กียามุลลัยลฺ คือ การละหมาดสุนัตอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ช่วงเวลาระหว่างเสร็จสิ้นการละหมาดอีชาอฺจนกระทั้งถึงละหมาดซุบฮฺ
วิธีละหมาดสุนัตกียามุลลัย การเนียต ละหมาดกียามุลลัย
กียามุลลัยลฺ คือ การละหมาดสุนัตอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ช่วงเวลาระหว่างเสร็จสิ้นการละหมาดอีชาอฺจนกระทั้งถึงละหมาดซุบฮฺ ส่วนละหมาดตะฮัจญุด คือการละหมาดสุนัตหลังจากที่นอนแล้วซึ่งก็ถือเป็นการละหมาดกียามุลลัยลฺด้วย
กียามุลลัยลฺ เป็นกระบวนการซึ่งท่านรอซูล (ซล.) ได้ทำเป็นแบบอย่างเพื่อหล่อหลอมและขัดเกลา จิตวิญญาณแห่งอัลอิสลาม ที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจในการสถาปนาระบอบชีวิตอิสลามบนหน้าแผ่นดิน (ผู้ที่ทำงานเพื่ออิสลามทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกหรือญามาอะฮฺ) รวมถึงผู้ที่แสวงหาความโปรดปรานและรางวัลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่จากพระผู้อภิบาล ดังที่ท่านรอซูล (ซล.) ได้ใช้ในการหล่อหลอมและขัดเกลาจิตใจของกลุ่มชนที่ถือได้ว่าดำเนินชีวิตไปด้วยความชั่วร้ายต่างๆ นานา ในหลายเผ่าพันธุ์ (สมัยญาฮีลียะฮฺ) มากลายเป็นผู้คนที่รวมกันเป็นหนึ่งในด้านการแสวงหาความโปรดปรานแห่งอัลลอฮฺ ซึ่งได้กลายเป็นกลุ่มคนที่ดีเลิศที่สุดในอุมมะฮฺอิสลาม ดังที่ท่านรอซูล (ซล.) ได้กล่าวไว้ว่า
“มนุษย์ที่ดีเลิศนั้นคือ กลุ่มชนที่อยู่ในยุคสมัยของฉัน หลังจากนั้น คือกลุ่มชนที่ตามชนเหล่านั้น และกลุ่มชนที่ตามชนเหล่านั้น” เศาะเฮียะฮฺ บุคอรี (938/2)
อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ประทานกียามุลลัยลฺในขณะที่ท่านรอซูล (ซล.) มีจิตใจที่ห่อเหียว ด้วยเหตุที่ถูกยัดเยียดข้อหา ถูกทำร้ายและถูกขมเหงโดยศัตรูของอิสลามในขณะเริ่มเผยแผ่อิสลาม และอยู่ช่วงของความหวาดกลัวกับการถูกประทานโองการแรกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นครั้งแรก อัลลอฮฺได้กล่าวแก่ท่านรอซูล ซล.ไว้ว่า
“โอ้ผู้ห่มผ้าเอ๋ย (หมายถึงท่านนบี ซึ่งกำลังห่มผ้าอยู่) ท่านจงตืนขึ้นในตอนกลางคืน (เพื่ออีบาดะฮฺเถิด) ยกเว้นเวลาเพียงเล็กน้อย (ในการพักผ่อน) กล่าวคือ ครึ่งคืนหรือน้อยกว่านั้นอีกเล็กน้อย หรือเพิ่มมากกว่านั้นอีก แล้วท่านจงอ่านให้ถูกต้องชัดเจน แท้จริงต่อไปนี้เราจะดลมายังท่านซึ่งถ้อยคำที่มีน้ำหนัก (คืออัลกุรอาน) แท้จริงในการทำอีบาดะฮฺในช่วงกลางคืนเป็นการทำให้หนักแน่นยิ่งขึ้นและทำให้เที่ยงตรงในการอ่าน (มีสมาธิที่ดีในการอ่าน)” ซูเราะฮฺ อัลมุซซัมมิล 1 – 6
