ศาสนาอนุญาตให้วะลีย์ (ผู้ปกครอง) บังคับให้ลูกสาวของเขาแต่งงานกับบุคคลหนึ่ง โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบ จากนางได้หรือไม่?
โดนจับ คลุมถุงชน ศาสนาอิสลามอนุญาตหรือไม่?
ศาสนาอนุญาตให้วะลีย์ (ผู้ปกครอง) บังคับให้ลูกสาวของเขาแต่งงานกับบุคคลหนึ่ง โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบ จากนางได้หรือไม่?
ตอบโดย อ.มุรีด ทิมะเสน
ศาสนาไม่อนุญาตให้วะลีย์ (ผู้ปกครอง) บังคับให้ลูกสาวของเขาแต่งงาน (หรือวะลีย์ที่อยู่ถัดจาก บิดาก็ไม่อนุมัติให้บังคับแต่งงาน) กับบุคคลหนึ่งโดยไม่ยอมขอการยินยอมจากนาง ไม่ว่านางจะเป็นหญิงที่ผ่านการแต่งงานมาแล้วหรือยังไม่ผ่านการแต่งงานมาก่อนก็ตาม
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“สตรีที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้วนั้น ไม่อนุญาตให้ถูกแต่งงานจนกว่านางจะถูกขอการยินยอมเสียก่อน และไม่อนุญาตให้สตรีที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงานจนกว่านางจะถูกขอการยินยอม เช่นกัน มีผู้กล่าวถามท่านรสูล (ซ.ล.) ว่าโอ้ท่านรสูลของอัลลอฮฺ ลักษณะใดที่บ่งบอกว่านางยินยอม? ท่านรสูล (ซ.ล.) ตอบว่า การนิ่งของนาง”
(เล่าโดยอบู ฮุร็อยเราะฮฺ บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 4741, มุสลิม หะดีษที่ 2543, ติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 1025, นะสาอีย์ หะดีษที่ 3213, อบูดาวูด หะดีษที่ 1791, อิบนุ มาญะฮฺ หะดีษที่ 1861 และอะหฺมัด หะดีษที่ 7097)
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“สตรีที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว ถือว่านางมีสิทธิในตัวของนางมากกว่าวะลีย์ของ (หมายถึงนางยินยอมเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ผ่านการเห็นชอบของวะลีย์) ส่วนสตรีที่ไม่เคยผ่านการแต่งงานมาเลยนางจะต้องถูกขอความเห็นชอบ (หมายถึงวะลีย์เห็นชอบพร้อมกับนางต้องยินยอมด้วย) ซึ่งการยินยอมของนางคือ การนิ่งของนาง”
(เล่าโดยอิบนุ อับบาส บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 2546, ติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 1026, นะสาอีย์ หะดีษที่ 3208, อบูดาวูด หะดีษที่ 1795. อะหฺมัด หะดีษที่ 1790, มาลิก หะดีษที่ 967 และ อัดดาริมีย์ หะดีษที่ 2092)
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“หญิงกำพร้าถูกขอการยินยอม (ในเรื่องการแต่งงาน) ด้วยตัวของนางเอง หากนางนิ่งเงียบ นั่นคือการยินยอมของนาง แต่ถ้านางปฏิเสธ (ศาสนา) ไม่อนุญาตให้ (วะลีย์) บังคับนาง (แต่งงาน)”
(เล่าโดยอบูฮุร็อยเราะฮฺ บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 1792 และติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 1027)
ส่วนกรณีสตรีท่านใดที่ถูกวะลีย์บังคับให้แต่งงานโดยที่นางไม่พึงพอใจ เช่นนั้นศาสนาอนุญาตให้นางเลือกได้สองแนวทาง นั่นคือนางสามารถยกเลิกการแต่งงานครั้งนั้น หรือนางยอมรับการแต่งงานครั้งนั้น
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“หญิงสาวที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงานท่านหนึ่งมาหาท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) จากนั้นนางจึงเล่าว่า บิดาของนางแต่งงานให้แก่นางทั้งที่นางรังเกียจ (ด้วยเหตุดังกล่าว) ท่านรสูล (ซ.ล.) จึงสั่งให้นางเลือก (โดยให้เลือกระหว่างยกเลิกการแต่งงาน หรือจะยอมรับการแต่งงานดังกล่าว)” (เล่าโดยอิบนุ อับบาส บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 1794)
อนึ่ง หากสตรีที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้วถูกวะลีย์ของนางบังคับให้แต่งงานโดยที่นางไม่พึงพอใจ เช่นนั้นศาสนาอนุมัติให้ยกเลิกการแต่งงานครั้งนั้น
นางค็อนสา บุตรสาวของท่านคิชาม อัลอันศอรีย์ เล่าว่า
“แท้จริงบิดาของนางแต่งงานให้แก่นางทั้ง ๆ ที่นางไม่พึงพอใจ การกระทำข้างต้น ด้วยสาเหตุข้างต้นนางจึงมาหาท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) (โดยเล่าเรื่องดังกล่าวให้ฟัง) เช่นนั้นท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) จึงสั่งยกเลิกการแต่งงานของเขา (หมายถึงการแต่งงานของบิดาของนาง)”
(บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 4743, นะสาอีย์ หะดีษที่ 3216, อบูดาวูด หะดีษที่ 1797, อิบนุ มาญะฮฺ หะดีษที่ 1863, อะหมัด หะดีษที่ 25560, มาลิก หะดีษที่ 981 และอัดดาริมีย์ หะดีษที่ 2095)
ส่วนประเด็นสตรีที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ (หมายถึงสตรีที่ยัง ไม่มีการเคลื่อนของเลือดประจำเดือน) วะลีย์ของนางสามารถแต่งงานให้แก่นางโดยไม่ต้องสอบถามความเห็นชอบจากนางได้หรือไม่?
