พุทรา ผลไม้ที่ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน
พุทรา ชื่อไม้ต้นชนิด Zizyphus mauritiana Lamk. ในวงศ์ Rhamnaceae กิ่งมีหนาม ผลมีทั้งกลมและรี พายัพและอีสานเรียก กะทัน ทัน หรือหมากทัน ในภาษาอาหรับเรียกต้นพุทรา ว่า อัซซิดรุ้ (السِّدْرُ ) และเรียกลูกพุทรา ว่า อันนับกุ้ (النَّبْقُ ) หรือ อันนิบกุ้ (النِّبْقُ ) หรืออันนะบัก (النَّبَقُ ) และต้นพุทราต้นเดียวเรียกว่า อัซซิดเราะฮฺ (السِّدْرَة )
คำว่า ซิดริน (سِدْرٍ ) ถูกระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน 2 แห่ง คือ ในบทสะบะอฺ อายะฮฺที่ 16 และในบท อัลวากิอะฮฺ อายะฮฺที่ 28 ซึ่งกล่าวถึง “ชาวขวา” (อัศฮาบุ้ลยะมีน) ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นพุทราที่ไร้หนามในสวนสวรรค์ และคำว่า ซิดเราะฮฺ (سِدْرَةٌ ) ถูกระบุไว้ 2 แห่ง คือ ในบทอันนัจญมุ้ อายะฮฺที่ 14 และอายะฮฺที่ 16 ซึ่งกล่าวถึง ซิดเราะฮฺ อัลมุนตะฮา (سِدْرَةُ الْمُنْتَهٰى ) อันเป็นต้นไม้ในสวรรค์ชั้น อัลมะอฺวา (جَنَّةُالْمَأوٰى
ซึ่งท่านศาสดามุฮำมัด (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ยลโฉมที่แท้จริงของท่านญิบรีล (อะลัยฮิซซลาม) ณ ต้นไม้นี้
เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางขึ้นสู่ชั้นฟ้าเบื้องบน (อัลมิอฺรอจฺญ์) ผลของต้นไม้นี้ใหญ่ขนาดโอ่งที่ปั้นจากเมือง ฮิจรฺ ใบของมันใหญ่ขนาดใบหูของช้าง มีแม่น้ำ 4 สายไหลออกมาจากเบื้องใต้ 2 สาย เป็นแม่น้ำภายในและอีกสองสายเป็นแม่น้ำภายนอก คือ แม่น้ำไนล์ และฟุร๊อต (ยูเฟรติส)
ท่านอัลบุคอรีย์และมุสลิมระบุเรื่องนี้เอาไว้ ท่านอิบนุ กะซีร (ร.ฮ) ได้เล่าจากท่าน กอตาดะฮฺ (ร.ฮ) ว่า :
“พวกเราเคยพูดคุยถึงต้นพุทราที่ไร้หนาม (ซิดริน มัคฎู๊ด) ส่วนพุทราในโลกนี้มีหนามและมีผลน้อย”
ท่านฮาฟิซฺ อัซซะฮฺบีย์ (ร.ฮ) กล่าวว่า : การอาบน้ำด้วยพุทราจะทำให้ศีรษะสะอาดหมดจดยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด และจะดับความร้อน และท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ระบุถึงพุทราในการอาบน้ำศพ
อันนะบะกุ้ (النّبق ) คือ ผลของพุทรา มีลักษณะคล้ายผลซะอฺรู๊ร (الزَّعْرُوْرُ ) รับประทานแล้วทำให้อารมณ์เป็นปกติ และเคลือบกระเพาะอาหาร ท่านอิบนุ อัลก็อยยิม (ร.ฮ) กล่าวว่า “ผลของพุทรามีประโยชน์ในการบรรเทาอาการท้องเสีย และบรรเทาอาการดีซ่าน บำรุงร่างกายทำให้เจริญอาหาร...”
ผลพุทรามีรสหวาน กลิ่นหอม ส่วนประกอบที่สำคัญในผลพุทราคือ น้ำตาลขององุ่นและฟรุกโตส และกรดพุทรา (Acide Zizyphique) เป็นยาระบาย ลดอาการไข้ตัวร้อน ขับเสมหะ มีประโยชน์สำหรับผู้ที่ออกหัด และกระเพาะเป็นหนอง ใบพุทราต้มสุกแก้ท้องเดินและขับพยาธิ ทำให้รากผม ขนแข็งแรง และมีสรรพคุณในการรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและปอด
ที่มา: อาลี เสือสมิง