เหตุใดมุสลิมกินร้านต่างศาสนิกไม่ได้ ทั้งที่ไม่มีหมู : islamhouses


18,529 ผู้ชม

เหตุใดมุสลิมกินร้านต่างศาสนิกไม่ได้ ทั้งที่ไม่มีหมู เพราะขั้นตอนการประกอบอาหารของมุสลิมที่ศาสนาสอนไว้มีย่อๆ ดังนี้...


เหตุใดมุสลิมกินร้านต่างศาสนิกไม่ได้ ทั้งที่ไม่มีหมู

เพราะขั้นตอนการประกอบอาหารของมุสลิมที่ศาสนาสอนไว้มีย่อๆ ดังนี้

บทบัญญัติของศาสนาอิสลามเกี่ยวกับอาหารฮาลาล >> การชำระล้างให้สะอาด

สิ่งสกปรกอันเป็นที่น่ารังเกียจตามที่ศาสนาอิสลามกำหนดไว้หรือนะยิส เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงหรือป้องกันไม่ให้ปนเปื้อนลงมาในอาหาร เนื่องจากจะทำให้อาหารสกปรก และอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้อาหารนั้นเป็นอาหารฮารอมได้ การหลีกเลี่ยงหรือป้องกันสามารถทำได้โดยการชำระล้างที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามประเภทของนะยิส ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. มุค๊อฟฟะฟะห์ (นะยิสย่อย) ได้แก่ ปัสสาวะของเด็กชายซึ่งอายุไม่ถึง 2 ขวบ ไม่ได้กินหรือดื่มสิ่งอื่นใดที่ทำให้อิ่มนอกจากน้ำนมของแม่

วิธีการชำระล้าง- ให้เช็ดหรือเอานะยิสออกเสียก่อน แล้วใช้น้ำพรมบนรอยเปื้อนนะยิสนั้นให้ทั่ว ก็ใช้ได้2. มูตาวัสซิเตาะห์ (นะยิสปานกลาง) ได้แก่ อาเจียน ปัสสาวะ อุจจาระ โลหิต น้ำหนอง น้ำเหลือง ซากสัตว์ (ยกเว้นมนุษย์ ปลา และตั๊กแตน) น้ำนมของสัตว์ที่ห้ามรับประทาน สุราและของเหลวที่ทำให้มึนเมา

วิธีการชำระล้าง- ให้เช็ดหรือเอานะยิสออกให้หมดเสียก่อน แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด โดยวิธีใช้น้ำไหลผ่าน 1 ครั้งก็ใช้ได้ แต่ถ้า 3 ครั้งจะดีกว่า สำหรับกรณีที่ไม่สามารถใช้น้ำไหลผ่านได้ เช่น ปัสสาวะบนพื้นที่ไม่มีทางไหล ให้เอาผ้าเช็ดปัสสาวะจนแห้ง นำผ้าไปซัก ให้สะอาด แล้วเอาผ้าเปียกมาเช็ดตรงรอยเปื้อนปัสสาวะ เอาผ้าไปซักให้สะอาด แล้วเอาผ้าเปียกมาเช็ดตรงรอยเปื้อนอีก ทำดังนี้ 3 ครั้ง ก็ใช้ได้ แม้ว่าปัสสาวะนั้นจะแห้งแล้ว ก็ให้ทำความสะอาดด้วยวิธี เดียวกัน3. มูฆ็อลลาเซาะห์ (นะยิสใหญ่) ได้แก่ สุนัข สุกร หรือทุกสิ่งอันเกิดจากสัตว์ทั้งสองนี้ เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ รอยเท้าที่เปียกหรือน้ำลายของมัน เป็นต้น

