มุสลิมทำหมันได้หรือไม่ อิสลามมีข้อห้ามเรื่องการทำหมันไหม? : islamhouses


6,167 ผู้ชม

การทำหมัน คือการทำให้คน ผู้ชายหรือผู้หญิงไม่มีโอกาสมีลูกตลอดไป ทั้งนี้โดยการใช้ยา


การทำหมัน คือการทำให้คน ผู้ชายหรือผู้หญิงไม่มีโอกาสมีลูกตลอดไป ทั้งนี้โดยการใช้ยาหรือใส่สิ่งกีดขวางหรือทำการผ่าตัด ในอัลกุรอาน ไม่มีตัวบทระบุอย่างชัดแจ้งห้ามการทำหมัน แต่นักค้นคว้ายุคปัจจุบัน คือ ชัยคมุหัมมัด อะบู ซะฮเราะฮ นักนิติศาสตร์อิสลามชั้นอาวุโสคนหนึ่ง ท่านได้เขียนบทความไว้ในนิตยสาร “ลิวาอุลอิสลาม” ออก ณ กรุงไคโร เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 1962 ที่ว่า

“และสูเจ้าอย่าได้ฆ่าลูก ๆ ของสูเจ้า อันเนื่องจากกลัวความยากไร้ เราเป็นผู้ให้เครื่องยังชีพแก่สูเจ้า และเขาเหล่านั้น (ลูก ๆ )” อัลอันอาม อายะฮ ที่ 151 และ

“สูเจ้าอย่าฆ่าลูก ๆ ของสูเจ้า เพราะเกรงความยากไร้ เราให้เครื่องยังชีพแก่เขาเหล่านั้นและสูเจ้า” อัล-อิสรออ อายะฮที่ 31

ซึ่งตามนัยของอายะฮทั้งสองนั้น ท่านมีความเห็นว่า “ห้ามการควบคุม หรือระงับการสืบพันธุ์ด้วยการทำหมัน หรือด้วยวิธีอื่น เพราะเกรงความยากไร้ หรือเกรงว่าจะเป็นสาเหตุแห่งความยากไร้”

ในทำนองเดียวกันไม่ปรากฎตัวบทอย่างชัดแจ้ง ในสุนนะฮของท่านนบี ห้ามทำหมันถึงแม้จะมีบางหะดีษชอบให้แต่งงานกับสตรีที่จะให้กำเนิดลูกได้มาก แต่ส่วนใหญ่ของนักปราชญ์มุสลิมมีความเห็นว่า การทำหมันเป็นสิ่งหะรอม และถูกห้ามตามบทบัญญัติ เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นเช่นเป็นโรคเกี่ยวกับทางจิต ทางสติปัญญาหรือทางเพศ ซึ่งได้รับการยืนยันจากทางแพทย์ว่าเป็นไปตามกรรมพันธุ์ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้และไม่อาจจะรักษาให้หายได้

ตรงกันข้ามในสภาพเช่นนี้ ตามกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติศาสนา ถือว่าการทำหมันเป็นเรื่องที่ชอบด้วยเหตุผล ควรกระทำเสียอีก ทั้งนี้เพื่อเป็นการระงับยับยั้งสิ่งที่จะเป็นสาเหตุให้กำเนิดลูกหลานขึ้นมาในสภาพดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นนักนิติศาสตร์อิสลามเห็นว่า การทำหมันในสภาพเช่นนั้นเป็นวาญิบ (จำเป็น) เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น วิทยาการแผนใหม่ ตามที่นักฟุก็ฮาอยุคปัจจุบันบางท่านกล่าว “ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างไม่มีการคลางแคลงใจเลยว่า ทุพพลภาพของบิดามารดานั้นจะขยายไปสู่ลูก ๆ ได้ ถ้าเมื่อทุพพลภาพอันนั้นมันเกิดแก่ลูกมันก็เลื่อนไปสู่หลาน หรือคนอื่น ๆ ที่อยู่ในวงศ์วาน”

