10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนท่านนบี ซ.ล. ทำอะไร ?


13,517 ผู้ชม

ขอนำเสนอให้ได้ทราบถึงศาสนกิจที่ท่านนบี ซ.ล. เตรียมพร้อมเพื่อปฏิบัติในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฏอน


10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนท่านนบี ซ.ล. ทำอะไร ?

ขอนำเสนอให้ได้ทราบถึงศาสนกิจที่ท่านนบี ซ.ล. เตรียมพร้อมเพื่อปฏิบัติในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฏอน

อะไรบ้างที่นบี ซ.ล. เตรียมตัวปฏิบัติ

อะไรบ้างที่จะต้องปฏิบัติ

สิ่งที่ประเสริฐสุดใน 10 คืนสุดท้ายคืออะไร ?

ท่านนบี ซ.ล. ทำอิบาดะห์อะไรเป็นพิเศษเฉพาะ 10 คืนสุดท้าย

ทั้งหลายทั้งปวง คือ สิ่งน่ารู้ทั้งสิ้น และเป็นแบบฉบับที่ท่านนบีมูฮัมหมัด ซ.ล. ได้ทำไว้ให้เราเจริญรอยตามอย่างเป็นรูปธรรมทั้งสิ้น

10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนท่านนบี ซ.ล. ทำอะไร ?

สิ่งที่ท่านนบี ซ.ล. เตรียมตัวปฎิบัติในช่าง 10 คืนสุดท้ายของรอมฎอน

ท่านหญิงอาอิซะห์ได้เล่าให้ฟังถึงการจัดเตรียม การเตรียมตัวเป็นพิเศษ เพื่อต้อนรับ 10 คืนสุดท้าย เมื่อเวลาใกล้เข้ามาว่า

قالت عائشة : كان رسول الله صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إذا دخل العشر ، شد مئزره ، وأحيا ليله ، وأيقظ أهله . [ متفق عليه]

“ เมื่อ 10 คืนสุดท้ายได้มาถึง ท่านร่อซูล ซ.ล. จะทำร่างกายให้กระฉับกระเฉง ทำให้กลางคืนมีชีวิตชีวา และจะปลุกคนในครอบครัวให้ลุกขึ้นมา ” บันทึกโดยบุคคอรีและมุสลิม

อีกรายงานหนึ่งซึ่งมีความหมายเดียวกันกล่าวว่า

أحيا الليل ، وأيقظ أهله ، وجدَّ ، وشدَّ المئزر 

“ ท่านทำให้กลางคืนมีชีวิตชีวา ปลุกคนในครอบครัว ขยันขันแข็ง และทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉง “

และมีอีกรายงานหนึ่งบันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ว่า

كان النبي يجتهد في العشر الأواخر ما لا يجتهد في غيره 

“ ปรากฏว่าท่านนบี ซ.ล.จะขยันขันแข็งเป็นพิเศษในช่วง 10 คืนสุดท้าย ซึ่งไม่เห็นท่านขยันอย่างนี้ในคืนก่อนๆ “

จึงชี้ให้เห็นถึงความประเสริฐของช่วง 10 คืนสุดท้ายในเดือนรอมฏอน ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะรอมฏอนได้เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายแล้ว จึงต้องขยันเป็นพิเศษ ซึ่งก็เป็นพระกรุณาของพระองค์อัลลอฮ ตะอาลา ที่มีต่อประชาชาติของเรานี้ เพื่อให้ผู้คนได้รู้ว่า การทำความดีทั้งหลายจะหมดแล้ว จะทำอะไรดีๆก็รีบทำเสีย มัวแต่ชักช้าอยู่จะเสียการ

ท่านอิบนุร่อญับ (ขออัลลอฮทรงเมตตา) กล่าวสรุปเรื่องดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

ท่านนบี ซ.ล. ได้เลือกทำอะมัลอิบาดะฮหลายอย่างจำเพาะในช่วง 10 คืนสุดท้าย ซึ่งไม่ปรากฏว่าเคยเห็นท่านทำอย่างนี้ในค่ำคืนอื่นๆ อะมั้ลอิบาดะฮที่กล่าวถึงก็คือ

