นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ซุ้ลกิฟลิ เป็นบุตรของท่านนบีอัยยูบ (อล) ชื่อเดิมของเขาคือ (บิชร์) อัลเลาะห์ ตาอาลาได้ทรงแต่งตั้งเขาเป็นนบีภายหลังจากนบีอัยยูบ (อล)
ประวัติย่อนบีซุ้ลกิฟลิ อะลัยฮิสลาม
เป็นนบีท่านหนึ่ง ปฏิบัติละหมาดวันละหนึ่งร้อยครั้ง นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าเขาเป็นผู้อุปถัมภ์ประชาชนของเขา ทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทด้วยความยุติธรรม และจัดหาสิ่งต่างๆให้แก่ประชาชนของเขาอย่างพอเพียง เขาจึงถูกเรียกว่า ซุ้ลกิฟลิ (ผู้แบกรับภาระ)
ชีวประวัติของนบีซุ้ลกิฟลิ อะลัยฮิสลาม
นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ซุ้ลกิฟลิ เป็นบุตรของท่านนบีอัยยูบ (อ.ล.) ชื่อเดิมของเขาคือ (บิชร์) อัลเลาะห์ ตาอาลาได้ทรงแต่งตั้งเขาเป็นนบีภายหลังจากนบีอัยยูบ (อ.ล.) และพระองค์ได้ตั้งชื่อเขาว่า ซุ้ลกิฟล์ เพราะเขาได้แบกรับการภักดีต่ออัลเลาะห์บางอย่างและเขาก็ทำได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ มีหลุมฝังศพของเขาอยู่ในเมืองชาม และชาวเมืองดามัสกัดได้บอกกล่าวกันต่อๆมาว่าพบหลุมฝังศพของเขาอยู่ที่ภูเขาลูกหนึ่งที่นั่น ใกล้กับกรุงดามัสกัด เรียกว่ากอสิยูน แต่มีนักวิชาการบางท่านให้ทรรศนะว่าเขาไม่ใช่นบี แต่เป็นคนหนึ่งที่มีคุณธรรม จากพวกบนีอิสรออีล ท่านอิบนุกะซีรได้ให้น้ำหนักว่าเขาเป็นนบี เพราะอัลเลาะห์ ตาอาลาได้กล่าวนามชื่อของเขาไว้ในอัลกุรอานพร้อมกับบรรดานบีหลายท่าน อัลเลาะห์ ตาอาลา ได้ตรัสว่า
{ وَإِسْمَاعِيلَ وَإِدْرِيسَ وَذَا الْكِفْلِ كُلٌّ مِّنَ الصَّابِرِينَ (85) وَأَدْخَلْنَاهُمْ فِي رَحْمَتِنَا إِنَّهُم مِّنَ الصَّالِحِينَ (86)} (الأنبياء)
“และอิสมาอีล อิดรีส และซุ้ลกิฟลิ ทั้งหมดนั้นเป็นผู้ที่มีความอดทน และเราได้ให้พวกเขาเข้าอยู่ในความเมตตาของเรา แท้จริงพวกเขาเป็นผู้ที่มีคุณธรรมอันประเสริฐ” (อัลอันบิยาอ์ 85-86)
อิบนุ กะซีร ได้กล่าวว่า ผู้ที่ถูกกล่าวชื่อไว้ในอัลกุรอานพร้อมด้วยการยกย่องสรรเสริญไว้พร้อมกับบรรดานบีทั้งหลายนั้น ถือว่า เขาเป็นนบี ดังกล่าวนี้เป็นทรรศนะที่รู้กันแพร่หลายอัลกุรอานไม่ได้กล่าวชื่อของเขาไว้รวมกับนบีท่านอื่นอีกนอกจากในอายะห์นี้เท่านั้น ส่วนการเผยแผ่ศาสนาและการทำหน้าที่ของเขา ตลอดจนกลุ่มชนที่เขาถูกส่งไปทำหน้าที่นั้น ไม่ได้มีการกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะโดยสรุปหรือในรายละเอียดก็ตาม
