อุมเราะห์ กับ ฮัจย์ ต่างกันยังไง?
เรื่องอุมเราะห์และฮัจย์
อุมเราะห์ คืออะไร
คำนิยามของอุมเราะห์
อุมเราะห์ ตามหลักภาษา หมายถึง การเยี่ยมเยียน
อุมเราะห์ ตามหลักศาสนา หมายถึง การมุ่งสู่บัยตุลลอฮ์ นอกเวลาการประกอบพิธีฮัจย์ เพื่อทำอิบาดะห์ที่มีระเบียบแบบแผนที่กำหนดไว้แล้ว
คำนิยามของฮัจย์
ฮัจย์ ตามหลักภาษา หมายถึง การมุ่งไป
ฮัจย์ ตามหลักศาสนา หมายถึง การมุ่งไปสู่บัยตุลลอฮ์เพื่อทำอีบาดะห์ที่มีระเบียบแบบแผนกำหนดไว้แล้ว
ความสำคัญของการทำฮัจย์และอุมเราะห์
อัลฮัจย์เป็นอีบาดะฮ์ที่ประเสริฐสุด ที่จะลบล้างความผิดและการทำบาป เป็นอีบาดะฮ์ที่มีความใกล้ชิดต่อความโปรดปรานของอัลลอฮ์และสวนสวรรค์ของพระองค์ ทั้งนี้ เพราะอัลลอฮ์ และ
ท่านรอซูล (ซ.ล) ได้ให้การรับรองไว้แล้วว่า "ฮัจย์มับรูร คือฮัจย์ที่ดีเป็นที่รับรองนั้น ไม่มีการตอบแทนใดๆ แก่เขานอกจากสวนสวรรค์"
" اَلْحَجُّ الْمَبْرُوْرُ لَيْسَ لَه جَزاَءٌ إلاّ الْجَنَّة "
และในฮะดีษอีกบทหนึ่งท่านเราะซูล (ซ.ล. ได้กล่าวไว้ว่า
سمِعْتُ النبِيَّ صلَّى الله عليه وسلَّم يقولُ : مَن حجَّ فلم يرْفُثْ ولم يفْسُقْ رجَعَ كيومِ ولَدَتْه أمُّه
(رواه البخاري 1521 ومسلِمٌ 3292)
“ผู้ใดที่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ และไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับภริยาและไม่ได้กระทำสิ่งชั่วร้ายอื่นๆ เขาจะได้กลับบ้านด้วยความบริสุทธิ์เสมือนกับวันที่แม่ของเขาให้กำเนิดเขา”
- ผลบุญเท่ากับการประกอบพิธีฮัจย์ 100 ครั้ง ภายใน 3 นาที ต้องทำอย่างไรบ้าง?
- ใครคือ ผู้สร้างกะบะห์เป็นคนแรก ?
อุมเราะห์ กับ ฮัจย์ ต่างกันยังไง ข้อแตกต่างระหว่างอุมเราะห์ กับ ฮัจย์ มีดังนี้
1. ด้านเวลา ฮัจย์มีกำหนดเวลาที่แน่นอน จะประกอบพิธีฮัจย์นอกเวลาที่กำหนดไว้ไม่ได้ เวลาที่กำหนดสำหรับการประกอบพิธีฮัจย์ก็คือ เดือนเชาวาล, ซุ้ลเกาะอฺดะห์ และสิบวันแรกของเดือนซุ้ลฮิจญะห์ ส่วนเวลาของการประกอบพิธีอุมเราะห์คือ ตลอดทั้งปี
2. ด้านข้อกำหนด ฮัจย์นั้นมีการวุกูฟที่อะรอฟะห์ มีการพักแรมที่มุซดะลีฟะห์ และที่มีนา และมีการขว้างเสาหิน ส่วนอุมเราะห์ไม่มีการกระทำที่กล่าวมานั้นเลยแต่อุมเราะห์มีข้อกำหนดดังนี้คือ ตั้งเจตนา ตอวาฟ โกนหรือตัดผม
เวลาของการบัญญัติฮัจย์และอุมเราะห์ คือ ปีฮิจเราะห์ศักราชที่เก้า
