เบาหวานกับการถือศีลอด


3,203 ผู้ชม

อิสลาม อนุโลมให้ผู้ป่วยซึ่งรวมถึงเบาหวาน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร รวมถึงคนเดินทางละเว้นการถือศีลอด โดยให้ชดใช้ในภายหลัง ...


เบาหวานกับการถือศีลอด

บทความโดย: รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในโลกมีผู้ป่วยเบาหวาน 415 ล้านคน โดยเฉลี่ยผู้ใหญ่ในโลก 11 คนเป็นเบาหวาน 1 คน ผู้ป่วยที่รู้ว่าตนเองเป็นเบาหวานไม่ค่อยน่าห่วง ประเภทที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นเบาหวานซึ่งมีมากถึง 46% น่าห่วงกว่า สำหรับคนไทยในบรรดาผู้ใหญ่ร้อยคนเป็นเบาหวาน 9.6 คนหรือประมาณ 2.4 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเบาหวานประเภทที่สอง คาดกันว่าคนไทยจำนวนนี้ประมาณ 1.2 แสนคนคือมุสลิมที่มีปัญหาเบาหวาน คำถามมีว่ามุสลิมไทยเหล่านี้ควรดูแลตนเองอย่างไรหากต้องการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

อิสลาม อนุโลมให้ผู้ป่วยซึ่งรวมถึงเบาหวาน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร รวมถึงคนเดินทางละเว้นการถือศีลอด โดยให้ชดใช้ในภายหลัง หากป่วยเรื้อรังเสี่ยงต่อการถือศีลอด อิสลามยังละเว้นให้โดยใช้วิธีทำซะกาตชดเชย อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยเบาหวานจำนวนไม่น้อยประสงค์จะถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องระวังตนเองกันหน่อย ทางสถาบัน Joslin ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งต่างเชี่ยวชาญเบาหวานระดับโลกให้คำแนะนำไว้ค่อนข้างดี โดยสิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องระวังมีอยู่สองสามประการ

เบาหวานกับการถือศีลอด

ปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycaemia) ผู้ป่วยที่ถือศีลอดได้รับยาโดยได้รับอาหารน้อยกว่าปกติอาจเสี่ยงต่อปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งอาจเป็นลมหมดสติ ควรพกก้อนน้ำตาลสี่ก้อนใส่กระเป๋าเขียนหนังสือกำกับไว้ระบุว่าเป็นเบาหวาน หากผู้ใดพบขณะหมดสติขอให้ใส่น้ำตาลเข้าปาก ควรลดกิจกรรมทางกายลงระหว่างถือศีลอดเพื่อลดการใช้พลังงาน ผู้ป่วยบางรายมีเครื่องเช็คน้ำตาลในเลือด หากตรวจพบว่าตนเองมีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 mg% แนะนำให้หยุดการถือศีลอดในวันนั้น

ปัญหาน้ำตาลสูงในเลือด (hyperglycaemia) กลางวันเสี่ยงน้ำตาลในเลือดต่ำ หลังละศีลอดคนจำนวนไม่น้อยกินอาหารเหมือนงานฉลองทั้งมีมื้อดึกอีกต่างหาก กรณีผู้ป่วยเบาหวานต้องระวังการกินมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารหวานหรือขนมหวานซึ่งอาจเสี่ยงต่อปัญหาน้ำตาลสูงในเลือด เมื่อละศีลอดแล้วไม่ควรกินจุบกินจิบหรือเติมน้ำตาลหรือขนมหวาน สร้างพฤติกรรมเช่นนั้นบ่อยอาจเกิดปัญหาภาวะแทรกซ้อนได้

ภาวะขาดน้ำ (dehydration) เกิดขึ้นได้ในฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนมากเช่นในประเทศไทย แนะนำให้ป้องกันตัวโดยดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้นระหว่างเวลาค่ำหลังละศีลอด เลี่ยงหรือลดการดื่มกาแฟหรือชาซึ่งมีสารกาเฟอีน สารกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ขับปัสสาวะอาจเสี่ยงต่อการขาดน้ำในเวลาถือศีลอดได้

ข้อควรระวังคือควรรับประทานยาเบาหวานตามปกติ ปรึกษาแพทย์ประจำตัวถึงช่วงเวลาในการรับประทานยาและปริมาณยาที่ใช้ซึ่งอาจลดลง ประเด็นอินทผาลัมที่นิยมรับประทานกันสามผลช่วงละศีลอด ควรลดเหลือสองผลเนื่องจากอินทผาลัมให้น้ำตาลสูง อาจเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลสูงในเลือด

อัพเดทล่าสุด