พิธีฮัจญ์ จะทำในเดือน ซุล-ฮิจยะห์ (เดือนที่ 12 ของปีฮิจเราะห์ศักราช) ของแต่ละปี การกำหนดพิธีฮัจย์นั้น จะใช้การดูเดือน เพื่อกำหนดวันต่างๆ
สรุปขั้นตอน การประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮฺ (ฮัจญ์ตะมัตตัวะอฺ)
- ไปทำฮัจย์ อุมเราะห์ แต่มีหนี้สินอยู่ ไปได้หรือไม่?
- ตรียมตัวไปทําฮัจย์ ต้องทำอย่างไร? ความสำคัญของฮัจย์
- การทําฮัจญ์มีกี่แบบ คู่มือไปทำฮัจญ์
- การทำฮัจญ์แบบตะมัตตัวะอ์
- การทําฮัจญ์แบบอิฟรอด
- การทําฮัจญ์แบบกิรอน
โดย อ.อามีน เหมเสริม
พิธีฮัจญ์ จะทำในเดือน ซุล-ฮิจยะห์ (เดือนที่ 12 ของปีฮิจเราะห์ศักราช) ของแต่ละปี การกำหนดพิธีฮัจย์นั้น จะใช้การดูเดือน เพื่อกำหนดวันต่างๆ โดยจะดูเดือนกันในวันที่ 29 เดือน ซุลเกาะดะห์ เพื่อกำหนด วันที่ 1 เดือนซุลฮิจยะห์ และวันที่ 10เดือนซุลฮิจยะห์ จะเป็นวัน อีดิ้ลอัฎฮา หรือ อีดใหญ่(รายอ)ที่บ้านเรา ผู้ที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจย์จะทำกรุบาน (เชือดสัตว์ และแบ่งปันเนื้อให้กับผู้ยากไร้)
การประกอบพิธีฮัจญ์มี 3 แบบ
1.ตะมัตตัวะอฺ คือ ผู้ครองอิหฺรอมตั้งเจตนาทำอุมเราะฮฺก่อนการทำฮัจย์ ขณะที่เข้าสู่เทศกาลฮัจญ์แล้ว
2.อิฟรอด คือ ผู้ครองอิหฺรอมหลังจากการทำการตอวาฟกุดูมแล้วเขาจะต้องสวมชุดอิหฺรอมจนกระทั้งถึงวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺหลังจากนั้นจึงทำอุมเราะฮฺ
3.กิรอน คือ ผู้ครองอิหฺรอมตั้งเจตนาทำอุมเราะฮฺและการทำฮัจย์พร้อมกัน หลังจากการทำอุมเราะฮฺคือตอวาฟและสะแอแล้ว ไม่ต้องโกนศีรษะหรือตัดผม แต่ให้เขาครองอิหฺรอมกระทั้งถึงวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ
สถานที่สำคัญที่ใช้ในการประกอบพิธีฮัจย์คือ
ทุ่งอารอฟะห์, ตำบลมุซดะลิฟะห์, ตำบลมีนา, และอัล-กะบะฮฺ (การตอวาฟรอบกะบะห์นี้ไม่ได้กระทำพร้อมกันในเวลาเดียวกัน)
สรุปขั้นตอน การประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮฺ (ฮัจญ์ตะมัตตัวะอฺ)
สรุปขั้นตอน การประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮฺ (ฮัจญ์ตะมัตตัวะอฺ)
ฮัจญ์ตะมัตตุอ คือ การทำอุมเราะฮก่อนการทำฮัจญ์
1. ขั้นตอนการประกอบพิธีอุมเราะฮฺ
