หนีไปนิกะห์ โดยพ่อแม่ไม่รู้ นิกะห์เองได้ไหม?


24,810 ผู้ชม

สมมุติว่ามีชายหญิงคู่หนึ่งรักกันมาก โดยวางแผนจะแต่งงานกัน แต่คนในครอบครัวหรือพ่อแม่ไม่อนุญาตให้แต่งงานกัน จึงหนีไปอยู่ด้วยกัน และแต่งงาน โดยให้ญาติแต่ละฝ่ายมาเป็นบิดา ซึ่งบิดาตัวจริงไม่รู้ ...


สมมุติว่ามีชายหญิงคู่หนึ่งรักกันมาก โดยวางแผนจะแต่งงานกัน แต่คนในครอบครัวหรือพ่อแม่ไม่อนุญาตให้แต่งงานกัน จึงหนีไปอยู่ด้วยกัน และแต่งงาน โดยให้ญาติแต่ละฝ่ายมาเป็นบิดา ซึ่งบิดาตัวจริงไม่รู้ และสองคนนี้ก็ได้อยู่ด้วยกัน เหตุการณ์นี้ถือว่าถูกต้องตามหลักศาสนาไหมครับ?

หนีไปนิกะห์ โดยพ่อแม่ไม่รู้ นิกะห์เองได้ไหม?

ตอบโดย อ.มุรีด ทิมะเสน

ในเบื้องต้นเราต้องเข้าใจก่อนว่า การแต่งงาน (นิกะห์) นั้นฝ่ายเจ้าสาววาญิบ (จำเป็น) จะต้องมีวะลีย์ (ผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาว) มาแต่งงานให้ เพราะถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการแต่งงาน หากวะลีย์ เช่น พ่อ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่แต่เขาไม่ได้มา หรือไม่รับรู้ หรือไม่ได้มอบหมายให้ผู้อื่นแต่งงานแทนเขา เช่นนี้การแต่งงานถือว่าเป็นโมฆะ

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า : 

«لَا نِكَاحَ إِلَّا بِوَلِيٍّ»

“ไม่ถือว่าเป็นการแต่งงาน (การแต่งงานเป็นโมฆะ) ยกเว้นจะต้องมีวะลีย์ (ผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาว) เท่านั้น” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 2085]
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า

«أَيُّمَا امْرَأَةٍ نَكَحَتْ بِغَيْرِ إِذْنِ مَوَالِيهَا، فَنِكَاحُهَا بَاطِلٌ» ، ثَلَاثَ مَرَّاتٍ

“สตรีท่านใดซึ่งแต่งงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง (วะลีย์) ของนาง, เช่นนั้นการแต่งงานของนาง (ที่ไม่มีวะลีย์) ถือว่าเป็นโมฆะ, ท่านนบีกล่าวย้ำถึงสามครั้ง” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 2083]

ด้วยหลักฐานข้างต้นชี้ชัดว่า การแต่งงานของสตรีนางใดซึ่งหากไม่มีวะลีย์ของนางร่วมอยู่ด้วย,ไม่ รู้เห็นยินยอม หรือมิได้มอบหมายให้ผู้อื่นทำหน้าที่แทน เช่นนี้การแต่งงานของนางถือเป็นโมฆะ (ใช้ไม่ได้) เมื่อการแต่งงานเป็นโมฆะ การอยู่ด้วยกันถือว่าหะรอม (ต้องห้าม)

แนวทางแก้ไข ให้ทั้งคู่แยกกันอยู่ทันที แล้วให้ไปบอกกับวะลีย์ของฝ่ายหญิงให้มาเป็นวะลีย์ในการแต่งงานครั้งใหม่ ที่ผ่านมาทั้งคู่ทำบาปใหญ่ เช่นนี้ให้ทั้งคู่เตาบะฮฺ (สำนึกผิด) ที่ผ่านมา แล้วทำความดีทดแทนมากๆ

อนึ่ง ส่วนกรณีการนำญาติฝ่ายใดก็ตามที่ไม่ใช่วะลีย์ของเจ้าสาวมาแต่งงาน หรือมาทำหน้าที่แทนวะลีย์ (คือพ่อ) โดยวะลีย์ไม่รับทราบและไม่รู้เรื่องใดๆ ในการแต่งงานของลูกสาว ถือว่าการแต่งงานเป็นโมฆะอยู่ดี เพราะผู้มีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการแต่งงานข้างต้น คือ พ่อของเจ้าสาว ผู้อื่นที่ไปร่วมงานแต่งไม่สามารถทำแทน หรือทำให้การแต่งงานถูกต้องใดๆ ได้เลย (วัลลอฮุอะอฺลัม)

อัพเดทล่าสุด