เดือนรอมฏอน กับ 20 ข้อคำแนะนำทางการแพทย์ ที่คุณควรรู้!!


19,340 ผู้ชม

เดือนรอมฏอน กับ 20 ข้อคำแนะนำทางการแพทย์ ที่คุณควรรู้!! มีดังนี้...


เดือนรอมฏอน กับ 20 ข้อคำแนะนำทางการแพทย์ ที่คุณควรรู้!!

รอมะฎอน หรือ รอมฎอน คือ เดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช  เป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง  เนื่องจากชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติเพราะเป็นศาสนบัญญัติ  ด้วยการงดอาหารทุกชนิด รวมถึงน้ำดื่ม ในช่วงเวลา พระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตกดิน รวมทั้ง ให้อดทนต่อสิ่งรอบตัว หยุดทำความชั่ว และออกห่างจากสิ่งหรือคนที่จะชักนำเราไปสู่การฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าไม่ว่าจะโดยมือ(ทำร้ายหรือขโมย)  เท้า (เดินไปสู่สถานที่ต้องห้าม) ตา (ดูสิ่งลามก) หู (เช่นการฟังสิ่งไร้สาระ ,ฟังเรื่องชาวบ้านนินทากัน) ปาก (การนินทาว่าร้ายคนอื่น โกหก โป้ปด)   

เดือนรอมฎอน เป็นเดือนที่จูงใจให้ผู้ศรัทธาทำความดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดือนอื่นๆ  เน้นการบริจาคทาน หัวใจจะจดจ่ออยู่กับการแสดงความเคารพภักดี (อิบาดะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺและหันไปหาพระองค์มากขึ้น    เรียกได้ว่า รอมฏอนเป็นเดือนแห่งการอบรมจิตใจ นั่นเอง เพราะจะไม่ทำสิ่งไร้สาระ จะทำอะไรต้องระมัดระวังทุกการกระทำและคำพูด มิเช่นนั้น ก็จะเป็นการถือศีลอดที่ได้แค่เพียง การอดอาหาร เท่านั้นเอง รวมทั้งจะได้รับรู้ความยากลำบากคนที่ยากไร้ด้วย

เดือนรอมฏอน กับ 20 ข้อคำแนะนำทางการแพทย์ ที่คุณควรรู้!!

คำแนะนำทางการแพทย์ 20 ข้อ สำหรับเดือนรอมฏอน

ถอดความจากข้อเขียนของ  ดร.หัซซาน  ชัมชีบาชา  ตีพิมพ์ในวารสาร  “ อะฮลันวะซะฮลัน “  ของสายการบินซาอุดิอารเบีย  ฉบับประจำเดือนรอมฏอน  ฮ.ศ.1415  กุมภาพันธ์  2538

ข้อที่ 1  “จงกินจงดื่มและจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย”ซูเราฮอัลอะอรอฟ อายะฮ 31

นี่เป็นโองการหนึ่งในอัลกุรอ่านซึ่งรวมวิชาโภชนาการไว้ทั้งหมดภายใต้คำพูด 3 คำ  หากผู้ถือศีลอดปฏิบัติตามโองการดังกล่าว  ตลอดช่วงเดือนรอมฏอนพร้อมทั้งหลีกเหลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมัน  ขนมหวานและอาหารหนักในปริมาณที่มากจนเกินควรแล้ว  เมื่อรอมฏอนผ่านไปน้ำหนักตัวของเขาจะลดลงเล็กน้อยและไขมันในร่างกายของเขาก็จะน้อยลงด้วย  และเขาก็จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีและมีความสุขอย่างที่สุด  จึงกล่าวได้ว่า  เดือนรอมฏอนปกป้องหัวใจของผู้ถือศีลอด  และให้การพักผ่อนแก่ร่างกายของเขา   ทั้งนี้เนื่องจากขนมหวานต่างๆ  เนื้อสัตว์และอาหารประเภทนมเนยที่เขารับประทานเข้าไปนั้นจะแปรเปลี่ยนเป็นไขมันภายในร่างกาย  ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและทำให้หัวใจต้องทำงานอย่างหนัก  ซึ่งพวกเราจำนวนไม่น้อยทีเดียว  ที่เคยชินกับการบรรจุอาหารหลากหลายชนิดเข้าไปในห้องจนอิ่มแปร้  แล้วตามด้วยน้ำอัดลมหรือน้ำแข็งเพื่อดับกระหายในเวลาละศีลอด