ด้วยเหตุนี้เราจะไม่เข้าไปกล่าวถึงเรื่องการเผยแผ่ศาสนาของเขา โดยที่นักประวัติศาสตร์ส่วนมากก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวของเขามากนัก และมีสิ่งที่พึงระลึกอยู่ประการหนึ่งคือ ซุ้ลกิฟลิ ที่อัลกุรอานกล่าวถึงนั้น เป็นคนละคนกับ อัลกิฟลิ ที่ถูกกล่าวไว้ในฮะดีษของท่านนบี (ซ.ล.) ที่มีรายงานจากอิหม่ามอะห์มัด จากอิบนิ อุมัร (ร.ด.) ว่า:
( อัลกิฟล์ มาจาก พวกบนีอิสรออีล เขาเป็นคนที่ไม่เกรงกลัวในการทำบาป มีผู้หญิงคนหนึ่งมาหาเขา และเขาได้มอบให้นางจำนวนหกสิบเหรียญทอง แลกเปลี่ยนกับการที่เขาจะต้องร่วมหลับนอนกับนาง เมื่อเขาได้ขึ้นไปอยู่บนร่างของนางในลักษณะที่พร้อมจะผิดประเวณี นางตัวสั่นและร้องไห้ เขาถามนางว่าเธอร้องไห้ทำไม? ฉันขืนใจเธอหรือ? นางตอบว่า เปล่า แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยทำมาก่อนเลย แต่ที่ฉันต้องทำเพราะมีความจำเป็น เขาอุทานว่า เธอจะทำสิ่งนี้ทั้งที่เธอไม่เคยทำมาก่อนอย่างนั้นหรือ เขาลงมาจากร่างของนาง พร้อมกับกล่าวว่า เธอจงเอาหกสิบเหรียญทองนี้ไปเถิด หลังจากนั้นเขาได้กล่าวว่า ขอสาบานต่ออัลเลาะห์ว่า อัลกิฟลิ จะไม่ทำบาปต่ออัลเลาะห์ตลอดไป และเขาก็ได้เสียชีวิตในคืนนั้นเอง พอรุ่งเช้ามีข้อความเขียนที่ประตูบ้านของเขาว่า อัลเลาะห์ได้ทรงอภัยโทษให้แก่ อัลกิฟล์แล้ว)
รายงานโดยติรมีซี และติรมีซีกล่าวว่าเป็น ฮะดีษฮะซัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เขาไม่ใช่ซุ้ลกิฟลิ เพราะฮะดีษกล่าวแค่เพียงว่า ฮัลกิฟล์ ดังนั้น เขาจึงเป็นคนละคนกับที่กล่าวไว้ในอัลกุรอาน
นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า ซุ้ลกิฟล์ ได้ทำหน้าที่แบกรับภาระต่างๆแทนประชาชนของเขา และทำหน้าที่ตัดสินในหมู่พวกเขาด้วยความยุติธรรม ด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกเรียกว่า ซุ้ลกิฟลิ (ผู้แบกรับภาระ) และได้เล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการนี้ แต่เรื่องต่างๆเหล่านั้นจำเป็นต้องมีการตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างละเอียด
ชายผู้มีคุณธรรม
สำหรับผู้ที่กล่าวว่า ซุ้ลกิฟลิ ไม่ใช่นบี แต่เขาเป็นเพียงชายผู้มีคุณธรรมจากบนีอิสรออีลเท่านั้น มีรายงานว่าเขาอยู่ในยุคเดียวกับนบี อัลยะซะอ์ (อ.ล.) และมีรายงานอีกว่าเมื่อนบี อัลยะซะอ์ อยู่ในวัยชราเขาได้กล่าวว่าเขาควรที่จะแต่งตั้งผู้แทนไว้สักคนหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่แทนเขาดูแลผู้คน ในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ เพื่อดูว่าเขาเขาจะทำหน้าที่อย่างไร ? เขาจึงได้เรียกประชาชนมาประชุมร่วมกัน แล้วกล่าวว่า ผู้ใดที่รับปากกับฉันสามประการนี้ ฉันจะแต่งตั้งเขาเป็นตัวแทนคือ
