เมื่อเรามีความรู้สึกทางเพศแต่เรายังไม่มีสามี จึงช่วยเหลือตัวเอง (หมายถึงการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง) อยากทราบว่าจะต้องอาบน้ำยกฮะดัษหรือไม่คะ?
มุสลิมสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ต้องอาบน้ำยกฮะดัษหรือไม่? (อายมากที่จะถาม)
ถาม: เมื่อเรามีความรู้สึกทางเพศแต่เรายังไม่มีสามี จึงช่วยเหลือตัวเอง (หมายถึงการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง) อยากทราบว่าจะต้องอาบน้ำยกฮะดัษหรือไม่คะ?
ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน
หะดีษบทหนึ่งกล่าวว่า :
“บุคคลที่แต่งงานด้วยมือของเขา (หมายถึง บุคคลที่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง) ถูกสาปแช่ง” หนังสือคุลาเศาะตุลบัดริลมุนีรฺ ลําดับหะดีษที่ 1545 สถานะของหะดีษข้างต้นถือว่า เฎาะอีฟ
อีกหะดีษบทหนึ่งมีความหมายว่า
“บุคคล 7 ประเภทที่พระองค์อัลลอฮฺไม่ทรงมองพวกเขา และไม่ทำให้พวกเขาเกิดความบริสุทธิ์ในวันกิยามะฮฺ และพระองค์จะกล่าว (แก่พวกเขา) ว่า พวกท่านจงเข้าไปยังไฟนรกพร้อมกับกลุ่มชนที่เข้านรกเถิด (บุคคลทั้งเจ็ดคือ) ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ (หมายถึงผู้ชายที่ร่วมเพศกับผู้ชายด้วยกัน), บุคคลที่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง,บุคคลที่ร่วมเพศกับผู้หญิงและร่วมเพศกับลูกสาวของนาง บุคคลที่ทำซินากับภรรยาของเพื่อนบ้านของเขา, บุคคลที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้านจนกระทั่งเพื่อนบ้านต้องสาปแช่งเขา”
บันทึกโดย อิบนุบุชรอน หะดีษข้างต้นถือว่า เฎาะอีฟ (หนังสือ สิลสิละตุลอะหาดีษิฎเฎาะอีฟะฮฺวัลเอาฎูอะอฺ เล่ม 1 หน้า 490)
สรุป หะดีษทั้งสองข้างต้นไม่สามารถนำหยิบยกมาเป็นตัวบทอ้างอิงว่าด้วยการห้ามมุสลิมสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง อีกทั้งไม่พบหะดีษบทอื่นจากนี้ว่าด้วยการห้ามกระทำเช่นนั้น เมื่อไม่พบหลักฐานจากหะดีษ จำเป็นจะต้องอาศัยการวินิจฉัยจากบรรดานักวิชาการว่าพวกเขามีความเห็นเป็นอย่างไรเกี่ยวกับมุสลิมสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง
การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง นักวิชาการมีทัศนะแตกต่างกันดังนี้
- ถือว่าเป็นการกระทำที่ต้องห้าม (หะรอม) อย่างเด็ดขาด
- ถือว่าเป็นการกระทำที่ต้องห้ามในบางกรณี และบางกรณีถือว่าจำเป็น (วาญิบ) จะต้องกระทำ
- ถือว่าเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ (มักรูฮ)
ทัศนะแรก
การสำเร็จความใคร่ด้วยมือถือว่า เป็นการกระทำที่ต้องห้าม ซึ่งเป็นทัศนะของกลุ่มที่ยึดแนวทางของอิมามมาลิกีย์, ชาฟิอีย์ และซัยดียะฮฺ โดยพวกเขาอ้างหลักฐานจากคัมภีร์อัลกุรอานที่ว่า
“และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษาอวัยวะเพศของพวกเขา (ไม่ละเมิดประเวณี) เว้นแต่บรรดาภรรยาของเขาหรือที่มือขวาของพวกเขาครอบครองไว้ (ทาสี หมายถึงทาสเพศหญิง) แท้จริงพวกเขาจะไม่ถูกตำหนิ ฉะนั้น บุคคลใดที่แสวงหาอื่นจากนั้น ชนเหล่านั้นแหละพวกเขาคือบรรดาผู้ที่ละเมิด” (ซูเราะฮฺอัล-มุอฺมินูน : 5-7)
นักวิชาการที่เห็นด้วยกับทัศนะแรกอธิบายว่า เมื่อคัมภีร์กล่าวถึงให้รักษาอวัยวะเพศของตนเอง คือการไม่ละเมิดประเวณี (ซินา) นอกจากอนุญาตให้ร่วมประเวณีกับภรรยาของตนเองหรือทาสี เท่านั้น ซึ่งอัลกุรอานมิได้กล่าวว่า อนุญาตให้ร่วมประเวณีกับภรรยาของตนเอง, ทาสี หรือด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยมือของตนเอง ดังนั้นการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองจึงไม่อนุญาตให้กระทำโดยเด็ดขาด