วิธีการชำระล้าง- ให้เช็ดหรือเอานะยิสออกให้หมดเสียก่อน แล้วใช้น้ำดินหรือน้ำดินสอพองล้างให้ไหลผ่านเป็นครั้งที่ 1 แล้วจึงเอาน้ำสะอาดล้างให้น้ำไหลผ่านอีก 6 ครั้ง รวมเป็น 7 ครั้งนอกจากวิธีการชำระล้างที่ถูกต้องกับประเภทของนะยิสแล้ว น้ำ ที่ใช้ทำความสะอาดก็จะต้องเป็นน้ำที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนาด้วย ซึ่งน้ำ ที่สามารถใช้เพื่อการชำระล้างได้อย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม มี 7 ชนิด คือ

1. น้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง น้ำประปา

2. น้ำฝน น้ำค้าง น้ำตก

3. น้ำทะเล มหาสมุทร

4. น้ำบ่อ น้ำบาดาล

5. น้ำจากหิมะหรือน้ำแข็ง

6. น้ำจากลูกเห็บ

7. น้ำจากตาน้ำ

และยังมีการแบ่งระดับความสะอาดของน้ำไว้เป็น 4 ประเภทดังนี้ คือ

1. น้ำมุตลัก (น้ำสะอาด) คือ น้ำสะอาดและชำระล้างสิ่งอื่นให้สะอาดได้ ซึ่งหมายถึง น้ำทั้ง 7 ชนิดข้างต้น

2. น้ำมูซัมมัส (น้ำสะอาดที่เปลี่ยนสภาพ) คือ น้ำสะอาดที่สามารถใช้ทำความสะอาดสิ่งอื่นๆ ได้ แต่ไม่ควรใช้ (มักโระฮ์) หากไม่จำเป็น ได้แก่ น้ำสะอาดที่อยู่ในภาชนะที่เกิดสนิมได้และถูกแดดเผาจนร้อน

3. น้ำมุสตะอ์มัล (น้ำสะอาดที่ไม่บริสุทธิ์) คือ น้ำที่สะอาด แต่ใช้ทำความสะอาดสิ่งอื่นไม่ได้ เช่น น้ำที่ถูกใช้ทำความสะอาดไปแล้ว แม้จะไม่มีการเปลี่ยนสี กลิ่น และรสก็ตาม

4. น้ำนะยิส (น้ำสกปรก) คือ น้ำที่มีนะยิสเจือปนอยู่และมีปริมาณน้ำไม่ถึง 216 ลิตร (2 กุลละห์) หรือหากมีปริมาณเกิน 216 ลิตร แต่สภาพของน้ำเปลี่ยนสี กลิ่น รส จะนำไปใช้ชำระล้างสิ่งสกปรกมิได้ (ในส่วนของปริมาณน้ำ 2 กุลละห์นี้ เมื่อเทียบเป็นลิตร แหล่งข้อมูลต่างๆ มีการให้ตัวเลขที่แตกต่างกันออกไปดังนี้ คือ 193 200 และ 216 ลิตร)


ดังนั้นจึงมีข้อพึงระวังเกี่ยวกับการทำความสะอาดโดยการชำระล้างดังต่อไปนี้ คือ1. สิ่งสกปรก (นะยิส) และวิธีทำความสะอาดตามบัญญัติอิสลาม มีความแตกต่างจากความรู้สึกของคนทั่วไป2. น้ำที่ใช้ชำระล้างสิ่งสกปรก (นะยิส) จะต้องเป็นน้ำสะอาดตามบัญญัติอิสลาม3. วิธีชำระล้างสิ่งสกปรก (นะยิส) แต่ละประเภทมีกฎเกณฑ์เฉพาะซึ่งต่างจากวิธีการทั่วไป เช่น จำนวนครั้งของการล้าง น้ำต้องไหลผ่าน หรือ การใช้น้ำดิน เป็นต้น4. ต้องระวังอย่าให้นะยิสตกลงไป หรือใช้ภาชนะที่เปื้อนนะยิสตักน้ำที่ใช้ทำความสะอาด เพราะจะทำให้น้ำนั้นเป็นน้ำนะยิส

ตัวอย่างของการแยกเอาหรือล้างนะยิสที่ปนเปื้อนออก และการล้างวัตถุดิบและภาชนะประกอบอาหาร อย่างถูกต้องมีดังต่อไปนี้