(1) เขาจะถือศีลอดในเวลากลางวัน
(2) เขาจะต้องลุกขึ้นทำอิบาดะห์ในเวลากลางคืน
(3) เขาจะต้องไม่โกรธมีชายคนหนึ่งลุกขึ้นยืน เขากล่าวฉันขอรับปาก อัลยะซะอ์ (อ.ล.) ถามว่าท่านถือศีลอดในเวลากลางวัน ลุกขึ้นทำอิบาดะห์ในเวลากลางคืน และท่านจะไม่โกรธหรือ ? ชายผู้นั้นรับปากว่าถูกต้องแล้ว แต่ อัลยะซะอ์ (อ.ล.) ได้บอกให้ประชาชนกลับไปในวันนี้ โดยไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดให้เป็นตัวแทนของเขา
ในวันต่อมา อัลยะซะอ์(อ.ล.) ได้ออกมาหาประชาชนของเขาแล้วได้กล่าวเหมือนกับที่ได้กล่าวในวันแรก ประชาชนพากันนิ่งเงียบ ชายคนนั้นได้ลุกขึ้นแล้วกล่าวว่า ฉันขอรับปาก อัลยะซะอ์จึงได้แต่งตั้งชายคนนั้นเป็นตัวแทนของเขา
อิบลีส ได้กล่าวแก่เหล่าชัยตอนทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงไปหลอกลวงชายคนนั้นให้ไปทำความชั่ว เหล่าชัยตอนพบกับความเหนื่อยยากที่จะลวงล่อเขาให้ไปทำความชั่ว อิบลีสจึงกล่าวแก่พวกเขาว่า ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเราที่จะไปจัดการกับเขาเอง อิบลีสได้แปลงร่างเป็นชายชราที่ยากจนและได้ไปหาเขา ขณะที่เขากำลังนอนพักผ่อนช่วงสั้นๆในเวลากลางวัน เพราะเขาจะไม่นอนทั้งกลางวันและกลางคืน ยกเว้นการนอนหลับงีบหนึ่งในช่วงกลางวันเท่านั้น
อิบลีสได้ไปเคาะประตูบ้าน ซุ้ลกิฟลิ ถามว่า ใคร ? เขาตอบว่าฉันเป็นคนชราที่ที่ถูกฉ้อโกง ซุ้ลกิฟลิจึงลุกขึ้นไปเปิดประตู ชายชราเริ่มเล่าเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเขากับพรรคพวกของเขา และสิ่งที่ผู้คนได้กระทำกับเขา และวิธีการที่พรรคพวกของเขาได้ฉ้อโกงเขา และเขาได้สาธยายความอย่างยืดยาวจนเลยเวลานอนกลางวันของเขา และถึงเวลาที่ซุ้ลกิฟลิจะต้องออกไปพบปะกับประชาชน ซุ้ลกิฟล์ได้กล่าวแก่ชายชราว่า ถ้าหากท่านไปร่วมประชุมกับผู้คน ฉันก็จะเอาสิทธิ์ของท่านคืนให้แก่ท่าน
ชายชราได้กลับออกไป ขณะเดียวกับที่ซุ้ลกิฟลิก็ได้ไปยังที่ประชุมของเขาโดยไม่ได้นอนงีบ ในเวลากลางวัน แต่ชายชราไม่ได้ไปยังที่ประชุมเพื่อพิจารณาคดีของเขา จนเลิกประชุมชายชราคนนั้นก็ไม่ได้ไปยังที่ประชุม ในวันต่อมาก็ได้จัดให้มีการประชุมขึ้นอีกเพื่อพิจารณาคดีที่ชายชราคนนั้นอ้างว่าถูกฉ้อโกง แต่เขาก็ไม่ได้ไปปรากฏตัวต่อที่ประชุมแต่อย่างใด เมื่อซุ้ลกิฟลิ กลับไปถึงบ้านพักในเวลาที่เขาเคยนอนงีบในเวลากลางวันเพื่อพักผ่อน ชายชราคนนั้นได้มาและเคาะประตูบ้าน ซุ้ลกิฟลิถามว่า ใคร?