ประเด็นข้างต้นแบ่งออกเป็น 3 ทัศนะดังนี้
ทัศนะแรก จำเป็นจะต้องสอบถามความเห็นชอบของสตรีไม่ว่านางจะบรรลุศาสนภาวะหรือไม่บรรลุศาสนภาวะก็ตามโดยอ้าง หลักฐานที่ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวไว้ว่า
“สตรีที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้วถือว่านางมีสิทธิในตัวของนางมากกว่าวะลีย์ของนาง (หมายถึงนางเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียวโดย ไม่ผ่านการเห็นชอบของวะลีย์) ส่วนสตรีที่ไม่เคยผ่านการแต่งงานมาเลยนางจะต้องถูกขอความเห็นชอบ (หมายถึงวะลีย์เห็นชอบพร้อมกับนางต้องเห็นชอบด้วย) ซึ่งการเห็นชอบของนางก็คือ การนิ่งของนาง”
ซึ่งตัวบทหะดีษข้างต้นกล่าวไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า สตรีที่ไม่เคยผ่านการแต่งงานมาเลย นางจะต้องถูกขอความเห็นชอบ ซึ่งหะดีษมิได้ชี้เจาะจงว่าสตรีท่านนั้นบรรลุศาสนภาวะแล้วหรือยังไม่บรรลุศาสนภาวะ
ทัศนะที่สอง ไม่ต้องถามการยินยอมจากนาง เนื่องจากนางยังไม่บรรลุศาสนภาวะ เช่นนั้นผู้เป็นบิดาหรือปู่สามารถตัดสินใจแต่งงาน ให้แก่นางได้โดยไม่พิจารณาว่านางจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม ซึ่งอ้างหลักฐานของท่านอุรวะฮฺ
“แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) สู่ขอท่านหญิงอาอิชะฮฺต่อท่านอบูบักร” (บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 4691)
ซึ่งขณะท่านรสูล (ซ.ล.) แต่งงานกับท่านหญิงอาอิชะฮฺนางอายุเพียง 6 ปี เท่านั้น ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า
“ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) แต่งงานกับนางขณะนางอายุ 6 ปี แต่นางถูกส่งมายังท่านรสูล (ซ.ล.) เมื่ออายุ 9 ปี และท่านรสูล (ซ.ล.) อยู่กินกับนางขณะนางอายุได้ 9 ปีเช่นกัน” (บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 4738 และมุสลิม หะดีษที่ 2548)
หลักฐานข้างต้นบ่งชี้ว่าท่านอบูบักรแต่งงานท่านหญิงอาอิชะฮฺ ให้กับท่านรสูล (ซ.ล.) ทั้ง ๆ ที่นางยังเยาว์วัย และท่านอบูบักรเองก็มิได้ ขอการยินยอมจากนางอีกด้วย
ทัศนะที่สาม อนุญาตให้วะลีย์ทุกคนแต่งงานให้แก่สตรีที่อายุน้อยได้ ซึ่งการแต่งงานนั้นถือว่าใช้ได้ แต่นางมีสิทธิ์ที่จะเลือกและตัดสินใจครั้นเมื่อนางบรรลุศาสนภาวะแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นทัศนะที่ถูกต้องที่สุด เนื่องจากมีรายงานว่า
“ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) เคยจัดการแต่งงานให้แก่อุมามะฮฺ บุตรของหัมซะฮฺ โดยขณะนั้นนางยังอายุน้อย และนางก็ตัดสินใจเลือก เมื่อนางบรรลุศาสนภาวะแล้ว”
ข้างต้นเป็นทัศนะของท่านอุมัร, อลีย์, อับดุลลอฮฺ บุตรของมัสอูด, อิบนุ อุมัร และท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ (ดูหนังสือ “ฟิกฮุสสุนนะฮฺ” เล่ม 2 หน้า 90-91)
ผู้เขียนเองคงจะเปิดกว้างต่อประเด็นข้างต้นซึ่งผู้เขียนเอง คงจะไม่ชี้นำ เช่นนั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้อ่านทุกท่านที่คิดว่าทัศนะใดที่สอดคล้องกับสุนนะฮฺมากที่สุด
หากจะถามผู้เขียนเห็นด้วยกับทัศนะไหน ผู้เขียนเองเห็นด้วยกับทัศนะที่สามเนื่องจากหลายประเด็นที่คิดว่าใกล้เคียงกับสุนนะฮฺของท่านนบี (ซ.ล.) อีกทั้งบรรดาเศาะหาบะฮฺระดับแนวหน้าหลายท่าน เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าว