1. การทำให้ค่ำคืนมีชีวิตชีวา

หมายถึง ทำกลางคืนให้เหมือนกลางวัน ไม่หลับนอนทั้งคืน มีฮะดีษที่รายงานโดยท่านหญิงอาอิซะห์ กล่าวว่า

كان النبي صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بخلط العشرين بصلاة ونوم ، فإذا كان العشر – يعني الأخير – شمَّر وشد المئزر . [ أحمد ]

“ ปรากฏว่าในช่วง 20 คืนแรกของเดือนรอมฏอน ท่านนบี ซ.ล. จะละหมาดด้วย และพักผ่อนนอนหลับด้วย แต่เมื่อถึง 10 คืนหลัง คือช่วงสุดท้าย ท่านจะมีความกระฉับกระเฉง กระชับเสื้อผ้า เพื่อให้คล่องตัวในการทำอิบาดะฮมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “ บันทึกโดยอิหม่ามอะห์หมัด

แต่ถ้าจะไม่ตื่นมาทำอิบาดะห์ทั้งคืนก็ไม่ผิด เพราะมีฮะดิษบอกไว้ดังนี้ รายงานโดยท่านหญิงอาอิซะฮ กล่าวว่า

ما أعلمه ص قام ليلة حتى الصباح .

“ ฉันไม่เคยรู้ว่ามีคืนใดที่ท่านนบีขึ้นมาละหมาดทั้งคืน จนถึงเวลาละหมาดซุบฮิเลยสักคืนเดียว “ บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม

2. การปลุกให้ครอบครัวหรือคนในบ้านขึ้นมาละหมาด

ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ท่านทำในช่วง 10 คืนสุดท้าย โดยเฉพาะค่ำคืนที่เป็นจำนวนคี่ เช่น คืนที่ 23 - 25 – หรือคืนที่ 27 ที่เรามักเรียกว่า ค่ำ 27 เป็นต้น ท่านนบี ซ.ล. จะเน้นมากเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสที่จะเป็นคืนลัยละตุ้ลก็อดริ

นักวิชาอีกท่านหนึ่ง คือ ท่านอัตต็อบรอนี ได้นำเสนอเกี่ยวกับ เรื่องการปลุกคนในบ้านให้ขึ้นละหมาด โดยนำคำบอกเล่าของท่านอิหม่ามอาลีมานำเสนอดังนี้

أن النبي صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كان يوقظ أهله في العشر الأواخر من رمضان ، وكل صغير و كبير يطيق الصلاة

อิหม่ามอาลี (ร.ด.) บุตรเขยท่านนบี เล่าถึงท่านนบี ซ.ล. ว่า ”ท่านนบี ซ.ล. จะลุกขึ้นมาปลุกครอบครัวให้ขึ้นมาละหมาดเมื่อถึง 10 คืนสุดท้ายของรอมฏอน ปลุกทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่สามารถละหมาดได้ “
นอกจากนั้นยังมีรายงานที่ศอเฮี๊ยฮฺบอกว่า มีอยู่คืนหนึ่ง ท่านนบี ซ.ล. ได้เคาะประตูเรียกท่านหญิงฟาตีมะห์และท่านอาลี และบอกว่า “นี่เธอทั้งสองคนจะไม่ลุกขึ้นมาละหมาดดอกหรือ” บันทึกโดยบุคอรี และมุสลิม

ยังมีรายงานที่บอกว่า เมื่อท่านบนีละหมาดตะฮัจญุด ขณะจะขึ้นละหมาดวิตร ท่านก็หันไปปลุกให้ท่านหญิงอาอิซะห์ผู้เป็นภรรยาให้ขึ้นมาละหมาด

สำหรับบรรดาสาวกของท่านนบี ซ.ล. ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน ดูตัวอย่างได้จากการกระทำของเคาะลีฟะฮฺอุมัร ท่านจะละหมาดกลางคืนถึงครึ่งคืนเห็นจะได้ แล้วจึงค่อยปลุกครอบครัวให้ขึ้นละหมาด แล้วยังสอนด้วยว่า ต้องละหมาดซิ เพราะพระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้ว่า 