ทัศนะที่สอง
การสำเร็จความใคร่ด้วยมือถือว่าต้องห้าม (หะรอม) ในบางกรณี และจำเป็น (วาญิบ) ในบางกรณี ซึ่งเป็นทัศนะที่ยึดตามแนวทางของ อิมามหะนะฟีย์ พวกเขาให้เหตุผลว่า
“จำเป็นจะต้องสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในกรณีที่เกิดความหวาดกลัวว่าตนเองจะต้องถลำพลั้งพลาด ไปสู่การละเมิดประเวณี (การทำซินา) โดยยึดกฎเกณฑ์ที่ว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการทำซินาซึ่งเป็นบาปใหญ่”
พวกเขากล่าวเสริมอีกว่า “หากการสำเร็จความใคร่เป็นไปเพื่อตอบสนองอารมณ์ทางเพศ หรือกระตุ้นให้อารมณ์ทางเพศเกิดฟุ้งซ่านถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม), ส่วนกรณีที่ต้องการจะระงับอารมณ์ทางเพศหากว่าเขายังมิได้แต่งงาน เช่นนั้น การสำเร็จความใคร่ของเขาถือว่าอนุญาต เพราะวางอยู่บนพื้นฐานของการระงับอารมณ์ทางเพศมิให้เกิดฟุ้งซ่าน”
อนึ่ง กลุ่มของหานาบิละฮฺมีทัศนะว่า “การสำเร็จความใคร่ ด้วยตนเองถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้นในกรณีบุคคลหนึ่งกลัวว่าตนเองจะถลำไปสู่การทำซินา หรือในกรณีที่บุคคลหนึ่งยังมิได้แต่งงานหรือไม่สามารถแต่งงานได้ แต่กลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังกล่าวข้างต้นถือว่าอนุญาตให้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองได้”
ทัศนะที่สาม
การสำเร็จความใคร่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจแต่ไม่มีบาปอันใด เนื่องจากบุคคลหนึ่งที่สัมผัสอวัยวะเพศของเขาด้วยมือซ้าย ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติ ดังกล่าวนี้เองปวงปราชญ์ในทัศนะนี้จึงเห็นพ้องต้องกันว่า เมื่ออนุญาตให้จับอวัยวะเพศได้ การทำให้น้ำอสุจิหลั่งออกมา จึงไม่ใช่สิ่งต้องห้ามแต่ประการใด ดังที่พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
“ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงแจกแจงแก่พวกท่านถึงสิ่งซึ่งพระองค์ทรงห้ามแก่พวกท่าน” (ซูเราะฮฺ อัลอันอาม : 119)
เช่นนั้นแล อัลกุรอานมิได้กล่าวถึงการห้ามสำเร็จความใคร่ พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้อีกว่า “สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหมด ถูกสร้างไว้สำหรับพวกท่าน” (ซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ : 29) ดังนั้นนักวิชาการกลุ่มนี้จึงเห็นว่า สำเร็จความใคร่จึงอยู่ในสถานะมักรูฮ (น่ารังเกียจ) เท่านั้น
อนึ่ง มีรายงานมาถึงพวกเราว่า ผู้คนกล่าวถึงเรื่องการสำเร็จความใคร่ โดยกลุ่มชนหนึ่งมีทัศนะว่า น่ารังเกียจ (มักรูฮ) และบางกลุ่มก็กล่าวว่าเป็นสิ่งอนุมัติ
บุคคลที่มีทัศนะว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองถือว่า น่ารังเกียจนั้น อาทิเช่น ท่านอิบนุ อุมัร และท่านอะฎออ์
บุคคลที่มีทัศนะว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองถือว่าอนุญาตให้กระทำ อาทิเช่นท่านอิบนุ อับบาส, ท่านหะสัน และ ผู้อาวุโสบางท่านจากบรรดาตาบิอีน (กลุ่มชนที่ทันพบเศาะหาบะฮฺ แต่ไม่ทันพบท่านรสูล (ซ.ล.) )
ส่วนท่านมุญาฮิดมีทัศนะว่า “บุคคลใดที่สำเร็จความใคร่ในช่วงวัยหนุ่มของเขา เขาจะต้องขออภัยโทษต่อพระองค์จากสิ่งดังกล่าว และการสำเร็จความใคร่ของสตรีมีบทบัญญัติเช่นเดียวกับการสำเร็จความใคร่ของผู้ชาย” (หนังสือ ฟิกฮุสสุนนะฮฺ เล่ม 2 หน้า 434-436)
สรุป
ประการแรก : การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองไม่พบข้อห้ามจากคัมภีร์อัลกุรอาน และจากหะดีษเศาะหี้หฺของท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.)