นี้เป็นบัญญัติแรกของอัลลอฮฺที่มีต่อท่านรอซูล (ซล.) ในการใช้ให้มีการละหมาดในตอนกลางคืน เพื่อเป็นยาให้กับท่านรอซูล ซล.ในการรักษาจิตใจที่กำลังห่อเหียว ซึ่งช่วงแรกของการเผยแผ่ถือว่าเป็นสิ่งที่วาญิบสำหรับรอซูลและเศาะฮาบะฮฺ แต่ต่อมาได้ถูกยกเลิกเปลี่ยนเป็นกิจอาสา (ตะเฎาวุอฺ) ดังในอายะฮฺสุดท้ายของซูเราะฮฺ อัลมุซซัมมิล แต่ถึงกระนั้นท่านรอซูล (ซล.) และบรรดาเศาะฮาบะฮฺก็ได้ถือปฏิบัติมาตลอดเรื่อยมาอย่างสม่ำเสมอ
ไม่เพียงแต่เท่านั้นอัลลออฮฺได้กำชับและบอกถึงความสำคัญของกียามุลลัยลฺในอีกหลายอายะฮฺด้วยกัน เช่น ซูเราะฮฺอัชชานียาต อายะฮฺที่ 15 – 18, อัลอิสรออฺ อายาะฮฺที่ 79, อัซซุมัร อายะฮฺที่ 9 เป็นต้น
ในความสำคัญของกียามุลลัยลฺนั้น ในฮาดิษของท่านรอซูล (ซล.) ก็ได้รายงานด้วยเช่นกัน ดังเช่น
“อบูฮุรอยเราะฮฺ (รฎ) ได้รายงานว่า ท่านรอซูล (ซล.) กล่าวว่าการถือศิลอดที่ดีที่สุดถัดจากเดือนรอมฎอนคือ การถือศิลอดในเดือนของอัลลอฮฺ – อัลมุหัรรอม และการละหมาดที่ประเสริจที่สุดรองจากละหมาดฟัรดูคือ ละหมาดสุนัตกลางคืน” เศาะเฮียะฮฺ มุสลิม 821/2
“จากอบูอามามะฮฺ อัลบาฮีลี (รฎ) เล่าว่า) ท่านรอซูล (ซล.)กล่าวว่า พวกท่านทั้งหลายจงทำละหมาดกียามุลลัยลฺเถิด เพราะถือเป็นแบบฉบับของผู้ที่มีคุณธรรมทั้งหลายก่อนหน้าพวกท่าน จะทำให้พวกท่านใกล้ชิดกับผู้อภิบาลของพวกท่าน ลบล้างความผิดบาปต่างๆ อีกทั้งหักห้ามจากการทำบาปทั้งมวล” เศาะเฮียะฮฺ อัลฮากิม
“พวกท่านจงละหมาดสุนัตในเวลากลางคืน แม้จะเพียงรอกะอะฮฺเดียว” (มุคตะศอร กีลามุลลัยลฺของอีหม่ามมัรวะซี 55)
กียามุลลัยลฺยังสามารถเป็นกุญแจสู่ส่วนสวรรค์ดังที่ท่านรอซูล (ซล.) ได้กล่าวไว้ว่า
“จากอับดุลลอฮฺ อิบนุ สลาม (รฎ) เล่าว่าท่านรอซูล (ซล.) กล่าวว่าโอ้มนุษย์ทั้งหลายจงให้สลามกันในระหว่างพวกท่าน จงให้อาหารแก่ผู้ยากไร้ จงติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติ และจงละหมาดสุนัตในเวลากลางคืน ขณะที่ผู้คนทั้งหลายหลับนอนกัน แล้วพวกท่านจะได้เข้าสวรรค์โดยสันติสุข” เศาะเฮียะฮฺติรมีซี
