นับเป็นเวลาเนิ่นนานแล้วที่พวกเราจัดเฉลิมฉลองคืนที่ 15 ของเดือนซะอฺบาน(คืนนิศฟูซะอฺบาน) โดยรวบรวมผู้คนในกำปงทั้งผู้ใหญ่ หนุ่มๆ เด็กๆและสตรีในมัสยิดเพื่อทำการละหมาดมักริบ
ข้อชี้ขาดทางศาสนาเกี่ยวกับ
"การรวมตัวกันอ่านยาซีน 3 จบและดุอาในคืนนิศฟูชะอฺบาน"
ตอบโดย: ศาสตราจารย์อาลี ญุมอะฮฺ
ข้อชี้ขาดทางศาสนาเกี่ยวกับการฟื้นฟูคืนที่ 15 ของเดือนซะอฺบาน(คืนนิศฟูชะอฺบาน)
ผู้ตอบ : ศาสตราจารย์อาลี ญุมอะฮฺ
คำถาม : นับเป็นเวลาเนิ่นนานแล้วที่พวกเราจัดเฉลิมฉลองคืนที่ 15 ของเดือนชะอฺบาน (คืนนิศฟูชะอฺบาน) โดยรวบรวมผู้คนในกำปงทั้งผู้ใหญ่ หนุ่มๆ เด็กๆและสตรีในมัสยิดเพื่อทำการละหมาดมักริบ(ร่วมกัน) หลังละหมาดเสร็จพวกเราจะอ่านซูเราะฮฺยาซีน 3 จบโดยจะอ่านดุอาถัดจากแต่ละจบด้วยถ้อยคำ(ดุอา)จากอัลกุรอานและจะดุอาให้แก่อิสลามและมวลมุสลิม ซึ่งก่อนนี้เราเคยดุอาด้วยดุอา(คืน)นิศฟูชะอฺบานที่คุ้น เคย ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำกันแบบพร้อมเพรียงกันและ(อ่าน)เสียงดัง และ(ตอนนี้)เราเปลี่ยนจากดุอานั้น(ดุอาคืนนิศฟูชะอฺบาน)เป็นดุอาที่มาจากอัลกุรอานแล้ว (คำถาม) อะไรคือมุมมองของศาสนาเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองคืนที่ 15 ของเดือนชะอฺบาน(คืนนิศฟูชะอฺบาน)ด้วยวิธีนี้ ?
คืนที่ 15 ของเดือนชะอฺบาน (คืนนิศฟูชะอฺบาน) นับเป็นคืนที่เปี่ยมด้วยสิริมงคล มีหะดีษจำนวนมากมายพูดถึงความประเสริฐของค่ำคืนนี้ โดยมีหะดีษบางส่วนสนับสนุนกันและกันจนยกสถานะสู่ระดับหะซันและมีความแข็งแรง
ดังนั้น การฟื้นฟูค่ำคืนนี้ (ด้วยการบำเพ็ญความดี) จึงเป็นส่วนหนึ่งจากเรื่องศาสนาอย่างไม่ต้องสงสัย และตามที่กล่าวมานี้ หลังมองข้ามหะดีษอ่อนแอและหะดีษที่ถูกกุขึ้นเกี่ยวกับความประเสริฐของค่ำคืนนี้(หมายถึงหลังจากพิจารณาเฉพาะหะดีษที่อยู่ในระดับเชื่อถือได้เท่านั้น)
ส่วนหนึ่งจากหะดีษที่ถ่ายทอดมาเกี่ยวกับความปรเสริฐของคืนที่ 15 เดือนชะอฺบาน(คืนนิศฟูชะอฺบาน) หะดีษที่รายงานจากพระนางอาอิซะฮฺ (رضي الله عنها) นางกล่าวว่า