ประการที่สอง : ครั้นเมื่อไม่พบตัวบทจากอัลกุรอานและหะดีษเศาะหี้หฺ จำเป็นจำต้องมีการพิจารณาว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺ และปวงปราชญ์มีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผลที่ได้รับมีความเห็นแบ่งออกเป็น 3 ทัศนะอันได้แก่ (1) ถือว่าต้องห้าม (หะรอม), (2) ต้องห้ามบางเวลา และอนุญาต (มุบาห) บางเวลา, (3) ถือว่ามักรูฮ (น่ารังเกียจ) เมื่อมีถึงสามทัศนะ ผู้อ่านสามารถใช้วิจารณญาณในการเลือกนำมาปฏิบัติ ส่วนผู้เขียนเห็นด้วยต่อทัศนะที่ว่า บางเวลาต้องห้าม และบางเวลาเป็นที่อนุญาต เพราะบางคนยังมิได้แต่งงานแต่มีความต้องการทางเพศ หรือเป็นบุคคลที่มีความต้องการทางเพศสูงโดยไม่สามารถระงับอารมณ์ทางเพศของตนเองได้ ซึ่งอาจถึงขั้นไปกระทำซินากับเพศตรงข้าม กรณีเช่นนี้อนุญาตให้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง เพื่อระงับอารมณ์ดังกล่าว
ส่วนกรณีที่ไม่มีเป้าหมายเพื่อระงับอารมณ์ทางเพศของตนเอง แต่ต้องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองโดยให้เหตุผลว่าสนุก, ไม่รู้จะทำอะไรดี หรือดีกว่าอยู่ว่าง ๆ เช่นนี้เป็นต้น การสำเร็จความใคร่ของเขาถือว่าต้องห้าม
อนึ่ง ศาสนาอิสลามมักจะมีทางออกในทุก ๆ เรื่องเสมอซึ่งไม่เว้นแม้แต่เรื่องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง อันดับแรกหากมีความต้องการทางเพศศาสนาส่งเสริมให้แต่งงาน หากไม่มีความสามารถจะแต่งงานได้ เช่นนั้นก็ให้ถือศีลอด เพื่อระงับอารมณ์ทางเพศ
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“โอ้บรรดาวัยรุ่นเอ๋ย บุคคลใดในหมู่พวกท่านมีความสามารถจะแต่งงาน เช่นนั้นเขาก็จงแต่งงานเถิด เพราะการแต่งงานนั้นทำให้ลดสายตาลงต่ำ และทำให้อวัยวะเพศเกิดความบริสุทธิ์ (จากการทำซินา) ส่วนบุคคลใดที่ไม่สามารถจะแต่งงานได้ (ด้วยสาเหตุใดก็ตาม) เช่นนั้นการถือศีลอดจำเป็นสำหรับเขา ทั้งนี้ (การถือศีลอด) จะช่วยป้องกันเขา (มิให้ถลำสู่การทำซินา)”
(บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 4677, มุสลิม หะดีษที่ 2485, ติรมิซีย์ หะดีษที่ 1001, นะสาอีย์ หะดีษที่ 2208, อบูดาวูด หะดีษที่ 1750, อิบนุมาญะฮฺ หะดีษที่ 1835, อะหมัด หะดีษที่ 3411 และอัดดาริมีย์ หะดีษที่ 2071)
หากถือศีลอดแล้วยังไม่สามารถระงับอารมณ์ทางเพศของตนเองได้ เช่นนี้แหละจึงค่อยมาสู่ประเด็นที่ว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้หรือไม่ได้อย่างไรนั้นเป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งประเด็นว่าอนุญาตให้กระทำได้หรือไม่ได้นั้น ผู้เขียนนำเสนอมาแล้วก่อนหน้านี้
กรณีที่ผู้ถามได้ถามว่า “หากสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองแล้ว จะต้องอาบน้ำญะนาบะฮฺ (ภาษาชาวบ้านเรียกว่าอาบน้ำยกหะดัษ) หรือไม่?
