ขั้นตอนการทำกุรบานทำอย่างไรบ้าง? การทำกุรบาน มีหลักฐานที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งคือ อัลลอฮฺ(ซบ) ตรัสความว่า
ขั้นตอนการทำกุรบานทำอย่างไรบ้าง?
การทำกุรบาน มีหลักฐานที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งคือ อัลลอฮฺ(ซ.บ.) ตรัสความว่า... “เจ้าจงละหมาดเพื่อพระเจ้าของเจ้าและจงเชือดสัตว์พลี” (ซูเราะห์ อัลเกาษัร : 2)
คำอธิบายจากโองการนี้ คือ “การเชือดสัตว์พลี(กุรบาน) ในวันอีดอัฎฮา” ซึ่งเป็นการอธิบายจากสายรายงานของอาลี บิน อบีฏ็อลหะฮฺ จาก อิบนุอับบาส และยังเป็นทัศนะจากท่านมุญาฮิดและส่วนใหญ่จากบรรดานักวิชาการอิสลาม
จากท่านอนัส บิน มาลิก (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) กล่าวว่า
“ท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซ.ล.)ได้ทำการเชือดกุรบานแกะสีขาวสองตัว ซึ่งมันทั้งสองมีเขาแล้ว โดยท่านได้เชือดมันทั้งสองด้วยมือของท่านเอง ท่านได้วางเท้าทั้งสองของท่านลงบนข้างๆ ต้นคอทั้งสองของมัน พร้อมกับกล่าวบิสมิลลาฮฺและตักบีร ”
(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)
ขั้นตอนการทำกุรบานทำอย่างไรบ้าง?
วิธีการทำกุรบาน หรือ อุฎหิยะฮฺนั้น มี 2 วิธีใหญ่ๆ หนึ่งคือ ทำด้วยตัวเอง ต้องหาสัตว์ที่มีคุณลักษณะที่ทำกุรบานแล้วใช้ได้ และดำเนินการเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ซื้อหาสัตว์ที่จะทำกุรบาน เชือดเอง และชำแหละแจกจ่ายเนื้อเอง
ส่วนวิธีที่สอง คือ ทำกับมัสญิด หรือองค์กรที่มีโครงการจัดทำกุรบาน วิธีนี้สะดวก เพียงแค่มีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อส่วนในการทำกุรบาน ที่เหลือทางมัสญิด หรือองค์กรดังกล่าว จะรับดำเนินการให้ทั้งหมด
ส่วนการตั้งเจตนา (การเหนียต) ในการทำกุรบานนั้น ถือเป็นเงื่อนไขในการเศาะหฺ (ใช้ได้) สำหรับการทำกุรบาน หากไม่มีเนียต (เจตนา) ในการทำกุรบาน จะเป็นเพียงการเชือดสัตว์ธรรมดา ที่ไม่ใช่กุรบาน หรืออุฎหิยะฮฺ และการตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ในการทำกุรบานนั้น อยู่ที่ใจ การกล่าวคำตั้งเจตนานั้น จะกล่าวก็ได้ แต่มิใช่เงื่อนไข เช่น
ถ้าหากตั้งใจว่า จะทำกุรบานกับมัสญิดที่มีโครงการ ขณะที่เรามอบเงินค่าส่วนของสัตว์ที่จะทำกุรบานแก่อิมาม หรือคณะกรรมการมัสญิด เราก็ตั้งเจตนาว่า
“ข้าพเจ้าตั้งเจตนาทำกุรบาน 1 ส่วน เพื่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.)”
ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ถึงแม้ว่าการตั้งเจตนา (เนียต) ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนหน้าการเชือดกุรบานจริงๆ ตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดใน 2 ประเด็น ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 8 หน้า 381)
ในกรณีที่เจ้าของส่วน (คือผู้ทำกุรบาน) ไม่เป็นผู้เชือดสัตว์กุรบานนั้นเอง ก็อนุญาตให้มุสลิมคนหนึ่ง ทำหน้าที่เชือดสัตว์นั้นแทนได้ ด้วยการมอบหมาย (เตากีล)
ดังนั้น หากผู้เป็นเจ้าของมอบหมายให้มุสลิมคนหนึ่งเป็นผู้เชือด แล้วเจ้าของส่วนก็มีการตั้งเจตนาขณะที่ผู้ถูกมอบหมายทำการเชือดสัตว์กุรบานนั้น ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว โดยไม่ต้องการการตั้งเจตนาของผู้ที่ถูกมอบหมายให้เชือด และถึงแม้ว่าผู้ที่ทำหน้าที่เชือดสัตว์แทน จะไม่รู้ว่าผู้ที่มอบหมาย (เจ้าของส่วน) เป็นผู้ทำกุรบานก็ตาม ถือว่าไม่ส่งผลเสียแต่อย่างใด แต่ถ้าหากผู้เป็นเจ้าของส่วน มีการตั้งเจตนาการทำกุรบานขณะที่มอบหมายหน้าที่การเชือดให้แก่ผู้นั้นเท่านั้น ก็ถือว่าอนุญาตและใช้ได้ตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) ในเรื่องการตั้งเจตนาที่เกิดขึ้นก่อนการเชือดจริงๆ
และการมอบการตั้งเจตนาให้แก่ผู้ที่รับมอบหมาย (วะกีล) ในการเชือดซึ่งเป็นมุสลิมก็เป็นที่อนุญาตเช่นกัน โดยผู้ทำหน้าที่เชือดแทนก็ตั้งเจตนา (เนียต) ขณะทำการเชือดหรือก่อนหน้าลงมือเชือดว่า "ข้าพเจ้าเจตนาเชือดกุรบานนี้แทนนาย ก. นาย ข. "เป็นต้น
และการมาดูและอยู่ร่วมของผู้ทำกุรบาน ขณะทำการเชือดสัตว์กุรบานนั้น เป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น ดังมีหลักฐานปรากฏว่า ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ใช้ให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ร.ฎ.) ลุกขึ้นไปยังสัตว์กุรบาน และอยู่ร่วมในขณะนั้น (อ้างแล้ว 8/380 , อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ 1/236)
ทั้งนี้ เมื่อผู้ทำกุรบานทั้ง 7 คนนั้น ได้มีเจตนาการทำกุรบาน และมอบหมายการเชือดเรียบร้อยแล้ว ส่วนดุอาอฺที่ส่งเสริมให้กล่าวขณะทำการเชือดกุรบานก็คือ
أللهُمَّ مِنْكَ وَلَكَ فَتَقَبَّلْ مِنِّىْ
คำอ่าน “อัลลอฮุมม่า มิงก้า ว่าละก้า ฟะตะก็อบบัลฺมินนียฺ”
ความหมาย “โอ้ อัลลอฮฺ จากพระองค์และเพื่อพระองค์ ดังนั้น ขอทรงตอบรับจากข้าพระองค์” (อ้างแล้ว 8/390)
สำหรับผู้ทำอะกีเกาะฮฺนั้น ก็ให้ตั้งเจตนาว่า “ข้าพเจ้าเจตนาเชือดสัตว์นี้เป็นอะกีเกาะฮฺของ..... (ระบุชื่อเด็ก) เพื่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.)” หากเป็นผู้ทำหน้าที่เชือดแทนก็ตั้งเจตนาว่า “ข้าพเจ้าเจตนาเชือดสัตว์นี้เป็นอะกีเกาะฮฺของ....(ระบุชื่อเด็ก) แทนบิดาของเขา” เจ้าของอะกีเกาะฮฺหากมอบหมายให้ผู้ทำหน้าที่เชือดแทน และมีเจตนาแล้วก็สมควรมาอยู่ร่วมในขณะทีเชือดแต่ไม่จำเป็น
ส่วนดุอาอฺขณะทำการเชือดอะกีเกาะฮฺนั้น ส่งเสริมให้กล่าวว่า
بِسْمِ اللهِ وَاللهُ أَكْبَرُ أَللهُمَّ لَكَ وَإلَيْكَ عَقِيْقَةُ.....
คำอ่าน “บิสมิลลาฮฺ วัลลอฮุอักบัรฺ อัลลอฮุมม่าละก้า ว่าอิลัยก้า อะกิเกาะตุ้ ..... (ระบุชื่อเด็ก)”
ความหมาย “ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ โอ้อัลลอฮฺ เพื่อพระองค์และยังพระองค์ อะกีเกาะฮฺของ....(ระบุชื่อ)” (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 8 หน้า 407 , 410)
การเชือดสัตว์อย่างถูกวิธีตามหลักการศาสนาอิสลาม