“และเจ้าจงใช้ให้ครอบครัวของเจ้าให้ทำละหมาด และจงอดทนที่จะปฏิบัติให้สม่ำเสมอ” (ตอฮา / 132)

3. การทำตัวให้กระฉับกระเฉง หรือที่เราพูดกันว่า มีความฟิต

ในฮะดิษใช้คำว่า ชัดดุ้ลมิซัร บางคนก็ให้ความหมายของคำๆนี้ว่า เตรียมความพร้อม หรือทำให้ร่างกายมีความฟิต กระฉับกระเฉง บ้างก็ว่าหมายถึง การกระชับเสื้อผ้าให้ดูกระฉับกระเฉง บอกให้รู้ว่าเตรียมพร้อม แต่ความหมายที่แท้จริง ที่ถูกต้องตามที่อุละมาส่วนใหญ่ให้ไว้ คือ “การไม่หลับนอนกับภรรยา” โดยอ้างหลักฐานประกอบจากฮะดิษซึ่งรายงานโดยท่านหญิงอาอิซะฮที่นางได้กล่าวว่า

كان النبي صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ غلباً ما يعتكف العشر الأواخر ، والمعتكف ممنوع من قربان النساء 

ส่วนใหญ่ท่านนบี ซ.ล. เอี๊ยะติกาฟ ในช่วง 10 คืนสุดท้าย และการ เอี๊ยะติกาฟ ในช่วง 10 คืนนั้น ก็จะนอนกับภรรยาไม่ได้ เพราะจะทำให้การเอี๊ยะติกาฟใช้ไม่ได้ อีกทั้งท่านนบี ซ.ล. ยังทำการเอี๊ยะติกาฟเกือบทุกปี เพราะฉะนั้นความหมายของ ซิดดัลมิซัร ก็คือ การไม่หลับนอนกับภรรยา

10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนท่านนบี ซ.ล. ทำอะไร ?

4. เลื่อนเวลาละศีลอดออกไปจนถึงเวลารับประทานอาหารซะโฮรฺ

มีฮะดิษที่เป็นหลักฐานประกอบดังนี้

كان رسول الله صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إذا كان رمضان قام ونام ، فإذا دخل العشر شد المئزر ، واجتنب النساء ، واغتسل بين الأذانين ، وجعل العشاء سحوراً 

ท่านหญิงอาอิซะฮและท่านอานัส รายงานว่า ปรากฏว่าท่านรซูล ซ.ล. เมื่อถึงเดือนรอมฏอนท่านจะละหมาดและหลับนอน แต่พอถึง 10 คืนสุดท้าย ท่านจะเตรียมร่างกายให้พร้อม ละเว้นการหลับนอนกับภรรยา จะอาบน้ำระหว่างเวลาละหมาดมักริบกับละหมาดอิซาอฺ และจะละศิล-อดและรับประทานอาหารซะโฮร มื้อเดียวกัน

อบูฮุรอยเราะฮรายงานว่า ท่านรซูล ซ.ล. ห้ามถือศิล-อดต่อไปเมื่อถึงเวลาละศิล-อด ชายคนหนึ่งกล่าวว่า ตัวท่านเองนั้นแหละ เคยถือศิล-อดต่อไปโดยไม่ละเมื่อถึงเวลา ท่านรซูล ซ.ล. จึงกล่าวว่า แล้วมีใครเหมือนฉันบ้างล่ะ ฉันอยู่กับพระผู้อภิบาลของฉัน พระองค์ทรงให้อาหารและเครื่องดื่มแก่ฉันแล้ว บรรดาสาวกจึงไม่ยอมละศิล-อดด้วยเช่นกัน ท่านรซูล ซ.ล. ก็อนุญาตให้พวกเขาทำได้วันต่อวันจนหมดเดือนรอมฏอน ท่านรซูล ซ.ล. ก็กล่าวว่า นี้ถ้ารอมฏอนยังไม่หมด ฉันก็จะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

