ความหมายของ อัลกุรอาน
อัลกุรอาน (อาหรับ: الْقُرآن) เป็นคัมภีร์ในศาสนาอิสลาม เป็นพระวจนะของอัลลอฮ์ที่ประทานผ่านทางเทวทูตญิบรีล มาสู่นบีมุฮัมมัด คำว่า กุรอาน มาจากรากศัพท์ในภาษาอาหรับแปลว่า การอ่าน หรือ อาขยาน
อัลลอฮ์ได้ประทานคัมภีร์อัลกรุอานแก่นบีมุฮัมมัด ซึ่งชาวมุสลิมถือว่าเป็นศาสนทูตคนสุดท้าย และคัมภีร์นี้ก็เป็นคัมภีร์สุดท้ายที่อัลลอฮ์ได้ส่งมาให้แก่มวลมนุษยชาติ หลังจากนี้แล้วจะไม่มีคัมภีร์ใด ๆ จากพระเป็นเจ้าอีก คัมภีร์กรุอานนี้ได้ประทานมาเพื่อยกเลิกคัมภีร์เก่าๆ ที่เคยได้ทรงประทานมาในอดีตนั่นคือ คัมภีร์เตารอต ที่เคยทรงประทานมาแก่นบีมูซา คัมภีร์ซะบูร ที่เคยทรงประทานมาแก่นบีดาวูด (ดาวิด) และคัมภีร์อินญีลที่เคยทรงประทานมาแก่นบีอีซา (พระเยซู) เป็นคัมภีร์ที่บริบูรณ์ไม่มีการเพี้ยนเปลี่ยนแปลง ภาษาของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นคือภาษาอาหรับ ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน
การศรัทธาในคัมภีร์อัลกุรอานทั้งเล่มเป็นหลักการหนึ่งที่มุสลิมทุกคนต้องศรัทธา นั่นก็หมายความว่าหากไม่ศรัทธาในอัลกุรอาน หรือศรัทธาเพียงบางส่วนก็จะเป็นมุสลิมไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ต้องศรัทธาว่าคัมภีร์อัลกุรอานนี้มีความบริบูรณ์ภายใต้การพิทักษ์ของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการสังคายนาคัมภีร์อัลกุรอานเลย ตั้งแต่วันที่ท่านศาสดาเสียชีวิตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยมีความเหมือนกันในทุกฉบับบนโลก และภาษาอาหรับในคัมภีร์จึงเป็นภาษาโบราณภาษาเดียว ที่มีใช้อย่างคงเดิมอยู่จนกระทั่งวันนี้ได้ และได้กลายเป็นภาษามาตรฐานของประเทศอาหรับทั้งหลาย เป็นภาษาวิชาการของอิสลาม และเป็นภาษาที่ใช้ในการปฏิบัติศาสนพิธีของมุสลิมทุกคนทั่วโลก
เกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับอัลกุรอาน - โดย : อาลี เสือสมิง
1. คัมภีร์อัลกุรอานเริ่มประทานลงมาแก่ท่านนบีมุฮำมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นครั้งแรกในเดือนร่อมาฎอน ปีที่ท่านมีอายุได้ 40 ปี และประทานลงเรื่อยมาจนถึงวันที่ 9 ซุ้ลฮิจญะฮฺ ปีฮ.ศ.ที่ 10 อายุขัยของท่านนบีได้ 63 ปี นั่นหมายความว่า อัลกุรอานถูกประทานลงมาตลอดระยะเวลา 22 ปี กับอีก 3 เดือน
2. อายะฮฺ (โองการ) ของอัลกุรอานชุดแรกถูกประทานลงมาแกท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในถ้ำฮิรออฺ ภูเขาอันนูร (ภูผารัศมี) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับนครมักกะฮฺ, ในเดือนรอมาฎอน 13 ปีก่อนการอพยพ (ฮิจเราะฮฺ) ตรงกับเดือนกรกฎาคม ปีคศ.610
