อุมเราะห์ (UMRAH) คือ การเดินทางไปแสวงบุญและปฏิบัติศาสนากิจที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย
อุมเราะห์ ในภาษาอาหรับ หมายถึง การเยี่ยมเยียนสถานที่พำนักของท่านศาสดา การทำอุมเราะฮ์ เป็นอีบาดัตซุนนะฮฺประการหนึ่งที่สามารถกระทำได้ ณ นครมักกะฮฺซึ่งจะประกอบด้วยกิจกรรม ครองอิฮรอม ตอวาฟ สะแอและตะหัลลู้ล (ขลิบผม) โดยจะไม่ประกอบกิจกรรมวายิบของฮัจย์ บางครั้งเรียกอุมเราะห์ว่า "ฮัจย์เล็ก"
ทัศนะของอุลามาอ์ส่วนใหญ่ทั้งสลัฟและคอลัฟ เป็นทัศนะของบรรดาซอฮาบะห์ และ บรรดาตาบีอีน คือ ท่านอาลี อิบนุอุมัร อิบนุอับบาส อานัส อาอีชะห์ ท่านอาตออ์ ตอวูส อิกรีมะห์ และ เป็นทัศนะส่วนใหญ่จากอุลามาอ์ชาฟีอีย์ ฮานาฟีย์ มาลีกีย์ ฮัมบาลีย์ กล่าวว่า : อนุญาตทำอุมเราะห์หลายครั้งโดยไม่มีเงื่อนไข ยิ่งไปกว่านั้น การทำมากกว่าหนึ่งครั้ง เป็นมุสตาฮับ (ส่งเสริมให้กระทำ)
คำถาม
ศาสนามีข้อชี้ขาดอย่างไรสำหรับผู้ที่ทำอุมเราะฮ์มากกว่าหนึ่งครั้ง และจะตอบโต้ผู้ที่กล่าวว่า อุมเราะฮ์นั้นก็เหมือนกับฮัจญ์ ซึ่งฮัจญ์จะทำได้ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น ? และหลังจากการทำฮัจญ์แล้วจะทำ อุมเราะฮ์ต่ออีกภายในเดือนซุลฮิจญะฮ์ได้หรือไม่ ?
คำตอบ
บรรดานักวิชาการส่วนมากมีทรรศนะว่า การทำอุมเราะฮ์สามารทำได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะก่อนฮัจญ์ พร้อมๆ กับฮัจญ์ หรือหลังจากการทำฮัจญ์ และการทำอุมเราะฮ์ในเดือนรอมฎอนนั้นเทียบเท่ากับการทำฮัจญ์ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
“อุมเราะฮ์ในรอมฎอนนั้นเท่ากับการทำฮัจญ์หนึ่งครั้ง”
บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์
สำหรับการทำอุมเราะฮ์ในทุกๆ การเดินทางนั้น บรรดานักวิชาการมีความเห็นดังต่อไปนี้
ทรรศนะที่หนึ่ง
ญุมฮูรุ้ลอุละมาอ์ ผู้รู้ส่วนมาก เช่น ท่านอิบนิอุมัร อิบนิอับบ๊าส ท่านหญิงอาอีซะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา รวมถึงอิมามอัชชาฟิอีย์ และอะหมัด สำหรับผู้ที่เดินทางชอบให้ทำอุมเราะฮ์ในทุกๆ การเดินทาง เนื่องจากมีหลักฐานที่เป็นรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า
“จากอุมเราะฮ์หนึ่งจนถึงอีกอุมเราะฮ์หนึ่ง เป็นการลบล้างความผิดระหว่างนั้น”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)
จากตัวบทดังกล่าวนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้พูดถึงเรื่องอุมเราะฮ์ไว้กว้างๆ โดยไม่ได้พูดถึงเรื่องของเวลาแต่ประการใด ซึ่งในกฎเกณฑ์การวินิจฉัยศาสนามีอยู่ว่า การไม่อธิบายรายละเอียดในคำพูดที่จะตีความหมายได้หลายประการ อยู่ในสถานะของความหมายกว้างๆ ที่ไม่ได้เจาะจง