อย่างไรก็ดีบรรดานักวิจัยได้ยืนยันว่า  จากการศึกษาทางวิชาการชี้ว่า  ถึงแม้มุสลิมจำนวนมากจะละเลยกฏเกณฑ์ด้านสุขภาพ  เกี่ยวกับโภชนาการไปอย่างน่าเสียดายก็ตาม  และถึงแม้ว่าพวกเขาจะรับประทานอาหารที่มีไขมัน  และขนมหวานอันหลากหลายในรอมฏอนก็ตามที  แต่การถือศีลอดในเดือนรอมฏอนของพวกเขาก็อาจสามารถทำให้น้ำหนักตัวของพวกเขาลดลง  2 – 3 กิโลกรัมได้

ข้อที่ 2    “ มนุษย์จะยังคงอยู่ในความดีงาม  ตราบที่พวกเขารีบละศีลอด “     อัลหะดีษ  บันทึกโดย  บุคอรียและมุสลิม

การรีบละศีลอดเมื่อได้เวลาเป็นซุนนะฮ  ของท่านร่อซูล  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  และยังมีผลดีต่อสุขภาพและจิตใจของผู้ถือศีลอดอีกด้วย  เพราะเมื่อได้เวลาละศีลอดนั้น  ร่างกายผู้ถือศีลอดกำลังอยู่ในช่วงที่มีความต้องการสิ่งที่จะมาชดเชยน้ำและกำลังงานที่ได้สูญเสียไปตลอดทั้งวันมากที่สุด  การล่าช้าในการละศีลอดจะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ถือศีลอดลดลงอีก  ซึ่งจะทำให้เขายิ่งรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียและเป็นการทรมานตัวเองโดยปราศจากความจำเป็น  นอกเหนือจากทีเป็นการกระทำที่ไม่ต้องด้วยซุนนะฮของท่านร่อซูลแล้ว

ข้อที่ 3  “ เมื่อคนใดในหมู่พวกท่านละศีลอด  ก็จงละศีลอดด้วยอินผลัม “   อัลหะดีษ  บันทึกโดย  อัตติรซีย

ในขณะที่ผู้ถือศีลอดละศีลอด  ร่างกายของเขากำลังต้องการอาหารประเภทน้ำตาล  ซึ่งสามารถจะถูกดูดซับเข้าสู่เลือดได้อย่างรวดเร็วและขจัดความหิวโหยให้หมดไปในขณะเดียวกันนั้นร่างกายของเขาก็ต้องการน้ำด้วยและการละศีลอดด้วยน้ำและอินทผลัมก็ให้ทั้ง  2  ประการ  นั่นคือการขจัดความหิวและขจัดความกระหาย

นอกจากนั้นทั้งอินทผลัมสดและแห้งยังอุดมด้วยเส้นใยที่จะช่วยป้องกันการท้องผูกและยังทำให้รู้สึกอิ่ม   ดังนั้นภายหลังจากที่ผู้ถือศีลอดละศีลอดด้วยอินทผลัมแล้ว   เขาจึงไม่มีความยากที่จะรับประทานอาหารอื่นในปริมาณมากๆ  อีก

ข้อที่ 4   จงแบ่งการละศีลอดเป็น  2  ช่วง

ท่านร่อซูล ( ศ้อลฯ ) จะรีบละศีลอดด้วยอินทผลัมหรือน้ำต่อจากนั้นก็จะรีบไปละหมาดมัฆริบเสร็จแล้วจึงกลับมารับประทานอาหารละศีลอดต่อ  การรับประทารอินทผลัมเล็กน้อยและน้ำจะเป็นการกระตุ้นกระเพาะอาหารอย่างแท้จริง   และในขณะที่กำลังละหมาดมัฆริบนั้น  กระเพาะก็จะดูดซับสารน้ำตาลและน้ำ  ทำให้ความรู้สึกหิวกระหายเลือนหายไป  ครั้นเมื่อผู้ถือศีลอดละหมาดเสร็จ  และกลับมารับประทานอาหารปริมาณมากๆ  ในคราวเดียวและอย่างเร่งรีบนั้น   จะทำให้กระเพาะอาหารโป่งพอง  ลำใส้เกิดอาการปั่นป่วนและอาหารย่อยยาก