ข้อกำหนดและหลักฐานของฮัจย์และอุมเราะห์
1. ข้อกำหนดและหลักฐานในเรื่องฮัจย์
ฮัจย์เป็นฟัรดู โดยความเห็นพ้องกันของมวลมุสลิม และเป็นรุกุ่นหนึ่งของอิสลาม หลักฐานจากอัลกุรอ่าน ในซูเราะห์อาลิอิมรอน
إِنَّ أَوَّلَ بَيْتٍ وُضِعَ لِلنَّاسِ لَلَّذِي بِبَكَّةَ مُبَارَكًا وَهُدًى لِّلْعَالَمِينَ (96 )
แท้จริงบ้านหลักแรกที่ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์(เพื่อการอิบาดะฮ์) นั้นคือบ้านที่มักกะฮ์ โดยเป็นที่ที่ถูกให้มีความจำเริญ และเป็นที่แนะนำแก่ประชาชาติทั้งหลาย
فِيهِ آيَاتٌ بَيِّنَاتٌ مَّقَامُ إِبْرَاهِيمَ وَمَن دَخَلَهُ كَانَ آمِنًا وَلِلَّهِ عَلَى النَّاسِ حِجُّ الْبَيْتِ مَنِ اسْتَطَاعَ إِلَيْهِ سَبِيلًا وَمَن كَفَرَ فَإِنَّ اللَّهَ غَنِيٌّ عَنِ الْعَالَمِينَ ( 97 )
ในบ้านนั้น มีหลายสัญญาณที่ชัดแจ้ง(ส่วนหนึ่งนั้น)คือมะกอมอิบรอฮีม และผู้ใดได้เข้าไปในบ้านนั้น เขาก็เป็นผู้ปลอดภัยและสิทธิของอัลลอฮ์ที่มีแก่มนุษย์นั้น คือการมุ่งสู่บ้านหลังนั้น อันได้แก่ผู้ที่สามารถหาทางไปยังบ้านหลังนั้นได้และผู้ใดปฏิเสธ แท้จริงอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงพึ่งประชาชาติทั้งหลาย
หลักฐานจากซุนนะห์ ท่านรอซูลุลลอฮ์ (ซ.ล.) ได้กล่าวตามรายงานของบุคอรีและมุสลิม จากอบีฮุรอยเราะห์ ว่า
“อิสลามถูกก่อตั้งอยู่บนหลักห้าประการ คือ กล่าวปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าที่ถูกสักการะโดยเที่ยงแท้นอกจากอัลลอฮ์ และมูฮำหมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์, ดำรงละหมาด, จ่ายซากาต, ถือศิลอดในเดือนรอมฎอน และประกอบพิธีฮัจย์สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปได้”
หลักฐานจากอิจมาอฺ นักปราชญ์มุสลิมมีมติเป็นเสียงเดียวกันว่าฮัจย์เป็นฟัรดู ด้วยเหตุนี้นักปราชญ์จึงตัดสินว่า ผู้ที่ปฏิเสธฮัจย์เป็นผู้สิ้นสภาพจากความเป็นมุสลิม
2. ข้อกำหนดและหลักฐานในเรื่องอุมเราะห์
อุมเราะห์เป็นฟัรดูเช่นเดียวกับการประกอบพิธีฮัจย์ จากทัศนะของอิหม่ามชาฟีอี และได้อ้างหลักฐานจากอัลกุรอ่านในซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ 196 ที่ว่า
وَأَتِمُّوا الْحَجَّ وَالْعُمْرَةَ لِلَّهِ
“และท่านทั้งหลายจงให้สมบูรณ์ ซึ่งการทำฮัจย์และอุมเราะห์เพื่ออัลลอฮ์...”
