การเดินทางถือเป็นส่วนหนึ่งของการลงโทษ ขณะเดินทางอยู่นั้นมนุษย์จะสูญเสียความสงบและความสุขสบายไป ไม่ว่าจะใช้พาหนะชนิดใดในการเดินทางก็ตาม
ทำไมศาสนาอนุญาตให้ ละหมาดย่อ ได้แค่ 4 วัน
อัลเลาะห์ตาอาลาตรัสว่า : "และพระองค์ไม่ได้กำหนดให้เกิดความลำบากเหนือพวกท่านในศาสนา" (อัลฮัจย)
คือ อัลเลาะห์ตาอาลา ไม่ได้บัญญัติข้อกำหนดต่าง ๆ ของศาสนาที่จะทำให้เกิดความยุ่งยากและสับสนวุ่นวายแก่พวกท่านขณะที่มุสลิมตกอยู่ในความคับแคบ อัลเลาะห์ตาอาลาจะเปิดทางที่กว้างขวางให้แก่พวกเขา เพื่อให้ข้อกำหนดต่าง ๆ ของศาสนาเป็นที่ยอมรับและสามารถที่จะปฏิบัติได้
การเดินทางถือเป็นส่วนหนึ่งของการลงโทษ ขณะเดินทางอยู่นั้นมนุษย์จะสูญเสียความสงบและความสุขสบายไป ไม่ว่าจะใช้พาหนะชนิดใดในการเดินทางก็ตาม และไม่ว่าจะเดินทางไปเพื่อกิจการใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้อัลเลาะห์ตาอาลาจึงยอมผ่อนผันข้อกำหนดต่าง ๆ ของศาสนาแก่ผู้เดินทางอย่างมากมาย อาทิเช่น ละหมาดเป็นต้น ดังนั้นในบทนี้เราจะได้ศึกษาวิธีการผ่อนผัน เงื่อนไขในการผ่อนพันและวิธีการที่จะได้รับประโยชน์จากการผ่อนผันนั้น
ระยะทางที่ศาสนาอนุญาตให้ละหมาดย่อได้
นักวิชาการฟิกฮฺ มีความเห็นต่างกันในการกำหนดระยะทางที่อนุญาตให้ละหมาดย่อเป็นอันมาก ท่านอิบนุ อัลมุนซิร (ร.ฮ.) และนักวิชาการท่านอื่นได้ถ่ายทอดในประเด็นปัญหาข้อนี้มากกว่า 20 ทัศนะ (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ; ซัยยิด ซาบิก เล่มที่ 1/267; ดารุ้รร็อยยานฺ ลิตตุร๊อซฺ)
ฝ่ายนักวิชาการสังกัดมัซฮับฮะนะฟียะฮฺกำหนดว่า 3 วัน 3 คืน, ฝ่ายอัชชาฟิอียะฮฺ, อัลมาลิกียะฮฺ และอัลฮะนาบิละฮฺ กำหนดว่ามีระยะทาง 2 มัรฺฮะละฮฺ อันเป็นการเดินทางระดับปานกลาง 2 มัรฮะละฮฺเท่ากับ 4 บะรีดฺ, และ 1 บะรีดฺ เท่ากับ 4 ฟัรฺซัคฺ, 1 ฟัรซัคฺ เท่ากับ 3 มีลฺ ระยะทางจึงเท่ากับ 48 มีลฺ หรือราว 89 กิโลเมตร
นักวิชาการฝ่ายนี้ (3 มัซฮับ) ได้อาศัยหลักฐานจากรายงานของอะฏออฺ อิบนุ อบีร่อบาฮฺ ว่า
“ท่านอิบนุ อุมัร (รฎ.) และท่านอิบนุ อับบ๊าส (รฎ.) ทั้งสองจะละหมาด (ย่อ) ชนิด 4 ร็อกฺอะฮฺเป็น 2 ร็อกฺอะฮฺ และจะละศีลอดในระยะทาง 4 บะรีด และระยะทางที่เกินกว่านั้น” บันทึกโดยอัลบัยฮะกีย์ ด้วยสายรายงานซ่อฮีฮฺ
และอะฏออฺ อิบนุ อบีร่อบาฮฺ ได้กล่าวว่า : ฉันกล่าวกับอิบนุ อับบ๊าส (รฎ.) ว่า : การไปยังอะร่อฟะฮฺย่อละหมาดได้หรือไม่? อิบนุ อับบ๊าส (รฎ.) กล่าวว่า : “ไม่! แต่ไปยังญิดดะฮฺ, อัสฟาน, และอัตตออิฟ และถ้าหากท่านมายังครอบครัวและฝูงปศุสัตว์ก็จงละหมาดเต็ม” บันทึกโดยอัชชาฟิอีย์และอัลบัยฮะกีย์ด้วยสายรายงานซ่อฮีฮฺ
สถานที่ทั้ง 3 แห่งนี้ห่างจากนครมักกะฮฺราว 4 บะรีดฺ (อัลฟิกฮุ้ล วาฎิฮฺ มินัลฺ กิต๊าบฺ วัซซุนนะฮฺ ; ดร.มุฮำมัด บักร์ อิสมาอีล ; ดารุ้ลมะน๊ารฺ เล่มที่ 1/221,222)
ส่วนระยะทางที่มีระบุน้อยกว่านี้ก็มีเช่นกัน กล่าวคือ 3 มีลฺ คิดเป็นราว 5,244 เมตร หรือ 5 กิโลเมตรเศษ หรือ 1 ฟัรซัคฺ คิดเป็น 5,541 เมตร ก็ราว 5 กิโลเมตรเช่นกัน (ดูฟิกฮุซซุนนะฮฺ ; ซัยยิด ซาบิก เล่มที่ 1/267)
สรุปว่า ระยะทางที่อนุญาตให้ละหมาดย่อได้นั้น มีทัศนะที่อ้างอิงหลักฐานจากการปฏิบัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เริ่มอย่างน้อยที่สุดคือ 5 กิโลเมตรเศษ และมีทัศนะที่อ้างถึงการกระทำของสาวกบางท่านและเป็นทัศนะของปวงปราชญ์คือ ราว 89 กิโลเมตร คุณ hasan ก็พิจารณาและเลือกเอาเถิดว่าสมควรจะย่อละหมาดในระยะทางเท่าใด แค่ 5-6 กิโลเมตรควรย่อหรือไม่? แต่สำหรับผมถือตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่เผื่อเอาไว้ก่อนครับ สบายใจและชัวร์กว่าครับ!