รายงานโดนท่านอาซิม บินกุลัยม์ รายงานจากบิดาของเขา จากอบูฮุรอยเราะฮ กล่าวว่า ท่าน รซูล ซ.ล. ไม่เคยให้ใครถือศิล-อดต่อไปโดยไม่ละเมื่อถึงเวลา ยกเว้นการไปละในเวลาซะโฮรฺ ฮะดิษนี้สายสืบใช้ได้พอประมาณ

รายงานจากท่านอบูสอีดอัลกุดรีย์ ท่านรซูล ซ.ล. กล่าวว่า “ ท่านทั้งหลาย อย่าถือศิล-อดต่อเนื่องโดยไม่ยอมละ หากใครต้องการอย่างนั้น ก็ให้ถือศีล-อดต่อไปจนถึงเวลาอาหารซะโฮรฺ เขาเหล่านั้นกล่าวว่า แต่ท่านร่อซูลก็ถือศิล-อดโดยไม่ยอมละ ท่านรซูล ซ.ล. จึงกล่าวว่า สภาพร่างกายของฉันไม่เหมือนพวกท่าน ฉันอยู่กลางคืนมีผู้ให้อาหารและมีผู้ให้ฉันดื่ม “

เมื่อมองความหมายตามที่เห็นฮะดิษนี้ก็คือ ท่านรซูล ซ.ล. ไม่ยอมละศิล-อดตลอดคืน ที่ทำอย่างนี้เพราะเห็นว่าการไม่กิน ไม่ดื่มทำให้ร่างกายไม่อุ้ยอ้าย กระฉับกระเฉงกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ทำอิบาดะฮฺได้อย่างเต็มที่ในค่ำคืนสุดท้ายได้ทั้ง 10 คืนโดยไม่อ่อนล้า

 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนท่านนบี ซ.ล. ทำอะไร ?

ความหมายของคำว่า อัลลอฮทรงให้ฉันดื่มกิน

นักวิชาการมีความเห็นขัดแย้งกัน ถึงความหมายของคำว่า อัลลอฮฺ ซ.บ. ทรงให้อาหารแก่ฉัน หมายความว่าอย่างไร ?

ความเห็นที่ถูกที่สุดก็คือ พระองค์อัลลอฮฺ ซ.บ. ทรงทำให้การถือศีล-อดของท่านง่าย จิตใจว่างเปล่า พร้อมมุ่งมั่นยังพระองค์อัลลอฮฺ รู้ถึงความเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ทรงอภิบาล ทรงให้ และทรงทำให้ท่านรซูล ซ.ล. อิ่มเอิบโดยไม่ต้องดื่มกิน

5. การอาบน้ำชำระร่างกายในช่วงระหว่างละหมาดมักริบกับละหมาดอิซาอฺ

สำหรับการทำอย่างนั้นของท่านรซูล ซ.ล. ได้มีบอกไว้แล้วในฮะดีษของท่านหญิงอาอิซะฮฺที่กล่าวว่า

واغتسل بين الأذانين

“ และท่านได้อาบน้ำชำระร่างกายในช่วงเวลาระหว่างมักริบและอิซาฮฺ “

อิบนุญะซีรได้กล่าวไว้ว่า พวกบรรดาสาวกได้ชอบกการอาบน้ำทุกคืนทั้ง 10 คืน มีท่านนัคอีย์อีกท่านหนึ่งที่อาบน้ำทุกคืนทั้ง 10 คืน บางท่านอาบน้ำใส่เครื่องหอมในค่ำคืนที่คิดว่าเป็นคืน อัลกอดฺริ
คืนอัลก็อดรฺ

ได้กล่าวไปบ้างแล้วว่า เป้าหมายของการทำเอียะติก๊าฟ 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฏอน ก็เพื่อหวังจะพบเจอกับคืนอัลก็อดรฺ ซึ่งมีความประเสริฐมากมาย มากกว่าเดือนทั่วไปถึง 1,000 เดือน 