คำตอบคือ จำเป็น (วาญิบ) จะต้องอาบน้ำญะนาบะฮฺ หากน้ำอสุจิ (มะนีย์) ของเพศชายหรือเพศหญิงหลั่งออกมา ไม่ว่าจะเป็นการหลั่งน้ำอสุจิอันเนื่องมาจากการฝัน, การร่วมเพศ หรือทำให้ออกมาเองก็ตาม
ท่านอุมมุ สะละมะฮฺกล่าวว่า ท่านอุมม สุลัยม์กล่าวถามท่าน นบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ว่า “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺมิทรงละอายเกี่ยวกับเรื่องสัจธรรม เช่นนี้แล้วสตรีจะต้องอาบน้ำญะนาบะฮฺหรือไม่หากนางเกิดฝัน (เปียก)? ท่านนบี (ซ.ล.) ตอบว่า ต้องอาบน้ำ หากว่านางเห็นน้ำอสุจิของนาง, นางอุมมุ สุลัยม์จึงปิดหน้าของนาง (หะดีษที่บันทึกโดยอะหมัด กล่าวว่า นางอุมมุ สุลัยม์ ถึงกับหัวเราะออกมาเมื่อได้ยินว่าสตรี มีการฝันเปียกด้วย) (เนื่องจากนางอายต่อคำตอบของท่านนบี (ซ.ล.) ) แล้วนางจึงถามต่ออีกว่า โอ้ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ สตรีมีการฝัน (เปียก) ด้วยหรือ? ท่านนบี (ซ.ล.) ตอบว่า ถูกต้องแล้ว มิเช่นนั้น ลูกของสตรีท่านนั้นจะมีใบหน้าละม้ายคล้ายนางได้อย่างไรกัน”
(บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 127, มุสลิม หะดีษที่ 471, ติรมิซีย์ หะดีษที่ 113, นะสาอีย์ หะดีษที่ 196, อิบนุมาญะฮฺ หะดีษที่ 592, อะหมัด หะดีษที่ 25397 และมาลิก หะดีษที่ 106)
ที่มา: หนังสือเธอไม่อายที่จะถาม โดย อ.มุรีด ทิมะเสน / islamhouse.muslimthaipost.com
http://islamhouse.muslimthaipost.com/article/23572
- อิสลามสามีภรรยาที่อาบน้ำร่วมกัน มีข้อดีอย่างไร?
- ชีวิตคู่ อิสลาม แต่งแล้วต้องเชื่อฟังแม่สามีเสมือนแม่เราหรือเปล่าคะ?
- สาวหลงรักชาย อิสลามแนะนำให้ทำอย่างไร
- อิสลามอนุญาตให้มีเมียเพิ่มได้ แต่ต้องเลือกคนเดียว ได้หรือไม่?
- ทางออกของผู้หญิงมุสลิมเมื่อต้องคุยกับผู้ชาย
- สามีไม่จ่ายนัฟเกาะฮฺ ศาสนาว่าอย่างไร?
- ไม่แต่งงานเพราะ..ไม่ชอบชายมีเมียหลายคน ตามหลักอิสลามผิดหรือไม่?
- ฮาดิษ ว่าด้วยเรื่องชายหญิงอยู่ด้วยกันลำพัง สองต่อสอง
- แอบรักใครสักคนหนึ่ง ถือว่าผิดหลักอิสลามหรือไม่?
- เทคนิคการหักคานทอง ที่หญิงมุสลิมควรทราบ
- ข้อปฏิบัติก่อน - หลังการมีเพศสัมพันธ์ ควรทำอย่างไร?