ลูกซินา อนุญาตให้ทำแท้ง ได้หรือไม่?


31,892 ผู้ชม

บรรดานักปราชญ์นิติศาตร์อิสลามได้มีมติร่วมกันว่า ไม่อนุญาตให้ทำแท้ง หลังจากที่ใส่วิญญาณแล้ว ถึงแม้นจะด้วยการเห็นชอบและเห็นพ้องต้องกันระหว่างสามีภรรยาก็ตาม


ลูกซินา อนุญาตให้ทำแท้งได้หรือไม่?

สำหรับคำตองของเรื่องนี้ มีรายละเอียดมากมาย ซึ่งเราได้สรุปใจความจากหนังสือ อะหฺกาม วาลาดิซซีนา ฟิลฟืกฮิลอิสลามี ของท่าน อะหฺหมัด อับดุลมะยีด ฮุเซ็น ซึ่งท่านได้กล่าวว่า 

1. หุกมของการทำแท้งหลังจากใส่วิญญาณแล้ว 

บรรดานักปราชญ์นิติศาตร์อิสลามได้มีมติร่วมกันว่า ไม่อนุญาตให้ทำแท้ง หลังจากที่ใส่วิญญาณแล้ว ถึงแม้นจะด้วยการเห็นชอบและเห็นพ้องต้องกันระหว่างสามีภรรยาก็ตาม เพราะแท้ที่จริงแล้ว การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการฆ่าชีวิตหนึ่งโดยไม่ถูกต้องตามหลัก ชาเราะอฺ ดังนั้นมันเข้าภายใต้ คำดำรัสของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)

وَلَا تَقْتُلُوا النَّفْسَ الَّتِي حَرَّمَ اللَّهُ إِلَّا بِالْحَقِّ ( الأنعام : 151 ) 

ในหนังสือ القوانين الفقهية ของท่านอิบนุยุซัยยฺ (เสียชีวิตปีที่ ฮ.ศ.741) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า เมื่อหนึ่งเมื่อใดที่มดลูกของผู้หญิงนั้นรับน้ำอสุจิแล้ว ดังนั้นได้อนุญาตทำการยับยั่งต่อต้านและทำลายมัน และยิ่งไปกว่านั้นหากว่า อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงใส่วิญญาณให้มันแล้ว เพราะการกระทำดังกล่าว เป็นการฆ่าชีวิตหนึ่งด้วยมติเอกฉันท์ของบรรดาปวงปราชญ์ (ดูได้จากหนังสือ القوانين الفقهية หน้าที่ 141) 

เช่นเดียวกันกับท่านอีหม่ามรอมลี (เราะหฺมะตุลลออลัยฮฺ) ท่านกล่าวเอาไว้ในหนังสือ นิฮายะตุลมุคตาดรฺ ของท่าน หน้าที่ 8 เล่มที่ 442 ว่า สำหรับการฮารามและต้องห้ามนั้นมันมีน้ำหนักยิ่งในกรณีที่ทารกในท้องนั้น ใกล้จะถึงเวลาที่จะใส่วิญญาณให้ (120 วัน) เพราะแท้จริงแล้วการกระทำดังกล่าวนั้น เป็นการก่ออาชญากรรมอย่างแท้จริง 

แต่สำหรับการทำแท้งนั้น ถูกยกเว้น (ไม่ฮาราม) ในกรณีที่มีความจำเป็น อย่างเช่น แพทย์ผู้ชำนาญการและเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ ได้บอกว่าหากในทารกในท้องมีอยู่ต่อไปนั้น จะทำให้แม่เสียชีวิตได้ และหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้แม่ปลอดภัย คือต้องเอาทารกดังกล่าวออก ดังนั้นในภาวะที่จำเป็นเช่นนี้ อนญาตให้ทำแท้งหรือนำทารกดังกล่าวออกได้ โดยยึดถือไปตามหลักการที่ว่า 

الضرورات تبيح المحظورات

ความว่า สำหรับบรรดาความจำเป็นนั้น มันไปทำให้อนุญาตกับบรรดาสิ่งที่ต้องห้าม

และหลักการที่ว่า 

الضرر الأشد يزال بالضرر الأخف

ความว่า สำหรับบรรดาภยันตรายที่รุนแรงกว่านั้น เขาจะให้มันสูญหายไปด้วย ภยันตรายที่เบากว่า

และไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เลย สำหรับการเสียชีวิตของทารกในท้องนั้น มันเบากว่าการเสียชีวิตของมารดา เพราะแท้จริงแล้ว แม่นั้นเป็นรากฐานเดิมของทารกในท้อง และสำหรับการมีชีวิตของแม่นั้นมันเป็นเรื่องที่มั่นคงและแน่นอน แต่การมีชีวิตของทารกในท้องนั้น มันเป็นยังเป็นเรื่องที่คาดคะเน และด้วยเหตุผลอีกประการหนึ่ง คือว่า แท้จริงแล้วในการเสียชีวิตของแม่นั้น จะทำให้ทารกในท้องเสียชีวิตด้วย แต่ในการทำแท้งทารกในท้องนั้น แม่จะมีชีวิตและโอกาสอยู่ต่อไปได้

2. หุกมของการทำแท้งก่อนจะใส่วิญญาณ (120 วัน)

สำหรับบรรดานักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลามนั้น มีการคีลัฟและมีความเห็นขัดแย้งแตกต่างกันในเรื่องดังกล่าว ต่อไปนี้

2.1 มัซฮับฮานาฟียะฮฺ

สำหรับทัศนะที่มีน้ำหนักยิ่งในมัซฮับของพวกเขาเหล่านั้นคือ อนุญาตให้ทำแท้งได้ เมื่ออายุของทารกนั้นไม่ถึง 120 วัน (ก่อนใส่วิญญาณให้)

ท่านอัลกาซานีย์ กล่าวไว้ในหนังสือ بدائع الصنائع เล่มที่ 7 หน้าที่ 325 ว่า หากว่าทารกนั้นไม่ปรากฏสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากโครงสร้างและเรือนร่างของมนุษย์ ดังนั้น การทำแท้งดังกล่าว ไม่ฮารามแต่อย่างใด เพราะแท้จริงแล้วทารกดังกล่าวนั้น นันไม่ใช่เป็นญานีน (เด็กในท้อง) 

และท่านอิบนุอาบีดีน กล่าวเอาไว้ในหนังสือ รอดดุลมุคตาดรฺ เล่มที่ 4 หน้าที่ 336 ว่า อนญาตให้ทำแท้งทารกในท้องได้ก่อนที่มันมีอายุได้ 4 เดือน ตราบใดที่ไม่ปรากฏอวัยวะ โครงสร้างที่ทารกดังกล่าว และสำหรับการปรากฏชิ้นส่วนอวัยวะเรื่อนร่างโครงสร้างของทารกนั้นจะไม่เกิดขึ้น ยกเว้นต้องได้เวลา 120 วัน

และท่านอัลอัยนียฺ ได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือ อัลบีนายะฮฺ ฟั ชัรหิลฮีดายะฮฺ เล่มที่ 12 หน้าที่ 281 ว่าไม่อนุญาตให้ก่ออาชญากรรมทำแท้งต่อทารกในท้อง เมื่อใดที่ทารกในท้องนั้น ปรากฏอวัยวะบางส่วนแล้ว ดังนั้น เมื่อหนึ่งเมื่อใดที่ทารกดังกล่าวแบ่งแยกได้แล้ว ระหว่างเป็นเนื้อก้อนกับเลือดก้อน ดังนั้นมันก็มีชีวิต แต่หากว่าทารกในท้องนั้น ไม่ปรากฏโครงสร้างรูปร่างของมนุษย์ และมาปรากฏอวัยวะหนึ่งอวัยวะใด ดังนั้น ไม่มีอะไรเลยสำหรับทารกดังกล่าว (ไม่ฮารามทำแท้ง)

สรุปว่า จากคำพูดทั้งหมดของบรรดานักปราชญ์ของมัซฮับฮานาฟียะฮฺนั้น ทำให้เราได้รับรู้และเข้าใจว่าส่วนมากแล้วบรรดานักปราชญ์มัซฮับฮานาฟียะฮฺนั้นยึดถือว่า อนุญาตให้ทำแท้งได้ ก่อนที่ทารกในท้องนั้นจะปรากฏอวัยวะหนึ่งอวัยวะใดจากโครงสร้างรูปร่างของมนุษย์ และเมื่อใดที่ทารกในท้องนั้นเริ่มเข้าไปเปลี่ยนแปลงด้วยการมีรูปร่างและโครงสร้างของมนุษย์ ดังนั้นไม่อนุญาตให้ทำการก่ออาซญากรรมหรือทำแท้งใดๆ โดยที่ไม่มีความจำเป็น