สิ่งที่ยืนยันดังกล่าวคือ ท่านหญิงอาอีซะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เคยทำอุมเราะฮ์สองครั้งในเดือนเดียวกัน ครั้งแรกท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ให้เธอทำอุมเราะฮ์พร้อมกับฮัจญ์ ครั้งที่สองนางได้ทำอุมเราะฮ์จากตันอีม
ทรรศนะที่สอง
อิมามมาลิก และอุละมาอ์สลัฟบางท่าน กล่าวว่า “ไม่อนุญาตให้ทำอุมเราะฮ์สองครั้งในปีเดียวกัน” ซึ่งเป็นทรรศนะที่อิมามอิบนิตัยมียะฮ์เลือก หลักฐาน เนื่องจากบรรดาซอฮาบะฮ์ไม่มีใครทำอุมเราะฮ์มากกว่าหนึ่งครั้งในปีเดียวกัน ดังนั้น การทำเกินกว่าหนึ่งครั้งจึงเป็นสิ่งที่มักรู๊ฮ์ (ไม่ชอบให้ทำ)
ข้อโต้แย้ง หลักฐานดังกล่าวไม่น่ายอมรับ เพราะมีรายงานจากท่านอาลี ท่านอิบนิ อุมัร ท่านอิบนิ อับบ๊าส และท่านหญิงอาอิซะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ค้านกับหลักฐานดังกล่าว และการนำเอาอุมเราะฮ์ไปเปรียบเทียบกับเรื่องฮัจญ์นั้นไม่ถูกต้อง เพราะทั้งสองมีความแตกต่างกัน เนื่องจากอุมเราะฮ์สามารถปฏิบัติได้ตลอดปี แต่สำหรับฮัจญ์นั้นมีเวลาเจาะจงเฉพาะเดือนซุลฮิจญะฮ์เท่านั้น
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
“อุมเราะฮ์จนถึงอุมเราะฮ์ เป็นการลบล้างความผิดในระหว่างมัน และฮัจญ์มับรูรนั้นไม่มีสิ่งใด ตอบแทนนอกจากสวรรค์”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)
จากตัวบทดังกล่าวจะเห็นว่ามีการกล่าวถึงอุมเราะฮ์ถึงสองครั้ง แต่กล่าวถึงฮัจญ์เพียงครั้งเดียว ดังนั้น อุมเราะฮ์สามารถที่จะกระทำซ้ำได้ แต่จะต้องเป็นไปตามทุกๆ การเดินทาง คือ เดินทางเพียงครั้งเดียวก็ทำ อุมเราะฮ์เพียงครั้งเดียว เพราะไม่มีบัญญัติให้ผู้ที่เดินทางออกมายังตันอีม (ตันอีม คือ มีกอตหรือสถานที่เริ่มเหนียตครองอิห์รอม) เพื่อครองอิห์รอม และเข้าไปยังมักกะฮ์ เพื่อทำอุมเราะฮ์ซ้ำอีก
อิมามอิบนิ ก็อยยิม ได้กล่าวว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้น ขณะที่พำนักอยู่ใน มักกะฮ์เป็นเวลา 15 ปี ท่านไม่เคยที่จะเดินทางออกมายังตันอีมเพื่อครองอิห์รอม และเข้าไปยังมักกะฮ์เพื่อทำอุมเราะฮ์เลยเหมือนกับผู้คนทั้งหลายที่นิยมปฏิบัติกันขณะนี้ แต่ทว่าที่ปรากฏคือ ทุกอุมเราะฮ์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทำล้วนมาจากนอกเมืองทั้งสิ้น
