มุสลิมะห์ไปทำฮัจญ์จำเป็นต้องมีมะฮฺรอมไปด้วยหรือไม่?


7,044 ผู้ชม

มุสลิมะห์เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ วาญิบ (จำเป็น) จะต้องมีมะฮฺรอมร่วมเดินทางไปด้วยหรือไม่คะ?...


มุสลิมะห์ไปทำฮัจญ์จำเป็นต้องมีมะฮฺรอมไปด้วยหรือไม่?

มุสลิมะห์เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ วาญิบ (จำเป็น) จะต้องมีมะฮฺรอมร่วมเดินทางไปด้วยหรือไม่คะ?

ตอบโดย อ.มุรีด ทิมะเสน

มะฮฺรอม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

ประเภทที่หนึ่ง มะฮฺรอมทางด้านสืบสันดาน หมายถึงผู้ชายที่ห้ามแต่งงานกับสตรีทางด้านการสืบสันดาน เช่นบิดาของนาง, พี่น้องชายของนาง, ลูกของนาง เป็นต้น

ประเภทที่สอง มะฮฺรอมที่ถูกอนุญาตตามบทบัญญัติ หมายถึง สามีของนาง, พ่อของสามีของนาง, ลูกของสามี หรือผู้ชายที่ดื่มนมจากแม่นมคนเดียวกันกับนาง เป็นต้น อนึ่ง มะฮฺรอมจำเป็นจะต้องเป็นเพศชายเท่านั้น ส่วนกรณีเพศหญิงไม่ว่าจะมีศักดิ์เป็นป้า น้า อา หรือแม่ของนาง ถือว่าไม่ใช่มะฮฺรอม

หลักฐานที่ไม่อนุญาตให้มุสลิมะห์เดินทางไปทําฮัจญ์โดยไม่มีมะฮฺรอม

ท่านอิบนุ อับบาสเล่าว่า ฉันฟังท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) คุฏบะฮฺไว้ว่า

“ไม่อนุญาตให้ชายหนึ่งหญิงหนึ่งอยู่ด้วยกันตามลำพังโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะมีมะฮฺรอมนั่งร่วมกับนางด้วยเท่านั้น และไม่อนุญาตให้สตรี (มุสลิม) เดินทาง เว้นแต่จะมีมะฮฺรอมเดินทางร่วมกับนางด้วยเช่นกัน, ชายผู้หนึ่งยืนถามว่า โอ้ท่านรสูลของอัลลอฮฺ แท้จริง ภรรยาของฉัน (ต้องการ) เดินทางไปทำฮัจญ์ในขณะที่ฉันเองก็มีรายชื่อต้องออกไปทำสงครามครั้งนั้นครั้งนี้, ท่านรสูล (ซ.ล.) ตอบว่า ท่านจงกลับไป แล้วไปทำฮัจญ์พร้อมกับภรรยาของท่าน”

(บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 1729, มุสลิม หะดีษที่ 2391, อิบนุ มาญะฮฺ หะดีษที่ 2891, อะหฺมัด หะดีษที่ 1833, อบูยุอฺลา หะดีษที่ 2391, อิบนุ คุชัยมะฮฺ หะดีษที่ 2529, อิบนุ หิบบาน หะดีษที่ 3757 และบัยหะกีย์ หะดีษที่ 10266)

มุสลิมะห์ไปทำฮัจญ์จำเป็นต้องมีมะฮฺรอมไปด้วยหรือไม่?

