อิสลามรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม อนุมัติหรือไม่?
อิสลามรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม อนุมัติหรือไม่?
เรื่องการรับบุตรบุญธรรม คือ ถ้าหากเราไม่สามรถมีบุตรได้ จึงรับบุตรบุญธรรม มาเลี้ยงดูจึงขอรบกวนถามอาจารย์เป็น ข้อๆ ดังนี้ครับ
1. อิสลามอนุญาติให้รับบุตรบุญธรรมได้ไหมครับ ถ้าหากเรารับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมได้
2. เราจะต้องมีหลักในการเลี้ยงดูอย่างไร
3. ในการที่เราอยู่ร่วมกันเราต้องมีวิธีปฏิบัติอย่างไร (ในเรื่อง เอาเราะห์)
ตอบโดย แอดมิน อ.อาลี เสือสมิง
1. การรับบุตรบุญธรรมเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ในศาสนาอิสลาม ซึ่งในสังคมอาหรับยุคญาฮิลียะฮฺ การนิยมในเรื่องนี้เป็นที่แพร่หลาย แม้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เองก็เคยรับท่านซัยดฺ อิบนุ หาริษะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นบุตรบุญธรรม จนผู้คนเรียกท่านซัยดฺว่า “ซัยดฺบุตรของมุฮัมมัด” แต่ต่อมาพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานอัล-กุรอานมาเพื่อยกเลิกจารีตดังกล่าวและถือเป็นที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด ว่า
وَمَا جَعَلَ أَدْعِيَاءَكُمْ أَبْنَاءَكُمْ ۚ ذَٰلِكُمْ قَوْلُكُم بِأَفْوَاهِكُمْ ۖ وَاللَّـهُ يَقُولُ الْحَقَّ وَهُوَ يَهْدِي السَّبِيلَ ﴿٤﴾ ادْعُوهُمْ لِآبَائِهِمْ هُوَ أَقْسَطُ عِندَ اللَّـهِ ۚ فَإِن لَّمْ تَعْلَمُوا آبَاءَهُمْ فَإِخْوَانُكُمْ فِي الدِّينِ وَمَوَالِيكُمْ
ความว่า : “และอัลลอฮฺมิได้ทรงทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นบุตรของพวกท่านเป็นบุตรของพวกท่านจริงๆ นั่นเป็นคำพูดตามปากของพวกท่าน และอัลลอฮฺทรงกล่าวความจริงและพระองค์ทรงชี้นำหนทาง พวกท่านจงเรียกขานพวกเขายังบรรดาบิดาที่แท้จริงของพวกเขาเถิด มันเป็นสิ่งชอบธรรมยิ่งนัก ณ อัลลอฮฺ ดังนั้นหากพวกท่านไม่รู้ถึงเหล่าบิดาของพวกเขา พวกเขาก็คือพี่น้องร่วมศาสนาและเป็นพวกพ้องของพวกท่าน” (สูเราะฮฺ อัล-อะหฺซาบ อายะฮฺที่ 4-5)
เหตุที่การรับบุตรบุญธรรมเป็นสิ่งต้องห้าม ก็เพราะเป็นการกล่าวอ้างบุคคลว่า เป็นเชื้อสายของตน ทั้งๆ ที่บุคคลผู้นั้นเป็นคนอื่น บุตรบุญธรรมไม่ใช่ลูกที่สืบเชื้อสาย พ่อแม่บุญธรรมก็มิใช่ผู้ให้กำเนิด การกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และจะมีผลในระยะยาวต่อเด็กเมื่อรับรู้ว่า ตนมิใช่ลูกที่แท้จริงของบุคคลที่ตนเรียกว่า พ่อ หรือ แม่ ดังนั้น เมื่ออายะฮฺดังกล่าวประทานลงมา การรับบุตรบุญธรรมจึงถูกยกเลิกโดยเด็ดขาด
และต่อมาอายะฮฺที่ 37 สูเราะฮฺ อัล-อะหฺซาบจึงถูกประทานลงมาเพื่อตอกย้ำในเรื่องนี้ กล่าวคือ ภายหลังท่าน ซัยดฺ อิบนุ หาริษะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งเคยเป็นลูกเลี้ยงหรือบุตรบุญธรรมของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ระหองระแหงกับท่านหญิงซัยนับ บินตุ ญะหฺชิน (ร.ฎ.) และท่านซัยดฺได้หย่าขาดจากนาง ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงได้อยู่กินกับพระนางฉันท์สามีภรรยา