3. สิ่งแรกที่ถูกประทานลงมาจากคัมภีร์อัลกุรอาน คือ โองการที่ 1-5 จากบทอัลอะลัก
4. จำนวนบท (ซูเราะฮฺ) ของคัมภีร์อัลกุรอานมีทั้งหมด 114 บท เป็นบทมักกียะฮฺ 86 บท และมะดะนียะฮฺ 28 บท
5. จำนวนอายะฮฺ (โองการ) มีทั้งหมด 6,236 อายะฮฺ
6. จำนวนภาค (ญุซฺอ์) มีทั้งหมด 30 ภาค แต่ละภาคมี 2 ฮิซฺบ์ รวมมี 60 ฮิซฺบ์, แต่ละฮิซฺบ์ แบ่งเป็น 4 รุบอ์ รวมมี 240 รุบอฺ
7. บทที่ยาวที่สุดของคัมภีร์อัลกุรอาน คือ อัลบะกอเราะฮฺ มีจำนวน 286 อายะฮฺ, มีคำทั้งหมด 6,121 คำ, มีอักษรทั้งหมด 25,000 อักษร, บทนี้กินเนื้อความถึง 2 ภาคครึ่งจากอัลกุรอาน
8. บทที่สั้นที่สุดในคัมภีร์อัลกุรอาน คือ บทอัลเกาซัร มีจำนวน 3 อายะฮฺ, มีคำทั้งหมด 10 คำ, มีอักษร 42 อักษร
9. โองการ (อายะฮฺ) ที่ยาวที่สุดในคัมภีร์อัลกุรอาน คือ อายะฮฺอัดดัยน์ หรือ อัลมุดายะนะฮฺ, โองการที่ 282 ในบทอัลบะกอเราะฮฺ
10. โองการ (อายะฮฺ) ที่สั้นที่สุดในคัมภีร์อัลกุรอาน คือ วัฎฎุฮา ในบทอัฎฎุฮา, วัลฟัจร์ ในบทอัลฟัจร์ และ วัลอัซรฺ ในบทอัลอัซรฺ
11. โองการ (อายะฮฺ) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคัมภีร์อัลกุรอาน หรือ นายของโองการอัลกุรอาน คือ โองการอัลกุรซีย์ ในบทอัลบะกอเราะฮฺ
12. บท (ซูเราะฮฺ) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคัมภีร์อัลกุรอาน คือ บทอัลฟาติฮะฮฺ
13. บทที่ยาวมี 7 บท คือ อัลบะกอเราะฮฺ, อาลิ อิมรอน, อันนิซาอฺ, อัลมาอิดะฮฺ, อัลอะอฺร๊อฟ, อัลอันอาม และยูนุส
14. บท (ซูเราะฮฺ) ที่เท่ากับ 1 ใน 3 ของอัลกุรอ่านคือ บทอัลอิคลาศ (กุลฮุวัลลอฮฺ)
15. บทที่ไม่มีบิสมิลลาฮฺ ในตอนเริ่มบท คือ บทอัตเตาบะฮฺ
16. บทที่มีการระบุ บิสมิลลาฮฺ ไว้ถึง 2 ครั้งคือ บทอันนัมลฺ
17. คำที่ถูกระบุมากที่สุดในคัมภีร์อัลกุรอาน คือ คำว่าอัลลอฮฺถูกระบุไว้ถึง 2,697 ครั้ง
18. นามของศาสดาที่ถูกระบุเอาไว้มากที่สุดในคัมภีร์อัลกุรอาน คือ มูซา (อ.ล.) มีระบุไว้ถึง 136 ครั้ง
19. บทที่มีคำว่า อัลลอฮฺ ถูกระบุไว้ในทุกโองการของบทนั้น คือ บทอัลมุญาดะละฮฺ
20. บรรดาบทที่ถูกเรียกชื่อด้วยนามของบรรดาศาสดา (อ.ล.) คือ บทยูนุส, ฮูด, ยูซุฟ, อิบรอฮีม, มุฮำมัด และนูฮฺ
21. บรรดาบทที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ระบุว่า “ผู้ใดยินดีที่จะมองดูวันกิยามะฮฺเหมือนเห็นกับตา เขาจงอ่านมันเถิด” คือ บทอัตตักวีร, อัลอิมฟิฏ๊อร, อัลอินชิกอก ทั้งนี้เนื่องจากในเนื้อความของบทเหล่านี้มีการระบุถึงความน่าสะพรึงกลัวของวันกิยามะฮฺและบรรดาเหตุการณ์ที่จะบังเกิดขึ้น