สิ่งที่ได้รับจากหะดีษ

ประการแรก ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กำหนดการอยู่ร่วมกันระหว่างชายหญิงซึ่งแต่งงานกันได้ และการเดินทางของสตรีไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ ไม่อนุญาตให้ชายหนึ่งหญิงหนึ่ง (ซึ่งแต่งงานกันได้) อยู่กันตามลำพังโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะมีมะฮฺรอมนั่งร่วมกับนางด้วย เท่านั้น และไม่อนุญาตให้สตรี (มุสลิม) เดินทาง เว้นแต่จะมีมะฮฺรอมเดินทางร่วมกับนางด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากสตรีท่านใดฝ่าฝืนถือว่านางมีความผิด

อีกหะดีษบทหนึ่งของท่านอับดุลลอฮฺ บุตรของอุมัร จากท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) กล่าวว่า

“ไม่อนุญาตสำหรับสตรีที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันสุดท้าย เดินทางไกลสามคืนเว้นแต่จะมีมะฮฺรอมเท่านั้น” (บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 1024, มุสลิม หะดีษที่ 2382, อบูดาวูด หะดีษที่ 1467 และอะหฺมัด หะดีษที่ 4386)

ประการที่สอง เศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งเมื่อได้ฟังท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวเช่นนั้นจึงลุกขึ้นถามว่า “โอ้ท่านรสูลของอัลลอฮฺ แท้จริงภรรยาของฉัน (ต้องการ) เดินทางไปทำฮัจญ์ในขณะที่ฉันเองก็ถูกระบุว่าจะต้องออกไปทำสงครามครั้งนั้นครั้งนี้” สำนวนการถามของเศาะหาบะฮฺท่านนั้นหมายถึงเขาเข้าใจในคำพูดของท่านรสูล (ซ.ล.) ดีว่าสตรีท่านใดต้องการจะออกเดินทางจำเป็นจะต้องมีมะฮฺรอมเดินทางไปกับนางด้วย ซึ่งการเดินทางดังกล่าวแม้ว่าจะด้วยสาเหตุภารกิจด้านทางโลกหรือทางศาสนาก็ตามจำเป็นจะต้องมีมะฮฺรอม แต่ที่เศาะหาบะฮฺท่านนั้นสงสัยคือ เขาถูกระบุว่าจะต้องออกไปทำสงครามในช่วงเวลาเดียวกันกับภรรยาของเขาจะต้องเดินทางไปทำฮัจญ์เช่นนี้ แล้วจะให้เขากระทำอย่างไร กล่าวคือ เขาไม่ต้องออกสงครามแต่ไปทำฮัจญ์กับภรรยาของเขาดังตัวบทหะดีษ หรือออกไปทำสงครามโดยไม่ต้องไปทำฮัจญ์ร่วมกับนาง นั่นหมายถึงนางไม่มีมะฮฺรอม?

ประการที่สาม ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ตอบคำถามเศาะหาบะฮฺท่านนั้นว่า “ท่านจงกลับไปแล้วไปทำฮัจญ์พร้อมกับภรรยาของท่านเถิด”

สำนวนที่ท่านรสูล (ซ.ล.) กล่าวแก่เศาะหาบะฮฺท่านนั้นชัดเจนไม่คลุมเครือและไม่ต้องอาศัยการตีความแต่อย่างใดทั้งสิ้น กล่าวคือ การสั่งให้เศาะหาบะฮฺผู้นั้นกลับไปหาภรรยาของเขาและเดินทางไปทำฮัจญ์ร่วมกับนาง หมายความว่าการเดินทางของสตรีโดยไม่มีมะฮฺรอม เชื่อว่าไม่อนุญาต อีกทั้งไม่ต้องออกไปร่วมทำสงครามถึงแม้ว่าเขาจะถูกระบุว่ามีรายชื่อต้องออกทำสงครามก็ตาม

