นรกรออยู่นะ!! อิสลามห้ามตัดขาดพี่น้องเกิน 3 วัน


22,010 ผู้ชม

อิสลามให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติอย่างไร


นรกรออยู่นะ!! อิสลามห้ามตัดขาดพี่น้องเกิน 3 วัน

โลกทุกวันนี้ร้อนระอุยิ่งนักหัวใจคนก็คับแคบร้อนรน ในความหรูหราฟุ่มเฟือย กลับหาความสงบได้ยากเย็น ผลพวงจากเศรษฐกิจที่บีบรัดต ัวและปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาทุกด้าน ทำให้คนร่วมสมัยคิดถึงแต่ตนเองและครอบครัว เหินห่างญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง หมกมุ่นครุ่นคิดแต่จะสนองตอบความต้องการของตน เช่นนี้คนในยุคปัจจุบันนี้จึงใกล้จุดที่เรียกว่า “ตัวใครตัวมัน” เข้าไปทุกที

อิสลามให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติอย่างไร เรามาหาคำตอบกับ “อ.อับดุลวาเฮด หวังประโยชน์” 

อ.อับดุลวาเฮด กล่าวว่า เรื่องของความเป็นญาติพี่เป็นน้อง ถือเป็นโครงสร้างหลักของสังคม การที่เราละเลยหรือไม่ค่อยไ ด้ใส่ใจในส่วนของเครือญาติอาจมาจากหลายปัจจัย สมัยก่อนคนที่อยู่ตามชนบทเว ลาใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะทรา บกันทั่วมีการไปมาหาสู่กัน แต่ปัจจุบันขนาดอยู่ในซอยเดียวกันใครเจ็บป่วยบ้างเรายั งไม่รู้ แสดงให้เห็นว่าเราพูดกันน้อ ยลง ไปเยี่ยมเยียนกันน้อยลง ในยุคนี้อาจจะมีการแข่งขันส ูง บางทีแข่งขันกันระหว่างพี่น้องกันเอง จนกระทั่งช่วยกันไม่ได้ กลัวว่าพี่จะดีกว่าน้อง และทุกคนก็ต้องดิ้นรนเอาตัวเองให้รอด ต้องทำมาหากิน เศรษฐกิจไม่ดี จนกระทั่งเรามองว่าเราต้องใช้ชีวิตแบบนี้ อิสลามจะมาทำให้เราล้าหลังถ้ามัวยุ่งกับศาสนาอย่างเดียวก็ทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว สิ่งดังกล่าวจะทำให้เราออกห่างศาสนาไปเรื่อยๆ พอยิ่งออกห่างไป เราได้เอาความคิดของเรามาก่อนหลักการ บารอกัต (ความจำเริญ) มันไม่เกิดขึ้น

“ ดังนั้น หวังกันว่า หากพวกเจ้าผินหลังให้ (กับการอีมานแล้ว) พวกเจ้าก็จะก่อความเสียหายในแผ่นดินและตัดความสัมพันธ์ ทางเครือญาติของพวกเจ้ากระนั้นหรือ? ชนเหล่านี้คือบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงสาปแช่งพวกเขา ดังนั้นพระองค์จึงทรงทำให้พวกเขาตาบอด “ มุฮัมมัด 22-23

เรื่องของศาสนามันเป็นบารอกัต (ความจำเริญ) เป็นเรื่องที่อิสลามใส่ใจ พระองค์บอกว่าให้เราภักดีต่ออัลลอฮฺและรอซูล หลังจากนั้นอัลลอฮฺและรอซูลบอกให้เราเชื่อฟังพ่อแม่ พ่อแม่คือบุคคลที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ที่เปรียบเสมือนเครือญาติที่เราต้องทำดี เพราะฉะนั้นอย่างน้อยๆ มนุษย์โดยพื้นฐาน ต้องทำดีกับพ่อแม่เป็นอันดับแรก อาจจะยังไม่ไปถึงพี่น้องหรือญาติ และเพื่อนบ้านใกล้เคียง เอาพ่อแม่ก่อนมันก็จะเกิดความสุขและความสงบในระดับนึง ถ้าทุกคนทำได้อย่างนี้บ้านพักคนชราจะไม่เกิดขึ้นในสังคม เพราะทุกคนตระหนักได้ในเรื่องของการทำความดีต่อพ่อแม่

