เหตุใดท่านนบีนั้น จึงเตาบัตเป็นจำนวนมาก ทั้งๆที่ท่านไม่ได้มีความผิดบาปอะไรเลย?
ความหมายของการเตาบัต
การเตาบัต หมายถึง การที่ผู้ทำผิดสำนึกตนและกลับไปหาอัลลอฮฺ ด้วยการขออภัยโทษจากพระองค์ มนุษย์ทุกคนนั้นล้วนหนีไม่พ้นจากการทำความผิดไม่ว่าจะมากหรือน้อย ยกเว้นผู้ที่อัลลอฮฺทรงปกป้อง เช่น ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิ วะสัลลัม เมื่อมนุษย์ทำผิดสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลบล้างความผิดนั้นด้วยการเตาบัต(ขออภัย)ต่อพระองค์อัลลอฮฺ
การเตาบัต (ขออภัยโทษ) นั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะบาปทั้งหลายจะยังคงอยู่กับผู้ทำผิดถ้าหากเขาไม่สำนึกตน ไม่ขออภัยโทษ ไม่ทำความดีลบล้างความผิด และเมื่อความผิดบาปยังอยู่กับตัว เขาก็จะต้องได้รับโทษจากบาปที่เขาทำไว้
ดังนั้นอัลลอฮฺจึงได้กำชับให้มนุษย์มุ่งมั่นในการเตาบัตต่อพระองค์เมื่อรู้ว่าตัวเองทำผิด และพระองค์สัญญาว่าจะทรงอภัยโทษให้กับผู้ที่เตาบัต(ขออภัยโทษ) และจะทรงเตรียมผลตอบแทนที่ดีในสวนสวรรค์แก่เขา พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า :
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเตาบัตต่ออัลลอฮฺด้วยการเตาบัตที่จริงจัง เผื่อว่าอัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดของพวกเจ้า และนำพวกเจ้าเข้าสู่สวรรค์ซึ่งมีสายน้ำไหลผ่านอยู่เบื้องล่างของมัน”
(อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัต-ตะหฺรีม: 8)
คำถาม : เหตุใดท่านนบีนั้น จึงเตาบัตเป็นจำนวนมาก ทั้งๆที่ท่านไม่ได้มีความผิดบาปอะไรเลย?
ตอบ : นี่เป็นคำถามที่ข้าพเจ้ามักจะพบเจออยู่เสมอ ประการแรก ที่อุลามาอฺได้วิเคราะห์ไว้ คือ การที่ท่านทำการเตาบัตจำนวนมากนั้น คือ ท่านจะสอนอุมมะฮฺของท่าน กล่าวคือ แม้แต่ตัวท่านนบีเองที่ไม่มีความผิดบาปอะไร ยังทำการเตาบัตมากมายขนาดนั้นเลย แล้วเราหล่ะ เราเป็นใครกัน เราไม่คิดจะเตาบัตบ้างเลยหรือ?
ประการต่อมา คือ เพราะท่านสำนึกถึงความเป็นบ่าว ถึงแม้ว่าตัวท่านจะมีความดีมากขนาดไหน ก็คงต้องนอบน้อมต่อผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ท่านนบียืนละหมาดตะฮัจญุด จนกระทั่งเท้าของท่านบวม ภรรยาของท่านถามว่า เหตุใดกันท่านถึงต้องทำถึงเพียงนี้ ทั้งๆ ที่ท่านไม่มีบาป ? ท่านนบีตอบว่า จะไม่ให้ฉันเป็นบ่าวที่ขอบคุณกระนั้นหรือ ?
ประการสุดท้าย เพราะท่านนบีรู้สึกหวั่นเกรงต่อความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ(ซุบฮานาฮูวาตาอาลา)นั่นเอง
เเพิ่มเติม:
มีหะดีษบันทึกโดยอิหม่ามอะหฺมัด จากท่านอิบนุอุมัรได้รายงานว่า “ครั้งหนึ่งฉันได้นั่งอยู่พร้อมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และได้ยินท่านนบีกล่าวอิซติฆฟาร(คือการกล่าว أستغفر الله หรือการขออภัยโทษนั่นเอง)หนึ่งร้อยครั้ง หลังจากนั้นท่านได้กล่าวว่า
"اللهم اغفر لي وارحمني وتب علي إنك أنت التواب الرحيم أو إنك تواب غفور"
“โอ้ อัลลอฮฺโปรดให้อภัยแก่ฉันและโปรดเมตตาฉันโปรดรับการเตาบัตจากฉันแท้จริงพระองค์คือผู้ทรงรับการเตาบัต ผู้ทรงเมตตาปราณี หรือพระองค์คือผู้ทรงรับการเตาบัตผู้ทรงให้อภัย”
ตอบคำถามโดย : บาบอ อิสมาแอล สปันญัง
ถอดความโดย : ฟากีร
เพจ: คุณค่าอะม้าล