ข้อที่ 5   จงเลือกอาหารที่ถูกอนามัย  และมีสารอาหารครบถ้วน

 อาหารที่ท่านรับประทานควรมีความหลากหลาย  และมีสารอาหารครบทุกหมู่และควรให้อาหารมื้อละศีลอดมีสลัดผักมากๆ เพราะนอกจากมันจะอุดมไปด้วยเส้นใย  ซึ่งช่วยไม่ให้ท้องผูกแล้ว  มันยังทำให้รู้สึกอิ่มอันจะทำให้ไม่ต้องรับประทานอาหารมื้อนั้นในปริมาณมากๆ อีกด้วยและพึงหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ใส่เครื่องเทศ เครื่องชูรส และที่มีรสเปรี้ยวจัด รวมทั้งอาหารทอดและย่าง เพราะอาจทำให้ย่อยยากและลำใส้ปั่นป่วนได้

เดือนรอมฏอน กับ 20 ข้อคำแนะนำทางการแพทย์ ที่คุณควรรู้!!

ข้อที่ 6   “ พวกท่านจงรับประทานอาหารสะหู้รเถิด  แท้จริงในอาหารสะหู้รนั้นมีความจำเริญ “   อัลหะดีษ  บันทึกโดยบุคอรียและมุสลิม

ท่านร่อซูล (ศ้อลฯ)  ได้สั่งเสียในหะดีษดังกล่าวถึงความจำเป็นในการรับประทานอาหารสะหู้ร  เพราะอาหารสะหู้รจะช่วยให้เราไม่รู้สึกอ่อนเพลีย  และปวดศีรษะในตอนกลางวันของรอมฏอน   และยังจะช่วยบรรเทาความกระหายน้ำอย่างรุนแรงอีกด้วย   นอกจากนั้น  ท่านรอซูล  (ศ้อลฯ)  ยังส่งเสริมให้ล่าช้าในการรับประทานอาหารสะหู้ร  ท่านกล่าวว่า :

“ ประชาชาติของฉันจะยังคงอยู่ในความดีงามตราบที่พวกเขาล่าช้าในการรับประทานอาหารสะหู้รและรีบละศีลอด “  อัลหะดีษ  บันทึกโดย  อะหมัด

และควรให้อาหารสะหู้รเป็นอาหารที่ย่อย  เช่น  นมโยเกิร์ต  น้ำผึ้ง  และผลไม้ต่างๆ  เป็นต้น

ข้อที่ 7   พึงหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กระหาย

พึงหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัดหรือเผ็ดจัดและอาหารที่ใส่เครื่องเทศและเครื่องชูรสมากๆ โดยเฉพาะมื้อซะโฮรฺ เพราะอาหารจำพวกนี้จะยิ่งเพิ่มความรู้สึกกระหายน้ำ   และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารกระป๋อง  และอาหารประเภทฟาส์ทฟู้ด  และควรดื่มน้ำให้เพียงพอ  แต่ไม่ควรให้มากจนเกินไป

ข้อที่ 8  ข้อแนะนำเพื่อไม่ให้ท้องผูก

หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มักจะมีอาการท้องผูก  ก็ให้รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากๆ  เช่น  สลัดผัก  ผักและผลไม้ชนิดต่างๆ  และจงหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน  โดยให้รับประทานผลไม้แทน  และจงทำละหมาดตะรอเวียหอย่างสม่ำเสมอ  และบริหารร่างกายหรือออกกำลังกายอย่างที่เคยปฏิบัติ

ข้อที่ 9   พึงหลีกเลี่ยงการนอนหลังการละศีลอด

ผู้ถือศีลอดบางคนชอบที่จะนอนหลังการรับประทานอาหารละสีลอด  อันที่จริงการนอนหลังอาหารมื้อใหญ่   และมากไปด้วยไขมันนั้นจะเพิ่มความเฉื่อยชาและเกียจคร้านให้มากขึ้น   ข้อแนะนำสำหรับผู้นิยมการนอนหลังอาหารละศีลอดก็คือให้รับประทานอาหารละศีลอดในปริมาณพอสมควรให้ทำการละหมาดอิชาอและละหมาดตะรอเวียห  ซึ่งอิริยาบทต่างๆ  ในการละหมาดจะช่วยให้อาหารย่อยและทำให้ผู้ถือศีลอดกลับรู้สึกกระปรี้กระเปร่าและกระชุ่มกระช่วยขึ้น

