3 สิ่งที่อิสลามห้ามทำร้าย ความซื่อสัตย์กับครอบครัว


44,621 ผู้ชม

3 สิ่งที่อิสลามห้ามทำร้าย ความซื่อสัตย์กับครอบครัว จะเป็นในรูปแบบใดบ้าง เรามาดูกันเลย...


3 สิ่งที่อิสลามห้ามทำร้าย ความซื่อสัตย์กับครอบครัว

การแต่งงานย่อมต้องการได้รับความซื่อสัตย์ที่มีให้แก่กันและกัน เนื่องจากต้องการมีชีวิตครอบครัวที่เต็มไปด้วยความบารอกัต ทั้งโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ ซึ่งความซื่อสัตย์ที่ไม่ควรทำร้ายกันในครอบครัว จะเป็นในรูปแบบใดบ้าง เรามาดูกันเลย...

1. อย่าทำร้ายอะมานะฮฺ หรือความไว้วางใจที่มีให้กันและกันในหนทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)

ซึ่งในที่นี่หมายถึง เมื่อคนสองคนตกลงที่จะใช้ชีวิตคู่เพื่อเป็นครอบครัวเดียวกัน แน่นอนสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ การได้รับอะมานฮฺ (หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย) ในครอบครัว โดยที่สามีจะต้องรับผิดชอบต่อภรรยาและลูกๆ เพื่อให้เป็นครอบครัวมุสลิมที่ดี และภรรยาก็จะต้องตออัต (ปรนนิบัต)ต่อสามีในหนทางที่ดี โดยยึดหลักการการดำเนินชีวิตไปตามแนวทางของอิสลาม 

ที่สำคัญต้องซื่อสัตย์ต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในการดำรงชีวิตให้ออกมาในรูปแบบที่ดีที่สุด พยายามออกห่างจากสิ่งฮารอมหรือสิ่งมะอฺสียัต (สิ่งอบายมุขหรือสิ่งต้องห้ามต่างๆ) ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราจะซื่อสัตย์ต่อคำสั่งของพระองค์จริงๆ ตามแนวทางของอิสลาม

เนื่องจากเมื่อใดที่เราไม่ซื่อสัตย์ต่อคำสั่งของพระองค์ นั่นแสดงว่าเรากำลังทำร้ายความซื่อสัตย์ของครอบครัวตัวเองโดยที่เราไม่รู้ตัวเช่นกัน

2. อย่าทำร้ายครอบครัวเพียงเพราะคำพูดที่ “โกหก”

คำพูดที่โกหกไม่มีใครที่ต้องการที่จะได้รับ ขณะเดียวกันคำพูดที่โกหกก็ไม่มีใครหรอกที่ต้องการจะพูดออกมาหากไม่จำเป็นจริง ซึ่งทุกคำพูดล้วนมีเหตุผลของมันภายในตัว แต่เหตุผลเหล่านั้นไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า “อย่าให้คำโกหกมาทำร้ายครอบครัวตัวเอง”

เพราะคำพูดที่โกหกแม้ว่าจะเป็นการรักษาน้ำใจกันก็ตาม แต่หากเป็นคำที่โกหกกันก็ไม่ควรที่จะพูดออกมา เนื่องจากคำพูดโกหกจะเปรียบเสมือนเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำสิ่งไม่ดีเข้าสู่ครอบครัว เป็นต้นเหตุของปัญหาเล็กสู่ปัญหาที่ใหญ่โต

ด้วยเหตุนี้คนในครอบครัวจำเป็นต้องใช้คำพูดที่จริงเสมอ ห้ามพูดโกหกเด็ดขาด คำพูดที่จริงอาจจะไม่ได้สวยงามและเลิศหรูเสมอไปก็ตาม แต่หากคือสิ่งที่เป็นความจริง เราก็ควรที่จะพูดในสิ่งที่จริงเสมอ เพราะเมื่อใดที่คำพูดโกหกหลุดออกมาครั้งหนึ่ง ซึ่งมันก็จะต้องมีครั้งที่สอง ครั้งที่สาม และสุดท้ายจะกลายเป็นเป็นเรื่องปกติได้ในที่สุด

ทว่าหารู้ไม่ว่าโดนชัยฎอนหลอกไปแล้ว แนะนำให้รีเตาบัต (กลับเนื้อกลับใจ และไม่กลับไปทำในรูปแบบเดิมอีก) ให้เร็วที่สุดก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป เพราะคนที่ถูกทำร้ายด้วยคำพูดที่โกหกต้องใช้ระยะเวลาสักระยะในการเยียวยาเพื่อให้ได้รับความเชื่อใจอีกครั้ง 

ฉะนั้น เมื่อรู้ว่า “คำพูดที่โกหก” เมื่อพูดออกมาสามารถให้พิษภัยต่อครอบครัวมาก สู้เลือกคำพูดที่จริงแม้ว่าจะไม่เป็นการรักษาน้ำใจกันก็ตาม ซึ่งจะเป็นการดีกว่าไหม?...