“ท่านนบี (صلى الله عليه وآله وسلم) ได้หายตัวไปจากฉันในค่ำคืนหนึ่งฉันจึงออกตามหาท่าน จึงไปพบท่านที่อัลบ้ากีอฺ(ขณะท่าน)แหงนหน้าขึ้นสู่เบื้องบน ท่านกล่าวว่า โอ้อาอิซะฮฺ เธอเกรงว่าอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์จะละเมิดเธอกระนั้นหรือ? ฉันตอบว่า ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกคะ แต่ฉันคิดว่าท่านจะไปหาภรรยาบางคนของท่าน (เนื่องจากท่านมีธุระสำคัญ) ท่านจึงกล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺตาอาลาจะลงมาในค่ำคืนที่ 15 ของเดือนชะอฺบาน (คืนนิศฟูชะอฺบาน) สู่ฟ้าชั้นต่ำสุด และพระองค์จะทรงให้อภัยแก่ (บ่าว) มากกว่าจำนวนขนแกะของเผ่าบนีกัลบฺ” รายงานโดยอัตติรมีซี อิบนฺมาญะฮฺและอะหฺมัด
รายงานจากท่านมุอาซบุตรญ่าบัล (رضي الله عنه) จากท่านนบี (صلى الله عليه وآله وسلم) กล่าวว่า : “อัลลอฮฺจะทรงเพ่งมองสิ่งถูกสร้างของพระองค์ในคืนที่ 15 เดือนชะอฺบาน(คืนนิศฟูชะอฺบาน) และพระองค์จะทรงอภัยโทษแก่พวกเขาทั้งหมดยกเว้นผู้ตั้งภาคีและผู้ริษยา-ผู้อาฆาตกัน” รายงานโดยอัฏฏอบรอนี
รายงานจากท่านอาลีบุตรอบีฏอลิบ(كرم الله وجهه)จากท่านนบี (صلى الله عليه وآله وسلم) กล่าวว่า “เมื่อถึงคืนที่ 15 เดือนชะอฺบาน(คืนนิศฟูชะอฺบาน) พวกท่านจงลุกขึ้นทำความดีในคืนนั้นและจงถือศีลอดในวันนั้น แท้จริงอัลลอฮฺจะลงมาตอนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าสู่ฟ้าชั้นต่ำสุดและจะกล่าวว่า มีไหมผู้ขออภัยโทษแล้วข้าจะอภัยโทษให้เขา? มีไหมผู้ขอริสกีแล้วข้าจะประทานริสกีให้เขา? มีไหมผู้ประสบทุกข์แล้วข้าจะให้เขาเป็นปกติ(พ้นทุกข์นั้นๆ)? มีไหม มีไหม ...? ตราบจนกระทั่งแสงอรุณจริงขึ้น” รายงานโดยอิบนฺมาญะฮฺ
ไม่เป็นบาปสำหรับการอ่านซูเราะฮฺยาซีน 3 จบพร้อมๆ กันโดยใช้เสียงดังหลังจากละหมาดมักริบ เพราะสิ่งดังกล่าวอยู่ภายใต้คำสั่งให้ฟื้นฟูค่ำคืนนี้(ด้วยการบำเพ็ญความดี) และคำสั่งใช้ให้ซิเกรนั้นเป็นคำสั่งแบบกว้างๆ และการเจาะจงสถานที่หรือเวลาในการทำความดีบางอย่างเป็นประจำนั้นถือว่าเป็นเรื่องศาสนา(เรื่องที่ดีงาม) ตราบใดที่ผู้กระทำกิจนั้นๆ มิได้ยึดมั่นว่า กิจดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นทางศาสนาจนถึงขั้นว่าผู้ไม่ทำกิจนั้นได้รับบาป ท่านอับดุลลอฮฺบุตรอุมัร(رضي الله عنهما)กล่าวว่า “ท่านนบี(صلى الله عليه وآله وسلم)จะไปที่มัสยิดกุบาอฺทุกวันเสาร์ทั้งแบบเดินไปและขี่พาหนะไป”
รายงานโดยอัลบุคอรี ซึ่งท่านอิบนฺหะญัรกล่าวในหนังสือ “ฟัตหุลบารี” ว่า “หะดีษบทนี้(หลังจาก) วิเคราะห์จากสายรายงานต่างๆแล้วบ่งชี้ว่า การเจาะจงบางวันเพื่อทำความดีบางชนิดเป็นประจำเป็นสิ่งอนุญาต”