อัลก็อดรฺ คือคืนที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานอัลกุรอานลงมา ท่านใดที่รู้ซึ้งถึงความประเสริฐอันมากมายของค่ำคืนนี้ เขาจะไม่ยอมพลาดที่จะเจอะเจอเป็นเด็ดขาด เขาจะดุอา ขออภัยโทษ ขอความโปรดปรานต่างๆจากพระองค์ อัลลอฮฺตะอาลาตรัสไว้ว่า

o แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดรฺ

o และอะไรทำให้เจ้าทราบคืนอัลก็อดรฺ คืออะไร

o คืนอัลก็อดรฺประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน

o บรรดามะลาอิกะฮฺและอัรรูฮฺ (ญิบรีล) จะลงมาในคืนนั้น โดยอนุมัติแห่งพระเจ้าของพวกเขา เนื่องจากกิจการทุกสิ่ง

o คืนนั้นมีศานติจนกระทั่งรุ่งอรุณ (ซูเราะห์อัลก็อดรฺ)

ท่านนัคอีย์กล่าวเอาไว้ว่า การทำอะมัลอิบาดะฮฺในค่ำคืนอัลก็อดรฺดีกว่าการทำอะมัลอิบาดะฮฺในหนึ่งพันเดือน

ส่วนท่านอิบนุอุไซมีนกล่าวว่า ในซูเราะฮฺอัลก็อดรฺนี้ มีความประเสริฐมากมายที่ได้มาจากคืนอัลก็อดรฺ

1. พระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ได้ทรงประทานอัลกุรอานเพื่อเป็นทางนำให้แก่มวลมนุษย์ชาติ ซึ่งจะนำมาซึ่งความสงบสุข ทั้งในโลกนี้ และปรโลก

2. คำถามที่ถามว่า “อะไรทำให้เจ้าทราบว่าคืนอัลก็อดรฺคืออะไรนั้น” บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของคืนอัลก็อดรฺ

3. การทำอิบาดะฮฺในค่ำคืน อัลก็อดรฺ ดีกว่าการทำอิบาดะฮฺในหนึ่งพันเดือน

4. บรรดามะลาอิกะฮฺจะนำเอาความดีทั้งหลาย ความเป็นสิริมงคล และความเมตตาลงมาในคืนอัลก็อดรฺ

5. คืนอัลก็อดรฺมีความปลอดภัยจากโทษฑัณท์และการลงโทษต่างๆ ของพระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา

6. พระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ให้ซูเราะฮฺอัลก็อดรฺมีความประเสริฐทั้งซูเราะฮฺ ท่านใดได้อ่านจะได้ผลบุญตลอดไปจนถึงวันกิยามะฮฺ

และอีกหนึ่งความประเสริฐของคืนอัลก็อดรฺ ก็คือความหมายของฮะดีษต่อไปนี้

من قام ليلة القدر إيماناً واحتساباً غفر له ما تقدم من ذنبه

ท่านรซูล (ศ) กล่าวไว้ว่า “ท่านใดที่ลุกขึ้นละหมาดในคืนอัลก็อดรฺ ด้วยความศรัทธาและหวังความโปรดปราน โทษต่างๆที่เขาทำมาจะได้รับการให้อภัย”
คืนอัลก็อดรฺจะปรากฏขึ้นในคืนใด

มีรายงานฮะดีษของท่านรซูล ซ.ล. กล่าวว่า

تحروا ليلة القدر في العشر الأواخر من رمضان 

จงแสวงหาคืนอัลก็อดรฺในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฏอน

คืนอัลก็อดรฺจะปรากฏขึ้นในคืนที่มีจำนวนคี่

تحروا ليلة القدر في الوتر من العشر الأواخر من رمضان 

ท่านรซูล ซ.ล. กล่าวว่า “จงแสวงหาคืนอัลก็อด ซึ่งจะปรากฏขึ้นในคืนจำนวนคี่ของ 10 คืนสุดท้ายในเดือนรอมฏอน” บันทึกโดย บุคอรี

