สำหรับบรรดาผู้ละหมาดที่ไม่มีเสื้อผ้าใส่และอยู่ในท่ามกลางความมืดไม่มีผู้ใดเห็นพวกเขานั้น ให้พวกเขายืนละหมาดโดยให้อิมามนำละหมาดอยู่แถวหน้า
วิธีละหมาดของผู้ที่ไม่มีเสื้อผ้าใส่ เงื่อนไขของการละหมาด
สำหรับบรรดาผู้ละหมาดที่ไม่มีเสื้อผ้าใส่และอยู่ในท่ามกลางความมืดไม่มีผู้ใดเห็นพวกเขานั้น ให้พวกเขายืนละหมาดโดยให้อิมามนำละหมาดอยู่แถวหน้า แต่หากมีแสงและอยู่ในท่ามกลางผู้คน ให้พวกเขานั่งละหมาดโดยให้อิมามนั่งในแถวตรงกลาง ซึ่งหากพวกเขามีทั้งหญิงชายรวมกันให้พวกละหมาดชายต่างหากและหญิงต่างหาก
การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติหนึ่งบทบัญญัติใดนั้นไม่ใช่สิ่งที่อนุโลมได้เพราะความไม่รู้หรือหลงลืม ดังนั้น ผู้ที่ละหมาดโดยไม่มีวุฎูอ์เพราะความไม่รู้หรือลืมนั้นจะไม่มีบาป แต่วาญิบจะต้องอาบน้ำวุฎูอ์และละหมาดใหม่เมื่อรู้หรือรู้สึกตัว เป็นต้น
ผิดกับการกระทำในสิ่งที่ต้องห้ามซึ่งเป็นสิ่งที่อนุโลมได้เพราะความไม่รู้หรือหลงลืม ดังนั้นผู้ที่ละหมาดโดยใส่เสื้อผ้าที่นะญิส เพราะความไม่รู้หรือหลงลืมนั้นละหมาดของเขาใช้ได้และไม่ต้องละหมาดใหม่
มาดูเงื่อนไขของการละหมาดต่างๆ
มีการวางเงื่อนไขในการละหมาดดังต่อไปนี้
1. ผู้ละหมาดต้องเป็นมุสลิมที่สะอาดปราศจากหะดัษเล็ก และหะดัษใหญ่
2. ร่างกาย เครื่องแต่งกายและสถานที่ละหมาดต้องสะอาดปราศจากนะญิสทั้งหลาย
3. ต้องเข้าเวลาละหมาดแล้ว
4. ต้องส่วมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด
5. ต้องหันหน้าไปทางกิบละฮฺ
6. ต้องตั้งเจตนา(เนียต)โดยการตั้งเจตนาในใจว่าจะละหมาดเวลาใด ก่อนตักบีเราะตุลอิหฺรอม โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวออกมาด้วยลิ้น
เครื่องแต่งกายในการละหมาด
สุนัตสำหรับมุสลิมที่จะละหมาดให้ละหมาดด้วยเครื่องแต่งการที่ดูดี สะอาด เพราะอัลลอฮฺนั้นคือผู้ที่สมควรที่สุดที่จะต้องเข้าหาพระองค์ในสภาพที่ดูดีและสะอาด สำหรับผ้าที่ใช้ใส่ ปลายผ้าข้างล่างให้ยาวอยู่ในช่วงกลางระหว่างแข้งกับข้อพับ หรือไม่ก็ให้เหนือตาตุ่ม แต่อย่าให้พ้นตาตุ่มลงมา เพราะเป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม)ในการที่จะส่วมใส่เสื้อผ้าหรืออื่นๆ ด้วยการปล่อยให้ยาวพ้นตาตุ่มลงมา(อิสบาล)ทั้งในละหมาดและนอกละหมาด
ขอบเขตเอาเราะฮฺของผู้ชายและผู้หญิง
(เอาเราะฮฺ)ของผู้ชายนั้นอยู่ในระหว่างสะดือและหัวเข่า ส่วนของผู้หญิงนั้นทั่วทั้งร่างเป็น(เอาเราะฮฺ)นอกจากใบหน้า สองฝ่ามือ และสองเท้า แต่หากอยู่ร่วมกับชายอื่นที่ไม่ใช่มะหฺรอมต้องปิดให้ทั่วทั้งร่างกาย
วิธีการชดละหมาดสำหรับผู้เดินทางที่ไม่ทันตื่นละหมาดอัลฟัจญรฺ
สำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในการเดินทาง ด้วยความเหนื่อยทำให้นอนหลับสนิท ไม่ตื่นขึ้นมาละหมาดนอกจากหลังจากดวงอาทิตย์ขึ้นมาแล้ว สุนนะฮฺให้พวกเขารีบลุกจากที่นอน แล้วไปอาบน้ำละหมาด แล้วให้คนหนึ่งคนใดอะซาน แล้วละหมาดสุนัตสองเราะกะอะฮฺ แล้วอิกอมะฮฺ แล้วละหมาดอัลฟัจญ์รฺ
หุก่มการเปลี่ยนเจตนาในระหว่างละหมาดอยู่
1. ในแต่ละการกระทำที่เป็นอิบาดะฮฺนั้นจำเป็นต้องมีเจตนาเจาะจงไว้ และไม่สามารถอนุญาตให้เปลี่ยนเจตนาไปมาจากการอิบาดะฮฺหนึ่งสู่อิบาดะฮฺหนึ่งได้ เช่นเปลี่ยนจากการละหมาดอัศรฺเป็นการละหมาดซุฮรฺ และไม่อนุญาตเช่นกันที่จะเปลี่ยนจากอิบาดะฮฺที่ไม่เจาะจงไปเป็นอิบาดะฮฺที่เจาะจง เช่นเปลี่ยนจากการละหมาดสุนัตเป็นการละหมาดฟัจญ์รฺ แต่อนุญาตให้เปลี่ยนจากอิบาดะฮฺที่เจาะจงไปเป็นอิบาดะฮฺที่ไม่เจาะจง เช่นผู้ที่กำลังละหมาดใดละหมาดหนึ่งของละหมาดห้าเวลาอยู่คนเดียว หลังจากนั้นเขาเปลี่ยนละหมาดเป็นละหมาดสุนัต เพราะจะไปเข้าละหมาดพร้อมญะมาอะฮฺเป็นต้น
2. อนุญาตให้ผู้ละหมาดเปลี่ยนเจตนาของเขาในขณะที่ละหมาดอยู่ จากการเป็นมะอ์มูม หรือว่าจากการละหมาดคนเดียวไปเป็นการละหมาดญะมาอะฮฺ หรือเปลี่ยนจากการเป็นมะอ์มูมไปเป็นการละหมาดคนเดียว หรือ จากการละหมาดวาญิบไปเป็นละหมาดสุนัต แต่ไม่อนุญาตในทางกลับกัน
3. หากผู้ละหมาดยกเลิกเจตนาของเขาในขณะที่ละหมาดอยู่ ถือว่าการละหมาดของเขาเป็นโมฆะ จะต้องเริ่มละหมาดใหม่จากจุดแรก
ให้ผู้ละหมาดหันหน้าหรือกายตัวเองสู่สิ่งที่มีเกียรติยิ่งใหญ่ตามที่อัลลอฮฺกำหนด นั่นคือ หันไปทางอัล-กะอฺบะฮฺ ส่วนจิตใจนั้นให้มุ่งสู่อัลลอฮฺ
ลักษณะการแต่งกายในละหมาด
มุสลิมผู้ละหมาดจะแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ตนเองชอบ โดยไม่มีข้อห้ามใดๆ จากการแต่งกาย นอกจากด้วยสาเหตุที่มีข้อห้ามในตัวของเครื่องแต่งกายเอง เช่น ห้ามสวมใส่ผ้าไหมสำหรับผู้ชาย หรือห้ามสวมใส่เสื้อผ้าที่มีรูปภาพของสิ่งที่มีชีวิตทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรือด้วยสาเหตุที่มีข้อห้ามในลักษณะของเครื่องแต่งกาย เช่น การละหมาดของชายคนหนึ่งด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าของผู้หญิง หรือการสวมใส่เสื้อผ้าที่ต่ำกว่าตาตุ่ม(อิสบาล)หรือด้วยสาเหตุที่มีข้อห้ามในการได้มาของเครื่องแต่งกาย เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่ปล้นหรือขโมยมาเป็นต้น
สถานที่ละหมาด
1. พื้นแผ่นดินทุกแห่งนั้น อนุญาตให้ทำเป็นสถานที่ละหมาดได้นอกจาก ห้องน้ำ ที่เผาขยะ สถานที่มีสิ่งปฎิกูล(นะญิส) คอกอูฐ และในสุสาน เว้นแต่จะละหมาดญะนาซะฮฺ ก็อนุญาตให้ละหมาดในสุสานได้
2. สุนนะฮฺให้ผู้ละหมาดทำการละหมาดบนพื้นดิน และอนุญาตให้ละหมาดบนผ้าปู ผ้ารอง หรือเสื่อได้
3. อนุญาตให้ละหมาดบนถนนได้หากมีความจำเป็น เช่น เนื่องจากความคับแคบของมัสญิด ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความต่อเนื่องของแถวละหมาดด้วย