ในหลักฐานทั้งหมดที่ยกมาเกี่ยวกับความสำคัญกียามุลลัยลฺนั้นแค่นี้ก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับมุอฺมิน / มุอฺมีนะอฺที่มีความศรัทธาในการที่จะเจริญรอยตามบรรดามุตตากีน (ผู้ยำเกรง) หรือชาวสลัฟ (ชนยุคแรก) เพื่อแสวงหาความโปรดปรานและผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ (ซบ.) แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีความศรัทธา หรือศรัทธาอย่างไม่แรงกล้าแล้ว เขาจะไม่ให้ความสำคัญกับสุนนะฮฺเหล่านี้ ซึ่งกลุ่มคนหลังนี้เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง (ขออัลลอฮฺโปรดให้เราหลีกห่างจากชนเหล่านั้นด้วย) ดังคำกล่าวของท่านรอซูล (ซล.) ที่ว่า
“เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบ่าวของอัลลอฮฺ หากได้ละหมาดสุนัตในเวลากลางคืน ดังนั้น บ่าวของอัลลอฮฺจะไม่นอนในเวลากลางคืนเว้นแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น” (เศาะเฮียะฮฺ บุคอรี 42/2)
และอิบนุ อับบาส (รฎ) กล่าวว่า “ผู้ที่มีความยำเกรงนั้น จะไม่ยอมให้ค่ำคืนผ่านไปเว้นแต่พวกเขาจะทำการละหมาดสุนัตแม้จะน้อยก็ตาม”
และด้วยความรักของท่านรอซูล (ซล.) ที่มีต่อคนในครอบครัวของท่าน และต้องการชี้ว่าการละหมาดกียามุลลัยลฺนั้นสำคัญเพียงใด ดังที่ท่านหญิงอาอีชะฮฺ (รฎ) ได้กล่าวว่า “ท่านรอซูลเคยปลุกเธอเมื่อถึงเวลาละหมาดวิติร” (เศาะเฮียะฮฺ มุสลิม 511/1) และท่านอลีได้กล่าวไว้ว่า “ท่านรอซูลเคยมาปลุกเขาและฟาตีมะฮฺ แล้วท่านก็ถามว่าทำไมทั้งทั้งสองไม่ละหมาดสุนัตกลางคืน” (เศาะเฮียะฮฺ มุสลิม / บุคอรี)
นี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกียามุลลัยลฺ มาตรแม้นว่าความประเสริฐของละหมาดสุนัตกลางคืนไม่ยิ่งใหญ่แล้ว ท่านรอซูล (ซล.) คงไม่ปลุกลูกท่านในเวลาที่อัลลอฮฺทรงให้เป็นเวลาพักผ่อนของบ่าวเป็นแน่แท้
และนี่ถือเป็นการส่งเสริมและเป็นคุณค่าความสำคัญของกียามุลลัยลฺ อีกทั้งเป็นสิ่งที่น่าตำหนิสำหรับบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่แต่ไม่กระทำในสิ่งที่ท่านรอซูลได้กำชับไว้
ซุบฮานัลลอฮฺ (อัลลอฮฺทรงบริสุทธิ์ยิ่ง) พี่น้องที่รักเราจะเป็นผู้ศรัทธาได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่ได้ทำตัวอย่างผู้ศรัทธาก่อนๆ เคยทำ เราจะได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺได้อย่างไรในเมื่อเรายังไม่ได้กระทำตัวอย่างบุคคลที่อัลลอฮฺโปรดปรานเคยกระทำ เราหวังความโปรดปราน เราหวังส่วนสวรรค์แต่เรายังไม่ได้ทำในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสัญญาและท่านรอซูลได้กำชับไว้เลย มันจะเป็นได้อย่างไรกัน