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งถึงการปรากฏของคืนอัลก็อดรฺ คือแต่ละปีนั้น คืนอัลก็อดรฺจะปรากฏเลี่อนไป จะไม่ปรากฏในคืนใดคืนหนึ่งแน่นอนทุกปี บางปีจะปรากฏในค่ำวันที่ 27 แต่ในปีอื่นอาจปรากฏในค่ำวันที่ 25 อย่างนี้เป็นต้น แล้วแต่พระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา ที่จะให้เป็นไป ดังหลักฐานต่อไปนี้

التمسوها في تاسعة تبقى ، في سابعة تبقى ، في خامسة تبقى 

“จงแสวงหาคืนอัลก็อดรฺ อาจปรากฏในค่ำวันที่ 9 ค่ำวันที่ 7 หรือปรากฏในค่ำวันที่ 5 “ บันทึกโดยบุคอรี

การที่พระองค์อัลลอฮฺไม่เจาะจงลงไปว่าคืนอัลก็อดรฺจะปรากฏแน่นอนในคืนไหนนั้น เป็นความเมตตาอย่างหนึ่งของพระองค์ ที่ทรงต้องการให้บ่าวของพระองค์ประกอบคุณธรรมความดีให้มากๆ จะได้มีความขยันทำอิบาดะฮฺทุกค่ำคืนของเดือนรอมฏอน ไม่เจาะจงทำในคืนใดคืนหนึ่ง ใครอยากได้สิ่งใด เขาจะต้องเฝ้าระวังเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา และคงอยู่กับเขาตลอดไป

ผู้อ่านที่รักยิ่งทั้งหลาย โอกาสทองกำลังมาหาท่าน อย่าได้ปล่อยให้มันหลุดมือไป รีบฉวยโอกาสตักตวงสะสมเอาไว้ เพื่อความสุขอันถาวร ไม่มีความทุกข์อะไรจะมีมาต่อไปอีกแล้ว เพื่อความรอดพ้นอย่างถาวร จะไม่มีอะไรมาทำลายต่อไปได้อีกแล้ว นั้นคือความสุขอันถาวร ในวันกิยามะฮฺ

อะไรที่ท่านรซูล ซ.ล. ได้ทำเอาไว้ใน 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฏอน ท่านได้ทราบแล้ว รอการปฏิบัติอย่างแท้จริงจากตัวท่านและข้าพเจ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง

ในสุดท้ายนี้ดุอาอฺจากพระองค์อัลลอฮฺตะอาลาให้เราได้รอดพ้นจากการถูกลงโทษในไฟนรก และขอให้เข้าสวรรค์อันสถาพรด้วยเทอญ

10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนท่านนบี ซ.ล. ทำอะไร ?

การเอียะติกาฟ

หนึ่งในอิบาดะฮฺที่ประเสริฐที่สุดในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฏอน ที่ท่านรซูล ซ.ล. ทำไว้เป็นแบบอย่างก็คือ การเอียะติก๊าฟ

ท่านหญิงอาอิซะฮฺ กล่าวว่า

كان النبي يعتكف العشر الأواخر من رمضان حتى توفاه الله ثم اعتكف أزواجه من بعده

ท่านรซูล ซ.ล. ได้ทำการเอียะติก๊าฟในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฏอนจนได้วะฟาตไป ต่อมาบรรดาภริยาของท่านก็ได้ทำเอียะติก๊าฟต่อไป 
บันทึกโดยบุคคอรีและมุสลิม

อีกสำนวนหนึ่งรายงายโดยท่านหญิงอาอิซะฮฺ กล่าวว่า

كان النبي يعتكف في كل رمضان عشرة أيام ، فلما كان العام الذي قبض فيه ، اعتكف عشرين يوماً

“ท่านนบีได้ทำการเอียะติก๊าฟในเดือนรอมฏอน 10 วันและในที่ท่านจะวะฟาต ท่านทำเอียะติก๊าฟถึง 20 วัน” บันทึกโดยบุคคอรี

 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนท่านนบี ซ.ล. ทำอะไร ?

