การอ่านอัล-กุรอานที่สุสานนั้นนักวิชาการมีความเห็นต่างเป็น 3 ทัศนะ ว่า เป็นที่มักรูฮฺหรือไม่เป็นอะไรในการอ่านอัล-กุรอานขณะฝัง และการอ่านหลังจากฝังไปแล้วเป็นที่มักรูฮฺหรือไม่?
ในการเฝ้ากุโบร์ส่วนมากมักจะจ้างคนมาอ่านอัลกุอานให้อย่างนี้ใช้ได้หรือไม่?
ตอบโดย: อ.อาลี เสือสมิง
การอ่านอัล-กุรอานที่สุสานนั้นนักวิชาการมีความเห็นต่างเป็น 3 ทัศนะ ว่า เป็นที่มักรูฮฺหรือไม่เป็นอะไรในการอ่านอัล-กุรอานขณะฝัง และการอ่านหลังจากฝังไปแล้วเป็นที่มักรูฮฺหรือไม่?
-ถือว่าเป็นที่มักรูฮฺ เช่น อิมามอบูหะนีฟะฮฺ มาลิก และอะห์มัด ในริวายะฮฺหนึ่ง ฝ่ายนี้ให้เหตุผลว่า เป็นสิ่งที่อุตริขึ้นใหม่ ไม่มีสุนนะฮฺรายงานมา และการอ่านอัล-กุรอานคล้ายกับการละหมาด และการละหมาดที่สุสานเป็นสิ่งที่ถูกห้ามเอาไว้ การอ่านอัล-กุรอานก็เช่นกัน
-ไม่เป็นอะไร (ไม่มักรูฮฺ) เช่น อิมามมุฮัมมัด อิบนุ อัล-หะสัน และอะหฺมัดในอีกริวายะฮฺหนึ่ง ฝ่ายนี้อาศัยหลักฐานที่ถูกถ่ายทอดจากอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า : ท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ได้เคยสั่งเสียให้ถูกอ่านบนหลุมฝังศพของท่านขณะทำการฝังด้วยบรรดาอายะฮฺต้นของสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺและอายะฮฺช่วงท้ายของอัล-บะเกาะเราะฮฺ และถูกถ่ายทอดอีกเช่นกันจากมุฮาญิรีนบางท่านในการอ่านสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ
(ชัยคฺ อัล-อัลบานียฺ ระบุว่า ที่ถูกต้องคือ ชาวอันศ็อรบางคนตามที่อิบนุ อัล-ก็อยฺยิมระบุไว้ และการยืนยันในเรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณา ส่วนที่ถูกถ่ายทอดจากอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) นั้น ชัยคฺ อัล-อัลบานียฺ กล่าวว่า : สายรายงานไม่เศาะฮีหฺเพราะมีบุคคลที่นิรนามปรากฏอยู่ในสายรายงาน)
-ไม่เป็นอะไรในการอ่านอัล-กุรอานที่สุสานขณะเวลาทำการฝังเท่านั้น ส่วนหลังจากนั้น เช่นกรณีบุคคลที่มายังสุสานเป็นประจำเพื่ออ่านอัล-กุรอานที่นั่นถือเป็นสิ่งที่มักรูฮฺ เพราะไม่มีมาในสุนนะฮฺ
(สรุปจาก ชัรหุ อัล-อะกีดะฮฺ อัฏ-เฏาะหาวียะฮฺ ; อิบนุ อบิล อิซฺซ์ อัล-หะนะฟียฺ หน้า 458)
และอัล-ลามะฮฺ อิบนุ อบิลอิซฺซ์ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : “กรณีการอ่านอัล-กุรอานและอุทิศผลบุญการอ่านให้แก่ผู้เสียชีวิตโดยขันอาสาไม่ใช่ด้วยค่าจ้าง กรณีนี้ถือว่า ถึงผู้เสียชีวิต... ส่วนกรณีการจ้างคนกลุ่มหนึ่งให้มาอ่านอัล-กุรอานและอุทิศผลบุญแก่ผู้ตายสิ่งนี้ไม่มีผู้ใดจากชนยุคสะลัฟเคยกระทำ และอิมามท่านหนึ่งท่านใดของศาสนาก็ไม่ได้ใช้และไม่ได้อนุโลมในเรื่องนี้
....ส่วนกรณีเมื่อมอบให้แก่ผู้ที่อ่านอัล-กุรอาน สอน และเรียน อัล-กุรอานเพื่อเป็นการช่วยเหลือ...สิ่งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งจากประเภทของเศาะดะเกาะฮฺจากผู้ให้ (หรืออุทิศผลบุญนั้นแทนผู้ตาย) ก็เป็นเรื่องที่อนุญาต...” (อ้างแล้ว หน้า 457)
والله اعلم بالصواب
ที่มา: alisuasaming.org