“ และจงเคารพภักดึสักการะอัลลอฮฺเถิด และอย่าให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาดีกับพระองค์และจงทำดีต่อผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและต่อผู้เป็นญาติที่ใกล้ชิด “ อันนิซาอฺ 36

ต่อมาก็คือ ในเรื่องของเพื่อนบ้านเราจะพบว่า มีหะดิษท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า “ญิบรีลสั่งเสียกับฉันให้ทำความดีต่อเพื่อนบ้าน จนกระทั่งฉันคิดว่า เพื่อนบ้านนั้นจะรับมรดกกันได้” (บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม) จากหะดิษบทนี้ ทำให้เราได้รู้ถึงการให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้านจนกระทั่งเกือบจะเปรียบได้ดังว่าเขาเป็นญาติคนหนึ่งเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่าขนาดเพื่อนบ้านญิบรีลยังสั่งเสียถึงขนาดนั้น แล้วถ้าเป็นเครือญาติหล่ะ ! หากยังตัดสัมพันธ์กับเครือญาติอิบาดะห์ (การงาน)ที่ทำมาเป็นโมฆะเสียหายไม่ถูกตอบรับดังหะดิษความว่า

“ ประตูสวรรค์จะถูกเปิดวันจันทร์และวันพฤหัสบดี (พระองค์)จะอภัยโทษให้กับบ่าวทุกคนที่ไม่ตั้งภาคีกับพระองค์ แต่ผู้ที่เขากับพี่น้องของเขายังทะเลาะกันอยู่จะยังไม่ได้รับการอภัยโทษ โดยจะมีคำกล่าวว่า รอเวลาคู่กรณีทั้งสองนี้ก่อนจะกระทั่งเขาทั้งสองจะคืนดีกันเสียก่อน” มุสลิม

ท่านนบีเคยพูดถึงว่าความประเสริฐของการติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติ เช่น คนที่แม่เสียชีวิตไปแล้ว แต่เรายังไม่เคยทำความดีต่อพ่อแม่ในขณะท่านมีชีวตอยู่ จะทำอย่างไรให้เราได้ผลบุญประหนึ่งเหมือนเราทำดีกับพ่อแม่ อัลลอฮฺ(ซบ.) บอกให้การทำดีต่อเครือญาติที่เป็นพี่น้องของพ่อแม่ เมื่อเราไปทำความดีกับเขามันจะเป็นผลบุญหนึ่งเสมือนเราทำดีต่อพ่อแม่ แสดงว่าการติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติเป็นเรื่องหลักการของศาสนา การตัดสัมพันธ์กับเครือญาติกลายเป็นบาปที่ถูกสาปแช่ง ฉะนั้นมุสลิมในปัจจุบันนี้ต้องหันกลับมามองว่า ถ้าอยากมีความสุข ความจำเริญให้กับชีวิต เขาต้องกลับมาสานสัมพันธ์กับเครือญาติให้ได้ นั่นคือหนึ่งในหน้าที่

นรกรออยู่นะ!! อิสลามห้ามตัดขาดพี่น้องเกิน 3 วัน

อิสลามสนับสนุนให้มีสายสัมพันธ์กับเครือญาติอย่างไร

ในหลักการของอิสลามสนับสนุนให้มีสายสัมพันธ์กับเครือญาติ สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด คำสั่งในอิสลามที่บอกว่า ผู้ที่มีอีหม่านต่ออัลลอฮฺเขาจะต้องติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติ และการติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติถือเป็นคำสั่งใช้ของศาสนา ซึ่งเป็นวายิบ (จำเป็น)

“ผู้ใดปรารถนาที่จะมีริสกี (ปัจจัยยังชีพ)ที่พอเพียง หรืออยากมีอายุยืนสุขภาพดี ให้เขาติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติ” บุคอรีย์ มุสลิม

