กรณีชายหญิง จะแต่งงานกัน เมื่อสาวนางหนึ่งมีชายมาสู่ขอ ถ้าหญิงสาวมีความบกพร่องอยู่บ้าง สิ่งไหนที่ควรบอกให้เจ้าบ่าว(ว่าที่ เจ้าบ่าว)ได้รับรู้ ได้รับทราบ เพื่อการตัดสินใจในการแต่งงาน หรือว่าไม่จำเป็นต้องบอกอะไรเลยครับ
อิสลามกับการเปิดเผยส่วนที่เป็นปมด้อยแก่ผู้ที่มาสู่ขอ
กรณีชายหญิง จะแต่งงานกัน เมื่อสาวนางหนึ่งมีชายมาสู่ขอ ถ้าหญิงสาวมีความบกพร่องอยู่บ้าง สิ่งไหนที่ควรบอกให้เจ้าบ่าว(ว่าที่ เจ้าบ่าว)ได้รับรู้ ได้รับทราบ เพื่อการตัดสินใจในการแต่งงาน หรือว่าไม่จำเป็นต้องบอกอะไรเลยครับ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างนะครับ เช่น เจ้าสาวรู้ตัวเองดีว่า ไม่สามารถมีบุตรได้ อันนี้ จำเป็นต้องบอกมั้ยครับ หรือกรณีบกพร่องเล็กๆน้อยๆ เช่น หญิงสาวมีโรคประจำตัว หรือมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น ประจำเดือน หรือรอบเดือน มา 2 ครั้ง ในหนึ่งเดือน ซึ่งโดยปกติในรอบหนึ่งเดือนสตรี จะมีประจำเดือน 1 ครั้ง อย่างนี้เป็นต้น ผมเข้าใจว่าถ้าไม่บอกกล่าวตั้งแต่ต้น จะเป็นปัญหาในการขอหย่าเมื่อสามีรู้ความจริง นะครับ
ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ชีวิตคู่ เป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายตั้งใจจะอยู่กันอย่างถาวร เพราะฉะนั้น ความจริงใจของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับการบรรลุสู่เป้าหมายข้อนี้ ดังนั้น จึงสมควรสำหรับทั้งสองฝ่ายควรจะเปิดเผยความจริงของตน โดยเฉพาะในส่วนที่อาจจะเป็นปมด้อย ให้อีกฝ่ายได้รับทราบเสียก่อน จะได้ไม่เป็นการหลอกลวงหรือทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาทีหลัง และผู้ใดที่ถูกขอคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องการจะไปสู่ขอผู้หญิงในสิ่งที่ตนเองทราบความจริง ก็ควรบอกไปตามความเป็นจริงต่อผู้ปรึกษา ซึ่งจะไม่ถือว่าเป็นการนินทา ข้อนี้ ต่างกับหากเราวิ่งแจ้นไปเปิดเผยปมด้อยของเขาให้ญาติของอีกฝ่ายหนึ่งรับรู้ ทั้งๆที่เขายังไม่ทันมาขอคำปรึกษาใดๆกับเราเลย แบบนี้ เข้าข่ายการนินทาที่ต้องห้าม