4. ที่ดีที่สุดสำหรับบุคคลคนหนึ่งนั้นให้เขาละหมาดในมัสญิดที่ใกล้บ้านของเขาโดยไม่จำเป็นต้องกระจายให้ทั่วทุกๆ มัสญิดนอกจากด้วยเหตุผลที่อนุญาตโดยศาสนา
เมื่อคนบ้าหายจากอาการบ้า คนกาฟิรฺเข้ารับอิสลาม หรือคนที่หมดประจำเดือน หลังจากเข้าเวลาละหมาดหนึ่งละหมาดใดแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องละหมาดในเวลานั้นๆ
วิธีการละหมาดสำหรับคนที่ไม่รู้ทิศทางกิบละฮฺ
วาญิบสำหรับมุสลิมให้ละหมาดโดยหันหน้าไปทางกิบละฮฺ แต่หากเขาไม่รู้ว่ากิบละฮฺอยู่ทางไหนและไม่มีคนที่จะให้ถามเขาจะต้องใช้วิจารณญานตัดสินใจเองว่าทางไหน แล้วละหมาดหันไปทางที่เขามั่นใจว่าเป็นกิบละฮฺโดยที่เขาไม่จำเป็นต้องละหมาดใหม่หากรู้ทีหลังว่าทางที่เขาหันไปนั้นไม่ใช่กิบละฮฺ
ผู้ที่ขาดสติจะชดใช้ละหมาดอย่างไร
สำหรับผู้ที่ขาดสติอันเนื่องจากการนอนหลับ หรือเมา เขาจำเป็นจะต้องชดละหมาดเมื่อมีสติเช่นเดียวกันกับผู้ที่ขาดสติอันเป็นผลมาจากการกระทำที่อนุญาต เช่น กินพืชหรือกินยา เขาจำเป็นจะต้องชดละหมาด แต่หากเขาขาดสติโดยเหตุสุดวิสัย เช่น เป็นลมหมดสติไป เขาไม่จำเป็นต้องชดละหมาด
วิธีการชดละหมาดต่างๆ
มีละหมาดบางประเภทซึ่งเมื่อมีเหตุสุดวิสัยไม่ทันละหมาดในเวลาที่กำหนดก็จำเป็นต้องชดเมื่อเหตุสุดวิสัยเหล่านั้นหมดไป เช่นการละหมาดห้าเวลา และมีละหมาดอีกบางประเภทซึ่งไม่จำเป็นต้องชดเมื่อไม่ทันละหมาดในเวลาที่กำหนด เช่นการละหมาดญุมุอะฮฺ เมื่อไม่ทันก็ให้เปลี่ยนไปละหมาดซุฮรฺแทน และมีละหมาดอีกบางประเภทซึ่งไม่จำเป็นต้องชดเมื่อไม่ทันละหมาดนอกจากในเวลาของมัน เช่น การละหมาดอีด
วาญิบต้องชดละหมาดที่ขาดไปในทันทีและชดตามลำดับ แต่หากลืม ไม่รู้ หรือกลัวว่าเวลาของการละหมาดปัจจุบันจะหมดไป หรือกลัวว่าจะไม่ทันละหมาดญุมุอะฮฺ ก็ไม่จำเป็นคำนึงถึงการเรียงลำดับอีก
ผู้ใดที่กำลังละหมาดฟัรฎูหนึ่งอยู่ แล้วนึกขึ้นได้ว่าตังเองยังไม่ได้ละหมาดฟัรฎูก่อนหน้านั้น ให้เขาละหมาดต่อไปให้เสร็จ แล้วจึงชดละหมาดที่ยังไม่ได้ละหมาดหลังจากนั้น เช่นผู้ที่ไม่ได้ละหมาดอัศรฺ เมื่อเขาไปที่มัสญิดปรากฏว่ามีการอิกอมะฮฺละหมาดอัลมัฆริบแล้ว ให้เขาละหมาดอัลมัฆริบพร้อมอิมามก่อน แล้วจึงละหมาดอัศรฺต่อไป
หุก่มสำหรับผู้ที่เผลอหลับโดยไม่ทันละหมาด หรือลืมละหมาด
ผู้ใดที่เผลอหลับหรือลืมละหมาดให้เขาละหมาดชดเมื่อนึกขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า
«مَنْ نَسِيَ صَلاةً، أَوْ نَامَ عَنْـهَا، فَكَفَّارَتُـهَا أَنْ يُصَلِّيَـهَا إذَا ذَكَرَهَا»
ความว่า “ผู้ใดที่ลืมละหมาดหรือเผลอหลับไปจนเลยเวลาละหมาดให้เขาละหมาดชดเมื่อนึกขึ้นได้” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 597 และมุสลิม เลขที่: 684 สำนวนนี้เป็นของมุสลิม)
ที่มา : www.islamhouse.com
แปลโดย : ดานียา เจะสนิ