เมื่อผู้ที่ต้องการประกอบพิธีอุมเราะฮฺหรือพิธีหัจญ์มาถึงที่มีกอต (สถานที่ที่ถูกกำหนดให้เริ่มต้นครองอิฮรอมถ้าเป็นชาวมดีนะฮหรือผู้ที่ผ่านมาทางนี้คือซุลฮุลัยฟะฮหรือ อาบารอลี) มีแบบฉบับ(ซุนนะฮฺ)ให้อาบน้ำเหมือนการอาบน้ำญุนุบ(แม้กระทั่งผู้หญิงที่มีประจำเดือน) และให้ใส่น้ำหอมตามร่างกาย (สำหรับผู้ชาย)
ให้ใส่ชุดอิหฺรอม (สำหรับผู้ชาย คือ ผ้าสีขาวสองผืนและผู้หญิง คือ เสื้อผ้าใดก็ได้ที่ศาสนาอนุญาติ) หลังจากนั้นก็เนียตในใจ พร้อมกับ กล่าวว่า:
لبيك عمرة (ลับบัยกะอุมเราะตัน) แปลว่า ข้าพระองค์ได้ตอบรับพระองค์ด้วยการทำอุมเราะฮแล้ว
ให้กล่าวตัลบิยะฮฺมากๆจนกระทั่งถึงก่อนเฏาะวาฟ
2. ประโยคตัลบียะฮฺ
لَبَّيْكَ اللَّهُمَّ لَبَّيْكَ لَبَّيْكَ لَا شَرِيْكَ لَكَ لَبَّيْكَ إِنَّ الْحَمْدَ وَالنَّعْمَةَ لَكَ وَالمُلْكَ لاَ شَرِيْكَ لَكَ
(ลับบัยกัลลอฮุมมะลับบัยกฺ ลับบัยกะลาชะรีกะละกะลับบัยกฺ อินนั้ลฮำดะ วันนิอฺมะตะ ละกะวั้ลมุล กฺ ลาชะรีกะลัก)
แปลว่า โอ้อัลลอฮฺ ข้าพระองค์ได้ตอบสนองคำเรียกร้องของพระองค์ ข้าพระองค์ตอบสนองคำเรียกร้องของพระองค์ ด้วยการไม่ตั้งสิ่งใดมาเป็นภาคีกับพระองค์ แท้จริงการสรรเสริญ ความโปรดปรานและอำนาจเป็นของพระองค์ ไม่มีการตั้งสิ่งใดมาเป็นภาคีต่อพระองค์
3. มีแบบฉบับ(ซุนนะฮฺ)ให้อาบน้ำก่อนเข้ามักกะฮฺ(หากมีความสะดวกและสามารถ) หลังจากนั้นก็ไปยังมัสยิดหะรอมเพื่อทำการเฏาะวาฟ
โดยก้าวเท้าขวาเข้าขณะมัสยิดและอ่านดุอาอ์ว่า:
«أَعُوذُ بِالله العَظِيمِ، وَبِوَجْهِهِ الكَرِيمِ، وَسُلْطَانِـهِ القَدِيمِ، مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيمِ»
ความว่า “ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺผู้ยิ่งใหญ่ ด้วยพระพักตร์ของพระองค์ ด้วยอำนาจความของพระองค์ที่มีแต่เดิมมาให้รอดพ้นจากชัยฏอนผู้ถูกสาปแช่ง”
اَللهم صَلِّ علَىَ مُحَمَّد اللَّـهُـمَّ افْتَـحْ لِي أَبْوَابَ رَحْـمَتِكَ»
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงโปรดประทานพรให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด โอ้อัลลอฮฺ ขอได้ทรงเปิดประตูแห่งความเมตตาของพระองค์แก่ฉันด้วยเถิด“
เช่นที่ให้กล่าวดุอาอ์นี้ขณะที่เข้ามัสยิดทั้งหลาย
4. เมื่อมาถึงที่กะอฺบะฮฺให้หยุดกล่าวตัลบิยะฮฺและเริ่มทำการเฏาะวาฟอุมเราะฮฺ (สำหรับผู้ที่ทำอุมเราะฮฺและหัจญ์แบบตะมัตตุอฺ) หรือเฏาะวาฟกุดูม(สำหรับผู้ที่ทำหัจญ์แบบกิรอนและอิฟรอด)