22. บทที่ท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) ได้ระบุว่า : “หากมาตรแม้นมนุษย์ได้พินิจพิเคราะห์บทนี้แล้วไซร้ ย่อมเป็นการเพียงพอแล้ว” คือ บทอัลอัศรฺ
23. บรรดาบทซึ่งท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ระบุว่า เป็นบทที่ทำให้ท่านต้องผมหงอก คือ บทฮูด อัลวากิอะฮฺ, อัลมุรสะลาต, อันนะบะอฺ และอัตตักวีร
24. บทที่เริ่มต้นด้วยการระบุถึงผลไม้ 2 ชนิด คือ บทอัตตีน (มะเดื่อ-มะกอก)
25. บทที่ลงท้ายด้วยการระบุถึงเวลาละหมาด 1 ใน 5 เวลา คือ บทอัลกอดร์ (ระบุถึงละหมาดอัลฟัจรฺ-ซุบฮฺ)
26. บทที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ระบุว่า : “ฉันรักที่ให้บทนั้นอยู่ในหัวใจของผู้คนทุกคนจากประชาชาติของฉัน” คือ บทยาซีน
27. ในซูเราะฮฺ (บท) อัลหะดีด มีอายะฮฺ (โองการ) หนึ่งที่ประเสริฐกว่าพันโองการ คือ อายะฮฺที่ 3
هُوَ ٱلۡأَوَّلُ وَٱلۡأَخِرُ وَٱلظَّـٰهِرُ وَٱلۡبَاطِنُۖ وَهُوَ بِكُلِّ شَىۡءٍ عَلِيمٌ
28. เรื่องเล่าของศาสดาที่ถูกระบุมากที่สุดในคัมภีร์อัลกุรอาน คือ เรื่องราวของท่านศาสดามูซา (อ.ล.) จนกระทั่งนักวิชาการบางท่านถึงกับกล่าวว่า : อัลกุรอานทั้งหมดเกือบเป็นของมูซา (อ.ล.)
29. เรื่องเล่าที่ยาวที่สุดในคัมภีร์อัลกุรอาน คือ เรื่องราวของท่านศาสดายูซุฟ (อ.ล.) ซึ่งถูกระบุเอาไว้ในบทยูซุฟ
30. ซูเราะฮฺซึ่งไม่ปรากฏมีอักษรมีมฺเลยคือ ซูเราะฮฺอัลเกาซัรฺ
31. อายะฮฺที่มีอักษรมีมฺ (ﻣ ) ถึง 16 อักษร คือ อายะฮฺที่ 48 จากบทฮูด
قِيلَ يَـٰنُوحُ ٱهۡبِطۡ بِسَلَـٰمٍ۬ مِّنَّا وَبَرَكَـٰتٍ عَلَيۡكَ وَعَلَىٰٓ أُمَمٍ۬ مِّمَّن مَّعَكَۚ وَأُمَمٌ۬ سَنُمَتِّعُهُمۡ ثُمَّ يَمَسُّهُم مِّنَّا عَذَابٌ أَلِيمٌ۬
32. ซูเราะฮฺที่มีจำนวนอายะฮฺมากกว่า 100 อายะฮฺ แต่ไม่มีการระบุถึงสวรรค์หรือนรกเลย คือ ซูเราะฮฺยูซุฟ
33. อายะฮฺที่รวมพยัญชนะภาษาอาหรับเอาไว้ทั้งหมดคือ อายะฮฺที่ 29 จากบทอัลฟัตฮฺ
34. ซูเราะฮฺที่ถูกเรียกชื่อด้วยชื่อสัตว์ คือ ซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ (วัว), และซูเราะฮฺอัลฟีล (ช้าง)
35. ซูเราะฮฺที่ถูกเรียกชื่อด้วยชื่อของแมลง คือ ซูเราะฮฺอันนะฮฺล์ (ผึ้ง), อันนัมล์ (มด), และอัลอังกะบูต (แมงมุม)
36. ซูเราะฮฺที่ถูกเรียกชื่อด้วยชื่อของสตรี คือ ซูเราะฮฺมัรยัม (พระนางมาเรีย มารดาของศาสดาอีซา (อ.ล.) หรือ พระเยซูคริสต์)
ที่มา : http://www.alisuasaming.com/main/index.php/article/every/1420-nkow