ซึ่งถ้าหากถือตามจารีตของชาวอาหรับในเรื่องนี้ก็เท่ากับว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) รับเอาอดีตบุตรสะใภ้ของท่านมาเป็นภรรยา เพราะซัยดฺเป็นบุตรบุญธรรมของท่าน แต่ในข้อเท็จจริง ซัยดฺมิใช่บุตรอันเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของท่าน แต่ซัยดฺเป็นบุตรของหาริษะฮฺ จึงไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใดในการที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จะรับท่านหญิงซัยนับมาเป็นภรรยาเพราะซัยนับมิใช่ลูกสะใภ้ของท่านตามข้อเท็จจริง
การรับบุตรบุญธรรมที่อิสลามยกเลิกและถือเป็นสิ่งต้องห้ามก็ คือ การที่บุคคลรับเอาเด็กคนหนึ่งมาเป็นบุตรของตนทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าเด็กผู้นั้นเป็นลูกคนอื่น และอ้างว่าเด็กคนนั้นเป็นเชื้อสายและครอบครัวของตน มอบสิทธิของบุตรตามเชื้อสายทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้อยู่รวมกันได้ในฐานะลูกแท้ๆ , ห้ามแต่งงานและมีสิทธิในการรับมรดกเหมือนลูกแท้ๆ เป็นต้น นี่คือการรับบุตรบุญธรรมที่อิสลามห้าม
อย่างไรก็ตาม มีการอุปการะเลี้ยงดูอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมิใช่เป็นการรับบุตรบุญธรรม (ตะบันนียฺ) ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน คือการอุปการะเด็กกำพร้า หรือเด็กอนาถานำมาเลี้ยงดู ให้อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัยและการศึกษาอมรมโดยให้ความรักและปกครองเหมือนลูกทั้งนี้โดยไม่มีการอ้างว่าเด็กเป็นเชื้อสายหรือเป็นลูกของตนตลอดจนไม่มีการรับรองสิทธิเหมือนลูกโดยเชื้อสาย
ถ้าหากต้องการประกันอนาคตของเด็กด้วยการมีทรัพย์สิน ผู้อุปการะก็สามารถยกทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้แก่เด็กโดยสิเน่หา (ฮิบะฮฺ) หรือกระทำวะศียะฮฺ (พินัยกรรม) เอาไว้ให้เขามีสิทธิในอัตรา 1 ใน 3 ของทรัพย์สินมรดก และทั้งสองกรณีให้กระทำในขณะที่ผู้อุปการะยังมีชีวิตอยู่ (อัล-หะลาล วัล-หะรอม ; ดร.ยูซุฟ อัล-กอรฎอวียฺ หน้า 199-200)
2, 3 เป็นผลมาจากข้อที่ 1 ที่ตอบไปแล้วว่า การรับบุตรบุญธรรมเป็นสิ่งที่ศาสนาบัญญัติห้าม ส่วนการอุปการะเลี้ยงเด็กกำพร้าหรือเด็กอนาถานั้นสามารถกระทำได้ แต่ในการอยู่ร่วมกันและการคลุกคลีด้วยนั้นก็ให้ถือว่าเป็นคนอื่น ทั้งในเรื่องของเอาเราะฮฺ การอยู่สองต่อสอง เมื่อเด็กบรรลุ ศาสนภาวะแล้ว
ดังนั้น ทางออกที่เสนอให้ในเรื่องนี้คือ เมื่อไม่มีบุตรก็ให้รับเอาหลานแท้ๆ ซึ่งเป็นลูกของพี่สาวหรือน้องสาวหรือพี่ชายหรือน้องชายเอามาอุปการะเลี้ยงดู เด็กเมื่อบรรลุศาสนภาวะแล้วจะเป็นหญิงหรือชายเขาก็คือหลานแท้ๆ ของเราซึ่งเราแต่งงานด้วยไม่ได้ เพราะเป็นมะหฺร็อม
ปัญหาเรื่องการอยู่ร่วมกันก็จะไม่เหมือนกับกรณีของเด็กอื่นๆ เขาอาจจะเรียกว่าเราเป็นพ่อหรือแม่ก็ได้แต่นั่นเป็นเพียงคำเรียกที่ไม่ได้ทำให้เราเป็นพ่อหรือแม่ที่แท้จริงของเด็ก เพราะเด็กมิใช่ลูกแท้ๆ ของเรา แต่เป็นเพียงหลานแท้ๆ ซึ่งมีพ่อและแม่ของเขา ที่ดีที่สุดก็คือให้เขาเรียกเราว่า ลุง-ป้า หรือ อา นั่นดีที่สุดเพราะไม่ทำให้เด็กสับสน ทางออกนี้น่าจะดีที่สุด
والله اعلم بالصواب