การติดต่อสัมพันธ์อาจจะไม่ได้เป็นการไปมาหาสู่กัน แต่ให้มันมีการสื่อสาร เราอาจจะไม่สะดวกในการเดินทางไปเยี่ยมเยียน แต่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารปัจจุบันทำให้คนที่อยู่ไกลกันกลับมาใกล้กันมากขึ้นในหลายๆ ช่องทาง เช่น การโทรศัพท์พูดคุย แชทไลน์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ ให้มีการรับรู้ข่าวสารกัน มันก็จะเกิดความสนับสนุนต่างๆ ระหว่างญาติพี่น้องโดยเฉพาะในเรื่องของศาสนา เช่น พี่น้องบางเดือดร้อน ยากจน แต่อยากส่งให้ลูกเรียนศาสนา ญาติคนไหนที่พอมีกำลังก็อาจจะช่วยให้เงินสนับสนุนหลานให้ได้เรียนต่อ จะเห็นได้ว่าแม้ตัวอยู่ไกลกันแต่เพียงแค่ยกหูถามไถ่สารทุกข์สุขดิบมันก็จะทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น

ในหลักการของศาสนาจริงๆ คนที่ทำให้พ่อแม่ดีใจ คนที่ไปมาหาสู่เพียงแค่เดินผ่านหน้าบ้านของพี่น้องของเขา เพียงแค่กล่าวสลาม นั่นก็ถือว่าเขาติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติแล้ว ถ้าหากไม่ติดต่อเลยเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ไปเยี่ยม แม้กระทั่งตายก็ไม่มา นี่ถือว่าเป็นการตัดสัมพันธ์

เราเองทุกวันนี้ไม่รู้จักแล้วว่าใครเป็นลูกใคร รู้จักแค่สองชั้น รุ่นปู่ กับรุ่นพ่อเรา หรือรุ่นที่ใกล้เคียงเท่านั้น รุ่นอื่นๆไม่ได้สนใจ ปัจจุบันนี้เราต้องถามไถ่กันว่าเป็นลูกของใคร การรวมญาติและมาพูดคุยในเรื่องศาสนา เป็นสิ่งที่อิสลามส่งเสริม เช่น เดือนหนึ่งครั้งหนึ่ง หรือ เดือนเว้นเดือน เอาญาติพี่น้องมาพูดคุยเรื่องศาสนาไม่ต้องเยอะ คุยเรื่องศาสนาชั่วโมงหนึ่งที่เหลือก็เลี้ยงอาหารนั่งคุยกัน

ส่วนในเรื่องของการค้าขาย คนที่ทำการค้าบางทีอาจะมองว่าไม่มีเวลาที่จะไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง แต่ในหลักการของอิสลามบอกว่าเวลาเราค้าขายญาติพี่น้องเรามาซื้อของให้เราลดราคา เพราะเราจะได้การทำดีกับพี่น้อง ฉะนั้นมันมีหนทางเยอะถ้าเราเข้าใจในอิสลาม

“ ไม่อนุญาตให้มุสลิมตัดขาดพี่น้องของเขาเกินสามวัน เวลาพบกันก็หันหลังให้กันและกัน แต่คนที่ดีที่สุดของพวกเขาคือผู้ที่เริ่มให้สลามก่อน ”

สาเหตุที่ทำให้เราตัดญาติขาดมิตร อาจมาจาก ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ และการแบ่งทรัพย์สินจากกองมรดก, การชิงดีชิงเด่นและความอิจฉาริษยา ในหมู่ญาติพี่น้อง, การไม่สนใจใยดีกับวงศ์ตระกูลของตนเอง ตรงนี้อิสลามวางกรอบในเรื่องนี้อย่างไร?

ปัจจุบันนี้มรดกไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นมากในสังคม ทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นฆ่ากันก็มี ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เมื่อไม่ได้ดังใจตัวเองก็เกิดการยักยอกทรัพย์ หรือโกงทรัพย์สิน หรือเป็นการสร้างคำพูดที่ขึ้นมาว่า พ่อแม่ให้ฉันแล้ว ปัญหาที่ตามมาคือ พอแบ่งมรดกกันก็แยกย้ายกันไป พี่ทางไป น้องไปทาง จนกระทั่งปัจจุบันนี้ไม่คุยกันก็มี