ระยะเวลาที่ศาสนาอนุญาตให้ละหมาดย่อได้กี่วัน
มื่อผู้เดินทางเจตนาลงพัก (อิกอมะฮฺ) ในสถานที่หนึ่งเป็นเวลาหลายวัน นักวิชาการฟิกฮฺมีความเห็นต่างกันในจำนวนวันที่อนุญาตให้ละหมาดย่อฝ่ายฮะนะฟียะฮฺ มีความเห็นว่า ถ้าหากเจตนาลงพักเป็นเวลา 15 วันขึ้นไป ก็ไม่อนุญาตให้ละหมาดย่อ และเป็นมัซฮับของอิหม่ามอัลลัยซ์ อิบนุ สะอฺด์
และมีรายงานมาจากท่านอุมัร (รฎ.) ท่านอิบนุ อุมัร (รฎ.) และอิบนุ อับบ๊าส (รฎ.), อิหม่ามมาลิก (ร.ฮ.) และอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) กล่าวว่าถ้าเจตนาลงพักมากกว่า 4 วัน ให้ละหมาดเต็ม และถ้าหากเจตนาลงพักน้อยกว่านั้นก็ละหมาดย่อได้
ในอีกคำกล่าวหนึ่งของอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) ระบุว่า : ให้ละหมาดย่อได้จนถึง 17 หรือ 18 วัน เลยจากนั้นก็ต้องละหมาดเต็ม แต่ถ้าน้อยกว่านั้นก็ละหมาดย่อได้ (อัลฟิกฮุ้ลวาฎิฮฺ เล่มที่ 1 หน้า 222,223/ฟิกฮุซซุนนะฮฺ เล่มที่ 1 หน้า 269,270)
ผู้เดินทางสามารถละหมาดย่อได้ตราบใดที่ผู้นั้นยังเป็นผู้เดินทาง ถ้าหากเขาลงพักเพื่อทำธุระที่รอการเสร็จสิ้นธุระนั้น เขาก็สามารถละหมาดย่อได้เช่นกัน เพราะถือว่าเขาเป็นผู้เดินทาง ถึงแม้ว่าเขาจะลงพักเป็นเวลาหลายปีก็ตาม และอิบนุ อัลก็อยยิม (ร.ฮ.) เลือกความเห็นที่ว่า การลงพักไม่ทำให้ออกจากฮุก่มของการเดินทางไม่ว่าจะยาวหรือสั้นก็ตาม (หมายถึงการลงพัก) ตราบใดที่ผู้นั้นไม่ได้ลงหลักปักฐานในสถานที่ที่เขาลงพักอยู่นั้น และซัยยิด ซาบิก ก็มีความเห็นตามนี้ด้วย (ดู ฟิกฮุซซุนนะฮฺ เล่มที่ 1 หน้า 268,269) คุณ hasan ก็เอาทัศนะทั้งหมดมาชั่งดู เห็นกับทัศนะไหนก็ว่าไปตามนั้น เรื่องนี้เปิดกว้าง
การละหมาดย่อมีเงื่อนไขอย่างไร?
1.ต้องเป็นละหมาดชนิด 4 รอกอะฮฺ (ดุฮฺริ, อัศริ และอิชาอฺ)
2.มีการเดินทางตามระยะทางที่ระบุเอาไว้
3.การเดินทางนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อการกระทำสิ่งต้องห้าม
4.การละหมาดนั้นต้องกระทำในภาวะของการเดินทาง
5.ต้องพ้นเขตของภูมิลำเนาที่ออกเดินทาง (สะลัฟบางท่านมีความเห็นว่า ผู้ใดตั้งเจตนาเดินทาง ก็สามารถละหมาดย่อได้เลยถึงแม้จะยังอยู่ในบ้านก็ตาม – ฟิกฮุซซุนนะฮฺ 1/268)
6.ต้องไม่เจตนาลงพักเกินระยะเวลาที่ระบุเอาไว้ (ตามรายละเอียดที่กล่าวมาแล้วในข้อ 2 ยกเว้นถือตามความเห็นของอิบนุ ก็อยยิม (ร.ฮ.) ซึ่งไม่พิจารณาเงื่อนไขข้อนี้) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน อัลฟิกฮุ้ล มันฮะญีย์ เล่มที่ 1 หน้า 185-186)
ส่วนที่ถามว่า สามารถย่อโดยไม่รวมได้ไหม? ก็ตอบว่า ได้ครับและถือว่าดีด้วยเพราะการละหมาดโดยไม่รวมนั้นเป็นการหลีกห่างจากข้อขัดแย้งของนักวิชาการ
ขอขอบคุณข้อมูลโดย: อ.อาลี เสือสมิง alisuasaming.org