พ่อค้าแม่ค้ามุสลิมทำการค้า แต่ขายไม่ค่อยดี มีดุอาอฺค้าขายดี เทน้ำเทท่า ขอให้ริสกีเพิ่มพูนทุกๆวัน หรือไม่?
ขายของอิสลาม ดุอาอฺค้าขายดี เทน้ำเทท่า ขอให้ริสกีเพิ่มพูนทุกวัน
พ่อค้าแม่ค้ามุสลิมทำการค้า แต่ขายไม่ค่อยดี มีดุอาอฺค้าขายดี เทน้ำเทท่า ขอให้ริสกีเพิ่มพูนทุกๆวัน หรือไม่?
บทความโดย: อ.มุสตอฟา อยู่เป็นสุข
ศาสนาอิสลามส่งเสริมให้ทำการค้าขาย นบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็เป็นพ่อค้า หากอยากจะทำการค้าให้ดีขึ้น ตามแนวทางอิสลามแนะนำให้ทำดังต่อไปนี้
1. จัดร้านให้สะอาด
2.สินค้าต้องดีและสะอาด
3.เจ้าของร้านแต่งกายเรียบร้อย และพูดจาดีกับลูกค้า
4.เวลาขายของ อย่าขาดละหมาด ได้เวลาต้องรีบมาละหมาด
5.แถมให้ลูกค้าบ้าง เล็กๆน้อยๆ
6.เวลาขายของได้ดี ได้เงินเยอะ ต้องจ่ายซะกาต
7.ต้องติดต่อกับเครือญาติ ดูแลเครือญาติ
8. ดุอาอฺค้าขายดี ขอดุอาอฺจากอัลลอฮฺให้มีริสกีที่ดี ขอภาษาไทยก็ได้
ขอทุกเวลาหลังละหมาด ยิ่งตื่นมาตอนดึกตื่นมาละหมาดตะฮัจยุดแล้วขอก็ยิ่งดี
การขายของอิสลาม มีหลักการดังนี้
การขายของอิสลาม การซื้อขาย การค้าขาย ทุกประเภท เป็นที่อนุมัติจนกว่าจะมีตัวบทเท่าที่ค้นคว้าตัวบท ทั้งจากอัลกุรอาน และอัลฮะดิษ ที่ระบุรูปแบบการค้าขายที่ไม่อนุญาตให้มุสลิมมีส่วนร่วมได้
สรุปเป็นกฎหลักได้ดังนี้ (หมายเหต แทบทุกกฎมีรายละเอียด และข้อยกเว้น ซึ่งจะขอข้ามไปก่อน)
1.สิ่งใดก็ตามที่ ตัวของมันเป็นสิ่งที่ฮะรอม (สิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิม) ห้ามมุสลิมค้าขายสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าจะขายให้มุสลิม หรือคนต่างศาสนิกก็ตาม
หลักฐานจากกฎนี้มีหลายบทส่วนหนึ่ง คือ ฮะดิษที่ท่านนบีได้กล่าวไว้ว่า
“เมื่ออัลลอฮฺห้ามบริโภคสิ่งใด พระองค์ห้ามมูลค่าของมันด้วย” บันทึกโดยอิมาม อบูดาวุด อิบนุฮิบบาน อิบนุมุซิลี กับฮะดิษที่ว่า
عن جابر بن عبد الله رضي الله عنهما أنه سمع رسول الله صلى الله عليه وسلم يقول عام الفتح وهو بمكة: إن الله ورسوله حرم بيع الخمر والميتة والخنزير والأصنام.رواه البخاري.