ข้อที่ 10  รอมฏอน : โอกาสของการเลิกสูบบุหรี่

เป็นที่ยืนยันว่าประโยชน์ของการเลิกสูบบุหรี่ที่ผู้เลิกสูบจะได้รับนั้นจะเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เลิกสูบเลยทีเดียว  ทั้งนี้เพราะเมื่อใดที่เขาหยุดสูบบุหรี่เลือดของเขาก็จะเริ่มมีโอกาสดูดซับอ๊อกซิเจนไปหล่อเลี้ยง  และยังจะทำให้หัวใจทำงานเบาขึ้นหลังจากที่ต้องทำงานหนักมาโดยตลอดในช่วงสูบบุหรี่

รอมฏอนจึงเป็นโอกาสดีสำหรับท่านที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาดเมื่อท่านสามารถงดสูบบุหรี่เป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง  ตลอดกลางวันของรอมฏอนได้แล้วทำไมท่านจะไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาดได้ทีเดียวหรือ  แน่นอนมันไม่ใช่เรื่องที่เกินกำลังความสามารถของท่านเลย  เพียงแต่ท่านจะต้องมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเลิกมันเท่านั้น  และพึงระลึกอยู่เสมอถึงผลร้ายหรือโทษของบุหรี่ที่มีต่อตัวของผู้สูบเองและต่อผู้คนที่อยู่รอบข้าง

เดือนรอมฏอน กับ 20 ข้อคำแนะนำทางการแพทย์ ที่คุณควรรู้!!

ข้อที่ 11  “ ถ้าเป็นวันถือศีลอดของคนหนึ่งในหมู่พวกท่าน เขาจะต้องไม่เกี้ยวพาราศีและจะต้องไม่โกรธฉุนเฉียว“ อัลหะดีษ  บันทึกโดย  บุคอรียและมุสลิม

นอกจากความโกรธฉุนเฉียวจะเป็นอารมณ์ที่ผู้ถือศีลอดไม่ควรให้เกิดขึ้นกับตัวเอง  เพราะเป็นสิ่งที่ท่านร่อซูล (ศ้อลฯ)  ห้ามแล้ว  อารมณ์โกรธฉุนเฉียวยังมีผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย  กล่าวคือขณะเกิดอารมณ์โกรธหรือโมโหนั้น  ร่างกายจะขับฮอร์โมนแอ็ดรีนาลีนออกมาในปริมาณมากกว่าปรกติ  และถ้าหากอารมณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงแรกที่เริ่มถือศีลอด  ซึ่งเป็นเวลาที่อาหารสะหู้รกำลังถูกย่อย  ก็อาจจะทำให้ระบบการย่อยปั่นป่วนและการซึมซับไม่ดี  แต่ถ้าเกิดขึ้นในช่วงกลางวัน  ก็จะทำให้สารกลีโคเจนบางส่วนในตับแปรเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกูโคซ  ซึ่งสร้างพลังงานให้กับร่างกาย  ทำให้ผู้มีอารมณ์โกรธมีความอยากที่จะใช้กำลังเข้าต่อสู่ประหัดประหารคู่กรณี  ซึ่งพลังงานดังกล่าวเป็นพลังงานที่สูญเปล่าไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เมื่อผู้นั้นกำลังอยู่ระหว่างถือศีลอด

และในบางครั้งการเพิ่มของปริมาณฮอร์โมนแอ็ดรีนาลีนมากๆ  ก็จะทำให้ผู้ที่เคยมีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก  เกิดอาการดังกล่างขึ้นอีก  นอกจากนั้นการเกิดอารมณ์เครียดบ่อยๆ  ยังจะเป็นสาเหตุของการเกิดโคเลสเตอรอลชนิดหนึ่ง   ซึ่งมี่ส่วนสำคัญในการให้เส้นเลือดแข็งตัว