ฉะนั้นเรื่องของ “มรดก” เรื่องของทรัพย์สินเป็นสิ่งสำคัญ ให้เราปลูกฝังลูกหลานเหมือนกับที่ท่านนบีเคยตอบคำถามผู้หญิงคนหนึ่ง พาลูกมาบอกท่านนบีว่า ฉันจะเอาทรัพย์สินที่มีอยู่แบ่งทรัพย์สินให้กับลูกๆ แต่ลูกคนนี้ให้เยอะ โดยให้นบีเป็นพยานว่าทรัพย์สินเป็นของเด็กคนนี้จริง (ซึ่งลูกคนนี้แม่อาจจะรักมากกว่าก็ได้หรืออาจจะเป็นห่วงก็ได้) นบีถามว่าเธอมีลูกคนอื่นอีกไหมนอกจากคนนี้ หญิงคนนั้นได้บอกว่า มี นบีได้บอกว่าให้ลูกๆ เท่าๆ กัน ให้มีความยุติธรรม

เพราะฉะนั้นในดุนยาถ้ายังมีชีวิตอยู่ ถ้าจะให้ ก็ให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน หรือให้เกิดความเป็นธรรม อย่างเช่น ถ้าเราเป็นพ่อ ได้มีลูก ลูกได้แต่งงานมีครอบครัวไปแล้วทั้งหมด คนนี้บ้าง ไม่มีบ้าง เราก็ให้ตามความเหมาะสม ถ้าคนไหนที่แย่หน่อย เราอาจจะให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีฐานะที่กลับมาใกล้เคียงกัน คนที่มีเยอะอยู่แล้วก็สร้างความเข้าใจกัน ให้เหมือนกันแต่ไม่ได้น้อยจนเกินไป คือต้องรู้จักที่จะบริหารจัดการกับครอบครัว ปัญหานี้มันเยอะมากทีเดียวเกือบ 50% ของครอบครัวในสังคมที่ไม่เข้าใจศาสนาในเรื่องของมรดก และก็คาดหวังกันไว้เยอะ เราสะสมทรัพย์กันไว้เยอะแต่เราไม่สะสมอีหม่าน เราเตรียมเสบียงเพื่อให้ลูกสบาย เอาเงินมาเยอะๆ สร้างตึก สร้างบ้านเตรียมไว้ให้ลูกๆ ต่อไปจะได้ไม่ลำบาก ซื้อที่ดินไว้ให้ และท้ายที่สุดลูกของเราไม่มีอิสลาม เมื่อไม่มีอิสลามมันยิ่งกว่าลำบาก ยิ่งกว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ต่อให้เรามีทรัพย์เพียงน้อยแต่ถ้าลูกเรามีอิสลาม ทรัพย์ตรงนั้นเขาจะไม่ต้องไปแย่งตรงนั้น ไม่ต้องไปทะเลาะกันเพื่อเอาทรัพย์นั้น แต่ถ้าเขามีอิสลาม เขาจะเสียสละ เพราะฉะนั้นเรามีทรัพย์เยอะลูกเราต้องมีอีหม่านเพราะทรัพย์เหล่านั้นจะกลับมาช่วยศาสนาของอัลลอฮฺ ด้วยกับอีหม่านที่เราสร้างไว้ให้กับลูกของเรา

ในสมัยท่านนบีมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน หรือตัดญาติขาดมิตรหรือไม่ และท่านนบีมีวิธีการแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร?