1. การแยกเอาหรือล้างนะยิสที่ปนเปื้อนออก

1.1 การปนเปื้อนนะยิสในภาชนะ เสื้อผ้า หรือ สถานที่ หากนะยิสมิได้ปนเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งที่มัน ปนเปื้อนให้กำจัดโดยการเอาหรือ เช็ดนะยิสออกให้หมด จากนั้นจึงล้างตามหลักการของอิสลามดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ข้างต้น

1.2 ในกรณีที่นะยิสแห้งปนเปื้อนลงในอาหารแห้งที่สามารถตักออกได้ ให้ตักอาหารส่วนนั้นออก เช่น มูลจิ้งจกหรือมูลแมลงสาบตกลงในข้าวสาร ให้ตักมูลนั้นออกและทิ้งข้าวสารเฉพาะ ในส่วนที่เปื้อนมูลนั้น ไม่จำเป็นต้องทิ้งข้าวสารทั้งหมด

1.3 หากนะยิสปนเปื้อนเข้าไปในเนื้ออาหารแล้วให้ทิ้งอาหารนั้นทั้งหมด ยกเว้นกรณีของน้ำที่มีปริมาตรมากกว่า 216 ลิตร และการปนเปื้อนของนะยิสไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสี กลิ่น และรสของน้ำ น้ำนั้นจะไม่ถือว่าเป็นน้ำนะยิส เนื้อสัตว์ต้องกล่าวนามอัลลอฮฺ เช่นไก่หรือ วัว

2. การล้างเนื้อสัตว์

2.1 ให้หั่น หรือสับ เป็นขนาดที่ต้องการจะปรุงหรือหั่นเป็นก้อนพอประมาณก่อน จึงจะนำมาทำการล้าง การล้างเนื้อสัตว์ทั้งก้อนหรือทั้งตัวก่อนจะนำมาหั่นหรือสับ ทำให้มีเลือดติดค้าง ถือเป็นนะยิส* ในกรณีที่จะสับเนื้อสัตว์ให้ละเอียด ให้หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาล้างก่อนที่จะทำการสับ

2.2 สัตว์ประเภทไก่ เป็ด หรือนก เมื่อเอาเครื่องในออกแล้ว ให้ดึงหลอดลม หลอดอาหาร ปอด และเมือกเหนียวๆ ที่อยู่ข้างปีกออกด้วย

2.3 สัตว์ประเภทปลา ให้ขอดเกล็ด หรือขูดเมือกออกให้สะอาด แล้วผ่าท้องเอาเครื่องในออกให้หมดเสียก่อน จึงจะนำมาหั่นหรือสับเป็นชิ้น

2.4 สัตว์ประเภทหอย ปู ถ้าจะนำมาประกอบอาหารทั้งเปลือก ให้ทำความสะอาดเปลือก จนแน่ใจว่าสะอาดแล้วเสียก่อน

2.5 สัตว์ประเภทกุ้ง ให้ตัดส่วนที่แหลมออก แล้วผ่าหลังดึงเส้นดำทิ้งเสียก่อน

2.6 นำเนื้อสัตว์ใส่ในภาชนะที่มีรู (ตะแกรง หรือ กระชอน) และทำการล้างให้เลือดหรือสิ่งสกปรกออกให้หมด

2.7 เปิดน้ำหรือราดน้ำใส่เนื้อสัตว์ในภาชนะนั้นอีกครั้ง ให้น้ำชะล้างให้ทั่วและไหลผ่านออกจากภาชนะนั้น หรือเรียกว่าล้างน้ำเดิน

2.8 นำเนื้อสัตว์ที่ล้างแล้วตั้งให้สะเด็ดน้ำ อย่านำไปใส่ในภาชนะที่ไม่มีรู เพราะน้ำที่จะไหลออกมาขังอยู่นั้น คือ นะยิส เมื่อสัมผัสกับเนื้อสัตว์ก็จะทำให้เนื้อสัตว์เป็นนะยิสไปด้วย

