ.2178-2231) เจ้าหญิงองค์นี้เป็นพระธิดาของราชินีอูงูกับสุลต่านเมืองปาหัง


อนึ่ง ก่อนที่ราชินีอิเยาจะขึ้นครองราชย์ คือในสมัยสุลต่านปาเตะซียัม

ค.ศ.1572-1573 (พ.ศ.2115-2116) เนื่องจากสุลต่านองค์นี้ขึ้นนั่งบัลลังก์ในขณะที่ทรงพรเยาว์ ก็มีเจ้าหญิงซีตีอาอิชะฮฺ พระพี่นางของสุลต่านมันศูรชาร์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เรียกตำแหน่งนี้ว่า "พระเจ้า"


ในสมัย ราชืนีอืเยา ฝรั่งเริ่มเข้ามามาก และมาตั้งคลังสินค้าของพวกเขา กล่าวคือ เรือของชาติฮอลันดา (ดัชทฺ์) มาถึงปัตตานีใน ค.ศ.1601(พ.ศ. 2144) เรืออังกฤษมาถึงใน ค.ศ.1612(พ.ศ. 2155) เป็นต้น จากบันทึกของฝรั่งดังกล่าวนี้ เราจึงได้รู้หลายฯอย่างเกี่ยวกับราชินีองค์นี้และองค์ต่อฯมา


นิโกลาส์ แชร์เเวส (Nicholas Gervaise) ได้เขียนในปีคริสศตวรรษที่ 1680 ในหนังสือ Historie naturell et politique de Siam (ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอณาจักรสยาม) พิมพ์ที่กรุงปารีสใน ค.ศ.1688 (พ.ศ.2231) ตอนหนึ่งระบุว่า

"ปัตตานี...สถาปณาเจ้าหญิงองค์หนึ่งขึ้นแทนที่ตั้งให้เป็นนางพระยา แต่ก็มิได้ถวายพระราชอำนาจให้เลย พวกเขาเลือกเฟ้นผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นบริหารราชการแผ่นดินในพระนามาภิไธย โดยที่พระนางไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับราชการงานเมืองเลย เพียงแต่ได้รับการยกย่องนับถือให้เป็นเจ้านายเท่านั้น แม้จะทรงเลือกขุนนางราชบริพารเองก็ไม่ได้..." (คัดมาจากฉบับแปลของ สันต์ ท.โกมลบุตร สำนักพิมพ์ก้าวหน้ากรุงเทพฯ พ.ศ.2506 หน้า 301)


จากข้อความนี้แสดงว่า นางพระยาหรือราชินีปัตตานี "ไม่มีอำนาจในทางการเมือง" อำนาจการบริหารราชการการเมืองอยู่ที่รัฐมนตรีซึ่งบริหารภายใต้กฏหมายอิสลาม เพราะในราชสำนักยังมีตำแหน่ง "ฟะกีฮฺ" ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฏหมายอิสลามอีกด้วย


ใน Hikayat Patani หรือ Story of Patani ของ A.Teeuw และ D.K.Wyatt ระบุว่า สาเหตุที่เเต่งตั้งผู้หญิงเป็นราชินีปัตตานีนั้น เนื่องจากไม่มีรัชทายาทที่เป็นชายองค์ใดมาขึ้นครองราชย์ ตามฉบับแปลของ (อัล-มัรฮูม) อาจารย์วัน มะโรหบุตร (หน้า 50) ระบุไว้ดังนี้


"เมื่อสุลต่านบาหะดูรฺสิ้นพระชนม์แล้วเชื้อพระวงศ์ที่เป็นชายก็หมดลง จะหาใครครองเมืองไม่ได้อีกแล้ว บรรดามุขอำมาตย์ทั้งหลายก็ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อเลือกเฟ้นผู้ที่จะขึ้นครองปัตตานีสืบไป เมื่อราชวงศ์ฝ่ายชายสิ้นสุดลงแล้วอำมาตย์ราชบริพารทั้งหลายจำเป็นต้องเลือกราชธิดาของสุลต่านมันซูรฺขึ้นครองเมืองแทน จึงอันเชิญรายา อิเยา พระธิดาขึ้นเป็นเจ้าเมือง เมื่อรายาอิเยาขึ้นครองเมืองแล้วก็แต่งตั้งวันยาฮารูลเลาะหฺ ให้เป็นเบนตารา (Bentara) ฝ่าซ้าย และแต่งตั้งอารุงอิน เป็นเบนตารา ฝ่ายขวา ให้ศรีอการ์ดิรายา ดำรงตำแหน่งคลังสมบัติเรียกว่า ศรีรายาคลัง ส่วนพระองค์นั้นขึ้นครองเมืองก็ให้เรียกพระองค์ว่า พระเจ้า ตามอย่างที่เคยเรียกรายาไอชะฮฺมาเเล้ว"

