ประวัติมัสยิดอาโห ปัตตานี อายุเกือบ 400 ปี


6,744 ผู้ชม

มัสยิดอาโห หรือสุเหร่าอาวห์ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านตันหยง ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นมัสยิดขนาดเล็กสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร....


ประวัติมัสยิดอาโห ปัตตานี อายุเกือบ 400 ปี

ประวัติและความเป็นมาของมัสยิดอาโห

มัสยิดอาโห หรือสุเหร่าอาวห์ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านตันหยง ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นมัสยิดขนาดเล็กสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร หลังคาทรงจั่ว 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ถือว่า เป็นมัสยิดรุ่นแรกของปัตตานีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่เหลืออยู่ในเวลานี้

ที่ตั้งของมัสยิดอาโหอยู่ใกล้กับคลองตันหยง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปัตตานีสมัยลังกาสุกะ ที่ตั้งของมัสยิดเดิมอยู่ริมแม่น้ำซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่ที่พ่อค้าวานิชเข้ามาแวะพักซื้อขายสินค้า เพราะสามารถเดินเรือจากอ่าวปัตตานีต่อไปถึงยาลอ (ยะลาในปัจจุบัน) และข้ามฝั่งไปถึงเปรักและเคดาห์ได้

ประวัติมัสยิดอาโห ปัตตานี อายุเกือบ 400 ปี

ต่อมาลำน้ำสาขาของแม่น้ำตันหยงที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำปัตตานีโบราณ แถบบ้านกระโด บ้านกอลำ และบ้านเมาะมาวีตื้นเขินลง เนื่องจากแม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน ทำให้ศูนย์กลางความเจริญของชุมชนแห่งนี้เปลี่ยนไป

ปัจจุบันยังคงปรากฏร่องรอยความเก่าแก่ของชุมชนบ้านตันหยงแห่งนี้ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นท่าเรือมาตั้งแต่สมัยลังกาสุกะแล้ว ยังเชื่อว่า เป็นที่ชุมนุมของพ่อค้าอิสลามชาวอาหรับและเปอร์เซีย จากดินแดนปาร์ซี (Parsi) หรือคาบสมุทรอาหรับในสมัยโบราณ

ในหนังสือ Hikayat Raja Langasuka (Bougas, 1994:29) ระบุว่า พ่อค้าชาวอาหรับและเปอร์เซียเหล่านี้นิยมแต่งงานกับชาวมลายูท้องถิ่น และพากันเดินทางไปค้าขายแถบจีนและกัมพูชา แม้ว่าหลักฐานข้อมูลการเข้ารับศาสนาอิสลามครั้งแรกของชาวปัตตานี ยังขาดความชัดเจน แต่เชื่อว่า ชาวปัตตานีเข้ารับอิสลามครั้งแรกตั้งแต่ประมาณคริสศักราช 1000 และเป็นผู้นำไปเผยแพร่ในกลันตันราวคริสศักราช 1200

ประวัติมัสยิดอาโห ปัตตานี อายุเกือบ 400 ปี

ขณะนั้นกษัตริย์ปัตตานี ยังนับถือศาสนาพุทธ มีเมืองหลวงอยู่ที่โกตามหลิฆัย อีกราว 300 ปีต่อมา หลังจากย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรือเซะ กษัตริย์จึงเปลี่ยนมาเข้ารับศาสนาอิสลาม

ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสนาอิสลามที่ปัตตานีจึงเชื่อว่ามัสยิดอาโห สร้างขึ้นสมัยที่คนปัตตานีเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในยุคแรก และถือว่า เป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดของปัตตานี (Bougas, 1992) ที่เหลืออยู่ในเวลานี้ นอกจากนั้นที่หมู่บ้านนัดตันหยงแห่งนี้ถือว่า เป็นที่กำเนิดปอเนาะแห่งแรก ของปัตตานีเช่นกัน (Halim Bashah, 1994)

