ประวัติ แม่น้ำไนล์ แห่งอียิปต์กับท่านคอลีฟะห์ อุมัร อิบนุ อัลคอตตอบ
ประวัติ แม่น้ำไนล์ แห่งอียิปต์กับท่านคอลีฟะห์ อุมัร อิบนุ อัลคอตตอบ (ร.ฎ.)
ที่มาของชื่อแม่น้ำไนล์ มีหลายชื่อ คำว่า Nile ('nIl) มาจากคำว่า เนย์ลอส (ละติน : Neilos ; กรีก : Νειλος)
ชื่อในภาษากรีกที่มีความหมายว่า หุบเขาที่มีแม่น้ำ อีกชื่อหนึ่งของแม่น้ำไนล์ในภาษากรีกคือ ไอกึปตอส (ละติน : Aigyptos ; กรีก : Αιγυπτος) ซึ่งแปลว่าแผ่นดิน "อียิปต์" นั่นเอง เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดและมีคนยกย่องว่าแม่น้ำนี้มีปลาในส่วนใหญ่
ท่านอิบนุ กะซีร ได้รายงานจากสายรายงานของท่านอิบนุ ละฮีอะห์ จากท่านกอยซ์ อิบนุ อัลฮัจญ๊าจ จากบุคคลที่เล่าให้ท่านฟังว่า : เมื่ออียิปต์ได้ถูกพิชิตในสมัยท่านคอลีฟะห์ อุมัร อิบนุ อัลคอตตอบ (รฎ.) โดยแม่ทัพอัมร์ อิบนุ อัลอ๊าศ (ร.ฎ.)
ประชาชนชาวอียิปต์ได้รวมตัวกันเข้าพบท่านอัมร์ อิบนุ อัลอ๊าศ (ร.ฎ.) ณ กระโจมว่าการของท่านในเมือง ฟุสต๊อต โดยร้องเรียนว่า : โอ้ ท่านผู้นำสำหรับแม่น้ำไนล์ของพวกเรานั้นจำต้องมีพิธีกรรมอันเป็นประเพณีแต่ครั้งโบราณ หากไม่กระทำพิธีกรรมตามประเพณีนั้นแม่น้ำไนล์ก็จักแห้งขอด น้ำท่าก็จักไม่อุดมสมบูรณ์”
ท่านอัมร์ อิบนุ อัลอ๊าศ (ร.ฎ.) ได้ถามว่า : พิธีกรรมที่ว่านั้นคืออะไรเล่า? ประชาชนชาวอียิปต์ก็พากันตอบว่า : เมื่อย่างเข้าสู่เดือนบุอ์นะห์ (เป็นชื่อเดือนตามปฏิทินโบราณของอียิปต์) ได้ 12 คืน พวกเราจะหาสาวพรหมจารีย์จากพ่อแม่ของหล่อน โดยพวกเราจะมอบค่าตอบแทนแก่พ่อแม่ของหล่อนจนพอใจ และพวกเราก็จะแต่งองค์ทรงเครื่องสาวพรหมจารีย์ผู้นั้นด้วยเครื่องประดับและเสื้อผ้าอย่างดีที่สุดเท่าที่จะหาได้
ต่อมาพวกเราก็จะโยนหล่อนลงไปในแม่น้ำไนล์แห่งนี้ (โดยสังเวยชีวิตของนางทั้งเป็นและนางจะได้รับการขนานนามว่า “เจ้าสาวแห่งแม่น้ำไนล์”) เมื่อท่านอัมร์ (ร.ฎ.) ได้รับฟังถึงพิธีกรรมเซ่นสังเวยชีวิตของสาวพรหมจารีย์ ท่านก็กล่าวแก่พลเมืองอียิปต์เหล่านั้นว่า : แท้จริงเรื่องเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งจากสิ่งที่จะต้องไม่ปรากฏมีขึ้นในศาสนาอิสลาม แท้จริงศาสนาอิสลามจะทำลายล้างและขจัดสิ่งที่มีมาก่อนอิสลาม”
ฝ่ายประชาชนชาวอียิปต์เมื่อเห็นว่าการร้องเรียนให้ปฏิบัติตามประเพณีโบราณที่พวกตนเชื่อถือและกระทำสืบทอดกันมาไม่ได้รับการตอบรับจากท่านอัมร์ (ร.ฎ.) พวกเขาจึงแยกกันกลับไปและใช้ชีวิตตลอดช่วงเดือนบุอ์นะห์, อะบีบ และมัซรีย์ แม่น้ำไนล์ก็เริ่มลดระดับลงไม่ไหลเอ่อตามช่วงฤดูกาล จนกระทั่งพลเมืองอียิปต์เริ่มคิดที่จะอพยพละทิ้งบ้านเรือนของตนเพราะสัญญาณแห่งความแห้งแล้งกันดารกำลังจะมาเยือน เรือกสวนไร่นาก็จะเกิดขาดแคลนน้ำและทุพภิกขภัยก็จักตามมา
เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ ท่านอัมร์จึงได้มีสาส์นไปถึงท่านคอลีฟะห์อุมัร อิบนุ อัลคอตตอบ (รฎ.) ณ นครมะดีนะฮ เพื่อแจ้งถึงเรื่องดังกล่าวให้ทราบฝ่ายท่านอุมัร (ร.ฎ.) ก็ได้มีสาส์นตอบมาถึงท่านอัมร์ (ร.ฎ) ว่าแท้จริงสิ่งที่ท่านได้กระทำนั้นถูกต้องแล้วและฉันได้ส่งกระดาษแผ่นหนึ่งสอดมาด้วยในสาส์นที่มีถึงท่าน ขอให้ท่านโยนกระดาษแผ่นนั้นลงไปในแม่น้ำไนล์เถิด”
เมื่อสาส์นของท่านอุมัร (ร.ฎ.) มาถึงท่านอัมร์จึงได้เอากระดาษแผ่นนั้นออกมาดูแล้วก็พบข้อความระบุในกระดาษว่า : จากบ่าวของพระองค์อัลลอฮ (ซ.บ.) อุมัร ผู้นำปวงชนผู้ศรัทธา ถึงแม่น้ำไนล์ของประชาชนชาวอียิปต์ อนึ่ง ถ้าหากมาตรแม้นว่าเจ้านั้นได้ไหลตามอำเภอใจของเจ้าและเป็นเรื่องของเจ้าเอง เจ้าก็จงอย่าไหลเลย และเราก็ไม่มีความต้องการในตัวเจ้า (หมายความว่า เจ้าหาได้มีความสำคัญสำหรับเราไม่)
และถ้าหากว่าเจ้านั้นไหลด้วยบัญชาของอัลลอฮพระผู้ทรงเอกะและพระผู้ทรงพิชิตกำหราบสรรพสิ่งทั้งมวลและพระองค์คือพระผู้ทรงทำให้เจ้าไหลแล้วละก็ ฉนั้นเราก็ขอวิงวอนต่อพระองค์อัลลอฮพระผู้ทรงสูงส่งได้ทรงดลบันดาลให้เจ้าไหลเอ่อด้วยเถิด” ว่าแล้วท่านอัมร์ (ร.ฎ.) ก็ได้โยนกระดาษแผ่นนั้นลงสู่แม่น้ำไนล์
ครั้นเมื่อผู้คนชาวอียิปต์ตื่นเช้าขึ้นมาในตอนเช้าวันเสาร์ก็ปรากฏว่าพระองค์อัลลอฮ (ซ.บ.) ได้ทรงบันดาลให้แม่น้ำไนล์ไหลเอ่อจากระดับเดิมถึง 16 ศอกภายในเพลาคืนเดียว และอัลลอฮ (ซ.บ.) ก็ได้ทรงตัดพิธีกรรมดังกล่าวจากชาวอียิปต์เสียจนสิ้นจวบจนทุกวันนี้ (จากหนังสือ อัลบิดายะห์ วันนีฮายะห์ 7/102)
บ่อยครั้งที่ความมีศรัทธามั่นต่อสัจธรรมมักจะถูกท้าทายด้วยความเชื่อเดิม ๆ ที่หยั่งรากลึกลง
ในหัวใจของผู้คนที่ยังมิได้รับแสงสว่างทางปัญญาและยังคงตกอยู่ในความงมงายที่วิปริต
ความเชื่อในบางเรื่องอาจมีผู้สืบสานถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ในห้วงเวลาหลายพันปี
และในห้วงเวลานั้นก็ดูเหมือนว่า ความสมจริงสมจังของความเชื่อนั้นได้รับการพิสูจน์และยอมรับ
กันประหนึ่งดังสัจธรรมที่มิอาจลบหลู่ดูแคลนได้เลย
แต่แล้วความเชื่อที่ถูกเข้าใจมาโดยตลอด ว่าคือความจริงแท้ ก็พังครืนลงและแสดงความเท็จเทียมของมันให้เป็นที่ประจักษ์ภายในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อสัจธรรมอันจริงแท้ซึ่งสว่างด้วยศรัทธาและปัญญามาถึง ความเท็จเทียมย่อมวิปลาสนาการไปโดยแท้ ซึ่งนั่นคือคุณสมบัติของมันและในบางครั้งรังสีแห่งสัจธรรมก็ต้องอาศัยเวลาอันยาวนาน ในการเดินทางสู่หัวใจอันสุดหยั่งถึงของปุถุชนต่อเมื่อแสงสว่างแห่งความจริงมาถึงในวาระของมันเมื่อนั้นความมืดมนแห่งอวิชชาก็อันตรธานสิ้นในบัดดล
ท่านคอลีฟะห์อุมัร กับความยุติธรรม
คุณลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของท่านคอลีฟะฮฺอุมัรฺ คือ ความยุติธรรมจนกระทั่งได้รับสมญานามจากท่าน ศาสดามูฮัมมัด "อัลฟารุก" (ผู้แยกความจริงออกจากความเท็จ)(อัสสูยูฏียฺ,มปป.27)
อันหมายถึงสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรมซึ่งได้รับการยกย่องจวบจนถึงปัจจุบัน
ที่มา: pantip.com
islamhouse.muslimthaipost.com