โดยเริ่มจากมุมหินดำด้วยการสัมผัสมันด้วยมือขวาและจูบมันโดยไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นพร้อมกล่าว "บิสมิ้ลลา วัลลอฮุ อักบัร" หรือถ้าหากไม่มีความสะดวกก็ให้สัมผัสมันด้วยมือขวาแล้วก็จูบมือขวาหรือถ้าหากไม่มีความสะดวกอีกก็เพียงพอด้วยการให้สัญญาณยกมือชี้พร้อมกล่าว "บิสมิ้ลลา วัลลอฮุ อักบัร"
เมื่อมาถึงที่รุกนุลยะมานีย์(มุมที่อยู่ก่อนมุมหินดำ)หากมีความสะดวกให้สัมผัสด้วยมือขวาพร้อมกล่าวตักบีร " บิสมิ้ลลา วัลลอฮุ อักบัร" หรือไม่แล้วก็เดินผ่านเฉยๆไม่ต้องชี้ และกล่าวดุอาอฺระหว่างรุกนุลยะมานีย์กับหินดำว่า:
رَبَّنَا آتِنَا في الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفي الآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ
ความว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเรา ขอพระองค์ทรงโปรดประทานความดีงามให้แก่เราทั้งในดุนยาและอาคีเราะฮฺ และพระองค์ทรงปกป้องเราให้พ้นจากการลงโทษในไฟนรกด้วยเถิด
ให้ทำอย่างนี้ทุกๆรอบจนครบ 7 รอบ(โดยเริ่มต้นที่มุมหินดำและสิ้นสุดที่มุมหินดำ) และซุนนะฮฺนั้นให้ผู้ชายครองอิหฺรอมแบบสไบเฉียงและเฏาะวาฟแบบร็อมลฺใน 3 รอบแรกของการเฏาะวาฟอุมเราะฮฺและเฏาะวาฟกุดูมเท่านั้น
การครองอิหฺรอมแบบสไบเฉียง
คือ การเปิดไหล่ข้างขวาโดยที่ให้ส่วนกลางผ้าอยู่ใต้รักแร้ข้างขวาและส่วนปลายผ้าทั้งสองอยู่บนไหล่ข้างซ้าย
ส่วนการร็อมลฺ คือ การวิ่งเหยาะๆ ในขณะฎอวาฟนั้น ใหกล่าวซิกรุ้ลลอฮฺ ดุอาอฺ และอ่านอัลกรุอาน แต่อย่าส่งเสียงดังและรบกวนผู้อื่น
เมื่อฎอวาฟครบ 7 รอบ ให้ปิดไหล่ขวา และไปหลังมะกอมนบีอิบรอฮีม และให้กล่าว
وَاتَّخِذُوْا مِنْ مَقَامِ إِبْرَا هِيْمَ مُصَلّى (วัตตะคิซูมินอิบรอฮีมะมุศ็อลลา)
ความว่า พวกท่านทั้งหลายจงยึดมะกอมนบีอิบรอฮีมเป็นที่ละหมาด
5. ละหมาดหลังมะกอมอิบรอฮีม 2 ร็อกอะฮฺ หากมีความสะดวกหรือไม่ก็ที่ไหนก็ได้ในบริเวณมัสยิด ในร็อกอะฮฺแรกให้อ่าน "อัล-ฟาติหะฮฺ กับ อัล-กาฟิรูน" และในร็อกอะฮฺที่สองให้อ่าน "อัล-ฟาติหะฮฺ กับ อัล-อิคลาศ" เมื่อละหมาดเสร็จ ให้เดินไปยังน้ำซำซำเพื่อดื่มน้ำ และเทน้ำซำซำรดศีรษะ
หลังจากนั้นให้กลับไปยังหินดำอีกครั้งเพื่อจูบหินดำ(หากสามารถ) หรือยกมือขวาชี้ไปยังหินดำพร้อมกล่าว ตักบีร (อัลลอฮุอักบัร)