ท่านอิบนฺร่อญับกล่าวในหนังสือ “ล่าฏออี้ฟุลม่าอาริฟ” ว่านักวิชาการแห่งแคว้นซามมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของการฟื้นฟูค่ำคืนนี้เป็น 2 ทัศนะคือ
1. การฟื้นฟูค่ำคืนนี้แบบรวมตัวกันในมัสยิดนั้นเป็นสิ่งสุนัต ซึ่งท่านคอลิดบุตรมิอฺดาน ท่านลุกมานบุตรอามิร และท่านอื่นๆ(จากยุคตาบิอีน)จะสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุด จะอบควันหอม ทายาตาและจะทำความดีในมัสยิดในค่ำคืนนั้น และท่านอิสหากบุตรรอฮะวัยฮฺก็เห็นชอบกับพวกเขาในเรื่องดังกล่าว โดยเขากล่าวถึงการทำความดีในค่ำคืนนั้นที่มัสยิดแบบรวมตัวกันว่า “สิ่งนั้นไม่เป็นบิดอะฮฺ” ท่านหัรบฺอัลกัรมานีได้ถ่ายทอดคำกล่าวนี้จากเขา(อิสหากบุตรรอฮะวัยฮฺ)ในหนังสือม่าซาอิลของเขา
2. การรวมตัวกันในมัสยิดเพื่อทำการละหมาด การฟังเรื่องราวต่างๆและการดุอาในค่ำคืนนั้นถือว่าเป็นมักโระฮฺ(ไม่ควรกระทำ) และการที่คนคนหนึ่งทำการละหมาดในค่ำคืนนั้นโดยส่วนตัวก็ไม่ถือว่าเป็นมักโระฮฺแต่อย่างใด ทัศนะนี้เป็นทัศนะของท่านอัลเอาซาอีผู้เป็นอิหม่าม(ผู้มีความรู้ระดับแนวหน้า)ของชาวซามและเป็นนักนิติศาสตร์อิสลามและผู้มีความรู้ของพวกเขา
จากที่กล่าวมา : การฟื้นฟูคืนที่ 15 ของเดือนชะอฺบาน(คืนนิศฟูชะอฺบาน)ตามรูปลักษณ์ดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องศาสนา(เรื่องดีงาม) ไม่มีสิ่งใดในการฟื้นฟูเช่นนั้นเป็นสิ่งบิดอะฮฺหรือมักโระฮฺ โดยมีเงือนไขว่าจะต้องไม่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นหรือวาญิบ และหากยึดถือว่า “จำเป็นต้องให้คนอื่นๆ(มาร่วม)และการยึดถือว่าบุคคลที่ไม่มาร่วมทำจะได้รับบาปนั้น”
แท้จริงการยึดถือเช่นนี้เป็นบิดอะฮฺ เพราะเป็นการบังคับให้ทำสิ่งที่อัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ (صلى الله عليه وآله وسلم) มิได้บังคับให้กระทำ และสิ่งนี้คือเป้าหมายของชาวสะลัฟ (ชนยุค 300 ปีแรก) ที่รังเกียจการฟื้นฟูค่ำคืนนี้แบบรวมตัวกันเพราะเหตุผลดังกล่าว ดังนั้นหากไม่มีการยึดถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นวาญิบก็ไม่ถือว่า เป็นสิ่งน่ารังเกียจแต่อย่างใด (ตามมุมมองของชาวสะลัฟ)
والله أعلم อัลลอฮฺคือผู้ทรงรอบรู้ข้อเท็จจริง
ฟัตวาเลขที่ : 641 วันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2006
ที่มา: www.dar-alifta.org / Abdulloh Nhoorag