2.2 มัซฮับมาลีกียะฮฺ

สำหรับมัซฮับมาลีกียะฮฺ มีอยู่ 2 ทัศนะด้วยกัน

1. ฮารามทำแท้ง เริ่งตั้งแต่น้ำอสุจิได้ตกไปยังมดลูกแล้ว ดังนั้นฮารามทำแท้งหรือทำลายน้ำดังกล่าว เหมือนดังที่ท่าน อิบนุยุซัยยฺ ได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือ القوانين الفقهية หน้าที่ 141

2. ฮารามทำแท้งในกรณีที่ หลังจาก 40 วันไปแล้ว ด้วยมติสอดคล้องนักปราชญ์ แต่หากว่าทารกนั้น ก่อนจะครบ 40 วัน บาวส่วนของอุลามาอฺ มัซฮับมาลีกียะฮฺ หุกุมว่ามัคโระ

ท่านอีหม่ามอัลคอรอชีย์ กล่าวว่า อนุญาตให้ทำแท้งได้ในกรณีที่ทารกนั้น ก่อนระยะเวลา 40 วันแรก พร้อมกับมัคโระ ถึงแม้ว่านางนั้น ได้รับอนุญาตจากสามีของนางก็ตาม (ดูได้จากหนังสือ ชัรหุลครอชีย์ เล่มที่ 3 หน้ามที่ 225)

2.3 มัซฮับฮัมบาลีย์

สำหรับนักปราชญ์ของมัซฮับฮัมบาลีย์นั้น ยึดถือว่า อนุญาตให้ทำแท้งได้ ก่อนที่เขาจะใส่วิญญานให้เด็กในท้อง (120 วัน)

ท่านอิบนุกุดามะฮฺ กล่าวว่า หากนางทำให้เนื่อก้อนหลุดแท้งออกมา และบรรดาหมอตำแยที่ไว้เนื้อเชื่อใจก็ยึนว่าเนื้อก้อนนี้มีรูปร่างของมนุษย์ที่ละเอียดแล้ว ดังนั้นในการทำให้เนื้อก้อนนี้หลุดออกมานั้น (ทำแท้ง) วายิบต้องจ่ายฆุรเราะฮฺ (ค่าปรับ) และหากว่า บรรดาหมอตำแยนั้นได้ยืนยันว่าเนื้อก้อนนั้น เพิ่งเริ่มเป็นรูปร่างของมนุษย์ หากว่ามันมีอยู่ต่อไป โดยไม่ถูกทำแท้งเสียก่อน แน่นอนมันจะเป็นรูปร่างของมนุษย์แล้ว ดังนั้น ในปัญหานี้มีอยู่ 2 แนวทาง

สำหรับแนวทางที่ ซอเหียะหฺยิ่งกว่านั้น ยึดถือว่าไม่เป็นอะไร และไม่ฮารามแต่อย่างใด เพราะมันยังไม่เป็นรูปร่างของมนุษย์เหมือนดังเช่นเลือดก้อนนั้นเอง 

(ดูได้จากหนังสือ อัลมุคนีย์ ของท่านอิบนุกุดามะฮฺ เล่มที่ 12 หน้าที่ 63)

ท่านอิบนุอบีตัฆลิบ กล่าวว่าอนุญาตให้สามีดื่มยาที่อนุมัติตามหลักชาเราะอฺเพื่อป้องกันการร่วมประเวณีและอนุญาตให้ภรรยาดื่มยาดังกล่าวเพื่อไปทำลายน้ำอสุจิที่ตกไปในรังมดลูก

ดูได้จากหนังสือ نيل المأرب بشرح دليل الطالب ของท่านอิบนิอบีตัฆลิบ (เสียชีวิตปี ฮ.ศ. ที่ 1135) เล่มที่ 1 หน้าที่ 111

ท่านอัลบูฮูตีย์ กล่าวว่า หากนางทำแท้งทารกที่ยังไม่เป็นรูปร่างของมนุษย์หรือทำแท้งเนื้อก้อน และบรรดาหมอตำแยที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เขาได้เป็นพยานว่า เนื้อก้อนเริ่มที่จะเป็นรูปร่างของมนุษย์ หากมันมีต่อไปแน่นอน มันจะเป็นรูปร่างของมนุษย์ทันที ดังนั้นการทำแท้งดังกล่าวไม่เป็นไร กล่าวคือไม่ฮารามอะไรเลย เพราะว่ามันไม่ใช่เด็กในท้อง 

