อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ทรงแนะนำวิถีทางในการปรับปรุง และขัดเกลาชีวิตของเรา ให้เป็น
มวลการสรรเสริญ เป็นของอัลลอฮฺ ความจำเริญและความศานติ จงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺองค์เดียว โดยไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า ท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าว และศาสนทูตของพระองค์
อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ทรงแนะนำวิถีทางในการปรับปรุง และขัดเกลาชีวิตของเรา ให้เป็นคนดี ด้วยแสงสว่างของอัลกุรอาน สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องศึกษาอายะฮฺนี้
(يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ اسْتَعِينُواْ بِالصَّبْرِ وَالصَّلاَةِ إِنَّ اللّهَ مَعَ الصَّابِرِينَ)
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงขอความช่วยเหลือ ด้วยความอดทน และการละหมาด แท้ที่จริงแล้วอัลลอฮฺ ทรงอยู่กับบรรดาผู้ที่อดทนทั้งหลาย” (สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ 153)
“اسْتَعِينُواْ (อิสตะอีนู)” เป็นกริยาคำสั่ง ซึ่งรากศัพท์ของคำนี้มาจากคำว่า “اِسْتِعَانَة (อิสติอานะฮฺ)” แปลว่าขอความช่วยเหลือ ดังนั้น اسْتَعِينُواْ จึงหมายรวมว่า จงขอความช่วยเหลือ
อัลลอฮฺทรงมีดำรัสว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงขอความช่วยเหลือ ด้วยความอดทน และจงละหมาด แท้ที่จริงแล้วอัลลอฮฺ ทรงอยู่กับบรรดาผู้ที่อดทนทั้งหลาย อัลกุรอานได้บอกว่า “จงขอความช่วยเหลือ”หมายถึงให้สองกิจการนี้ เป็นสิ่งช่วยให้เรายืนหยัด สู่หนทางแห่งความสำเร็จ ซึ่งเป็นการยืนยัน ในสองประเด็นสำคัญ นั้นก็คือ เรื่องการอดทนและการละหมาด
ส่วนคำว่า الصَّبْر แปลว่า “อดทน” แต่นักวิชาการบางท่านเช่น ท่านมุญาฮิด ท่านสุฟยาน อัษ-เษารีย์ ได้กล่าวว่า الصَّبْر ในที่นี้หมายถึง “การถือศีลอด”
เพราะท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า...
( الصَّوْمُ نِصْفُ الصَّبْر)
ความว่า “การถือศีลอดนั้น เป็นครึ่งหนึ่งของการอดทน” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ )
จึงหมายรวมว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอาศัยเรื่องการถือศีลอด และการละหมาด เพื่อเป็นการยืนหยัด สู่หนทางแห่งความสำเร็จเถิด
ซึ่งในความเป็นจริงนั้น “การเศาะบัรฺ” มีนัยมากกว่าการอดทน และมากกว่าการถือศีลอด เสียอีก ดังที่นักวิชาการบางท่าน ได้กล่าวว่า การอดทนนั้น หมายถึง “การที่ได้ยับยั้งตัวเอง จากการปฏิบัติสิ่งที่เป็นบาป หรือมะอฺศิยะฮฺ ทั้งหลาย" และด้วยเหตุนี้เอง มันจึงได้ควบคู่ กับการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ซึ่งสุดยอดของศาสนกิจ ก็คือ “การละหมาด” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/251)
ดังนั้น การอดทนนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย เพียงอย่างเดียว แต่มันขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจ อีกด้วย ซึ่งคนที่แข็งแกร่งนั้น ไม่ใช่คนที่สามารถล้มคนอื่นได้ แต่คนที่สามารถควบคุมตัวเองได้ ในยามโกรธ ต่างหาก ที่เป็นคนที่แข็งแกร่ง ดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า
«لَيْسَ الشَّدِيدُ بِالصُّرَعَةِ، إِنَّمَا الشَّدِيدُ الَّذِي يَمْلِكُ نَفْسَهُ عِنْدَ الْغَضَبِ»