เขาตอบว่า เขาคือชายชราที่ถูกฉ้อโกง เขาจึงเปิดประตูต้อนรับ ซุ้ลกิฟลิจึงกล่าวว่า ฉันไม่ได้บอกท่านหรือว่าเมื่อฉันนั่งลงในที่ประชุมแล้ว ให้ท่านเข้าไปหาฉัน? ชายชราตอบว่า คนพวกนั้นเป็นคนเลว เมื่อพวกเขารู้ว่าท่านจะพิจารณาคดีนี้ พวกเขาก็จะบอกกับฉันว่า พวกเราจะคืนสิทธิ์ให้แก่ท่าน และเมื่อเลิกประชุมท่านลุกขึ้นไป พวกเขาก็จะปฏิเสธฉัน ซุ้ลกิฟลิจึงกล่าวว่า ท่านจงไปยังที่ประชุมเดี๋ยวนี้ และเมื่อฉันไปถึง ท่านจงไปหาฉันทันที
ซุ้ลกิฟลิ ไม่ได้นอนพักผ่อนในเวลากลางวัน เขารีบตรงไปยังสถานที่ประชุมทันที และคอยชายชราคนนั้น แต่ก็ไม่เห็นร่างของชายชรา เขาง่วงนอนมาก จึงกลับไปบ้านและสั่งแก่คนในบ้านว่าห้ามผู้ใดเข้าใกล้ประตูบ้านเป็นอันขาด เพื่อจะได้นอนพักผ่อน. ขณะที่เขาล้มตัวลงนอน ชายชราคนนั้นได้มา และต้องการจะเข้าไปพบเขา แต่ถูกห้ามไม่ให้เข้าไป เขาจึงกล่าวว่า เมื่อวานนี้ฉันได้มาหาเขา และได้เล่าเรื่องราวของฉันให้เขาฟังแล้ว พวกเขากล่าวว่า ท่านจะเข้าไปไม่ได้ ขอสาบานต่ออัลเลาะห์ว่าพวกเราได้รับคำสั่งไม่ให้ผู้ใดเข้าใกล้ประตูเป็นอันขาด ชายชราลุกขึ้นไปปีนกำแพง และเข้าไปในบ้าน เขาเคาะประตูบ้านจากภายใน ซุ้ลกิฟลิตื่นนอน และถามคนในบ้านว่า ฉันไม่ได้สั่งพวกท่านหรือว่าไม่ให้ผู้ใดเข้ามาหาฉัน ? พวกเขาตอบว่า พวกเราไม่เคยปล่อยผู้ใดให้เข้ามาในบ้านเลย ท่านจงดูซิว่าเขาเข้ามาจากทางใด. ซุ้ลกิฟลิ ลุกขึ้นไปที่ประตู ก็พบว่ามันถูกใส่สลักเหมือนที่เขาได้ใส่สลักมันไว้ เมื่อตอนที่เขาเข้ามา แล้วชายชราคนนี้เข้ามาในบ้านได้อย่างไร ซุ้ลกิฟลิรู้ได้ทันทีว่าชายชราคนนี้เป็นใคร เขาจึงกล่าวขึ้นว่า เจ้าคืออิบลีสศัตรูของอัลเลาะห์ใช่ไหม ? ชายชราคนนั้นตอบว่า ถูกต้องแล้ว ท่านทำให้ฉันเหน็ดเหนื่อยมากในทุกเรื่อง ฉันจึงต้องทำทุกอย่างตามที่ท่านเห็นก็เพื่อให้ท่านโกรธ..!!
อัลเลาะห์ตั้งชื่อเขาว่า ซุ้ลกิฟลิ เพราะเมื่อเขารับภาระเรื่องใดแล้วเขาจะต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์
ขอขอบคุณข้อมูลจากกลุ่มไลน์
https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/21582
- สาวกของศาสนาอิสลามคือใคร? บุคคลหรือกลุ่มชนใด?
- วันสุดท้ายของนบีมูฮำหมัด คำพูดก่อนสิ้นใจ (อ่านแล้วน้ำตาไหล)
- รู้หรือไม่ บรรดานบีต่างๆ ทำอาชีพอะไรกันบ้าง?
- ประวัตินบีนูห์ อะลัยฮิสสลาม (โนอาห์) ฉบับในคำภีร์อัลกุรอาน
- นบีอิบรอฮีม มีอายุล่วงเข้าสู่วัยชรา โดยยังไม่มีบุตร
- นบีนุฮฺน้ำท่วมโลก ซากเรือนบีนุฮฺ ที่อัลกุรอานกล่าวถึง
- ความอัศจรรย์แมงมุมในอัลกรุอาน