อัลลอฮฺ (ซบ) ทรงเลือกสิบคืนสุดท้ายของรอมฎอนให้มีความประเสริฐ เเละมีรางวัลตอบเเทนมากมายกว่าวันเวลาอื่นๆ
คืนอัลก็อดรฺ คือ..ค่ำคืนที่ 27
10 วันสุดท้าย โค้งสุดท้ายรอมฎอน
อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงเลือกสิบคืนสุดท้ายของรอมฎอนให้มีความประเสริฐ เเละมีรางวัลตอบเเทนมากมายกว่าวันเวลาอื่นๆ
ท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้เอาใจใส่ในการปฏิบัติคุณงามความดีอย่างมากมายในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนมากกว่าวันอื่นๆ ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮา ได้รายงานว่า :
«كان رسول الله صلى الله عليه وسلم يجتهد في العشر الأواخر ما لا يجتهد في غيره» «رواه مسلم».
"ท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซ.บ.) จะเพียรพยายามเป็นอย่างมากในช่วงสิบวันสุดท้าย โดยที่ท่านไม่ได้ปฏิบัติเยี่ยงนี้ในวันอื่นๆ" (บันทึกโดยมุสลิม)
เเละนอกจากนี้ท่านนบี (ซ.ล.) ได้ทำให้ช่วงเวลากลางคืนมีชีวิตชีวา ด้วยการทำอิบาดะฮฺในรูปแบบต่างๆ เช่น ละหมาด ซิกรุลลอฮฺ อ่านอัล-กุรอาน ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮา ได้รายงานว่า :
«كان رسول الله صلى الله عليه وسلم إذا دخل العشر أحيا الليل وأيقظ أهله وجد وشد المئزر». متفق عليه.
"เมื่อถึงสิบคืนสุดท้าย ท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทำค่ำคืนให้มีชีวิตชีวา(ด้วยการทำอิบาดะฮฺ) และปลุกคนในครอบครัวของท่าน(ให้ตื่นขึ้นมาทำอิบาดะฮฺ) ท่านจะเอาจริงเอาจังและมัดผ้านุ่งของท่านให้กระชับ(เอาจริงเอาจังและปลีกตัวออกจากการร่วมหลับนอนกับภรรยา)"
(บันทึกโดยท่านอิหม่ามบุคอรีย์และอิหม่ามมุสลิม)
และท่านนบี (ซ.ล.)ได้กำชับคนในครอบครัวของท่านให้เพิ่มพูนการทำอิบาดะฮฺในช่วงสิบวันนี้ เเละในช่วงสิบวันนี้ท่านจะทำการเอี๊ยะติกาฟ(พำนักอยู่ในมัสยิด)ในทุกๆรอมฎอน จนกระทั่งท่านเสียชีวิต ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮา ได้รายงานว่า :
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم كَانَ يَعْتَكِفُ فِي الْعَشْرِ الأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ , حَتَّى تَوَفَّاهُ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ ، ثُمَّ اعْتَكَفَ أَزْوَاجُهُ بَعْدَهُ . (رواه البخاري و مسلم)
"ท่านนบี(ซ.ล.)จะทำการเอี๊ยะติกาฟในสิบวันสุดท้ายของรอมฎอน จนกระทั่งอัลลอฮฺ (ซ.บ.)ได้เก็บชีวิตของท่านไป และบรรดาภรรยาของท่านก็ได้ทำการเอี๊ยะติกาฟหลังจากท่านต่อมา"
(บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีย์เเละมุสลิม)
ลัยลาตุลก็อดรและความประเสริฐอันยิ่งใหญ่ในช่วงสิบวันสุดท้ายของรอมฎอน คือค่ำคืน "ลัยละตุลก็อดรฺ" ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดให้การประกอบการงานต่างๆในค่ำคืนนี้ มีค่ามากกว่าหนึ่งพันเดือน ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า :
لَيْلَةُ ٱلْقَدْرِ خَيْرٌ مِّنْ أَلْفِ شَهْرٍ
ความว่า : คืนอัล-ก็อดรฺนั้น ดีกว่าหนึ่งพันเดือน (อัล-ก็อดรฺ:3)
เเละสำหรับการยืนละหมาดในคืนอัล-ก็อดรฺนั้น มีภาคผลอันใหญ่หลวง ดังหะดีษที่ว่า :
«من قام ليلة القدر إيماناً واحتساباً غفر له ما تقدم من ذنبه». (متفق عليه) .
"ผู้ใดที่ยืนละหมาดในค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ อย่างมีศรัทธาเเละหวังผลบุญตอบเเทน บาปของเขาที่ผ่านมาจะได้รับการอภัยโทษให้"
(บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีย์เเละมุสลิม)
คืนอัล-ก็อดรฺนั้นจะอยู่ในช่วงสิบวันสุดท้ายของรอมฎอน ดังที่ท่านรอซูล (ซ.ล.)ได้กล่าวว่า :
«تحروا ليلة القدر في العشر الأواخر من رمضان». (متفق عليه).
