อาจารย์ครับ การร้องเพลงต่อหน้าผู้นำทางศาสนาอื่น โดยอ้างว่าเป็นพหุวัฒนธรรม อิสลามกล่าวเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไรบ้างครับ?
ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน
ประเด็นแรก การร้องเพลงในอิสลาม หรือร้องนะชีดนั้น หากการร้องดังกล่าวไม่มีดนตรีใดๆ ประกอบในการร้องนะชีด (หรือร้องเพลง) และเนื้อหาของนะชีดไม่ขัดต่อหลักการอิสลาม เช่นนี้ศาสนาอนุญาตให้ร้องนะชีดนั้นได้ แต่ถ้าไม่มีดนตรีประกอบแต่เนื้อหาของนะชีดขัดกับหลักการอิสลาม หรือถ้ามีดนตรีประกอบการร้องเพลง แม้ว่าเนื้อหาไม่ขัดกับหลักการอิสลาม การร้องนั้นถือว่าต้องห้าม (หะรอม) ทันที
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
لَيَكُونَنَّ مِنْ أُمَّتِي أَقْوَامٌ، يَسْتَحِلُّونَ الحِرَ وَالحَرِيرَ، وَالخَمْرَ وَالمَعَازِفَ
“ จะปรากฏกลุ่มต่างๆ จากประชาชาติของฉัน (หมายถึงมุสลิม) พวกเขาจะทำให้การละเมิดประเวณี (ซินา), การสวมใส่ผ้าไหม (สำหรับผู้ชาย), การดื่ม (เสพ) สิ่งมึนเมา และเครื่องดนตรีกลายเป็นสิ่งหะลาล (อนุมัติตามหลักการอิสลาม)” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 5590]
สรุป การร้องนะชีด หรือเพลงประกอบเครื่องดนตรี จะร้องคนเดียว หรือต่อหน้าใครก็ตาม ถือว่า ต้องห้ามทั้งสิ้นตามหลักการอิสลาม
ประเด็นถัดมา กรณีที่เราไปร้องเพลงประกอบดนตรีต่อหน้าผู้นำทางศาสนา โดยการร้องนั้นทำเหมือน หรือคล้ายการร้องแบบพิธีกรรมของศาสนานั้น เราจะมีความผิดในฐานะที่ไปทำเลียนแบบพิธีกรรมของศาสนาอื่น
ท่านนบีมุฮัมหมัดกล่าวว่า
لَا تَشَبَّهُوا بِاليَهُودِ وَلَا بِالنَّصَارَى
“พวกท่านจงอย่าเลียนแบบ (ตามความเชื่อ,พิธีกรรมของ) พวกยะฮูดีย์ (ยิว) และพวกนัศรอนีย์ (คริสเตียน)” [หะดีษหะสัน, บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 1695]
ซึ่งประเด็นนี้ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเรื่องการทำพิธีกรรมทางศาสนานั้น อิสลามไม่อนุญาตให้กระทำ หรือเลียนแบบพิธีกรรมของศาสนาอื่นได้เลย พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
لَكُمْ دِينُكُمْ وَلِيَ دِينِ
“สำหรับพวกเขาคือศาสนาสำหรับพวกเขา และสำหรับฉันคือศาสนา (อิสลาม) ของฉัน” [สูเราะฮฺอัลกาฟิรูน อายะฮฺที่ 6]
สรุป ประเด็นการร้องเพลง หรือนะชีดจะมีดนตรีหรือไม่มีดนตรีประกอบก็ตาม แต่เป็นการร้องคล้ายการทำพิธีกรรมของศาสนาอื่น เช่นนี้ถือว่าต้องห้ามเช่นกัน และถ้าการร้องนั้นมีดนตรีประกอบก็จะถือว่าเป็นอีกความผิดหนึ่ง (ซึ่งกล่าวมาแล้วข้างต้น)
ประเด็นสุดท้าย อ้างการร้องเพลงประกอบดนตรีต่อหน้าผู้นำทางศาสนาอื่นเป็นเรื่องพหุวัฒนธรรม หมายถึง เราอยู่รวมกันหลายศาสนา เราต้องเป็นหนึ่งกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน อันนี้ศาสนาอิสลามเห็นด้วย และอิสลามส่งเสริมให้เชื่อมสัมพันธ์กันในเรื่องความรักความสามัคคี การเอื้ออาทรต่อกัน ช่วยเหลือกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เหล่านี้อิสลามกำชับให้กระทำ และจำเป็นต้องพหุวัฒนธรรม ทว่าครั้นในเรื่องพิธีกรรมทางศาสนา หรือความเชื่อทางศาสนา หรือการปฏิบัติในเรื่องศาสนา เช่นนี้ ต่างคนต่างกระทำกันไม่เกี่ยวกันต่างคนทำในสิ่งที่ตนเองเชื่อและศรัทธา ซึ่งต่างคนต่างทำในสิ่งที่ตนเองศรัทธา นั่นหละ คือพหุวัฒนธรรม (วัลลอฮุอะอฺลัม)
http://islamhouse.muslimthaipost.com/