ในท่านนบีมีการขัดแย้งกัน แต่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบบ้านเรา ไม่ใช่เรื่องที่เกิดมาจากทรัพย์สินหรือการทะเลาะเบาะแว้งกันแข่งขันแก่งแย่งกัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกิดจากตระกูลของเขามากกว่าเป็นเรื่องของอำนาจ แต่พอมีอิสลามแล้ว ได้มาตีกรอบว่า คนที่จะมีอำนาจหรือคนที่จะเป็นผู้ปกครอง ใครเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ ดังนั้นจึงได้เดินตามอิสลามอิสลามบอกไว้หมด ซึ่งเขาไม่ได้ทะเลากันแต่เหมือนเป็นปัญหาที่เป็นปากเสียงหรือที่เกิดจากความรู้สึกมากกว่า เช่น ในอดีตลูกเข้ารับอิสลาม แม่ไม่พอใจ และปัจจุบันมีการปลูกฝังในสังคมบ้านเราว่ามุสลิมหัวรุนแรง เป็นมุสลิมก่อการร้าย พอลูกหลานเขาเข้ารับอิสลาม เขาก็จะมองว่าลูกเขาไปเป็นแบบนี้แล้ว ซึ่งเป็นการปลูกฝังที่ผิด แต่ถ้าคนที่เข้ารับอิสลาม อยู่ในสังคม เรียนรู้และประพฤติตัวดีเขาไม่ได้ปฏิเสธพ่อแม่ เขาได้กลับไปหาพ่อแม่เหมือนเดิมได้ ฉะนั้นในอดีตก็มีเหมือนกัน การขัดแย้งประเภทนี้ การทะเลาะเบาะแว้ง การตัดขาดมันก็มีเหมือนกัน บางทีพ่อแม่มาประชดว่า ฉันไม่กิน ไม่นอน ถ้าลูกไม่กลับเข้ามาหา เหมือนตัดญาติ ซึ่งเมื่อเข้ารับอิสลามมันจะขาดอยู่แล้วโดยปริยาย ในที่นี้หมายถึงขาดในความสัมพันธ์ของผู้ศรัทธา แต่ไม่ขาดในหน้าที่ของลูกที่ต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ ฉะนั้นคนที่เป็นมุสลิมใหม่ ควรกลับไปดูแลพ่อแม่ในส่วนที่เขาต้องดูแลอันนี้ไม่บาป เป็นสิ่งที่สมควรด้วย เพราะอิสลามส่งเสริม

นรกรออยู่นะ!! อิสลามห้ามตัดขาดพี่น้องเกิน 3 วัน

วิธีกระชับสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติในอิสลาม

ในเรื่องของการกระชับสัมพันธ์ “ซีญาเราะห์” คือการเยี่ยมเยียนกัน การเยี่ยมเยียนทำให้เรามีความรักกันคือบางครั้งเราอาจจะไม่ถูกกัน แต่ว่าพอเจอหน้าความรู้สึกมันก็จะลดลง ความเกรงใจมันก็จะเข้ามาแทนที่ เช่นในสังคมไทยเวลาเรามีปัญหาพอลับหลังมักพูดกันรุนแรง แต่พอเผชิญหน้ากันความรู้สึกมันจะลดลงไป ฉะนั้นเราน่าที่จะเผชิญหน้ากันเข้าหากัน ไปเยี่ยมเยียนกันสิ่งนี้สำคัญที่สุดเลย ถ้าเป็นไปได้คือนั่งคุยกันแล้ว อดทน ปัญหาของเราคือไม่อดทน ถึงเวลาแล้วเราคิดว่าเราถูก เราไม่สามารถที่จะไปบังคับคนอื่นได้ให้มาเหมือนเรา ในสังคมไทยแค่เพียงเรื่องธุรกิจ เรื่องการเมือง มีความเห็นไม่ตรงกัน เราก็ต่างคนต่างไป ถ้าเราปล่อยสถานภาพทางสังคมมุสลิมเป็นแบบนี้ เราจะพบว่าต่อไปพี่น้องก็เดินคนละทางหรือแม้กระทั่งพ่อแม่

เราต้องมีความอดทนก่อน ต่อมาก็ให้อภัย ระดับของการรวมตัวทางสังคมในอิสลามได้เอาหลักการทางศาสนาเป็นใหญ่ เรามีความเชื่อที่ถูกต้องเหมือนกัน เรามีหลักการที่เหมือนกันถูกต้องเหมือนกัน ใครทำได้มากน้อยแค่ไหน มันขึ้นอยู่แต่ละบุคคลที่เขาจะทำได้หรือไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าคนทำได้มากอยู่กลุ่มหนึ่ง คนทำได้น้อยอยู่กลุ่มหนึ่ง คนนี้ศรัทธาและไม่มีความผิดเลยอยู่กลุ่มหนึ่ง อีกอันศรัทธาและยังมีความผิดอีก ไล่ออกไปจากกลุ่ม เขาไม่จัดระเบียบแบบนั้น สังคมเราต้องอยู่ด้วยกัน ฉะนั้นวันนี้คนที่ผิดมาก ผิดน้อย ต้องเป็นญะมาอะเป็นกลุ่ม เป็นพี่เป็นน้องถ้าตัดขาดเมื่อไรเป็นบาปใหญ่ทันที ถือว่าเป็นบทลงโทษทางดุนยาและอาคีเราะห์ เพราะฉะนั้นไม่อยากให้ภาพของสังคมในปัจจุบันเป็นภาพแค่เพียงเหมือนกับพอเวลาเราจะรักกัน ก็รักกันแบบไม่ลืมหูลืมตา รักแบบเล่นพวก เช่น คนนี้เป็นญาติฉัน แบบนี้อิสลามก็ไม่ได้ส่งเสริม (ยุคญาฮียะห์) คือ เป็นการติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติเหมือนกันแต่เป็นการรักเหมือนกับไม่มีอิสลามเนื่องจากเป็นการช่วยเพราะเป็นญาติกัน ไม่ได้ช่วยเหลือเพราะเป็นหลักการของศาสนา ฉะนั้นในวันที่เราส่งเสริมให้มีความรักในสัมพันธ์กับเครือญาติเพราะเป็นอิสลาม ถ้าหากว่าญาติคนนี้เป็นคนชอบลักขโมย ติดยา เล่นการพนัน ถามว่าเราต้องติดต่อสัมพันธ์กับเขาไหม เราต้องติดต่อ แต่ว่าเราจะไปช่วยเหลือเขาในลักษณะที่เขาจะได้ไม่มีโอกาสทำความชั่วต่อ ติดต่อสัมพันธ์โดยดึงเขากลับเข้ามาและตักเตือนกัน