ดังนั้น อุมเราะฮ์ที่ท่านนบีทำ คือ อุมเราะฮ์ของ ผู้ที่อยู่นอกเมืองมักกะฮ์ หาใช่อุมเราะฮ์จากผู้ที่อยู่ในเมืองมักกะฮ์แล้วออกมา (ครองอิห์รอมที่ตันอีม) เพื่อทำอุมเราะฮ์ก็หาไม่ และไม่มีใครในบรรดาซอฮาบะฮ์ทำเช่นนั้นเลย ยกเว้นท่านหญิงอาอิซะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา นั่นแหละ นางมีประจำเดือนก่อนที่นางจะทำฮัจญ์ ซึ่งเบื้องต้นนางเหนียตทำฮัจญ์แบบตะมัตตั๊วะอ์ แต่เมื่อประจำเดือนมา ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงสั่งใช้ให้นางทำฮัจญ์แบบกอรอน คือควบฮัจญ์กับอุมเราะฮ์
ท่านกล่าวกับนางว่า การฏอว๊าฟของนางและการสะแอจากซอฟาไปมัรวะฮ์ นับอยู่ในฮัจญ์และอุมเราะฮ์แบบกอรอนของนาง เหตุการณ์นี้ได้กระทบต่อจิตใจของท่านหญิงอาอิซะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เพราะเพื่อนๆ ของนางได้ทำอุมเราะฮ์และฮัจญ์แยกแต่ต่อเนื่อง (ตะมัตตั๊วะอ์) แต่นางกลับต้องทำฮัจญ์กับ อุมเราะฮ์ควบ ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงปลอบใจนางโดยสั่งให้พี่ชายของนาง พานางออกไปครองอิห์รอมใหม่ที่ตันลีม เพื่อทำอุมเราะฮ์ ส่วนตัวท่านนบีและบรรดาซอฮาบะฮ์ที่ไปทำฮัจญ์ครั้งนี้ไม่มีท่านใดเลยที่ออกไปทำอุมเราะฮ์ที่ตันอีมอีก¹ จึงเป็นกรณีเฉพาะท่านหญิงอาอิซะฮ์เท่านั้น
อนึ่ง ไม่เป็นที่ต้องห้ามแต่ประการใดที่จะทำอุมเราะฮ์ในเดือนซุลฮิจญะฮ์อีกครั้งหลังเสร็จสิ้นฮัจญ์ ในกรณีที่หลังฮัจญ์ได้ไปเยี่ยมมัสยิดนบี แล้ววกกลับมายังมักกะฮ์อีกครั้งหนึ่ง
ในบันทึกของท่านอิมามอัลบัยฮะกีย์ระบุว่า
“ท่านหญิงอาอิซะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เคยทำอุมเราะฮ์ ปลายเดือนซุลฮิจญะฮ์ จากญุห์ฟะฮ์”
(มีกอตของผู้ที่อยู่ในเมืองมะดีนะฮ์)
หมายความว่า ท่านหญิงอาอีซะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา หลังเสร็จสิ้นฮัจญ์แล้ว จะกลับไปมะดีนะฮ์และรอจนสิ้นเดือนซุลฮิจญะฮ์จึงจะออกมาที่มีกอตอัลญุห์ฟะฮ์ เพื่อครองอิห์รอมอุมเราะฮ์ ²
ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์
บทความที่น่าสนใจ
- ชมภาพ ทุ่งมีนา เมืองแห่งเต้นท์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
- มะกอม อิบรอฮีม ประวัติทีมา รอยเท้าทั้งสองของนบีอิบรอฮีม
- สถานที่ที่ควรไปเยี่ยม (ซิยาเราะห์) ในนครมะดีนะห์
- วิธีละหมาดสุนัตตะฮัตยุต
- ทำพิธีฮัจญ์ อนุญาตให้ล่าช้าได้หรือไม่?
- การละหมาดในยามค่ำคืน
- จ้างทำฮัจย์แทนคนที่ตายแล้วได้ไหม?
- ดุอาอฺหลังละหมาดตะฮัจญุด
- ภาพเก่า ฮุจยาตชาวไทยมุสลิม รอขึ้นเรือไปทำฮัจย์ ปี2495
- ฮัจญ์ 360 องศา หมุนเห็นภาพประกอบพิธีฮัจญ์ในสถานที่ต่างๆ สุดยอดมาก!!
- ทำไมมุสลิมต้องไปประกอบพิธีฮัจญ์?
- วิธีเนียตละหมาดตะฮัจญุด หะดีษละหมาดตะฮัจญุด อ่านสั้นหรือยาวดีกว่ากัน?
- การวุกูฟ ดุอาอ์ที่ควรอ่านขณะวุกูฟที่อะรอฟะห์
- ทำไมมุสลิมถึงกราบไหว้ตึกสีดำ