ดูได้จากหนังสือ كشاف القناع เล่มที่ 5 หน้าที่ 20

2.4 มัซฮับชาฟีอีย์ 

สำหรับบรรดานักปราชญ์สังกัดมัซฮับชาฟีอีย์นั้น มีความเห็นและมติสอดคล้องกันทั้งหมดว่า ไม่อนุญาตให้ทำแท้ง ในกรณีที่เด็กในท้องนั้นมีอายุ 120 วันแล้ว แต่หากว่าเด็กในท้องนั้น มีอายุไม่ถึง 120 วัน บรรดานักปราชญ์มีความเห็นขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนี้ 

1. ท่านอิบนุฮายาร อัลฮัยตามีย์และท่านอิบนุอัมมาดร์ และคนอื่นๆ ยึดถือว่า ไม่อนุญาตให้ทำแท้งหากว่าเด็กในท้องนั้นอายุไม่ถึง 120 วัน และเช่นเดียวกันท่านอีหม่ามฆอซาลียึดถือว่าไม่อนุญาตให้ทำแท้งทุกๆ กรณี ไม่ว่าอายุของเด็กนั้นจะครบ 120 วัน หรือไม่ครบก็ตาม ซึ่งท่านอิบนุฮายาร อัลฮัยตามีย์ ได้บอกว่า สำหรับทัศนะของอีหม่ามฆอซาลีย์นั้นเป็นทัศนะที่ชัดเจนที่สุด

2. ท่านอบูอิสฮาก อัลมัรวาซีย์ กล่าวว่า อนุญาตให้ทำแท้งเนื้อก้อนและเลือดก้อนได้ ก่อนที่จะครบเวลา 120 วัน เช่นเดียวกันกับทัศนะของอีหม่ามรอมลีย์ ซึ่งท่านยึดถือว่า หากก่อนจะใส่วิญญาณให้ (120 วัน) อนุญาตให้ทำแท้งได้ แต่หากหลังจาก 120 วันแล้ว ไม่อนุญาตให้ทำแท้ง

ท่านซัยยิด บักรีย์ บินมูฮัมหมัด ชะฏอ อัดดิมยาตีย์ กล่าวว่า สำหรับทัศนะที่มีน้ำหนักนั้น คือ ฮารามทำแท้ง โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น หากหลังจากใส่วิญญาณแล้ว (120 วัน) และอนุญาตให้ทำแท้งหากก่อนที่จะใส่วิญญาณให้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ดูได้จากหนังสือ อิอานาตุฏฏอลีบีน เล่มที่ 4 หน้าที่ 147

สำหรับ หุกุมของการทำแท้งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ไม่มีข้อแตกต่างอะไรเลยระหว่างลูกซินาและไม่ใช่ลูกซินา เพราะแท้จริงแล้วลูกซินานั้น ก็วาญิบต้องจ่ายฆุรเราะฮฺ (ค่าปรับ) เช่นกัน หากว่ามีใครไปทำร้าย หรือทำให้แท้ง เหมือนดังที่ บรรดาอูลามาอฺมัซฮับชาฟีอีย์ได้กล่าวเอาไว้เกี่ยวกับเรื่อง ญีนายาร และอีกประการหนึ่งหากผู้หญิงคนหนึ่งท้องจากซินา ท่านนบี (ซ.ล.) ก็ยังไม่ลงโทษต่อนาง แต่ท่านรอให้นางคลอดลูกเสียก่อน ดังที่ท่านอีหม่ามนาวาวีย์ กล่าวเอาไว้ในหนังสือ ชัรหฺ อัลนาวาวีย์ อาลา ซอเหียะหฺมุสลิม เล่มที่ 11 หน้าที่ 201 ดังนี้

لَا تُرْجَمُ الْحُبْلَى حَتَّى تَضَعَ سَوَاءٌ كَانَ حَمْلُهَا مِنْ زِنًا أَوْ غَيْرِهِ وَهَذَا مُجْمَعٌ عَلَيْهِ لِئَلَّا يُقْتَلَ جَنِينُهَا وَكَذَا لَوْ كَانَ حَدُّهَا الْجَلْدَ وَهِيَ حَامِلٌ لَمْ تُجْلَدْ بِالْإِجْمَاعِ حَتَّى تَضَعَ

