สามีร่วมหลับนอนกับภรรยาขณะตั้งครรภ์ได้หรือไม่? ในมุมมองของอิสลาม
คำถาม: สามีสามารถมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของตนเองขณะตั้งครรภ์ได้หรือไม่ในมุมมองของอิสลาม
ตอบโดย: อาลี เสือสมิง
หากภรรยานั้นตั้งครรภ์ภายหลังการทำข้อตกลงนิกะห์อย่างถูกต้อง กล่าวคือ เป็นการตั้งครรภ์ภายหลังการร่วมหลับนอนของสามีตามปกติก็ย่อม ไม่มีข้อห้ามอันใดในการช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ของภรรยาที่สามีจะร่วมหลับนอนกับนาง
ยกเว้นในกรณีที่แพทย์ผู้ชำนาญการได้ให้คำชี้ขาดเอาไว้ว่าในช่วงที่มีครรภ์ของภรรยาโดยเฉพาะช่วงสุดท้ายก่อนคลอดหากสามีมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนั้นจะเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์อย่างแน่นอน
กรณีเช่นนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงและหันไปใช้วิธีที่ศาสนาอนุญาตซึ่งไม่ถึงขั้นของการสอดใส่ เช่น ให้ภรรยาช่วยใช้มือของนางสำเร็จความใคร่ให้แก่สามี หรือสามีใช้การสัมผัสกับภรรยาในส่วนอื่นของร่างกายของภรรยา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การห้ามมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาขณะตั้งท้องที่ไม่สมควรในกรณีที่ว่า ก็เป็นผลมาจากการชี้ขาดของแพทย์ผู้ชำนาญการ มิใช่เป็นเพราะศาสนาห้ามโดยตรง
กรณีถ้าภรรยานั้นมีครรภ์จากการผิดประเวณี (ซินา) หากสามีของนางคือผู้กระทำผิดประเวณี (คือได้เสียกับนางจนนางตั้งครรภ์ก่อนแต่ง) ก็ไม่มีข้อห้ามสำหรับสามีในการร่วมหลับนอนกับนางในขณะตั้งครรภ์ ตามมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺ
และหากสามีของนางเป็นชายอื่นที่ไม่ได้ผิดประเวณีกับนาง กล่าวคือนางตั้งครรภ์จากการทำซินากับชายอื่น แล้วมานิกาหฺกับชายอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นสามีของนาง กรณีนี้นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน ตามมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺถือว่าสามีสามารถร่วมหลับนอนกับนางได้ในระหว่างการตั้งครรภ์นั้น
ส่วนในทัศนะของอิมามอบูหะนีฟะฮฺและอิมามมุฮัมมัด มีความเห็นว่าไม่อนุญาตให้สามีร่วมหลับกับนางจนกว่านางจะคลอดบุตรเสียก่อน (ตลอดจนพ้นช่วงของการมีเลือดนิฟาสฺ) เพราะมีหะดีษระบุว่า : “ผู้ใดศรัทธาต่อ อัลลอฮฺและวันสิ้นโลก ผู้นั้นอย่าได้รดน้ำของเขาลงบนแปลงเกษตร (สิ่งที่ถูกเพาะปลูกอันหมายถึงเด็กในครรภ์ที่เกิดจากการทำซินา) ของผู้อื่น” (รายงานโดย อัต-ติรมิซียฺ และอบูดาวูด)
หมายถึง เขาผู้นั้นอย่ามีเพศสัมพันธ์กับสตรีที่มีครรภ์นั้น ส่วนฝ่ายมาลิกียะฮฺและฝ่ายหะนาบิละฮฺก็เห็นตรงกันในเรื่องนี้ (อัล-ฟิกฮุลอิสลามียฺ ว่า อะดิลละตุฮฺ ; ดร.วะฮะบะฮิ อัซ-ซุหัยลียฺ เล่มที่ 7 หน้า 149-150)
ที่มา: alisuasaming.org