ประการที่สี่ ประเด็นที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ ทำไมท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) จึงไม่กล่าวถามเศาะหาบะฮฺท่านนั้นว่า “กลุ่มชนที่ภรรยาของท่านร่วมเดินทางด้วยนั้นมีบรรดาสตรี หรือบรรดาผู้ชายซึ่งเชื่อถือและไว้วางใจได้มีหรือไม่?” หากท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวถามเช่นนั้น อาจจะพอมีช่องทางให้ตั้งข้ออ้างได้ว่าสตรีสามารถเดินทางไปทำฮัจญ์ได้โดยไม่ต้องมีมะฮฺรอม เพียงแต่มีบรรดาสตรีที่เชื่อถือและไว้วางใจได้เดินทางร่วมกับนางก็พอแล้วแต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ไม่ตั้งข้อสังเกตหรือตั้งข้อผ่อนปรนใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ท่านรสูล (ซ.ล.) ตอบด้วยความชัดเจนว่า “ท่านจงกลับไปหาภรรยาของท่านและท่านจงร่วมเดินทางไปทำฮัจญ์พร้อมกับนางเถิด” โปรดอย่าลืมว่า ทุกสิ่งที่ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) พูดเกี่ยวกับศาสนานั้นล้วนเป็นวะฮีย์ทั้งสิ้น ซึ่งท่านรสูล (ซ.ล.) จะไม่พูดในเรื่องของศาสนาด้วยอารมณ์ของ ตนเองอย่างเด็ดขาด พระองค์อัลลอฮฺอัลกุรอานไว้ว่า “และเขา (นบีมุฮัมมัด (ซ.ล.)) จะไม่พูด (เรื่องศาสนา) ตามอารมณ์ (ของตนเองอย่าง เด็ดขาด)” (ซูเราะฮฺอันนัจญ์มุ : 4)

มุสลิมะห์ไปทำฮัจญ์จำเป็นต้องมีมะฮฺรอมไปด้วยหรือไม่?

ประการที่ห้า โปรดอย่าลืมโดยเด็ดขาดว่า พระองค์อัลลอฮฺทรงรอบรู้ดียิ่ง พระองค์ทรงรู้สิ่งที่อยู่ในอนาคต และย่อมรู้ด้วยว่าอนาคตภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) จะมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย และสิ่งที่ทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น กระนั้นก็ตามพระองค์อัลลอฮฺก็มิได้ยกเว้นให้สตรีมุสลิมเดินทางเพียงลำพังโดยไม่มีมะหรือมอย่างเด็ดขาด ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีจะพัฒนาถึงขั้นสูงสุดเพียงใด บทบัญญัติ ของอัลลอฮฺยังคงเดิมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม เพราะมิเช่นนั้นแล้วพระองค์อัลลอฮฺจะต้องดลใจให้ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ตอบแก่เศาะหาบะฮฺท่านนั้นในทำนองที่ว่า

“หากท่านคิดว่าภรรยาของท่านเดินทางกับกลุ่มคณะของนางมีบรรดาผู้ชายและผู้หญิงที่เชื่อถือไว้ใจได้ ท่านก็ไม่ต้องไปเป็นมะฮฺรอมให้แก่นาง” หรือกล่าวในทำนองที่ว่า “ท่านคิดว่านางเดินทางปลอดภัยหรือไม่ หากคิดว่านางปลอดภัยท่านก็ไม่ต้องไป” เป็นต้น

เชค มุฮัมมัด อัศศอลิหฺ อัลอุษัยมีน กล่าวว่า “ไม่อนุญาตให้มุสลิมะห์ประกอบพิธีฮัจญ์โดยไม่มีมะฮฺรอม ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มสตรีหรือกลุ่มผู้ชายที่ไว้วางใจได้เดินทางร่วมกับนางก็ตาม เพราะท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวคุฏบะฮฺไว้ว่า “ไม่อนุญาตให้ชายหนึ่งหญิงหนึ่งอยู่ด้วยกันตามลำพังโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะมีมะฮฺรอมนั่งร่วมกับนางด้วยเท่านั้น และไม่อนุญาตให้สตรี (มุสลิม) เดินทาง เว้นแต่จะมีมะฮฺรอมเดินทางร่วมกับนางด้วยเช่นกัน, ชายผู้หนึ่งยืนถามว่า โอ้ท่านรสูลของอัลลอฮฺ แท้จริงภรรยาของฉัน (ต้องการ) เดินทางไปทำฮัจญ์ในขณะที่ฉันเองก็มีรายชื่อที่จะต้องออกไปทำสงครามครั้งนั้นครั้งนี้, ท่านรสูล (ซ.ล.) ตอบว่า ท่านจงกลับไปแล้วไปทำฮัจญ์พร้อมกับภรรยาของท่านเถิด”

มุสลิมะห์ไปทำฮัจญ์จำเป็นต้องมีมะฮฺรอมไปด้วยหรือไม่?

การที่ท่านรสูล (ซ.ล.) สั่งใช้ให้ชายผู้นั้นกลับไปทำฮัจญ์ร่วมกับภรรยาของเขานั้น ท่านนบี (ซ.ล.) มิได้ถามชายผู้นั้นว่า การเดินทางของนางปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย, หรือตั้งคำถามว่า มีกลุ่มสตรีและกลุ่มบุรุษที่ไว้วางใจได้ร่วมเดินทางพร้อมกับนางหรือไม่, หรือไม่ ปรากฏว่าภาวะแห่งความจำเป็นทางสามีของนางจะเป็นอุปสรรค ทั้งที่ ถูกระบุว่าจะต้องเดินทางไปทำสงคราม เช่นนั้นท่านรสูล (ซ.ล.) ยังสั่งใช้ให้เขาละทิ้งการออกสงคราม จากนั้นให้เขาเดินทางไปกับภรรยาของเขา, นักวิชาการกล่าวว่า มุสลิมะห์ท่านใดที่ไม่มีมะฮฺรอม แท้จริงการทำฮัจญ์ไม่จำเป็นสำหรับนางเพราะถือว่านางคือผู้ที่ไม่มีความสามารถซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงกำหนดฟัรฎูเหนือผู้ที่มีความสามารถเท่านั้น” (หนังสือ “ฟะตาวา อัลมัรฺอะตุลมุสลิมะห์" เล่ม 1 หน้า 371)

อนึ่ง สำหรับกฎหมายของประเทศซาอุดิอาระเบียเองนั้น ไม่อนุญาตให้มุสลิมะฮฺท่านใดเข้าประเทศโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะเข้าไปเพื่อทำฮัจญ์, อุมเราะฮฺ หรือด้วยสาเหตุอื่นก็ตาม นอกจากจะมีสามีหรือมะฮฺรอมร่วมเดินทางพร้อมกับนางเท่านั้น นี้คือสิ่งที่ประเทศ ซาอุดิอาระเบียปฏิบัติตามตัวบทหะดีษของท่านนบี (ซ.ล.) ที่กล่าวมาแล้วอย่างเคร่งครัดนั่นเอง

สรุปช่วงท้ายนี้ว่า มุสลิมะห์ที่เดินทางไม่ว่าจะเดินทางด้วยภารกิจทางด้านดุนยาหรือทางด้านศาสนา วาญิบ (จำเป็น) จะต้องมีมะฮฺรอมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง โดยเฉพาะมุสลิมะห์ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง เพราะนั่นคือสิ่งที่ท่านรสูลุลลอฮ (ซ.ล.) กำหนดไว้อย่างชัดเจน ดังหลักฐานหะดีษของท่านอิบนุอับบาส ซึ่งกล่าวมาแล้วข้างต้น

ส่วนประเด็นที่อ้างว่า หากมุสลิมะห์ท่านหนึ่งเดินทางร่วมกับกลุ่มสตรีหรือสตรีเพียงท่านเดียวที่ไว้วางใจได้ หรือกลุ่มผู้ชายที่ไว้วางใจได้ การเดินทางครั้งนั้นถือว่าอนุญาต ถึงแม้ว่าจะไม่มีมะฮฺรอม ร่วมเดินทางพร้อมกับนางก็ตาม คำกล่าวข้างต้น เป็นเพียงทัศนะของนักวิชาการเท่านั้น อีกทั้งไม่พบตัวบทหลักฐานยืนยันทัศนะดังกล่าวอีกด้วย

วัลลอฮุอะอฺลัมบิศเศาะวาบ

https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/23217

อัพเดทล่าสุด