ข้อที่ 12  ข้อแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

ก่อนที่หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะถือศีลอดนางควรปรึกษาแพทย์หากแพทย์อนุญาต  นางจึงถือศีลอด  แต่ไม่ควรรับประทานอาหารละศีลอดในปริมาณที่มากเกินไป  ให้รับประทานแต่พอประมาณ  และควรแบางการรับประทานอาหารละศีลอดเป็น  2  มื้อ  มื้อแรกเมื่อได้เวลาละศีลอด  และมื้อที่  2  ให้ห่างกับมื้อแรกประมาณ  4  ชั่วโมง  และในการรับประทานอาหารสะหู้รควรจะล่าช้ามากที่สุดและควรรับประทานอาหารประเภทนมโยเกิร์ตให้มากและควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและขนมหวาน

นอกจากนั้นหญิงที่ให้นมบุตรยังควรที่จะจัดเตรียมน้ำและอาหารเหลว  เพื่อให้เด็กได้รับประทานควบคู่ไปกับการให้นมของนางขณะถือศีลอด  และอาหารที่นางรับประทารเองทั้งมื้อละสีลอด  และมื้อสะหู้รควรเป็นอาหารที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ  และถ้าเป็นไปได้ก็ควรให้นมเด้กบ่อยครั้งในช่วงหลังละสีลอดถึงสะหู้ร  และเมื่อใดที่รู้สึกอ่อนเพลียและเหน็ดเหนื่อยก็ให้รีบละศีลอด  และปรึกษาแพทย์

ข้อที่ 13  จงฝึกเด็กๆ  ให้ถือศีลอดด้วยความนุ่มนวลและอ่อนโยน

ผู้ปกครองควรที่จะฝึกให้บุตรหลานถือศีลอดตั้งแต่อายุ  7  ขวบ  และเมื่ออายุได้  10  ขวบ  พวกเขาก็น่าที่จะสามารถถือศีลอดได้อย่างจริงจังแล้วอย่างไรก็ดี  ไม่ควรลงโทษพวกเขาด้วยการตี  หรือบังคับขู่เข็ญจนเกินควร  เพราะอาจทำให้พวกเขาแอบรับประทานอาหารโดยไม่ให้ผู้ปกครองเห็น  หรืออาจทำให้พวกเขาเพิ่มนิสัยที่ไม่ซื่อสัตย์มากขึ้น  และควรฝึกให้พวกเขาถือศีลอดอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี  ในลักษณะที่นุ่มนวลและค่อยเป็นค่อยไปในขณะเดียวกัน  บิดามารดาหรือผู้ปกครองก็จะต้องคอยสังเกตบุตรหลานในขณะที่พวกเขาถือศีลอดด้วยหากพบว่าพวกเขามีอาการป่วยหรืออ่อนเพลียจนเกินไป  ก็จงให้พวกเขารีบละสีลอดและขอเรียนว่ามีโรคบางชนิดที่ทำให้เด็กๆ  ไม่สามารถถือศีลอดได้  นั่นคือโรคเบาหวาน  โรคโลหิตจาง  และโรคเกี่ยวกับไต  เป็นต้น

อนึ่ง  ผู้ปกครองของเด็กๆ  ควรให้บุตรหลานของท่านได้รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบทุกหมู่  ทั้ง  2  มื้อ  คือมื้อละศีลอดและมื้อสะหู้ร

ข้อที่ 14   “ ผู้ใดที่เจ็บป่วย หรืออยู่ในระหว่างเดินทาง ก็ให้ถือศีลอดในวันอื่น “  อัลบะเกาะเราะฮ  อายะฮ  184

นับเป็นความเมตตาของอัลลอฮตะอาลาที่ทรงผ่อนผันให้ผู้ป่วยไม่ต้องถือศีลอดในรอมฏอน  ฉะนั้นหากแพทย์มุสลิมบอกกับผู้ป่วยคนใดว่า  หากเขาถือศีลอดจะทำให้อาการป่วยเพิ่มมากขึ้นหรืออาจถึงแก่ชีวิตในกรณีนี้เขาก็จำเป็นจะต้องงดการถือศีลอด