มาชาอัลลอฮฺ (ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺ) จงจำไว้เถิดว่าลักษณะของบรรดมุนาฟิก (คนกลับกลอก) คือ بالليلخشب“ เป็นท่อนไม้ที่ตายในเวลากลางคืน”หมายถึง ไม่ชอบที่จะทำการละหมาดสุนัตในเวลากลางคืน (มุคตะศอร กีลามุลลัยลฺของอีหม่ามมัรวะซี 59) แล้วเราจะปล่อยให้ตัวเราเองเป็นท่อนไม้ที่เป็นสัญญานแห่งมุนาฟิกอย่างนั้นหรือ ??…
ด้วยกับความรักซึ่งกันและกันระหว่างพี่น้องร่วมศรัทธา ดังที่ท่านรอซูล (ซล.) รักบรรดาภริยาและลูกๆ ของท่าน รวมไปถึงบรรดาเศาะฮาบะฮฺ จึงอยากเชิญชวนให้พี่ๆ น้องๆ มาร่วมกันให้ความสำคัญกับกียามุลลัยลฺ ซึ่งเป็นการละหมาดที่รอซูล (ซล.) และบรรดาเศาะฮาบะฮฺ ไม่เคยละทิ้งเลยตลอดชีวิตของพวกท่าน กอปรกับเดือนนี้เป็นเดือนแห่งความบารอกะฮฺและเราะฮฺมะฮฺ เป็นเดือนที่ประเสริฐที่สุด เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นการเริ่มต้นในการฟื้นฟู เพื่อให้กียามุลลัยลฺคงอยู่กับเราตลอดเดือนรอมฎอน และตลอดทั้งชีวิตที่เรามีอยู่ต่อไป
ณ วันนี้เราต้องหันกลับมามองข้อบกพร่องอย่างเอาจริงเอาจัง อย่างมากมายของชีวิตเรา และมาร่วมกันสร้างสรรค์ตนเองและสังคมด้วยกับกียามุลลัยลฺเถิด ดังที่ผู้เป็นแบบอย่างของเราได้เคยกระทำเป็นผลสำเร็จมาแล้ว
ปัญหากิยามุลลัยลฺ (ละหมาดกลางคืน)
คำถามที่ 1:
จากหนังสือวิธีละหมาดตามบัญญัติอิสลาม ของอัล-อิศลาหฺสมาคมบางกอกน้อย เมื่อท่านนบีละหมาดตะฮัจญุดนั้น ท่านเริ่มละหมาดด้วย 2 ร็อกอะฮฺสั้นๆ แล้วจะละหมาดต่อไปจนครบจำนวนที่ต้องการ คือ 11 ร็อกอะฮฺให้สลามทุกๆ สองร็อกอะฮฺและสุดท้ายให้ละหมาดวิตริเป็นเอกเทศ ในเดือนนรอมฏอนเรามีการละหมาดตะรอเวียะฮฺ 8 ร็อกอะฮฺ ละหมาดวิตริ 3 ร็อกอะอฺ รวม 11 ร็อกอะอฺ อยากทราบว่าเราจะละหมาดตะฮัจญุด ละหมาดวิตริอย่างไร ในเมื่อเกิน 11 ร็อกอะฮฺหรือเปล่า คำกล่าว"ที่ว่าท่านนบีไม่เคยละหมาดในเดือนรอมฎอน และเดือนอื่นๆเกินกว่า 11 ร็อกอะฮฺ" เชคช่วยอธิบายให้ละเอียดนะครับ พร้อมยกหะดิษประกอบ
ตอบโดย: ริฎอ อะหมัด สมะดี
การละหมาดกิยามุลลัยลฺในเดือนรอมฎอน ไม่มีจำนวนจำกัด เพราะเป็นการละหมาดซุนนะฮฺทั่วไป ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า "ศ่อลาตุลลัยลิ มัษนา" (บันทึกโดยบุคอรียฺ)