ที่ประหลาดอย่างหนึ่งก็คือ ราชินีปัตตานี มี 4 องค์ติดต่อกันเช่นเดียวกับสุลต่านหญิงที่อาเจะห์

ชาวอังกฤษคนหนึ่งที่มาอยู่ที่ปัตตานีใน ค.ศ.1612-1613 (พ.ศ.2155-2156) ชื่อ ปีเตอร์ พลอริส ตามหนังสือของมอร์แลนด์ (Moreland) ชื่อ Peter Floris,his Voyage to the East Indies in the Globe, 1611-1615 ได้บันทึกเกี่ยวกับเจ้าหญิงอิเยา ดังนี้


วันที่ 13 ธันวาคม 2155 ราชินีเสด็จออกไปล่าสัตว์

ราชินี (อิเยา) ประกอบด้วยราชบริวารจำนวนมากกับเรือประมาณ 600 ลำ เสด็จกีฬาล่าสัตว์ที่สะบะรัง (แหลมตาชี)..เราได้ยิงสลุตให้เกียรติพระนางทั้งสองข้างทาง เราได้สนทนากับพระนางในบริษัทของพวกฮอลันดา พระนางมีพระชนมายุมากแล้ว ประมาณ..ปี พระนางมีรูปร่างสูง และเห็นเต็มไปด้วยอำนาจไม่เคยเห็นบุคคลที่มีบุคลิกลักษณะอย่างนี้ทั่วอินดิส..

วันรุ่งขึ้น คือวันที่ 1 มกราคม 2156 ปีเตอร์ ฟลอริส ได้บันทึกอีกพอสรุปได้ว่า พวกเขาและพวกฮอลันดา ถูกเชิญให้ไปในงานรื่นเริงนั้นด้วย ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี มีการแสดงการเต้นรำของผู้หญิงและเด็กฯซึ่งสวยงามมาก


ปีเตอร์ ฟลอริส ได้เขียนหลายตอนเกี่ยวกับราชินีองค์นี้ รวมทั้งการเจรจาที่จะตั้งคลังสินค้าของพวกเขาที่ปัตตานี ซึ่งต้องเข้าฯออกฯราชวังหลายครัั้ง


ราชินีกูนิง ซึ่งเป็นราชินีองค์สุดท้ายของปัตตานีใน Story of Patani ระบุว่า พระองค์ไม่ทรงรับเงินเดิอนจากรัฐ รายได้ของพระองค์ได้จากการทำสวนและเรือสินค้าสำหรับค้าขายกับต่างประเทศ โดยมีนายเรือชื่อว่า นาโคดา ซาดัง ซึ่งชาวเมืองเรียกว่า นาโคดา รายา เป็นผู้ดำเนินการค้าขายแทนพระองค์

พระองค์มีทรัพย์สมบัติมากมาย... เมื่อพระองค์ได้ขึ้นตรองเมืองเพียง 5 วัน พระองค์ก็รับทรั่งให้เจ้าพนักงานรวบรวมทรัพย์สมบัติของพระองค์ทั้งสิ้น..แล้วก็ตรัสกับข้าราชการเหล่านั้นว่า "ทรัพย์สมบัติของเราทั้งหลายเราขอยกให้เป็นสมบัติของแผ่นดินทั้งหมด"


ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของบรรดาสตรีมุสลิมทั้งหลายที่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีมาช้านานแล้วตามบันทึกและข้อมูลต่างฯทางประวัติศาสตร์ ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อของโลกตะวันตกที่พยายามจะบิดเบือนความจริง


บทความโดย อัลบาร์ บี นิตยสาร อัล-ญิฮาด อันดับที่ 210-211 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2533)

อัพเดทล่าสุด