ความหมายของเอียะติก๊าฟ

เอียะติก๊าฟ คือการเข้าไปประจำอยู่ในมัสยิด เพื่อแสดงความภักดีต่อพระองค์อัลลอฮฺ พร้อมกับทำจิตใจให้ว่างเปล่า จากความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน จะได้มุ่งมั่นทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์อัลลอฮฺเพียงอย่างเดียว เป็นซุนนะฮฺที่ท่านนบีฯ ได้ทำไว้ใครที่ทำเอียะติก๊าฟจะได้ผลบุญตอบแทน ท่านอิหม่ามอะหมัด (หัมบะลี) กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

“ฉันไม่เห็นนักวิชาการศาสนาท่านใดบอกว่า การทำเอียะติก๊าฟไม่ใช่ซุนนะฮฺ”

ท่านเชคอิบนุอุไซมีน กล่าวเอาไว้ว่า

“เป้าหมายของการทำเอียะติก๊าฟ ก็คือการนำตัวออกไปทำอิบาดะฮฺ โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร จะได้ใช้เวลาช่วงนั้น มุ่งมั่นทำการภักดีต่ออัลลอฮฺ ในมัสยิดอย่างเต็มที่ หวังความโปรดปรานและผลบุญของพระองค์ พร้อมกับหวังว่าจะได้ประสพกับค่ำคืนอัลก็อดรฺ”

ดังนั้น  จึงสมควรอย่างยิ่งที่ผู้ทำเอียะติก๊าฟมุ่งทำซิกรุลลอฮฺ อ่านอัลกุรอ่าน ละหมาด และทำอิบาดะฮฺต่างๆ หลีกเลี่ยงสิ่งไร้สาระ

สิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ทำเอียะติก๊าฟ

1. การร่วมหลับนอนกับภรรยา รวมถึงการกอด จูบ เล้าโลม เพื่อทำให้เกิดอารมณ์ทางเทศทุกอย่าง มีดำรัสของพระองด์อัลลอฮฺยืนยันไว้ว่า 

และพวกเจ้าจงอย่าสมสู่กับพวกนางขณะที่พวกเจ้าทำเอียะติก๊าฟอยู่ในมัสยิด 2:187

2. ไม่อนุญาตให้ผู้ทำเอียะติก๊าฟออกนอกอาคารมัสยิด ยกเว้นมีกิจธุระจำเป็น เช่น ทำน้ำละหมาด อาบน้ำ รับประทานอาหาร เป็นต้น แต่ถ้าหากทำสิ่งเหล่านี้ในมัสยิดได้ก็จะเป็นการดี

3. ห้ามออกไปทำอิบาดะห์อื่นที่ไม่เป็นวายิบนอกมัสยิด เช่นการติดตามมัยยิด เยี่ยมคนป่วย ฯลฯ ห้ามไม่ให้ไป

4. ห้ามออกจากมัสยิดเพื่อ ไป ขายของ ซื้อของ เยื่ยมญาติ ฯลฯ


สิ่งที่ชอบให้ผู้เอียะติก๊าฟกระทำ

1. จัดที่สำหรับตัวเองในมัสยิดให้พ้นหรือให้ห่างจากผู้อื่น

2. เตรียมเต้นท์เล็กๆ หรือไม่ก็นำผ้ามาปิดกั้นให้ดูเป็นขอบเขต จะได้เข้าไปอยู่ได้ โดยไม่น่าเกลียด

 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนท่านนบี ซ.ล. ทำอะไร ?