นอกจากผู้ป่วยจะได้รับการผ่อนผันโดยไม่ต้องถือศีลอดแล้ว  ผู้เดินทางก็ยังได้รับการผ่อนผันในลักษณะเดียวกัน  แต่ถ้าบุคคลทั้ง  2  ประเภทสามารถถือศีลอดได้แม้จะด้วยความยากลำบาก  ก็คือว่า  การถือศีลอดของเขาใช้ไม่ได้  และไม่จำเป็นจะต้องถือศีลอดใช้แต่ถ้าการถือศีลอดจะทำให้เขาได้รับอันตรายอย่างร้ายแรงดังกล่าวแล้ว  การถือศีลอดของเขาก็ไม่ถือว่าเป็นความดีงามแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี  ดูเหมือนว่าผู้ป่วยจะอยู่ในฐานะที่อันตรายกว่าผู้เดินทางในการที่จะถือศีลอด  เพราะในการที่ผู้เดินทางได้รับการผ่อนผันให้ไม่ต้องถือศีลอดนั้นก็เนื่องจากเกรงว่าเขาจะป่วย  ฉะนั้นผู้ที่เจ็บป่วยอยู่แล้วจึงยิ่งอันตรายมากขึ้นไปอีกอัลลอฮตะอาลาจึงได้ทรงกล่าวคำว่า  “ ผู้ป่วย “  ก่อน  “ ผู้ที่อยู่ระหว่างการเดินทาง “  ในอายะฮดังกล่าว

เดือนรอมฏอน กับ 20 ข้อคำแนะนำทางการแพทย์ ที่คุณควรรู้!!

ข้อที่ 15   หากท่านเจ็บป่วย ก็จงปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเริ่มถือศีลอด

ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจจำนวนไม่น้อยที่สามารถถือศีลอดได้เนื่องจากในช่วงเวลากลางวันเมื่อไม่มีการย่อยอาหาร  กล้ามเนื้อหัวใจก็ทำงานน้อยลง  และได้พักผ่อนมากขึ้น  ทั้งนี้เพราะเมื่อมีการย่อยอาหารนั้นร้อยละ  10  ของเลือดหัวใจสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ  ของร่างกายจะต้องถูกส่งไปเลี้ยงอวัยวะที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร

สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง  ตามปรกติแล้วจะสามารถถือศีลอดได้  แต่จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและในขณะนี้ก็มียาหลายชนิดที่ผู้ป่วยสามารถจะรับประทานเพียงแค่วันละ  1 – 2  ครั้งเท่านั้น  แต่ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มและเปรี้ยวจัด  และรับประทานอาหารที่ใส่เกลือสมุทรให้น้อยลง  ส่วนผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่รุ่นแรงและเฉียบพลัน  โดยทั่วไปก็สามารถถือศีลอดได้  แต่จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ดี  ก็มีผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางหัวใจบางอย่างที่ไม่สามารถถือศีลอดได้อย่างเช่น  ผู้ป่วยด้วยโรคก้อนเลือดแข็ง  ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นอ่อนอย่างรุนแรง  และผู้ที่มีอาการเจ็บเสียดหน้าอกอย่างเฉียบพลัน  เป็นต้น

ข้อที่ 17  คำแนะนำสำหรับผู้เป็นนิ่วในไต

หากผู้ถือศีลอดไม่เคยเป็นนิ่วในไตมาก่อน  ก็ไม่จำเป็นจะต้องวิตกกังวลแต่อย่างใด  แต่ถ้าเขามีอาการดังกล่าวอยู่หรือเคยมีประวัติการเป็นนิ่วในไตมาก่อนอาการของเขาอาจจะกำเริบขึ้นอีกได้  หากไม่ได้ดื่มน้ำหรือรับอาหารเหลวในปริมาณที่เพียงพอ

ผู้ป่วยด้วยโรคนิ่วในไต  ควรที่จะงดการถือศีลอดในวันที่มีอากาศร้อนจัดเพราะปริมาณปัสสาวะจะลดลงอย่างมาก  ซึ่งก็คงจะต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้วินิจฉัยว่าเขาจะสามารถถือศีลอดได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี  ขอแนะนำว่าผู้ป่วยโรคนิ่วในไตควรรับประทานน้ำ  และอาหารเหลวให้มากทั้งในตอนกลางคืนและมื้อสะหู้รและควรหลีกเลี่ยงอากาศร้อนและการใช้กำลังงานมากๆ  ในตอนกลางวัน  นอกจากนั้นยังควรลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ให้น้อยลงรวมทั้งของขบเคี้ยวต่างๆ