6. หลังจากนั้นก็ทำการสะแอระหว่างภูเขาศอฟากับมัรวะฮฺ เมื่อเข้าใกล้ภูเขาศอฟาให้อ่านอะยะฮฺกุรอานว่า:
إِنَّ الصَّفَا وَالْمَرْوَةَ مِنْ شَعَائِرِ اللَّهِ ۖ فَمَنْ حَجَّ الْبَيْتَ أَوِ اعْتَمَرَ فَلَا جُنَاحَ عَلَيْهِ أَنْ يَطَّوَّفَ بِهِمَا ۚ وَمَنْ تَطَوَّعَ خَيْرًا فَإِنَّ اللَّهَ شَاكِرٌ عَلِيم
และกล่าว أَبْدَأُ بِمَا بَدَأ اللَّه ُبِهِ “ฉันขอเริ่มด้วยกับที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงเริ่ม”
เมื่อขึ้นภูเขาศอฟา ให้หันหน้าไปยังกะอฺบะฮฺพร้อมกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ กล่าวตักบีร สามครั้ง และกล่าว
«لا إلَـهَ إلَّا الله وَحْدَهُ لا شَرِيكَ لَـهُ، لَـهُ المُلْكُ، وَلَـهُ الحَـمْدُ، وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ، لا إلَـهَ إلا الله وَحْدَهُ، أَنْجَزَ وَعْدَهُ، وَنَصَرَ عَبْدَهُ، وَهَزَمَ الأحْزَابَ وَحْدَهُ»
ความว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ไม่มีผู้ใดเป็นภาคีกับพระองค์ อำนาจ และการสรรเสริญเป็นสิทธิของพระองค์ พระองค์คือผู้ทรงอำนาจเหนือทุกสิ่ง ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ พระองค์ทรงปฏิบัติตามสัญญาของพระองค์ ทรงช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ และพระองค์เพียงผู้เดียวที่ทรงสร้างความปราชัยให้แก่พลพรรคทั้งหลาย” กล่าวเช่นนี้ 3 ครั้ง และขอดุอาอฺตามประสงค์
หลังจากนั้น ก็เดินลงไปยังภูเขามัรวะฮฺ โดยมีซุนนะฮฺให้ผู้ชายวิ่งระหว่างสัญลักษณ์สีเขียว หากมีความสะดวกและไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนรอบข้าง เมื่อถึงที่ภูเขามัรวะฮฺให้กระทำและกล่าวดังเช่นที่กระทำที่ภูเขาศอฟา นอกเสียจากไม่ต้องอ่านอะยะฮฺกุรอาน เพราะมันถูกบัญญัติให้อ่านขณะที่ขึ้นภูเขาศอฟาครั้งแรก
เท่านั้น
หลังจากนั้นก็เดินลงไปยังภูเขาศอฟาและวิ่งระหว่างสัญลักษณ์สีเขียว เมื่อถึงที่ภูเขาศอฟาให้กระทำและกล่าวดังเช่นที่ได้กระทำมา ให้กระทำอย่างนี้จนครบ 7 เที่ยว เริ่มจากภูเขาศอฟาและสิ้นสุดที่ภูเขามัรวะฮฺ
สำหรับผู้ที่ประกอบพิธีหัจญ์แบบกิรอนหรืออิฟรอดจะสะแอหลังจากเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺก็ได้
7. สำหรับผู้ชายให้โกนศีรษะหรือตัดผม (การโกนศีรษะหรือตัดผมจำเป็นต้องให้ทั่วศีรษะ) และการโกนประเสริฐกว่า แต่ถ้าเป็นผู้หญิงให้ตัดปลายผมของนางประมาณปลายนิ้วมือ