ความว่า อย่าขว้างระยำกับหญิงที่ท้องจนกระทั่งนางคลอดลูกเสียก่อน ไม่ว่าท้องของนางนั้นมาจากซีนาหรืออื่นจากซีนาก็ตาม สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ มติโดยเอกฉันท์ของบรรดานักปราชญ์ เพื่อไม่ให้เขาก่ออาชญากรรมด้วยการฆ่าเด็กในท้องของนาง และเช่นเดียวกันหากว่าโทษของนางนั้นคือการโบย และนางเป็นผู้หญิงที่ตั้งท้อง ดังนั้นเขาไม่ทำการโบยกับนางดังกล่าว โดยมติเอกฉันท์ของปวงปราชญจนกระทั่งต้องรอให้นางคลอดลูกเสียก่อน 

3. หุกุมของการทำแท้งลูกซินา

จากการพิจารณาถึงบรรดาคำพูดของนักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลามที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น ทำให้เราได้พบเห็นและรู้ว่า พวกเขาเหล่านั้นได้พูดถึงเรื่องการทำแท้งทั่วไป โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าทารกนั้น มาจากการซินาหรือมาจากการนิกะหฺที่ถูกต้องตามหลักชาเราะอฺ และบรรดาหนังสือตำรับตำราฟิกฮฺต่างๆ ก็ไม่ได้บอกอย่างชัดเจนถึงเรื่องการทำแท้งลูกซินา ยกเว้นคำพูดของท่านอีหม่ามรอมลีย์ (อูลามาอฺมัซฮับชาฟีอียะฮฺ) ที่กล่าวไว้ในหนังสือ นิหายาตุลมัวะตาจญฺ ของท่านซึ่งขนะที่ท่านอธิบายถึงตัวบทฮาดีษที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง เพียงแต่ท่านได้แบ่งแยกเอาไว้ระหว่างท้องที่มาจากนิกะหฺและท้องที่มาจากซินา แต่ท่านไม่ได้อธิบายถึงรายละเอียดเอาไว้ ซึ่งท่านกล่าวเอาไว้ว่า “หากว่าน้ำอสุจนั้นมาจากซินา ดังนั้นคาดคะเนได้ว่า อนุญาตในการทำแท้ง – ก่อนจะใส่วิญญาณให้ -” 

ดูได้จากหนังสือ นีฮายาตุลมัวะตาจญฺ เล่มที่ 8 หน้าที่ 442 

ดังนั้น ผู้ที่ทำการพิจารณาถึงคำพูดของอีหม่ามรอมลีย์ดังกล่าว ก็จะพบเห็นว่า ไม่ใช่ว่าท่านอนุญาตให้ทำแท้งโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น แต่เฉพาะก่อนจะใส่วิญญานให้เท่านั้น

ท่านเชคอัลอาดาวีย์ (อูลามาอฺมัซฮับมาลีกียะฮฺ) กล่าวว่า “ไม่อนุญาตให้แก่ผู้หญิงคนหนึ่งคนใด กระทำสิ่งที่ทำให้ทารกในท้องหลุดแท้งออกมา ถึงแม้นว่าทารกนั้นมาจากน้ำซินาสักทีก็ตาม”

ดูได้จากหนังสือ ฮาชียะฮฺ เชค อาลีย์ อัลอาดาวีย์ อาลา มุคตาซอดรฺคอลีล เล่มที่ 3 หน้าที่ 225

สำหรับปัญหาทำแท้งลูกซินานั้น มีการคีลัฟกันในกรณีที่ทารกในท้องนั้นไม่ถึง 120 วัน ดังเช่นทัศนะของอีหม่ามรอมลีย์และคนอื่นๆ ที่บอกว่า อนุญาตดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ทางที่ดีนั้นเพื่อให้ปล่อยจากการคีลัฟ เราต้องยึดถือปฏิบัติตามทัศนะที่ปลอดภัยกว่า คือฮารามทำแท้งทุกๆ กรณี ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจาก 120 วัน ไม่ว่าจะเป็นลูกซินาหรือลูกที่มาจากนิกาหฺก็ตาม เพราะการออกจากคีลัฟนั้นเป็นเรืองที่สุนัตและเป็นเรื่องที่ดี ดังหลักการ 