การทำตัวและจิตใจที่ถูกต้องตามหลักศาสนา

การทำเอียะติก๊าฟในมัสยิด คือวิธีเดียวของการทำสมาธิที่ศาสนาอนุญาต นอกเหนือจากนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ผิด ไม่มีในศาสนา ทำไปก็สูญเปล่า ไม่ได้รับผลบุญตอบแทน เช่น การมารวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ นำของมากินมาดื่มเพื่อหวังจะได้พบกับคืนอัลก็อดรฺของคนบางกลุ่ม ถือว่าผิดวิธีจากที่ท่านรซูล ซ.ล. ได้ทำไว้

ท่านอิบนิรอญับกล่าวไว้ว่า “ที่ท่านนบีฯ ทำเอียะติก๊าฟ 10 คืนสุดท้ายของรอมฏอนก็เพื่อหวังจะได้พบกับคืน อัลก็อดรฺ”

ถ้อยคำเชิญชวน

ทั้งๆ ที่การทำเอียะติก๊าฟเป็นซุนนะฮฺ ท่านใดได้ทำครั้งหนึ่ง วันหนึ่ง หรือ 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฏอน ถือว่าท่านได้เจริญรอยตามท่านรซูล ซ.ล. แล้ว ซึ่งจะได้รับผลบุญและความโปรดปรานจากพระองค์อัลลอฮฺมากมาย กระนั้นก็ตามยังมีมุสลิมส่วนใหญ่ ทั้งที่เป็นครูบาอาจารย์ นักศึกษาศาสนามากมาย ยังคงเพิกเฉย ไม่เห็นความสำคัญของการทำเอียะติก๊าฟที่ท่านรซูล ซ.ล. ได้ทำไว้เป็นตัวอย่าง ขาดการริเริ่มที่จะกระทำ แม้สักครั้งเดียว ดูเหมือนกับว่า การทำเอียะติก๊าฟไม่มีความสำคัญอะไร ไม่ทำก็ไม่เห็นเป็นไร ทำให้ขาดเครดิตการเป็นผู้นำที่ดี บางท่านไม่เคยทำเอียะติก๊าฟเลยตลอดชีวิต อย่างนี้จะถือว่าท่านเป็นชาวซุนนะฮฺที่อ้างตนว่า ทำตามกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺของท่านรซูล ซ.ล. ได้อย่างไร เพราะท่านรซูล ซ.ล. ทำเอียะติกาฟทุก 10 คืนสุดท้ายของรอมฏอน จนจากโลกนี้ไป แต่หากเรากลับไม่เคยทำเอียะติก๊าฟเลยสักครั้งเดียว ชั่วโมงเดียว จนจากโลกนี้ไปนั้น จะถือว่าเป็นชาวซุนนะฮฺได้อย่างไร

คิดเสียใหม่ แล้วเริ่มคิดทำเอียะติก๊าฟกันบ้างเถอะ จะได้เป็นมุสลิมที่ตามทั้งกิตาบุลลอฮฺ

และซุนนะฮฺของท่านรซูล ซ.ล. เรียกว่าตามทั้งสองอย่าง แล้วท่านก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รักอัลลอฮฺและรักรซูล ซ.ล. อย่างแท้จริง แล้วพระองค์อัลลอฮฺก็จะรักท่าน โปรดปรานท่าน
ส่วนผู้ที่ได้ทำเอียะติก๊าฟ ก็ต้องหันมาดูด้วยว่า ยังบกพร่องอะไรตรงไหนบ้าง ได้ใช้เวลาไปในการเอียะติก๊าฟอย่างจริงจังหรือไม่ หรือว่ายังมีความบกพร่องอยู่ ถ้ายังมีอยู่ก็ต้องแก้ไขให้ดีขึ้น เช่น บางคนยังใช้เวลาที่เอียะติก๊าฟคุยกัยในเรื่องตลกโปกฮา เรื่องไร้สาระ นินทาว่าร้ายผู้อื่น อย่างนี้ก็ต้องปรับปรุงเสียใหม่ โดยการละเว้นเสีย เพื่อทำให้การทำเอียะติก๊าฟของท่านสมบูรณ์แบบที่สุด ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้อะไรเลย นอกจากความสูญเปล่า

ขออัลลอฮฺ ตะอาลาทรงได้โปรดปราน และได้รับความสันติสุขโดยทั่วกัน

ที่มา:  มัสยิดนูรุ้ลอะมานะฮ์  บ้านห้วยทรัพย์

https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/21146

บทความที่น่าสนใจ

อัพเดทล่าสุด