ฝากถึงพี่น้องมุสลิม

วันนี้สังคมต้องการการเอาอกเอาใจ ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด คือสิ่งที่เป็นความดีที่เกิดขึ้นในสังคม อยากให้เราทุกคนช่วยเหลือ ทุกคนย่อมมีสิ่งที่ผิดพลาด เราก็ต้องตักเตือนกันและรักษาสิ่งที่ถูกต้องเอาไว้ และสิ่งที่ไม่ดีเรานำไปปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลง เราอาจจะเปลี่ยนทันทีไม่ได้ต้องอาศัยเวลา เมื่อคนหนึ่งทำผิดอย่าเพิ่งไปตัดสินเขาว่าเป็นคนเลวเป็นคนบาปเขายังไม่ได้ตกศาสนา ฉะนั้นเราต้องรีบแก้ไขตักเตือน เรื่องญาติพี่น้องเป็นสิ่งสำคัญ

อิสลามเรามีวันเยี่ยมญาติแค่ 2 วัน คือวันอีดเล็ก อีดใหญ่ มันน้อยเกินไปสำหรับในรอบปี และสิ่งที่เราคิด การที่เราติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติเพียงแค่การไปมาหาสู่เท่านั้น ความดีที่เราทำเราเรียกพี่น้องเราทำได้ เรามีความเข้าใจในอิสลามเราแชร์กับพี่น้องของเราได้ และส่งเสริมพี่น้องที่มีฐานะทางสังคมให้พยายามเป็นแกนนำที่จะรวบรวมพี่น้องของเรา เสียสละให้พี่น้องของเราก่อน เงินทองที่มีอยู่เสียสละไปให้พี่น้องมารวมกัน และเรียนรู้เรื่องศาสนา เราลงทุนให้พี่น้องเข้าใจศาสนาผลบุญอยู่ในบัญชีของเรา และถ้าพี่น้องของเราเข้าใจศาสนาแล้ว ถ้าเขายืนได้ด้วยตัวของเขาเองแล้ว ผลบุญที่เขาทำมันก็อยู่ในบัญชีของเราด้วย เสียสละกันเถอะครับในวันนี้แม้เพียงเล็กน้อย อยากจะเน้นย้ำแต่ละตระกูล แต่ละกลุ่มชน พยายามให้มีการรวมตัวกันในกลุ่มชนของพวกเขาด้วยเพื่อการเรียนรู้เรื่องศาสนานี้เป็นสำคัญ แม้จะไม่มีการบรรยายเรื่องศาสนาแต่ถ้ารวมกันบนพื้นฐานที่ไม่ได้ไร้สาระอาจจะมีการกินเลี้ยงสังสรรค์ลำดับญาติพี่น้องให้รู้จักหน้าตากันก็เป็นเรื่องดีแล้ว

ที่มา : นสพ.กัมปงไทย ฉบับที่ 63 ประจำเดือน มี.ค.58

บทความที่น่าสนใจ

อัพเดทล่าสุด