ข้อที่ 18   คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

หากแพทย์อนุญาตให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานถือศีลอดได้  เพราะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดและรับประทานอาหารตามที่แพทย์สั่งทั้งประเภทและปริมาณอาหารที่รับประทานควรแบ่งออกเป็น  3  มื้อ  ในปริมาณเท่ากันคือเมื่อละศีลอด  เมื่อเสร็จจากละหมาดอิชาอและเมื่อเวลาอาหารสะหู้รและควรจะล่าช้าในการรับประทานอาหารสะหู้รมากที่สุดที่จะทำได้และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้กำลังงานขณะถือศีลอด  โดยเพาะในช่วงสุดท้ายของวัน  คือระหว่างช่วงเวลาอัคริและมัฆริบ

หากผู้ป่วยรู้สึกว่าปริมาณน้ำตาลลดลงมาก  ก็ให้รีบละศีลอดโดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลา  แม้ว่าใกล้เวลาจะละศีลอดแล้วก็ตาม

เดือนรอมฏอน กับ 20 ข้อคำแนะนำทางการแพทย์ ที่คุณควรรู้!!

ข้อที่ 19   คำแนะนำสำหรับผู้ที่อาหารไม่ย่อยหรือย่อยมาก

ผู้ป่วยเกี่ยวกับอาหารไม่ย่อยหรือย่อยยากจำนวนไม่น้อยที่มีอาการดีขึ้นในเดือนรอมฏอน  แต่นั่นไม่รวมถึงผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้และผู้ที่มีอาการอักเสบในหลอดอาหารหรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับอวัยวะอื่นๆ

ขอแนะนำให้ผู้ป่วยเหล่านั้นรับประทานอาหารในปริมาณน้อยๆ  แต่ให้หลายๆ  ครั้ง  ไม่ควรรับประทานคราวละมากๆ  และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน  ขนมหวาน  อาหารที่ใส่เครื่องเทศหรือเครื่องชูรส  และอาหารที่ปิ้งหรือย่าง

ข้อที่ 20 คำแนะนำสุดท้าย : เราถือศีลอดในเดือนรอมฏอนกันจริงหรือ?

ในช่วงกลางวันของรอมฏอน  เราจะถือศีลอด  และประกอบอาชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพที่หะล้าล  ส่วนในตอนกลางคืนเราจะละหมาดตะรอเวียหขอดุอาอ  ขออภัยโทษต่ออัลลอฮและขอความเมตตาจากพระองค์

แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก  ที่พวกเราบางคนไม่ได้ถือศีลอดตามที่ศาสนากำหนด โดยเขาจะใช้เวลาเกือบตลอดทั้งวันไปกับการนอน  และมีอารมณ์โกรธฉุนเฉียวโดยปราศจากสาเหตุอันควร  โดยอ้างว่าเพราะเขาถือศีลอด  การถือศีลอดของเขาจึงถือความเกียจคร้านและความฉุนเฉียวในเวลากลางวัน  และการรับประทานจนอิ่มแปร้  และการอดนอนไปกับสรวลเฮฮาและสิ่งไร้สาระในตอนกลางคืน

เป็นการสมควรแล้วหรือที่เราจะปล่อยให้เดือนอันประเสริฐ และเต็มไปด้วยความดีงามนี้ ผ่านไปในลักษณะเช่นนี้ปีแล้วปีเล่า

เราควรจะได้ฉกฉวยโอกาสแห่งเดือนอันประเสริฐนี้สะสมความดีงามให้มากที่สุด  ด้วยการภักดี  และอิบาดะฮต่ออัลลอฮ  ขอความเมตตาและขออภัยโทษต่อพระองค์เพราะไม่แน่ว่า  เราจะมีโอกาสได้พบกับรอมฏอนในปีหน้าหรือเปล่า

จัดทำโดย  อ.มุฮัมมัด  สืบสันติวรพงษ์

อัพเดทล่าสุด