ช่วงที่ผมยังไม่เข้าใจอิสลาม ผมไปสักตามร่างกาย ครั้นผมสำนึกผิด เตาบะฮฺตัวต่ออัลลอฮฺแล้ว ผมจะต้องทำอย่างไรกับรอยสักของผมอ่ะครับ?
ช่วงที่ผมยังไม่เข้าใจอิสลาม ผมไปสักตามร่างกาย ครั้นผมสำนึกผิด เตาบะฮฺตัวต่ออัลลอฮฺแล้ว ผมจะต้องทำอย่างไรกับรอยสักของผมอ่ะครับ?
ตอบโดย อ.มุรีด ทิมะเสน
ในเบื้องต้น ต้องเข้าใจก่อนว่า อิสลามห้ามมุสลิมสักตามร่างกาย ไม่ว่าจะสักตามร่างกายจำนวนมากหรือน้อยก็ตาม
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า :
لَعَنَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ الوَاشِمَةَ وَالمُسْتَوْشِمَةَ
ความว่า: “ท่านนบีมุหัมมัดสาปแช่ง (คือขอดุอาอ์ให้งดความเมตตาแก่) สตรีที่ทำการสัก และสตรีที่ถูกสัก (ข้อห้ามข้างต้นรวมถึงผู้ชายด้วย) ไม่ว่าจะจ้าง หรือขอร้องให้สักก็ตาม” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 5933]
ประเด็นต่อมา เมื่อรู้ว่าการสักเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) ในศาสนา มุสลิมคนใดไปสักมา แล้วมาสำนึกผิด หรือมุสลิมใหม่ที่พึ่งเข้ารับอิสลาม โดยเขาสักก่อนการเป็นมุสลิม เช่นนี้ ให้เขาเตาบะฮฺตัว (ขอลุแก่โทษ) ต่อพระองค์อัลลอฮฺ จากนั้นหากเขามีความสามารถที่จะลบรอยสักได้ ก็ให้เขาทำ แต่หากเขายังไม่มีความสามารถในตอนนี้ ก็ให้เขาตั้งใจไว้ว่า หากมีสตางค์พอเมื่อไรจะไปลบออกทันที ซึ่งศาสนาส่งเสริมให้เขาปฏิบัติศาสนาเท่าที่มีความสามารถ, พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
فَاتَّقُوا اللَّهَ مَا اسْتَطَعْتُمْ
ความว่า: “ดังนั้นสูเจ้าจงยำเกรงพระองค์อัลลอฮฺ ตราบเท่าที่สูเจ้ามีความสามารถเถิด” [สูเราะฮฺอัตตะฆอบุน อายะฮฺที่ 16]
อนึ่ง แม้ว่าเรายังไม่มีสตางค์ไปลบรอยสักออกในช่วงนี้ ทว่าเราต้องปกปิดรอยสักของเราอย่างมิดชิด เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า แม้เราจะเตาบะฮฺตัวแล้วก็ตาม พระองค์ไม่เอาผิดเรื่องการสักแล้ว ทว่าเมื่อรอยสักยังอยู่บนผิวหนังของเรา อาจจะสร้างฟิตนะฮฺให้แก่ผู้อื่นได้ เช่นนี้เราต้องปกปิดรอยสักของเราตลอดเวลา เช่น เรามีรอยสักอยู่ที่แขน ก็ต้องใส่เสื้อแขนยาวปกปิดเอาไว้ หรือมีรอยสักที่คอ ก็ต้องใส่เสื้อปกปิดที่คอ เพื่อไม่ให้รอยสักของเราให้ผู้อื่นเห็น ซึ่งการเปิดเผยความผิดของเรานั้น ศาสนาไม่อนุญาตให้เราเปิดเผย ศาสนาไม่อนุญาตให้เรานำเรื่องไม่ดีของเรามาเล่ามาบอกแก่ผู้อื่น หรือเปิดเผยให้ผู้อื่นได้รับรู้ แม้ว่าเราจะเตาบะฮฺตัวแล้วก็ตาม
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวไว้ว่า
" كُلُّ أُمَّتِي مُعَافًى إِلَّا المُجَاهِرِينَ، وَإِنَّ مِنَ المُجَاهَرَةِ أَنْ يَعْمَلَ الرَّجُلُ بِاللَّيْلِ عَمَلًا، ثُمَّ يُصْبِحَ وَقَدْ سَتَرَهُ اللَّهُ عَلَيْهِ، فَيَقُولَ: يَا فُلاَنُ، عَمِلْتُ البَارِحَةَ كَذَا وَكَذَا، وَقَدْ بَاتَ يَسْتُرُهُ رَبُّهُ، وَيُصْبِحُ يَكْشِفُ سِتْرَ اللَّهِ عَنْهُ "
ความว่า: “ทุกๆ ประชาชาติของฉันล้วนได้รับการอภัยโทษ ยกเว้นบรรดาผู้ซึ่งทำความผิดอย่างเปิดเผย, แท้จริงผู้ซึ่งทำความผิดอย่างเปิดเผยคือผู้ซึ่งกระทำความผิดในเวลากลางคืน ครั้นพอรุ่งเช้า พระองค์อัลลอฮฺทรงปกปิดความผิดของเขาไว้ ทว่าเขากลับกล่าวแก่ผู้อื่นว่า โอ้สหาย (รู้ไหม) เมื่อคืนวานฉันไปทำ (ชั่ว) แบบนั้นแบบนี้, ทั้งๆ ที่ (คืนวาน) เขานอนหลับในสภาพที่พระผู้อภิบาลของเขาทรงปกปิดความผิดของเขา ครั้นพอเช้าเขากลับเปิดเผยความผิดของเขา ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงปกปิดความผิดของเขาไว้” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 6069]
ด้วยหลักฐานข้างต้น บ่งชี้ให้ทราบว่า ศาสนาไม่อนุญาตให้เราเล่าความผิดในอดีตของเราแก่บุคคลอื่น มีความผิดไรไว้ก็เก็บไว้เป็นบทเรียนของตนเอง อย่าป่าวประกาศ หรือเล่าความผิดของเราในอดีตให้ผู้อื่นฟัง เฉกเช่นเดียวกัน เราเตาบะฮฺที่เราไปสักตามร่างกายมา ทว่าเรายังไม่มีสตางค์ไปลบรอยสักในตอนนี้ ฉะนั้นศาสนาจึงระบุว่าให้เราระมัดระวังอย่าเปิดเผยเรื่องรอยสักให้ผู้อื่นเห็น พยายามทุกวิถีทางเพื่อปกปิดมันไม่ให้เปิดเผยแก่สาธารณชน ในประเด็นนี้ยังเป็นการบ่งชี้ให้รู้อีกว่า เจ้าของรอยสักซึ่งเตาบะฮฺตัวอย่างจริงจังแล้วนั้น ต้องแสดงออกถึงการปกปิดสิ่งซึ่งยังคงเหลือร่อยรอยความผิดนั้นด้วยเช่นกัน (วัลลอฮุอะอฺลัม)