ประวัติมัสยิดอาโห ปัตตานี อายุเกือบ 400 ปี

มัสยิดอาโห หลังเดิมที่อยู่ริมแม่น้ำตันหยงอาจมีอายุ เก่าแก่ถึง 600 ปี เมื่อประสบปัญหาตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะ ถึงถูกย้ายมาในที่แห่งใหม่ที่เป็นที่ตั้งในปัจจุบัน

ผู้อาวุโสในชุมชนเล่าให้ฟังว่า ไม่สามารถระบุอายุของมัสยิดอาโหที่แน่นอน แต่อย่างน้อยมีอายุเก่าแก่ถึง 600 ปี เนื่องจากมัสยิดหลังนี้เดิมตั้งอยู่ใกล้ริมตลิ่งของคลองตันหยง แต่เมื่อมีปัญหาน้ำในแม่น้ำกัดเซาะจึงได้ช่วยกันหามมาวางในที่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนานแล้วแต่ไม่มีการบันทึกไว้ จนถึงปัจจุบันได้มีการซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง ทั้งส่วนที่เป็นโครงสร้าง หลังคา ฝาผนัง พื้นและเสา โดยเฉพาะเสานั้นได้เปลี่ยนมาใช้เสาปูนแทนเสาไม้ซึ่งได้ผุกร่อนไปตามกาลเวลา แม้ว่าจะมีการซ่อมแซมหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็คงสภาพเดิมเอาไว้ เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการสร้างบันไดทางขึ้นด้วยคอนกรีต แทนบันไดไม้ที่ชำรุด และสร้างโรงเรียนตาดีกาสำหรับให้การศึกษาแก่เด็กๆ ในชุมชนติดกับสุเหร่าดังกล่าว แม้ว่าจะทำให้ทัศนียภาพเดิมเสียไปบ้าง แต่ก็ได้พยายามสร้างให้กลมกลืนกับสภาพเดิมของมัสยิด

ประวัติมัสยิดอาโห ปัตตานี อายุเกือบ 400 ปี

คุณค่าของมัสยิดแห่งนี้อยู่ ที่สถาปัตยกรรมพื้นเมืองของช่างท้องถิ่นปัตตานี เชื่อกันว่าวิถีชีวิตและความเชื่อของศาสนาเดิมในชุมชน คือ ฮินดูและพุทธยังคงมีอิทธิพลอยู่มากในขณะนั้น

ดังนั้น รูปแบบศิลปกรรมและโครงสร้างของมัสยิดจึงดูคล้ายกุฏิของวัดในพุทธศาสนา โดยที่รูปแบบอิทธิพลของสถาปัตยกรรมอิสลามแบบตะวันออกกลางยังเข้ามาไม่ถึง ในด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม จึงถือว่ามัสยิดอาโหมีคุณค่าอย่างยิ่งที่ช่วยให้เห็นการเชื่อมต่อของวัฒนธรรมทั้งสอง มัสยิดอาโหแห่งนี้ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากชุมชน จึงควรค่าแก่การไปเยี่ยมเยือนเพื่อศึกษาหาความรู้

มัสยิดอาโห ต.มะนังยง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี 94150

หมายเหตุ : * อาวห์ หมายถึง ต้นไม้ที่ใหญ่ และเยอะมาก

ข้อมูล : หนังสือ มัสยิดกรือเซะ มรดกอารยธรรมปัตตานี (รศ.ดร.ครองชัย หัตถา)

ปราชญ์ชุมชน : นายหะยีดาโอ๊ะ (ตะเยาะโอ๊ะ) ลาเตะ

ภาพ : นายซาฮาน สาเมาะ ครูโรงเรียนบ้านตันหยง / ที่นี่ชายแดนใต้

 ประวัติมัสยิดอาโห ปัตตานี อายุเกือบ 400 ปี

ประวัติมัสยิดอาโห ปัตตานี อายุเกือบ 400 ปี

ประวัติมัสยิดอาโห ปัตตานี อายุเกือบ 400 ปี

https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/23196

อัพเดทล่าสุด