วิชาการเช่นนี้มิใช่จะไม่มีอยู่ในหมู่นักนิติศาสตร์สมัยโบราณ เพราะท่านอิมามอัชชาฟิอีย ริฎวานุลลอฮิอะลัยฮิ เมื่อท่านได้กล่าวถึงเรื่องการเลิกล้มการอยู่กินกันระหว่างสามี – ภรรยา เพราะโรคด่างหรือโรคผิวหนัง ท่านก็ได้นำเอาสาเหตุของเรื่องนี้มากล่าวไว้ด้วยว่า เด็กที่เกิดมามีโรคหนึ่งในสองนั้น น้อยนักจะปลอดภัย หากปลอดภัยมันก็จะไปเกิดแก่ลูก ๆ ของเขา ฉะนี้แล้ว เรายังคัดค้านเรื่องการติดต่อของทุพพลภาพจากพ่อไปสู่ลูกโดยทางกรรมพันธุ์อีกหรือ?

อาศัยหลักดังกล่าว ชัยค อะหมัดอิบรอฮีม จึงได้กำหนดไว้ว่า “ไม่เป็นการหะรอมที่ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นโรคหนึ่งจากโรคดังกล่าว จะเยียวยารักษาตัวเองด้วยวิธีใดก็ตามก่อนสมสู่กับภรรยาเพื่อทำลายน้ำเชื้อมิให้ผสมพันธุ์”

และเป็นที่ประจักษ์ชัดซึ่งไม่ต้องมีตัวบทมายกเว้นสภาพการณ์ต่าง ๆที่จำเป็น ซึ่งนักนิติศาสตร์บางท่านได้ให้ความกระจ่างแจ้งไว้ว่า อนุมัติให้ยับยั้งการตั้งครรภ์ตลอดไป (คือการทำหมัน) หากสองสามีภรรยาหรือหนึ่งในสองนั้นมีโรค อันจะติดต่อไปถึงลูกหลาน หากว่าการนั้นจะทำให้การสืบพันธุ์ลดน้อยลงเป็นบางส่วน หรือทำให้บางคนขาดความสุขจากการมีลูกไปบ้างก็ตาม แต่นั่นมันเป็นความเสียหาย และปัดเป่าภยันตรายที่ใหญ่ยิ่งไปกว่าการกำเนิดลูกที่มีโรคน่าเกลียดติดตัวมา ยากที่จะทำการรักษาให้หาย การป้องกันความเสื่อมเสียต้องนำมาใช้ก่อน และตามกฎเกณฑ์ของบทบัญญัตินั้น เมื่อมีอันตรายอยู่ 2 อย่างให้ใช้อันที่มีอันตรายน้อยที่สุด

สรุปแล้วก็ได้ความว่า การใช้ยาห้ามการกำเนิดโดยสิ้นเชิงนั้นเป็นการหะรอม ตามความเห็นพ้องต้องกันของปราชญ์ทางศาสนา ทั้งนี้หากไม่มีความจำเป็น

ดังนั้น การทำหมันจึงเป็นสิ่งหะรอม และถูกห้ามตามบทบัญญัติศาสนา เว้นแต่ในบางกรณีซึ่งเราได้ชี้ให้เห็นมาแล้ว กล่าวคือ เมื่อสองสามีภรรยา หรือหนึ่งในสองมีโรคที่น่าเกลียด เช่น โรคด่าง หรือโรคเรื้อนซึ่งไม่อาจจะรักษาให้หายได้ และปรากฎทางการแพทย์ว่า ติดต่อกันมาโดยทางกรรมพันธุ์

