นอกจากอากาศและอาหารเพื่อความอยู่รอดบนโลกใบนี้แล้ว มนุษย์ยังต้องการ...
ฮาลาลและฮารอมมีในทุกศาสนา
โดย อาจารย์บรรจง บินกาซัน
นอกจากอากาศและอาหารเพื่อความอยู่รอดบนโลกใบนี้แล้ว มนุษย์ยังต้องการศาสนาเพื่อความอยู่รอดในโลกหน้าด้วย เพราะความตายมิใช่จุดสุดท้ายของชีวิต ความตายเป็นแค่เพียงประตูที่เปิดให้วิญญาณซึ่งเป็นชีวิตที่แท้จริงก้าวข้ามออกไปสู่โลกหลังความตาย ไม่ต่างอะไรไปจากมนุษย์คลอดออกมาจากโลกแห่งครรภ์มารดามาสู่โลกนี้
จะต่างกันก็ตรงที่โลกนี้เป็นโลกชั่วคราวที่ความสั้นยาวของชีวิตมนุษย์แต่ละคนไม่เท่ากัน แต่โลกหลังความตายเป็นโลกนิรันดร อนาคตของวิญญาณซึ่งเป็นชีวิตที่แท้จริงหลังความตายจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตของมนุษย์บนโลกใบนี้
ด้วยเหตุที่มนุษย์ไม่ได้สร้างตัวเองทั้งร่างกายและวิญญาณ มนุษย์จึงไม่รู้จักวิธีการใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง ดังนั้น พระเจ้าผู้สร้างมนุษย์จึงประทานศาสนามาเพื่อเป็นคู่มือการใช้ชีวิตสำหรับมนุษย์ และในคู่มือนี้จะบอกมนุษย์ให้รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งต้องห้ามที่มนุษย์ควรละเว้นและอะไรเป็นสิ่งอนุมัติให้มนุษย์ทำ เพื่อที่มนุษย์จะได้รับความสุขความเจริญในโลกโลกนี้และได้รับความรอดพ้นในโลกหน้า
แต่ในฐานะที่มนุษย์มีสติปัญญาและมีเสรีภาพในการเลือกปฏิบัติ มนุษย์จึงต่างจากสัตว์ตรงที่มนุษย์ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองกระทำ
จึงไม่แปลกอะไรที่ทุกศาสนาจึงมีข้อห้ามบางอย่างในการใช้ชีวิตของมนุษย์แม้กระทั่งเรื่องกิน สุราเป็นสิ่งต้องห้ามในทุกศาสนาเพราะศาสนามีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองสติปัญญาของมนุษย์ นอกจากนี้ เนื้อของสัตว์บางชนิดยังเป็นที่ต้องห้ามในศาสนาคริสต์และอิสลาม เช่น เนื้อหมู ในศาสนาพุทธ พระพุทธองค์ห้ามภิกษุฉันเนื้อหมา เนื้อหมี เนื้อเสือ ซึ่งตรงกับข้อห้ามของอิสลามที่ใช้คำกว้างๆว่าเนื้อของสัตว์ที่ใช้เขี้ยวและกรงเล็บล่าเหยื่อ สิ่งต้องห้ามเหล่านี้ในอิสลามเรียกว่าฮารอม และสิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องห้ามเรียกว่าฮาลาล
แม้จะมีความละม้ายคล้ายคลึงกันในเรื่องสิ่งต้องห้าม แต่ก็มีความต่างกันตรงที่ในอิสลามไม่มีระบบนักบวชหรือพระ ดังนั้น ข้อห้ามจึงใช้กับมุสลิมทุกคน ทุกเพศและทุกวัย
หากศึกษาอย่างใจเป็นกลาง เราจะพบว่าในบรรดาอาหารมากมายหลายอย่างนั้น มีเพียงไม่กี่อย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม และที่ห้ามก็เพราะสิ่งต้องห้ามเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็น ไม่กินก็ไม่ตาย กินไปก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่กลับจะเกิดโทษเสียด้วยซ้ำ
ในสมัยก่อน สิ่งต้องห้ามเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตา เช่น เนื้อหมู ถ้ามุสลิมรู้หรือเห็นก็จะไม่กิน ที่ไม่กินก็เพราะมีคำสั่งจากคัมภีร์กุรอานว่า “โอ้มนุษย์เอ๋ย จงบริโภคสิ่งฮาลาลที่ดีๆในแผ่นดิน” แต่เมื่อโลกเจริญก้าวหน้า วิทยาศาสตร์สามารถนำสิ่งต้องห้ามมาทำเป็นส่วนประกอบอาหารโดยที่ตามองไม่เห็น เช่น เยลละติน หรือผงวุ้นเทียมที่ทำมาจากไขมันหมู ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถรู้ได้และเยลละตินถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหารหลายอย่าง เช่น ไอศกรีม เยลลี่ ลูกกวาด ขนมเค้ก เป็นต้น
นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมโลกมุสลิมจึงต้องมีสถาบันวิทยาศาสตร์ฮาลาลไว้ตรวจสอบและรับรองว่าอาหารที่ผลิตออกมาเป็นที่ฮาลาล(ได้รับการอนุมัติ)หรือไม่ เพราะสำหรับมุสลิมแล้ว อาหารฮาลาลเป็นสิ่งจำเป็นทางด้านวิญญาณด้วย เนื่องจากมีคำสอนว่า “เนื้อที่เติบโตมาจากสิ่งต้องห้ามนั้นจะไม่ได้เข้าสวรรค์”
ปัจจุบัน ประชากรมุสลิมมีประมาณ 1,600 ล้านคนกระจายกันอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลกและประเทศมุสลิมที่มีอำนาจซื้อมากที่สุด คือ กลุ่มประเทศอาหรับและกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่แยกตัวมาจากสหภาพโซเวียต มุสลิมในประเทศเหล่านี้มีความตื่นตัวในเรื่องอาหารฮาลาลเป็นอย่างมาก ตลาดอาหารฮาลาลจึงมีขนาดใหญ่ แม้แต่เกาหลีและญี่ปุ่นยังแข่งกันในเรื่องการนำเสนออาหารฮาลาลเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการกินให้แก่มุสลิมที่ไปท่องเที่ยวในประเทศของตน
หลักการฮาลาลเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมทางศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของอิสลามเท่านั้น แต่อิสลามเป็นวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการกินการอยู่และการใช้ชีวิตของมนุษย์ในทุกๆด้าน แม้แต่เรื่องการกินและหลักการฮาลาลเป็นประโยชน์สำหรับทุกประเทศที่คิดจะเป็นครัวของโลก