จะทำกุรบ่านให้กับคนที่ตายไปแล้วได้หรือไม่ หลักฮุกุ่มว่าอย่างไร มีคำเหนียตอย่างไร?
ทำกุรบานให้กับคนตายไปแล้วได้หรือไม่? พร้อมคำเหนียต
คำถาม: จะทำกุรบ่านให้กับคนที่ตายไปแล้วได้หรือไม่ หลักฮุกุ่มว่าอย่างไร มีคำเหนียตอย่างไร?
ตอบโดย: อ.อาลี เสือสมิง
การทำกุรบ่าน (อุฎหิยะฮฺ) ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น อิมามอบุลหะสัน (บ้างก็ว่า อบูอาศิม) มุฮัมมัด อิบนุ อะหฺมัด อัล-อับบาดียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 458) ปราชญ์ชาวคุรอสานสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ กล่าวว่า :
เป็นที่อนุญาตโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะการทำกุรบาน (อุฏหิยะฮฺ) เป็นประเภทหนึ่งจากการทำทาน (เศาะดะเกาะฮฺ) และการทำทาน (เศาะดะเกาะฮฺ) นั้นถือว่าใช้ได้ในการทำให้แก่ผู้ล่วงลับและเกิดประโยชน์ตลอดจนเป็นสิ่งที่มีภาคผลถึงผู้ล่วงลับโดยอิจญ์มาอฺ
ส่วนเจ้าของตำราอัล-อิดะฮฺ และอิมามอัล-บะเฆาะวียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ.516) นักปราชญ์ชาวคุรอสานสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า “การทำกุรบาน (อุฏหิยะฮฺ) ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วถือว่าใช้ไม่ได้ยกเว้นในกรณีที่ผู้ล่วงลับนั้นได้มีคำสั่งเสีย (วะศียะฮฺ) เอาไว้ว่าให้ทำกุรบาน (อุฏหิยะฮฺ) แก่ตน ซึ่งตามนี้อิมามอัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) ชี้ขาดเอาไว้ในตำรา “อัล-มุญัรร็อด” ทั้งนี้ อิมามอัล-อับบาดียฺ (ร.ฮ.) และนักวิชาการท่านอื่นๆ ได้อาศัยหลักฐานที่ยืนยันในเรื่องการทำกุรบาน (อุฏหิยะฮฺ) ให้แก่ผู้ล่วงลับจากอัล-หะดีษของท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ว่า “แท้จริงท่านอะลี (ร.ฎ.) เคยทำกุรบาน (อุฏหิยะฮฺ) แกะ 2 ตัวให้แก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และแกะ 2 ตัวให้แก่ตัวของท่านอะลี (ร.ฎ.) เอง” และท่านอะลี (ร.ฎ.) กล่าวว่า
“แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยใช้ให้ฉันทำกุรบาน (อุฏหิยะฮฺ) ให้แก่ท่านเสมอ ฉันจึงทำกุรบาน (อุฏหิยะฮฺ) ให้แก่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เสมอ” รายงานโดยอบูดาวูด , อัต-ติรฺมีซียฺ และอัล-บัยฮะกียฺ
และอัลบัยฮะกียฺ กล่าวว่า “หากหะดีษเป็นที่ยืนยันว่าถูกต้อง (เศาะหิหฺ) ก็ย่อมปรากฏว่าในหะดีษนี้มีหลักฐานยืนยันว่าการทำกุรบาน (อุฏหิยะฮฺ) ให้แก่ผู้ล่วงลับนั้นใช้ได้ วัลลอฮุอะอฺลัม (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 8 หน้า 382)
ดังนั้น หากผู้ล่วงลับได้สั่งเสียเอาไว้ (วะศียะฮฺ) ว่าให้ทายาททำกุรบานให้แก่ตนด้วย การทำกุรบานนั้นก็ย่อมใช้ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ แต่ถ้าไม่มีคำสั่งเสีย (วะศียะฮฺ) เกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ ก็มี 2 ประเด็น คือ อนุญาตและถือว่าใช้ได้ประเด็นหนึ่ง และไม่อนุญาตและถือว่าใช้ไม่ได้อีกประเด็นหนึ่ง
แต่ถ้าผู้ถามประสงค์เลือกเอาประเด็นแรกที่ว่า อนุญาตและถือว่าใช้ได้ ก็สามารถทำกุรบานให้แก่ผู้ที่ล่วงลับนั้นได้ จะมีคำสั่งเสีย (วะศียะฮฺ) หรือไม่ก็ตามโดยมีเจตนา (นียะฮฺ) ในขณะเชือดกุรบานหรือขณะมอบหมาย (เตากีล) ให้ผู้อื่น เชือดกุรบานแทนตนว่า “ข้าพเจ้าทำกุรบาน 1 ส่วนนี้ (หรือวัวตัวนี้หรือแพะ-แกะ ตัวนี้) ให้แก่นาย/นาง....(ระบุ) เพื่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)” ก็ถือว่าเพียงพอแล้วครับ
- ความหมาย ของ วันอีดิลอัฎฮา
- ประวัติการเชือดกุรบาน
- ซุนนะฮฺในวันอีด ท่านนบีทำอะไรบ้างในวันอีด?
- ประวัติการทำกุรบาน ที่กล่าวในคัมภีร์อัลกุรอาน
- วิธีเหนียตการทำกุรบาน อย่างไร?
ที่มา: alisuasaming.org