ในเมื่ออิสลามได้ห้ามการทำหมันแต่จะให้ทำได้ในบางกรณี อิสลามก็มิได้ห้ามชายแต่งงานกับหญิงที่เป็นหมัน หรือหญิงแต่งงานกับชายที่เป็นหมัน เพราะสภาพเช่นนั้น เป็นสภาพตามธรรมชาติ มีมาแต่กำเนิด โดยที่เขามิได้ทำสิ่งให้เป็นเหตุแห่งการเป็นหมัน และทางการแพทย์ก็ไม่อาจรักษาได้ หากชายคนหนึ่งจะแต่งงานกับหญิงที่เป็นหมัน ก็ไม่เรียกว่า เขาได้กระสิ่งที่ต้องห้าม ถึงแม้เขาจะรู้มาก่อนว่าหญิงคนนั้นเป็นหมัน

หากเราจะบังคับว่าชายทุกคนจะต้องแต่งงานกับหญิงที่กำเนิดลูกได้เท่านั้น ชะตากรรมของหญิงที่เป็นหมันจะเป็นอย่างไร ? เธอเหล่านั้นจะอยู่อย่างไม่ต้องแต่งงานกระนั้นหรือ ?

หรือหากว่าเราจะบังคับให้ชายทุกคนต้องแต่งงานกับหญิงที่ให้กำเนิดลูกมากเท่านั้น ฉะนั้นแล้วชะตากรรมของหญิงที่มีลูกน้อยเพราะส่วนประกอบทางร่างกาย หรือสาเหตุอื่นซึ่งเธอไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย จะเป็นอย่างไรเล่า ?

การมีลูกน้อยหรือมีลูกมากบางทีคนเราก็มีส่วนเกี่ยวข้องหรือควบคุมได้ แต่มนุษย์เราสามารถที่จะควบคุมเพศของลูกๆ ได้ไหม? เขาสามารถที่จะทำให้เป็นเพศชายหรือเพศหญิงได้ไหม?

เราไม่มีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้น ในทำนองเดียวกัน เราไม่มีสิทธิ์อะไรเลย เมื่ออัลลอฮได้ทรงกำหนดการเป็นหมันแก่เรา จำเป็นแก่มุสลิมและมุสลิมะฮที่ได้ลิ้มรสความหมายของการอีมาน (ศรัทธา) จะต้องพอใจตามที่อัลลอฮทรงประสงค์ และจะต้องรู้ว่า ความดีนั้นอยู่ในสิ่งที่พระองค์ทรงเลือกเฟ้นให้แก่เขาทั้งสอง (สามี – ภรรยา) บางทีเราอยากได้ลูก แต่เราก็ไม่ทราบว่านั่นเป็นการดีหรือร้ายแก่เรา บางทีเราอยากได้ลูกชายแต่บางทีการได้ลูกผู้หญิงนั้นเป็นการดีแก่เรา

ส่วนหนึ่งจากความหมายของอิสลามนั้นให้เรามอบหมายแต่อัลลอฮอย่างสมบูรณ์ และเพื่อที่จะบรรลุความหมายของอิสลามอย่างแท้จริง จึงจำเป็นแก่เราที่จะต้องมอบกิจการงานของเราแด่อัลลอฮ สุบหฯ และพอใจในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงจัดสรรแก่เรา เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้ในกิจการงานของเรา ว่าอันใดดีและเหมาะสมแก่เราอัลลอฮได้ตรัสสมจริงแล้ว โดยได้ตรัสไว้ความว่า

“อำนาจการครอบครองชั้นฟ้าและแผ่นดินเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ พระองค์ทรงบังเกิดตามที่พระองค์ทรงประสงค์ ทรงให้ลูกชายแก่ผู้ที่พระองค์ ทรงประสงค์ ทรงให้ลูกแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ หรือทรงให้รวมแก่พวกเขาทั้งลูกชายและลูกหญิง และทรงทำให้ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์เป็นหมัน แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้ ทรงเดชานุภาพ” อัชชูรอ อายะฮที่ 49 – 50

โดย: อบูมันศูร มุกัรเราะมะห์

บทความที่น่าสนใจ:

เรื่องที่น่าสนใจ