อย่าให้สิ่งต้องห้ามตามหลักคำสอนของอิสลาม มาปะปนในครอบครัวจนกลายเป็นเรื่องปกติเสียอีก เพราะคำพูดหนึ่งคำพูดที่โกหกออกไป จะไม่คุ้มเสียเลย เพราะได้ทำร้ายความซื่อสัตย์ และไม่สามารถเชื่อใจกันได้ และแถมได้บาปอีกต่างหาก วาอียาซุบิลลาฮฺ (ขอให้ห่างไกลจากสิ่งที่ไม่ดี)

3 สิ่งที่อิสลามห้ามทำร้าย ความซื่อสัตย์กับครอบครัว

3. อย่าทำร้ายคำมั่นสัญญาที่มีให้กันในครอบครัว

การจะได้รับความไว้วางใจกันในครอบครัว สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่มีให้แก่กันและกัน แรกเริ่มหากได้ให้คำมั่นสัญญาอะไรไว้ก็ควรที่จะรักษาไว้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อใดที่คำมั่นสัญญานั้นถูกทำร้ายมาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งต่อไปจะเป็นที่น่าสงสัยและยากที่จะให้เชื่อกันง่ายๆเหมือนเดิม

เพราะกว่าจะสร้างความเชื่อใจกันมา ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นั่นก็ใช่ว่าจะไม่ได้เลย แต่ทุกอย่างต้องมีระยะเวลาของมันเอง ก็คงต้องใช้ระยะเวลาสักพักเพื่อการรักษาและเยียวยา

ด้วยเหตุนี้ อย่าคิดทำร้ายคำมั่นสัญญาที่มีให้แก่กันและกัน เนื่องจากเป็นหนึ่งในคำสอนของอิสลามที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเมื่อใดที่ผิดสัญญาก็จะเป็นหนึ่งในสัญญาของกลุ่มคนมุนาฟิก

เพราะฉะนั้นจากทั้งสามข้อที่กล่าวมาข้างต้นที่ว่า อิสลามห้ามไม่ให้ทำร้ายความซื่อสัตย์ในครอบครัว เนื่องจากว่า สามสิ่งที่กล่าวมาคือสามสิ่งที่เป็นคำตักเตือนตามแนวทางของอิสลาม

ตามที่มีฮาดิษรายงานจาก อะบีฮุรอยเราะฮฺ ว่า แท้จริงท่านนบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) กล่าวว่า :

ความว่า “เครื่องหมายของคนมุนาฟิก (กลับกลอก) นั้นมีสามประการคือ เมื่อพูดจาเขาก็โกหก เมื่อสัญญาเขาก็ผิดคำสัญญา เมื่อได้รับความไว้วางใจ เขาก็ทุจริต” สำนวนของมุสลิมมีเพิ่มข้อความอีกว่า ถึงแม้ว่าเขาจะถือศีลอด ละหมาด และอ้างว่าเขาเป็นมุสลิม

(บันทึกโดยบุคอรีย์ และมุสลิม ; บุคอรีย์ เล่ม 1 หน้า 83-84  และมุสลิม ฮาดิษ เลขที่ 59)

อย่างไรก็ตามบางครั้งความอ่อนแอของอีหม่าน (ความศรัทธา) มนุษย์ก็มีขึ้นมีลง หากได้เกิดการผิดพลาดจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว แนะนำให้ทำการขอโทษต่อครอบครัวและขออภัยโทษจากพระองค์ให้เร็วที่สุด และไม่กลับไปทำในรูปแบบเดิมอีก ทั้งนี้เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ร่วมสร้างกันมาเพื่อหนทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้ยังคงอยู่ไปจนถึงสวรรค์ของพระองค์ อินชาอัลลอฮฺ

เรียบเรียงโดย Fateemoh : Beritamuslimmag.com

https://islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด