กฎเกณฑ์(หุก่ม)ของการอาบน้ำละหมาด การอาบน้ำละหมาด เป็นสิ่งจำเป็นแก่ผู้ที่ต้องการจะละหมาดหรือทำการตอว๊าฟ หลักฐานที่บ่งบอกถึงความจำเป็น คืออายะฮฺของอัลกุรอานที่กล่าวมาข้างต้น
การอาบน้ำละหมาด คือ การทำความสะอาดใบหน้า มือและแขนทั้งสอง ศีรษะ และเท้าทั้งสองโดยการใช้น้ำ
อัลลอฮฺทรงตรัสในซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 6 ว่า
يَاأَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوْا إِذَا قُمْتُمْ إِلَى الصَّلاَةِ فَاغْسِلُوْا وُجُوْهَكُمْ وَأَيْدِيَكُمْ إِلَى الْمَرَافِقِ وَامْسَحُوْا بِرُءُوْسِكُمْ وَأَرْجُلَكُمْ إِلَى الْكَعْبَيْنِ
ความว่า : โอ้บรรดาผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลาย จะไปทำการละหมาด พวกท่านจงล้างใบหน้าของพวกท่านและมือของพวกท่านจนถึงข้อศอก และท่านทั้งหลาย จงลูบศีรษะ ของพวกท่านและจงล้างเท้าทั้งสองจนถึงตาตุ่ม.
กฎเกณฑ์(หุก่ม)ของการอาบน้ำละหมาด การอาบน้ำละหมาด เป็นสิ่งจำเป็นแก่ผู้ที่ต้องการจะละหมาดหรือทำการตอว๊าฟ หลักฐานที่บ่งบอกถึงความจำเป็น คืออายะฮฺของอัลกุรอานที่กล่าวมาข้างต้น
มีรายงานจากท่าน อบีฮุรอยเราะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
لاَيَقْبَلُ اﷲُ صَلاَةَ أَحَدِكُمْ إِذَا أَحْدَثَ حَتَّى يَتَوَضَّأَ
ความว่า : อัลลอฮฺจะไม่ทรงรับการละหมาดของคนหนึ่งคนใดในพวกท่าน เมื่อเขามีฮะดัษ จนกว่าเขาจะอาบน้ำละหมาดเสียก่อน.
บันทึกโดยท่านอัลบุคอรียฺและมุสลิม อบูดาวูด ติรมีซียฺ อะฮฺหมัด
ฟัรฎู(องค์ประกอบที่สำคัญ)ของการอาบน้ำละหมาด
สำหรับการอาบน้ำละหมาด มีองค์ประกอบที่สำคัญๆที่ไม่สามารถจะขาดได้ เรียกว่า ฟัรฎู ของการอาบน้ำละหมาด ดังนั้นเมื่อบกพร่องหรือขาดตกไปอย่างหนึ่งอย่างใด การอาบน้ำละหมาดถือว่าไม่สมบูรณ์และขณะเดียวกันจะไม่ถูกนับว่าเป็นบทบัญญัติ
ฟัรฎูของการอาบน้ำละหมาด คือ
- ล้างหน้าจากส่วนที่อยู่บนใบหน้า เช่น ปาก จมูก ฉะนั้นการบ้วนปาก การสูดน้ำเข้าจมูกแล้วสั่งออก จึงเป็นสิ่งจำเป็นตามความเห็นที่มีน้ำหนักของบรรดานักปราชญ์ ขอบเขตของใบหน้าเริ่มจากตีนผมบนหน้าผาก จนถึงใต้คางและอยู่ระหว่างติ่งหูทั้งสองข้าง
- ล้างมือทั้งสองจนถึงข้อศอก
- เช็ดศีรษะ และส่วนที่นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของศีรษะ คือหูทั้ง 2 ดังนั้นการเช็ดหูทั้งสอง จึงเป็นสิ่งจำเป็นตามความเห็นที่มีน้ำหนักของบรรดานักปราชญ์
เนื่องจากมีฮะดีษบ่งชี้ว่า หูทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของศีรษะ บันทึกโดยท่านอะฮฺหมัดและอบูดาวูด - ล้างเท้าทั้งสองจน ถึงตาตุ่มทั้งสอง
- การเรียบเรียงตามลำดับ เริ่มจากการล้างหน้า ล้างมือทั้งสองจนถึงข้อศอก การเช็ดศีรษะ การล้างเท้าทั้งสองถึงตาตุ่มทั้งสอง
- การทำอย่างต่อเนื่อง จะต้องไม่ล่าช้าหรือขาดตอน
วิธีการอาบน้ำละหมาด
- ต้องมีน้ำที่สะอาด
- การตั้งเจตนาที่จะอาบน้ำละหมาด
- การกล่าว “บิสมิลลาฮฺ”
- การล้างมือทั้งสอง 3 ครั้ง
- การบ้วนปาก พร้อมกับสูดน้ำเข้าจมูก แล้วสั่งออก 3 ครั้ง
- การล้างใบหน้าให้ทั่ว 3 ครั้ง
- การเสย หรือสางเคราของเขาด้วยกับน้ำ
- การล้างมือทั้งสองของเขาจนถึงข้อศอก 3 ครั้ง
- เช็ดศีรษะพร้อมกับเช็ดหูทั้งสอง 1 ครั้ง
- ล้างเท้าทั้งสองจนถึงตาตุ่ม 3 ครั้ง และถูซอกนิ้วเท้าด้วยน้ำให้ทั่ว
สิ่งที่ทำให้เสียน้ำละหมาด
สิ่งต่างๆที่ทำให้เสียการอาบน้ำละหมาดมีดังนี้ คือ
1. ทุกๆสิ่งที่ออกมาจากทวารเบาและทวารหนัก ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะ อุจจาระ ผายลม
2. มะนียฺ ( อสุจิ) คือน้ำสีขาวข้น จะออกมา เนื่องจากเกิดอารมณ์ และการมีเพศสัมพันธ์
3. มะซียฺ คือน้ำขาวๆ ใสๆ จะออกมา เนื่องจากเกิดอารมณ์ หรือการเล้าโลม
4. วะดียฺ คือน้ำเมือกขาวๆ จะออกมาหลังจากปัสสาวะ
มีรายงานจากอิบนุอับบาส รอฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า น้ำมะนียฺที่หลั่งออกมานั้นจำเป็นต้องอาบน้ำญะนาบะฮฺ.
ส่วนน้ำมะซียฺและวะดียฺนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
إِغْسِلْ ذَكَرَ كَ وَ تَوَضَّأْ وُضُوْءَكَ لِلصَّلاَ ةِ
ความว่า : จงล้างอวัยวะเพศของท่านและจงอาบน้ำละหมาดเช่นเดียวกับท่านทำเพื่อละหมาด.
บันทึกโดยอัลบัยหะกี
5. การขาดสติ หรือสติถูกครอบงำ ด้วยความมึนเมา ลมบ้าหมู การนอนหลับสนิทโดยก้นไม่แนบกับพื้น และเป็นบ้า
มีรายงานจากท่านซ็อฟวาน บินอัชชาล รอฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า
كَانَ رَسُوْلُ اﷲِ صَلَّى اﷲُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَأْمُرُنَاإِذَاكُنَّاسَـفَرًا أَلاَّ نَنْزِعَ خِفَافَنَا ثَلاَثَةَ أَيَّامٍ وَلَيَالِيْهِنَّ إِلاَّ مِنْ جَنَابَةٍ لَكِنْ مِنْ غَائِطٍ وَبَوْلٍ وَنَوْمٍ
ความว่า : ปรากฏว่าท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ใช้เราขณะเมื่อเราเดินทางโดยอย่าได้ถอดรองเท้าหุ้มส้นของพวกเราออกเป็นเวลา สามวัน สามคืน เว้นแต่มีญะนาบะฮฺ แต่เนื่องมาจากถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ และการนอนหลับ( ไม่ต้องถอด )
บันทึกโดยอะฮฺหมัด นะซาอี ติรมีซียฺ
ดังนั้นหากเป็นการนอนเพียงเล็กน้อย หรือเป็นการหลับในสภาพท่านั่งที่ก้นของเขาแนบกับพื้นโดยกำลังรอละหมาด ถือว่าไม่เสียการอาบน้ำละหมาด
มีรายงานจากท่านอนัส รอฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า
“ปรากฏว่าบรรดาซอฮาบะฮฺ ของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กำลังรอละหมาดอีซาในช่วงเวลาดึกๆ จนกระทั่งหลับหัวของเขาผงก หลังจากนั้นเขาเหล่านั้นลุกขึ้นละหมาด โดยไม่มีการอาบน้ำละหมาดใหม่”
บันทึกโดยมุสลิม ติรมีซียฺ และอบูดาวูด
6. การกระทบอวัยวะเพศโดยมีอารมณ์
7. การรับประทานเนื้ออูฐ
มีรายงานจากท่าน ญาบิร บิน สะมุเราะฮฺ ว่า แท้จริงชายคนหนึ่ง ถามท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม “พวกเราจะต้องอาบน้ำละหมาดเนื่องจากการรับประทานเนื้อแกะหรือเปล่า” ? ท่าน ตอบว่า หากว่าท่านประสงค์ท่านก็จงอาบน้ำละหมาดเถิด
และถ้าหากท่านประสงค์(จะไม่อาบน้ำละหมาด)จงอย่าอาบ (ชายคนนี้) กล่าวถามต่อว่า
“พวกเราจะต้องอาบน้ำละหมาดเนื่องมาจากการรับประทานเนื้ออูฐหรือไม่? ท่านตอบว่า “ใช่ ท่านจงอาบน้ำละหมาด เนื่องมาจากการรับประทานเนื้ออูฐ”ชายคนนั้นถามต่อว่า “ฉันจะละหมาดในคอกแกะได้หรือไม่ ?” ท่านตอบว่า ได้ ชายคนนั้นถามต่อว่า “ฉันจะละหมาดในคอกอูฐ ได้หรือไม่ ? ท่านตอบว่า “ไม่ได้”
บันทึกโดยมุสลิม และอะฮฺหมัด
การสงสัยในความสะอาด
1. ผู้ใดที่แน่ใจว่าเขามีความสะอาด แล้วสงสัยในการมี ฮะดัษ ของเขา ดังนั้นให้คงอยู่บนความสะอาดของเขาและไม่มีเหตุผลใดๆ ต่อความสงสัย เพราะความสะอาดนั้นคือสิ่งที่ทำให้เขามีความแน่ใจ
2. ผู้ใดที่แน่ใจเขามีฮะดัษ แล้วสงสัยในการมีความสะอาดของเขา ให้เขาคงอยู่บนความแน่ใจว่าเขามี ฮะดัษ และไม่มีเหตุผลใดๆต่อความสงสัย เพราะว่าการมี ฮะดัษ นั้นคือสิ่งที่ทำให้เขามีความแน่ใจ
มีรายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
إِذَاوَجَدَ أَحَدُكُمْ فِيْ بَطْنِهِ شَيْئًا فَأَشْكَلَ عَلَيْهِ أَخْرَجَ مِنْهُ شَـيْ ءٌ أَمْ لاَ ؟ فَلاَ يَخْرُجَنَّ مِنَ الْمَسْجِدِ حَتَّي يَسْـمَعَ صَوْتًا أَوْ يَجِدَ رِيْحًا
ความว่า : เมื่อคนหนึ่งคนใดพบว่าในท้องของเขามีบางสิ่งบางอย่าง แล้วทำให้เกิดสงสัยแก่เขา ว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกมาจากท้องของเขาหรือไม่?” เขาจงอย่าออกจากมัสยิดเป็นอันขาดจนกว่าเขาจะได้ยินเสียงหรือได้กลิ่น .บันทึกโดยมุสลิม อบูดาวูด และติรมีซียฺ
บทขอพร(ดุอา)หลังอาบน้ำละหมาด(นมาซ)
" أشهد أن لا إله إلا الله وحده لا شريك له وأشهد أن محمدا عبده ورسوله "
คำอ่าน : อัชฮะดุอันลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ วะฮฺดะฮูลาชะรีกะละฮฺ วะอัชฮะดุอันนะมุฮัมมะดัน อับดุฮูวะเราะซูลุฮฺ
คำแปล : ฉัน ขอปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าที่สมควรได้รับการอิบาดะฮฺนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์ เดียวเท่านั้น โดยไม่มีภาคีใดๆ (บันทึกโดยมุสลิม ลำดับหะดีษที่ 345)
ขอบคุณข้อมูลดีดีดจาก : annisaa.com