* ข้อควรระวัง การนำเนื้อสัตว์แช่แข็งไปแช่น้ำ เพื่อให้เนื้อสัตว์นั้นอ่อนตัว ไม่ถือเป็นการล้าง และน้ำนั้นไม่สามารถนำมาทำการล้างเนื้อสัตว์ได้อีก เพราะได้มีการปนเปื้อนนะยิสแล้ว

3. การล้างผัก

3.1 ให้ล้างเศษดินที่ติดมากับผักออกให้หมดเสียก่อน จึงจะทำการคัดส่วนที่ไม่ต้องการออก แล้วล้างโดยแกะออกเป็นใบๆ ก่อน และล้างโดยเปิดก๊อกน้ำเบาๆ หรือถ้าไม่มีก๊อกน้ำให้ล้างในภาชนะปิดใดๆ ก็ได้

3.2 นำผักที่ล้างตามข้อ3.1 แล้วประมาณ 2 ครั้ง มาแช่เกลือ ด่างทับทิม หรือน้ำส้มสายชูอย่างใดอย่างหนึ่งประมาณ 15 นาที (เพื่อเจือจางสารพิษตกค้าง

3.3 นำผักที่หั่นแล้วใส่ในภาชนะที่มีรู (ตะแกรง หรือ กระชอน) เปิดน้ำหรือราดน้ำใส่ผักในภาชนะนั้น ให้น้ำชะล้างให้ทั่วและไหลผ่านออกไป

3.4 นำผักที่ล้างแล้วตั้งให้สะเด็ดน้ำ อย่านำไปใส่ในภาชนะที่ไม่มีรู เพราะน้ำที่จะไหลออกมาขังอยู่นั้นคือ นะยิส เมื่อสัมผัสกับผักก็จะทำให้เป็นนะยิสไปด้วย

* ข้อควรระวัง การล้างผักที่มีกลีบใบเป็นชั้นๆ เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำ ให้แกะกลีบใบแต่ละกลีบ ออกเสียก่อน คัดส่วนที่ไม่ต้องการทิ้งไป แล้วจึงนำมาทำการล้างตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมาแล้ว การแช่ผักที่หั่นแล้วนานๆ จะทำให้เสียคุณค่าทางโภชนาการ และถ้าแช่ผักนานๆ ก่อนการล้างกลับจะทำให้สารเคมีซึมเข้าไปในผักได้มากขึ้น

4. การล้างภาชนะในการประกอบอาหาร

4.1 ให้เช็ดเศษอาหารที่ติดอยู่กับภาชนะออกให้หมดเสียก่อน แล้วนำมาล้างด้วยน้ำสะอาด 1 ครั้ง

4.2 ใช้น้ำยาล้างภาชนะล้างให้ทั่ว แล้วล้างออกด้วยน้ำที่สะอาดจนแน่ใจว่าภาชนะนั้นสะอาด

4.3 เปิดน้ำหรือราดน้ำให้น้ำไหลผ่านให้ทั่ว แล้วนำไปคว่ำหรือใส่ในภาชนะที่น้ำไหลออกได้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขัง ทำให้ภาชนะนั้นเปรอะเปื้อนได้อีก

4.4 กรณีที่ภาชนะผ่านการใช้กับเนื้อสุกรหรือผลิตภัณฑ์จากสุกรมาก่อน ให้ทำการล้างด้วยน้ำดิน หรือน้ำดินสอพอง โดยวิธีให้น้ำไหลผ่าน 1 ครั้งก่อน จากนั้นจึงล้างด้วยน้ำสะอาดโดยวิธีให้น้ำไหลผ่านอีก 6 ครั้ง รวมเป็นการล้างด้วยวิธีให้น้ำไหลผ่านทั้งหมด 7 ครั้ง

นี่คือสาเหตุที่มุสลิมกินร้านต่างศาสนิกไม่ได้ ทั้งที่ไม่มีหมู เพราะขั้นตอนการประกอบอาหารเขาไม่ฮาลาล

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อิศรา โต๊ะการิม

ภาพจากอินเทอร์เน็ต

https://islamhouse.muslimthaipost.com/

เรื่องที่น่าสนใจ