จากท่าน จาบิร (ขออัลลอฮฺพอใจท่าน และบิดาของท่าน) ท่านได้ยินท่านนบีกล่าวไว้ในปีแห่งการพิชิต “แท้จริง อัลลอฮฺ และร่อซุล ห้ามการซื้อขายสุรา สัตว์ที่ตายเอง หมู รูปปั้น” บันทึกโดยอิมาม อัลบุคอรี
ตัวอย่างจากกฎนี้ เช่น ห้ามค้าขาย พระพุทธรูป เครื่องราง ของขลัง สุรา เนื้อหมู สัตว์ที่ตายเอง ทองคำที่จำเพาะให้ผู้ชายสวมใส่ เสื้อผ้าใหมสำหรับผู้ชาย เป็นต้น
2.การค้าขายใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ “ดอกเบี้ย” ไม่ว่าจะผู้ขาย ผู้ซื้อ ผู้ทำสัญญา ผู้ช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการทำธุรกิจประเภทนี้
หลักฐานในเรื่องนี้มีมากครับ เช่น ในซูเราะฮฺ อัลบะก่อเราะฮฺที่อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ว่า
((وَأَحَلَّ اللّهُ الْبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا فَمَن جَاءهُ مَوْعِظَةٌ مِّن رَّبِّهِ فَانتَهَىَ فَلَهُ مَا سَلَفَ وَأَمْرُهُ إِلَى اللّهِ وَمَنْ عَادَ فَأُوْلَـئِكَ أَصْحَابُ النَّارِ هُمْ فِيهَا خَالِدُونَ))
“และอัลลอฮ์ได้อนุมัติการค้าขาย และห้ามเรื่องดอกเบี้ย ดังนั้นผู้ใดที่ได้รับคำเตือนจากพระผู้อภิบาลของเขา แล้วเขาได้หยุด (จากพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้น) สิ่งที่ผ่านมาแล้วเป็นสิทธิของเขา และเรื่องของเขานั้นย่อมกลับไปสู่อัลลอฮ์ และผู้ใดกลับไปกระทำอีก ชนเหล่านั้นคือชาวนรก โดยที่พวกเขาจะอยู่ในนรกนั้นตลอดกาล”
ปัญหาที่พบจากกฎข้อนี้ คือ มุสลิมจำนวนไม่น้อย ไม่รู้ว่า อะไรคือ ดอกเบี้ย? ตามคำนิยามของอิสลาม
3.การค้าขายที่มีการคดโกง หลอกลวง หรือ เจตนา คดโกง หลอกลวง
حدثنا محرز بن سلمة العدني حدثنا عبد العزيز بن محمد عن عبيد الله عن أبي الزناد عن الأعرج عن أبي هريرة قال نهى رسول الله صلى الله عليه وسلم عن بيع الغرر وعن بيع الحصاة
ส่วนหนึ่งจากหลักฐาน จากบันทึกของอิมาม อิบนุมาจะฮฺ “แท้จริงท่านนบีห้ามการค้าขายที่หลอกลวง และการค้าขายแบบโยน (โยนได้อะไร ได้สิ่งนั้น ในราคาเดียว เป็นต้น)”
การค้าขายต้องห้ามประเภทนี้ ครอบคลุม
การค้าขายของที่ยังไม่มีตัวตน เช่น บ้านที่ยังไม่ได้สร้าง
การค้าขายที่ไม่ชัดเจน เช่น ไม่กำหนดจำนวน ปริมาณ ราคา ให้ชัดเจน เป็นต้น เช่น การค้าขายผลไม้ยกสวนที่ไม่สามารถคาดได้ว่ามีปริมาณเท่าใด การทานอาหารแบบบุฟเฟ่ (มีคิลาฟ)
การค้าขายสิ่งที่ไม่ได้ครอบครอง (เช่น การขายผ่อนบางประเภท เป็นต้น) ขายของในถุงที่มองไม่เห็น
การค้าขายแบบเสือนอนกิน เห็นว่าจะมีการซื้อขายเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่ไปตั้งตนเป็นพ่อค้าคนกลางขวาง
การค้าขายโดยโฆษณาเกินจริง หรือ มีการโกหกเพื่อหลอกให้คนซื้อ
การพนันที่มีได้ มีเสีย อย่างการละเล่นในงานรื่นเริงต่างๆ เช่น สอยดาว ปาลูกโป่งเอารางวัล เป็นต้น
การแถมของ การแจกแสตมป์ เพื่อ หลอกให้คนซื้อของของตนทั้งที่ผู้ซื้อไม่ต้องการของนั้น (มีรายละเอียดยาว) เป็นต้น
4.การค้าขายปกติ ที่มีการวางเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ ดอกเบี้ย หรือ การหลอกลวง เช่น การขายผ่อนบ้านที่กำหนดไว้ว่า หากไม่จ่ายภายในเวลาที่กำหนดจะต้องจ่ายเพิ่ม เป็นต้น
วัลลอฮุอะอลัม
ที่มา: สวรรค์ในบ้าน , www.daasee.com