บาปที่ผ่านไปได้รับการอภัยโทษ


2,121 ผู้ชม

ผู้ใดที่ถือศีลอดเดือนรอมฏอนด้วยความศรัทธาและบริสุทธิ์ และมุ่งหวังผลบุญจากการถือศีลอด เขาจะได้รับการอภัยบาปของเขาที่ผ่านมา...


บาปที่ผ่านไปได้รับการอภัยโทษ


عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمْ قَالَ:” مَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيْمَاناً وَاحْتِسَاباً غُفِرَلَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ” رواه البخارى 4/221 ومسلم760

ความหมาย : จากอบีฮุรอยเราะห์ เราะฏิยัลลอฮุอันฮุ

ท่านรอซูล (ซ.ล.) กล่าวว่า :

“ผู้ใดที่ถือศีลอดเดือนรอมฏอนด้วยความศรัทธาและบริสุทธิ์ และมุ่งหวังผลบุญจากการถือศีลอด เขาจะได้รับการอภัยบาปของเขาที่ผ่านมา”

(หะดีษรายงานโดยอัลบุคอรีย์ 4/221 และมุสลิม 760)

คำอธิบายหะดีษ :

คำว่า “إِيْمَاناً” คือ การอี๊ติก็อดต่อหน้าที่ในการถือศีลอดอย่างเต็มเปี่ยม ส่วนคำว่า “احْتِسَاباً” คือ การวิงวอนขอผลบุญจากอัลลอฮ ซุบฮานะหุวะตะอาลา

อัล เคาะฏอบีย์ กล่าวว่า “احْتِسَاباً” หมายถึง การตั้งใจ นั่นคือ การที่เขาถือศีลอดอันเนื่องจากหวังเพื่อได้รับผลบุญที่เกิดจากจิตใจที่บริสุทธิ์และยินยอม ขณะเดียวกันเขาจะไม่มีความรู้สึกหนักใจในการถือศีลอดและไม่รู้สึกว่าเวลาในการถือศีลอดนั้นนานเกินไป

(ฟัตฮุ อัล-บารีย์ 4/114)

อัส-สุยูฏีย์ กล่าวว่า คำว่า “إِيْمَاناً” หมายถึง การยินยอมให้การถือศีลอดเป็นฟัรดูเหนือเขาและเป็นสิทธิที่เป็นวาญิบและเป็นหนึ่งในรุก่นอิสลาม ยังเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่อัลลอฮให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ผลบุญและผลตอบแทน [ตุหฺฟะตุลอะห์วะซีย์ 3/361]

อิหม่ามอันนะวะวีย์กล่าวว่า อะมั้ลอิบาดะห์ทุกอย่างที่สามารถไถ่จากบาปต่างๆ เมื่อตรงกับบาปต่างๆ (ไม่ว่าจะเป็นบาปใหญ่หรือบาปเล็ก) บาปนั้นก็จะถูกลบล้างไป ซึ่งบาปเล็กก็จะถูกลบไป ส่วนบาปใหญ่ก็จะให้เบาบางลง หากอิบาดะห์ต่างๆ มิใช่เป็นสาเหตุของการยกระดับ (ดะรอญะห์) ในสวรรค์

อิบนุ มุนซิรกล่าวว่า การให้อภัยนั้นจะคลอบคลุมถึงบาปทุกอย่าง ทั้งที่เป็นบาปใหญ่และบาปเล็ก

บาปที่ผ่านไปได้รับการอภัยโทษ

บทเรียนจากหะดีษ :

1. กล่าวถึงความประเสริฐของการประกอบอิบาดะห์คือ การถือศีลอด

2. ผู้ที่ถือศีลอดอย่างแท้จริงนั้นจะได้รับการอภัยโทษจากบาปต่างๆ ที่ผ่านไป

3. การถือศีลอดที่แท้จริงเกิดจากความศรัทธาต่อคำสั่งของอัลลอฮ และหน้าที่ในการถือศีลอด พร้อมทั้งหวังในผลบุญจากพระองค์

4. ในภาพรวมแล้ว หะดีษนี้จะกล่าวถึงบาปทั้งที่เป็นบาปใหญ่และบาปเล็กจะได้รับการอภัยจากอัลลอฮฺ แต่ทัศนะของนักวิชาการเห็นว่าการอภัยโทษนั้นเจาะจงเฉพาะที่เป็นบาปเล็กเท่านั้น ส่วนบาปใหญ่จะเบาบางลงเท่านั้น

5. การอภัยโทษจากอัลลอฮฺนับเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแด่บ่าวของพระองค์

อัพเดทล่าสุด