**ยกเว้น ผู้ที่ประกอบพิธีหัจญ์แบบกิรอนหรืออิฟรอดที่ไม่ต้องโกนศรีษะหรือตัดผมและอยู่ในชุดอิหฺรอมจนกระทั่งถึงวันอีดที่ 10 ซุลหิจญะฮฺ**
ด้วยการกระทำทั้งหมด(ข้อ 1 - ข้อ 7)ถือว่าเสร็จสิ้นพิธีอุมเราะฮฺ และอนุญาติให้กระทำทุกอย่างที่เป็นข้อห้ามของการครองชุดอิหฺรอมได้
สรุปขั้นตอน การประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮฺ (ฮัจญ์ตะมัตตัวะอฺ)
ขั้นตอนการประกอบพิธีหัจญ์
ภารกิจในวันที่หนึ่ง (วันที่ 8 ซุลหิจญะฮฺ)
1. ทำการอิหฺรอมเข้าสู่พิธีหัจญ์ โดยกระทำดังเช่นการอิหฺรอมเข้าสู่พิธีอุมเราะฮฺ เช่น ให้อาบน้ำ ใส่น้ำหอม(สำหรับผู้ชาย) ครองชุดอิหฺรอม หลังจากนั้นก็เนียตในใจและกล่าวว่า: لبيك حجا (ลับบัยกะฮัจญญัน) แล้วให้กล่าวตัลบิยะฮฺมากๆจนกระทั่งถึงก่อนขว้างเสาหิน
2. มุ่งหน้าสู่มินาและอยู่ที่นั่นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นในวันที่ ๙ ซุลหิจญะฮฺ และละหมาดซุฮฺริ อัศริ มัฆริบ อิชาอ์ ของวันที่ 8 และศุบห์ ในเวลาของมันที่มินาแบบย่อ(จาก 4 ร็อกอะฮฺให้เป็น 2 ร็อกอะฮฺ)โดยไม่ต้องรวม
ภารกิจในวันที่สอง(วันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺ)
1. หลังจากดวงอาทิตย์ขึ้นให้มุ่งหน้าสู่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ (และหากมีความสามารถมีซุนนะฮฺให้ลงพักที่มัสยิดนะมิเราะฮฺ)จนกระทั่งตะวันคล้อย(เวลาซุฮฺริ) เมื่อถึงเวลาละหมาดให้ละหมาดซุฮฺริกับอัสริแบบย่อและรวมในเวลาของซุฮฺริ(ญัมอุตักดีม)
2. ให้กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺและขอดุอาอ์โดยผินหน้าไปยังทิศกิบละฮฺพร้อมยกมือทั้งสอง จนกระทั่งตะวันลับขอบฟ้า
3. หลังจากตะวันลับขอบฟ้าให้มุ่งหน้าสู่มุซดะลิฟะฮฺ และละหมาดมัฆริบ 3 ร็อกอะฮฺและอิชาอ์ 2 ร็อกอะฮฺ(ที่มุซดะลิฟะฮฺ) และค้างคืนอยู่ที่นั้น(มุซดะลิฟะฮฺ)จนกระทั่งรุ่งอรุณ
(อนุญาติสำหรับผู้ป่วย ผู้ที่อ่อนแอ กลับหลังครึ่งคืนได้)
4. หลังจากรุ่งอรุณให้ละหมาดศุบห์แล้วกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺและขอดุอาอ์จงกระทั่งสว่าง
5. มุ่งหน้าสู่มีนาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น
ภารกิจวันที่สาม(วันอีดที่ 10 ซุลหิจญะฮฺ)