ความว่า “ผู้ที่แข็งแกร่งนั้น ไม่ใช่ผู้ที่สามารถล้มคู่ต่อสู้ได้ แต่ผู้ที่แข็งแกร่ง คือผู้ที่สามารถควบคุมตัวเองได้ ในยามโกรธ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)
ท่านอิบนุกะษีร ได้กล่าวว่า “การอดทนนั้นมีอยู่ 2 ประเภท นั่นคือ การอดทนต่อการละทิ้ง สิ่งที่เป็นข้อห้าม และที่เป็นบาปทั้งหลาย และการอดทนต่อการปฏิบัติ เพื่อแสดงถึงการเคารพภักดี และการเข้าใกล้อัลลอฮฺ ซึ่งการอดทนประเภทที่สองนี่เอง ที่มีผลานิสงส์อย่างมากมาย เพราะมันคือเป้าประสงค์ (ของการอดทน)” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/466 )
ท่านอับดุรเราะหฺมาน บินซัยดฺ บินอัสลัม ได้ กล่าวว่า “การอดทนนั้นมีอยู่ 2 รูปแบบ นั่นคือการอดทน เพื่ออัลลอฮฺ ในสิ่งที่ตนพึงปรารถนาอย่างยิ่งยวด แม้นว่ามันจะเป็นสิ่งที่หนักอึ้งต่อจิตใจ และสภาพร่างกาย และการอดทน เพื่ออัลลอฮฺ จากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม แม้นว่าเขาต้องสละทิ้ง อารมณ์ใคร่ของเขาก็ตาม ดังนั้น ผู้ใดที่อยู่ในสภาพเช่นนั้น เขาก็คือหนึ่งในผู้ที่อดทน ซึ่งเป็นผู้ที่ความศานติ จะประสบแด่เขา อินชาอัลลอฮฺ” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/466 )
ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ ได้กล่าวว่า “การอดทนนั้นมีอยู่ 2 ประเภท นั่นคือการอดทน เมื่อมีเคราะห์กรรม (มุศีบะฮฺ) มาประสบ นี่เป็นการอดทนประเภทที่ดี (เช่น บิดา มารดา หรือลูกหลาน เสียชีวิต เกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ฯลฯ ก็ต้องอดทน ด้วยสภาพพึงพอใจ ในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนด) แต่ สิ่งที่ดีกว่า การอดทนต่อเคราะห์กรรม ที่มาประสบ ก็คือ การอดทน จากการปฏิบัติสิ่งที่เป็นบาป และการกระทำความชั่ว ที่เป็นข้อห้ามของอัลลอฮฺ (ซึ่งเป็นการอดทนที่ดีเลิศที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะไม่ใช่ทุกคน ที่สามารถทำได้)” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/251 )
ข้อห้ามต่างๆ ของอัลลอฮฺที่ห้อมล้อมชีวิต ซึ่งคนที่สามารถควบคุมอารมณ์ของเขา โดยสามารถหลีกเลี่ยง จากข้อห้ามต่างๆ แม้กระทั่งปัจจัยทั้งหลาย ที่จะนำเขา ไปสู่สิ่งที่เป็นข้อห้ามเหล่านั้น คนเช่นนี้ ถือเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ มากที่สุด โดยแน่แท้มันไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ที่ใครๆ ก็สามารถปฏิบัติได้ แต่ย่อมไม่เกินความสามารถของมนุษย์ ที่จะปฏิบัติมันได้ อย่างแน่นอน
ดังที่ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า...
«عجبا للمؤمن ، لا يقضي الله له قضاء إلا كان خيرا له : إن أصابته سراء ، فشكر ، كان خيرا له ; وإن أصابته ضراء فصبر كان خيرا له»
“น่าประหลาดจริงๆ สำหรับการกำหนด (เกาะฎออ์) ของอัลลอฮฺ แก่ผู้ศรัทธา ซึ่งทั้งหมด ล้วนเป็นความดีสำหรับเขา (นั่นคือ) หากความดีมาประสบแก่เขา เขาก็จะขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ซึ่งนั่นก็เป็นความดีสำหรับเขา แต่ถ้าหากว่าความเดือดร้อน มาประสบกับเขา เขาก็จะอดทน ต่อความเดือดร้อนนั้น นั่นก็เป็นความดีสำหรับเขา อีกเช่นกัน” (บันทึกโดยมุสลิม)
แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ / Islam house
แหล่งที่มา: www.piwdee.net