หมายถึง "การละหมาดกลางคืนทีละสองๆ" และหะดีษที่รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า ท่านนบีไม่เคยละหมาดกลางในเดือนรอมฎอนหรือนอกเดือนรอมฎอนมากกว่า 11 ร็อกอะฮฺนั้น ได้พูดถึงการปฏิบัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่มีความประเสริฐยิ่งอย่างแน่นอนแล้ว ซึ่งจะไม่ขัดแย้งว่าละหมาด 11 ดีที่สุด แต่ต้องละหมาดเหมือนท่านนบี แต่ไม่ใช่หมายรวมว่าไม่อนุญาตให้เกิน 11 แต่อย่างใด บรรดาศ่อฮาบะฮฺที่ได้รับรู้หะดีษบทนี้ ก็เข้าใจว่าการละหมาด 11 นั้นประเสริฐอยู่แล้ว แต่พวกท่านได้ละหมาด 21 เพราะเห็นว่าการละหมาด 11 เหมือนท่านนบีต้องละหมาดยาวนานพอสมควร และอุละมาอฺ (นักปราชญ์) ทุกมัซหับก็เห็นพ้องกันว่า อนุญาตให้ละหมาดมากกว่า 11 ร็อกอะฮฺ เพราะฉะนั้นถ้าท่านละหมาด 11 หรือ 8 ร็อกอะฮฺแล้วนอนหลับพักหนึ่ง และลุกขึ้นละหมาดตะฮัจญุดตอนท้ายของกลางคืน ท่านก็สามารถกระทำได้โดยไม่เป็นบิดอะฮฺและไม่เป็นมักโรหฺแต่อย่างใด และไม่มีอุละมาอฺคนหนึ่งคนใดที่กล่าวว่า เป็นบิดอะฮฺ แต่เพียงกล่าวว่าละหมาด 11 หรือมากกว่า 11 อันใดที่จะประเสริฐกว่า
คำถามที่ 2: หมาดตะฮัจญุดและละหมาดวิตริ คือ เกียญามุลรอมฎอน หมายความว่าอย่างไร เห็นเพื่อนบอกว่าเป็นการละหมาดเดียวกัน ถ้าเหมือนกันจะเหนียตอย่างไร
คำตอบ: การละหมาดกิยามุลลัยลฺ หรือตะรอเวียะหฺ หรือตะฮัจญุด เป็นชื่อที่แตกต่างแต่เนื้อหาเดียวกัน คือ การละหมาดช่วงกลางคืน แต่ในทางภาษาอาหรับและการใช้คำศัพท์อาจแตกต่างกันในบางกรณี เพราะคำว่า "ตะฮัจญุด" รากศัพท์หมายถึง ละการนอนหลับ จึงเรียกการภายหลังนอนหลับพักผ่อนแล้วว่า "ตะฮัจญุด" แต่ถ้าหากละหมาดอิชาอฺแล้วไม่ได้นอนหลับ จึงเรียกการละหมาดตอนนั้นว่า "กิยามุลลัยลฺ" คือ ละหมาดกลางคืน ถ้าเป็นการละหมาดกลางคืนโดยญะมาอะฮฺในเดือนรอมฎอน ซึ่งจะมีการพักทุกช่วง 4 ร็อกอะฮฺ(ดังที่ศ่อฮาบะฮฺได้ปฏิบัติ) ก็จะเรียกการละหมาดนี้ว่า "ละหมาดตะรอเวียะหฺ" แต่ทั้งหมดนี้เป็นชื่อสำหรับการละหมาดกลางคืนเหมือนกัน และไม่มีผลแตกต่างกันเกี่ยวกับชื่อหรือคำศัพท์
การเนียต ละหมาดกียามุลลัย
"ข้าพเจ้า ละหมาดสุนัตกียามุลลัย 2 ร่อก้าอัต เพื่ออัลลอฮ์ต้าอาลา"
ที่มา: จากหนังสือ กียามุลลัยลฺ โดย ดร.อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา , ริฎอ อะหมัด สมะดี
เรียบเรียงโดย อุบัยดุลลอฮฺ