เคล็ดลับและประโยชน์ของฮัจย์และอุมเราะห์
1. การร่วมชุมนุมกันของมุสลิม : รากฐานของอิสลาม อยู่ที่การรวมกัน สามัคคีกัน ระหว่าพี่น้องมุสลิม ด้วยเหตุนี้อัลลลอฮ์จึงได้ให้อิบาดะห์ส่วนใหญ่ที่ถูกบัญญัติขึ้นเป็นสื่อนำไปสู่การพบปะกัน
2. ฟื้นฟูแก่นแท้ของความเป็นพี่น้องร่วมศาสนาอิสลาม และแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมโดยที่ภาษา และความห่างไกลกันทางด้านภูมิศาสตร์ ไม่ได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นเลยแม้แต่น้อย
3. นำมุสลิมเข้าสู่จุดศูนย์กลางเดียวกัน นั่นคือ มักกะ
4. ฮัจย์คือการแสดงออกของความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันระหว่างมุสลิม
5. ฮัจย์เป็นสิ่งที่จะทำให้มุสลิมได้รำลึกถึงบรรดานบีและศาสนทูตทั้งหลาย
6. ฮัจย์เป็นการฝึกฝนให้ร่างกายแข็งแรง สามารถเผชิญกับความลำบาก ตรากตรำได้เป็นอย่างดี
7. เป็นการฝึกให้เกิดมารยาทในการอยู่ร่วมกัน ให้อภัน และถ่อมตน ฝึกให้มีการเสียสละ ทำทานและสุภาพอ่อนโยน อีกทั้งเป็นการฝึกจิตใจให้สะอาดและยำเกรงต่ออัลลอฮ์
ใครที่จำเป็นต้องทำฮัจย์และอุมเราะห์
ผู้ที่ครบเงื่อนไขต่อไปนี้คือผู้ที่จำเป็นต้องทำฮัจย์และอุมเราะห์
1. นับถือศาสนาอิสลาม
2. มีสติปัญญาสมบูรณ์
3. บรรลุศาสนภาวะ
4. เป็นเสรีชน (อิสระ ไม่เป็นทาส)
5. เส้นทางที่จะไปนั้นปลอดภัยตั้งแต่ไปและกลับ
6. มีความสามารถ ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงตรัสไว้ว่า
وَلِلَّهِ عَلَى النَّاسِ حِجُّ الْبَيْتِ مَنِ اسْتَطَاعَ إِلَيْهِ سَبِيلًا
เป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ที่จะกำหนดให้มนุษย์ต้องทำฮัจย์ที่บัยตุลลอฮ์ สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปได้ (อาลิอิมรอน 98)
ที่จะเรียกว่ามีความสามารถนั้นคือ มีทรัพย์ที่จำเป็นต้องใช้จ่ายในการทำฮัจย์และอุมเราะห์ เช่น ค่าพาหนะและค่ากินอยู่ทั้งไปและกลับ ค่าหนังสือเดินทาง และค่าผู้นำตอวาฟ หรือคือแซะห์ ทรัพย์ที่มีนี้เป็นทรัพย์ที่นอกเหนือจากหนี้สิน และค่าเลี้ยงดูครอบครัวขณะเขาไม่อยู่
เอี๊ยะรอม
เอี๊ยะรอม คือการเปิดฉากประกอบพิธีฮัจย์และเข้าสู่พิธีการฮัจย์ สู่วายิบและรุกุ้นต่างๆของฮัจย์
สถานที่ที่ใช้ในการเอี๊ยะรอม หมายถึงสถานที่ต่างๆที่ศาสนาได้กำหนดไว้ว่า ผู้ตั้งใจทำฮัจย์จะผ่านเลยสถานที่เหล่านั้นไปไม่ได้นอกจากต้องเอี๊ยะรอมเข้าไป นั้นคือ
ก. ซุ้ลฮุลัยฟะห์ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก มะดีนะฮ์ ปัจจุบันเรียกว่า อับยารอาลี
ข. อัลญุห์ฟะห์ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก ชาม อียิปต์ และมอร็อกโค
ค. ยะลัมลัม สำหรับผู้ที่เดินทางจากประเทศ ยะมันหรือ เยเมน
ง. กอรน์ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากนัจด์ และที่ราบสูงยะมัน
จ. ซาตุอิรก์ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก อิรัก
ส่วนบุคคลที่ทำฮัจย์ที่พักอาศัยอยู่ในมักกะหรือต่ำกว่าสถานที่ที่ได้กำหนดไว้แล้วนั้น คือให้เขาเอี๊ยะรอมฮัจย์
จากที่บ้านพักของเขาในมักกะเลยโดยไม่ต้องออกไปเอี๊ยะรอมนอกเมืองมักกะห์
ส่วนผู้ที่ทำอุมเราะห์ที่อยู่ในมักกะหรือเขตแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวมักกะหรือมาจากที่อื่น เขาจะเป็นจะต้องออกไปนอกเขตแผ่นดินฮารอม แต่ถ้าหากเขาต้องการจะเอี๊ยะรอมในเขตแผ่นดินฮารอมก็ถือว่าใช้ได้ แต่จะต้องเสียค่าปรับ (ดัม)
พิธีการอุมเราะห์
1. เอี๊ยะรอมอุมเราะห์ จากสถานที่ที่ได้กำหนดไว้
2. เข้ามักกะห์ และตอวาฟอุมเราะห์ทันที โดยไม่ต้องตอวาฟกูดุม
3. สะแอระหว่างเนินเขาซาฟาและมัรวะห์
4. โกนหรือตัดผม
ที่มา: al-fiqh1.blogspot.com