1. เมื่อมาถึงที่มีนาให้ไปที่ ญัมเราะตุลอะเกาะบะฮฺ แล้วให้หยุดกล่าวตัลบิยะฮฺ หลังจากนั้นก็ขว้างเสาหินด้วยก้อนกรวด 7 ลูก ติดๆ กันครั้งละ 1 ลูก พร้อมกล่าวตักบีรขณะที่ขว้างทุกๆ ลูก
2. เชือดสัตว์(หากเป็นหัจญ์แบบตะมัตตุอฺหรือแบบกิรอน)
3. สำหรับผู้ชายให้โกนศีรษะหรือตัดผมและการโกนประเสริฐกว่าแต่ถ้าเป็นผู้หญิงให้ตัดปลายผมของนางประมาณปลายนิ้วมือในเมื่อกระทำสิ่งดังกล่าว(ทั้งสาม) อนุญาติสำหรับเขาซึ่งข้อห้ามของการครองชุดอิหฺรอมทั้งหมด นอกจากการร่วมหลับนอนกับภรรยา สามารถสวมใส่เสื้อผ้า น้ำหอม และอื่นๆ จากห้ามของการครองชุดอิหฺรอม
4. กลับไปที่มักกะฮฺเพื่อทำการเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺที่บัยตุลลอฮฺ ซึ่งเป็นการเฏาะวาฟหัจญ์ หลังจากนั้นก็สะแอระหว่างภูเขาศอฟากับภูเขามัรวะฮฺ หากเป็นการประกอบพิธีหัจญ์แบบตะมัตตุอฺหรือที่ไม่ใช่แบบตะมัตตุอฺ(จะเป็นกิรอนหรืออิฟรอด)ที่ยังไม่ได้สะแอพร้อมกับเฏาะวาฟกุดูมมาก่อน ด้วยการกระทำดังกล่าวนี้ อนุญาติสำหรับเขาซึ่งข้อห้ามของการครองชุดอิหฺรอมทั้งหมดแม้กระทั่งการร่วมหลับนอนกับภรรยา
5. ให้กลับไปค้างคืนที่มีนา(คืนที่ 11 ซุลหิจญะฮฺค่ำลง)
ภารกิจวันที่สี่(วันที่ 11 ซุลหิจญะฮฺ)
1. หลังจากตะวันคล้อย(เวลาซุฮฺรี)ให้ขว้างเสาหินทั้งสามต้น(ต้นละ 7 ลูก) เริ่มจากต้นแรก(ซึ่งอยู่ใกล้กับมัสยิด ค็อยฟฺ) ต้นที่สองแล้วต้นที่สาม(ญัมเราะตุลอะเกาะบะฮฺ) พร้อมกล่าวตักบีรขณะที่ขว้างทุกๆลูก และซุนนะฮฺให้ขอดุอาอ์หลังจากขว้างเสาหินต้นแรกและต้นที่สอง
2. ค้างคืนที่มีนา(คืนที่ 12 ซุลหิจญะฮฺ)
ภารกิจวันที่ห้า(วันที่ 12 ซุลหิจญะฮฺ)
1. ขว้างเสาหินทั้งสามต้นดังเช่นที่ทำในวันที่สี่
2. ถ้าต้องการรีบออกก่อนให้รีบออกจากมีนาก่อนตะวันตกดิน(ถ้าไม่ออกก่อนตะวันตกดินจำเป็นต้องค้างคืนที่มีนาอีก) หรือไม่ก็ค้างคืนที่มีนา(คืนที่ 13 ซุลหิจญะฮฺ)
ภารกิจวันที่หก(วันที่ 13 ซุลหิจญะฮฺ) สำหรับผู้ที่อยู่ที่มินา
1. ขว้างเสาหินทั้งสามต้นดังเช่นสองวันที่ผ่านมา(วันที่สี่และห้า)
2. หลังจากนั้นก็ออกจากมีนา
และสุดท้าย ก่อนเดินทางกลับภูมลำเนาให้เฏาะวาฟวะดาอฺ (เฎาะวาฟอำลา) ซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายของการประกอบพิธีหัจญ์นอกจาก ผู้หญิงที่มีประจำเดือนที่ไม่ต้องเฏาะวาฟวะดาอฺ
โดย อ.อามีน เหมเสริม www.halalthailand.com