"พวกท่านทั้งกลายจงเเสวงหาคืนอัล-ก็อดรฺในช่วงสิบคืนสุดท้ายของรอมฎอนเถิด"
(บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีย์และมุสลิม)
เเละท่านได้บอกว่าคืนอัล-ก็อดรฺจะอยู่ในคืนที่เป็นคี่ของสิบคืนสุดท้าย ดังหะดีษ :
«تحروا ليلة القدر في الوتر من العشر الأواخر من رمضان». (رواه البخاري).
"พวกท่านทั้งหลายจงเเสวงหาคืนอัล-ก็อดรฺในค่ำคืนที่เป็นคี่จากสิบค่ำคืนสุดท้ายของรอมฎอนเถิด"
(บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีย์)
เเละค่ำคืนที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็นคืนอัล-ก็อดรฺ คือค่ำคืนที่ 27 ดังหะดีษของท่านอุบัย บิน กะอฺบ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ :
والله إني لأعلم أي ليلة هي الليلة التي أمرنا رسول الله بقيامها هي ليلة سبع وعشرين". (رواه مسلم)
"ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เเท้จริงฉันรู้ว่าคืนใดที่ท่านรอซูลุลลอฮฺสั่งใช้เราให้ละหมาดในคืนนั้น มันคือค่ำคืนที่ 27"
(บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม)
เเละดังหะดีษของท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ที่ว่า :
«ليلة القدر ليلة سبع وعشرين». (رواه أحمد وأبو داود).
"คืนอัล-ก็อดรฺ คือค่ำคืนที่ 27"
(บันทึกโดยอิหม่ามอะหมัดเเละอบูดาวูด)
ทั้งนี้เเละทั้งนั้น บรรดานักวิชาการ อาทิ ท่านอัล-ฮาฟิซ อิบนุ หะญัร เเละท่านอิหม่ามอันนะวะวีย์ได้มีความเห็นว่าคืนอัล-ก็อดรฺไม่ได้ถูกเจาะจงด้วยค่ำคืนใดโดยเฉพาะในทุกๆปี เเต่ทว่ามันจะเคลื่อนย้ายไปทุกๆปี ฉะนั้น บางปีอาจจะอยู่ในค่ำคืนที่ 27 เเละบางปีอาจจะอยู่ในค่ำคืนที่ 25 ขึ้นอยู่กับพระประสงค์เเละฮิกมะฮฺของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)
เเละฮิกมะฮฺจากการปิดบังค่ำคืนดังกล่าวไม่ให้ปวงบ่าวล่วงรู้นั้น ก็เพื่อที่บ่าวของพระองค์จะได้เพิ่มพูนเเละเเข็งขันในการทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์ในวันเวลาดังกล่าวทั้งหมดเพื่อเเสวงค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ
และในคืนอัล-ก็อดรฺนั้น มีดุอาอฺที่ท่านนบี(ซ.ล.)ได้สอนให้ท่านหญิงอาอิชะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮา ได้ขอต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.)ดังหะดีษที่รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า :
عن عائشة - رضي الله عنها - قالت: قلت يا رسول الله: أرأيت إن علمت أي ليلة ليلة القدر ما أقول فيها؟ قال: قولي اللهم إنك عفو كريم تحب العفو فاعف عني. (رواه الترمذي)
จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮา ได้กล่าวว่า : ฉันได้กล่าว(กับท่านรอซูล)ว่า "โอ้ท่านรอซูลของอัลลอฮฺ ท่านจะว่าอย่างไร หากฉันรู้ว่าคืนไหนคือคืนอัล-ก็อดรฺ ฉันจะกล่าววิงวอนอย่างไร?"
ท่านรอซูล(ซ.ล.)ตอบว่า : "เธอจงกล่าวว่า :
اللهم إنك عفو تحب العفو فا عف عني
(อัลลอฮุมม้า อินนะก้า อะฟูวุน ตุฮิบบุนอัฟว้า ฟะอฺฟุอันนี)
ความว่า :โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงท่านเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงใจบุญ ท่านรักการอภัยโทษ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษ ให้แก่ฉัน"
(บันทึกโดยอัตติรมีซีย์)
โดยให้เพิ่มพูนการขอดุอาอฺบทนี้ ตลอดจนดุอาอฺอื่นๆในค่ำคืนดังกล่าว เเละให้เพิ่มพูนการทำอิบาดะฮฺอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการละหมาด การอ่านอัล-กุรอาน การรำลึกถึงอัลลอฮฺ ขอลุแก่โทษต่อพระองค์ เเละอื่นๆที่เป็นอิบาดะฮฺต่อพระองค์
สุดท้ายนี้ขอให้เราทุกคนได้เอาจริงเอาจังในการเเสวงหาความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.)ผ่านวันเวลาที่มีความประเสริฐนี้ เเละขอจากพระองค์ให้เราได้พบกับคืนอัล-ก็อดรฺ ที่การทำความดีในคืนนั้นมีค่ามากกว่าหนึ่งพันเดือนด้วยเถิด
ที่มา: อิสลามตามแบบฉบับ