خروج من الخلاف مستحب

ความว่า : การออกจากการคีลัฟนั้นเป็นเรื่องที่สุนัต

แต่การคีลัฟนั้นมันก็มีเราะหฺมัตอยู่เช่นเดียวกัน เพียงแต่เราจะนำไปใช้ถูกต้องตามจุดประสงค์และเป้าหมายของชาเราะอฺหรือไม่เท่านั้นเอง หากว่าจะเราจะปฏิเสธไม่ยอมรับการคีลัฟดังกล่าวเลยก็ไม่ได้ เพราะบ้างครั้งมันก็จำเป็นที่จะต้องนำทัศนะการคีลัฟดังกล่าวมาใช้ปฏิบัติในบางกรณีที่มันมีผลประโยชน์ มากกว่าโทษภัยและอันตรายที่อยู่ในระดับ สงสัยและคลางแคล้งใจ ซึ่งไม่ใช่อยู่ในระดับที่มั่นใจ เพราะฉะนั้น จำเป็นเราต้องนำทัศนะที่คีลัฟนี้ไปใช้ให้ถูกต้องและสอดคล้องตามหลักชาเราะอฺ เพราะเรื่องดังกล่าวนี้มันเป็นเรื่องที่เปราะบางมาก หากเราจะเปิดโอกาสให้ทำแท้งเด็กซินาก่อนจะถึง120 วัน ได้โดยไม่มีเงื่อนไงใดๆ ทั้งสิ้น มันก็ยังไงๆ อยู่ หวังว่าท่านผู้อ่านทั้งหลายคงจะเข้าใจถึงจุดประสงค์ของคำพูดดังกล่าว

สรุปท้ายบท

ทั้งหมดทุกปัญหาที่กล่าวมานั้นท่านผู้อ่านทั้งหลายคงได้รับรู้และเข้าใจดีแล้ว ซึ่งเราได้บอกถึงหลายๆ มัซฮับด้วยกัน จุดประสงค์เพื่อให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายรับรู้และเข้าใจ เพื่อมิให้ใครมาหลอกหลอนและต้มตุ๋น และกล่าวหาว่าทัศนะที่พวกเรายึดถือกันอยู่นั้น (ชาฟีอียะฮฺ) มันผิด เหมือนดังกิริยาและนิสัยของพวกวาฮาบีย์ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นไม่สังกัดมัซฮับ แต่ไปยึดถือฉาบเฉียว (เหมือนดั่งนกเหยี่ยว) กับมัซฮับหนึ่งพร้อมกับโจมตีมัซฮับที่พวกเรายึดถือกันอยู่ (ชาฟีอียะฮฺ) นี่! ไม่ใช่ซีฟัตของพวกสะลัฟและพวกซอฮาบัต ที่พวกเขาอ้างกันนักกันหนาว่าต้องยึดถือตามแนวทางของสะลัฟซอและหฺ ดังนั้นในทางปฏิบัติจำเป็นเราต้องยึดถือไปตามแนวทางของมัซฮับขาฟีอีย์ โดยที่เราไม่ไปปฏิเสธและกล่าวหาว่า มัซฮับต่างๆ นั้นผิด เพราะทั้งสี่มัซฮับนั้น เป็นที่ยอมรับของบรรดานักปราชญ์ทั้วโลก และเป็นที่ยอมรับของท่านนบี (ซ.ล.) เพราะอีหม่ามทั้งสี่นั้นเป็นมุจญฺตฮิด ดังที่ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ قَالَ: قَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: إِذَا حَكَمَ الحَاكِمُ فَاجْتَهَدَ فَأَصَابَ، فَلَهُ أَجْرَانِ، وَإِذَا حَكَمَ فَأَخْطَأَ، فَلَهُ أَجْرٌ وَاحِدٌ رواه الترمذي

ความว่า : จากท่านอบีฮุรัยเราะฮฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า ท่านรอซูลลุลลอฮ (ซ.ล.) ทรงกล่าวว่า เมื่อใดที่ฮากิมต้องการตัดสินความ ดังนั้นเขาทำการอิจญฺติฮัดและถูกต้องตรงความเป็นจริง ดังนั้นเขาจะได้รับสองผลบุญ และเมื่อใดตัดสินไปแต่ผิดพลาด ดังนั้นเขาได้รับเพียงผลบุญเดียว รายงานโดย ติรมีซี

สุดท้ายนี้ เราขอขอบคุณต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ให้เตาฟีกและฮีดายะฮฺ ในการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอย่างลุล่วงและสำเร็จ แต่เราเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา คงไม่พ้นความผิดพลาด หากในหนังสือนี้มีข้อผิดพลาดประการใด เราขอน้อมรับข้อติติงทุกประการ เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลโดย:  ปอเนาะบ้านทุ่งป่าระไม

https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/21529

อัพเดทล่าสุด