
ประวัติ นบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลาม (อับบราฮัม)
ประวัติ นบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลาม (อับบราฮัม)
ท่านนบีอิบรอฮีมเกิดที่เมืองอิรักหรือที่เรียกว่าอาณาจักรบาบิโลน สมัยนั้นพวกบาบิโลนบูชาดวงดาวต่าง ๆ และรูปเจว็ด โดยผูกพันรูปเจว็ดกับดวงดาวต่าง ๆ เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺกำหนดว่าคนที่เป็นศัตรูกับนบีอิบรอฮีมในการทำหน้าที่เป็นนบี คือ บิดาของท่าน ชื่อ อาซัร เป็นคนสร้างรูปเจว็ด อิบรอฮีมอยู่ในบ้านอาซัร เกิดในสิ่งแวดล้อมที่เป็นชิริกทั้งสิ้น เข้าบ้านก็เห็นแต่รูปเจว็ด ไปร้านพ่อก็มีรูปเจว็ด แล้วสัจธรรมหรือแสงสว่างจากพระผู้เป็นเจ้ามาถึงนบีอิบรอฮีมได้อย่างไร? นี่คือบทเรียน
อย่าแปลกใจที่ยุคปัจจุบันเราเห็นบางคนที่อยู่ในวงการที่สกปรกมาก แต่อยู่ ๆ ก็กลายเป็นคนซอลิหฺ เนื่องจากการฮิดายะฮฺนั้นเป็นเรื่องของอัลลอฮฺ ซึ่งเราต้องตระหนักว่ามนุษย์ไม่มีหน้าที่ในการที่จะให้คนหนึ่งคนใดรับฮิดายะฮฺ แต่มีหน้าที่ในการสอน ปราบปราม เรียกร้อง ดะอฺวะฮฺ เผยแผ่ นี่คือหน้าที่ของเรา ส่วนคนที่รับคำสั่งสอนจากเรา เขาจะเชื่อหรือไม่ จะรับหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เช่นเดียวกับที่เราสั่งสอนลูกหลานของเรา เขาจะรับหรือไม่รับเป็นเรื่องของเขา ทุกคนต้องรู้ว่าอะไรที่เป็นความดี อะไรที่เป็นความชั่ว
ก่อนที่จะไปเทศนาดะอฺวะฮฺคนอื่น นบีอิบรอฮีมได้ทำหน้าที่ดะอฺวะฮฺครั้งแรก โดยเรียกร้องบิดาของท่านให้ละทิ้งสิ่งที่เป็นชิริก สิ่งที่เป็นกุฟรฺ คืออาชีพการสร้างรูปเจว็ด นี่เป็นครั้งแรกที่ท่านนบีอิบรอฮีมได้ประกาศสัจธรรมกับบิดา เป็นบทเรียนว่าก่อนที่เราจะสั่งสอนจะเผยแผ่คนอื่น ต้องเริ่มกับครอบครัว คนที่ไปออกดะอฺวะฮฺต่างประเทศ แต่ครอบครัวตนเองยังไม่เคยสั่งสอน นั่นผิดอย่างมหันต์ ดังที่อัลลอฮฺทรงสอนท่านนบีมุฮัมมัดว่า
وَأَنْذِرْ عَشِيرَتَكَ الْأَقْرَبِينَ
ความว่า "จงตักเตือนวงศาคณาญาติของเจ้าที่ใกล้ชิด" [อัชชุอะรออฺ 26:214]
เครือญาติ ครอบครัวและลูกหลานของเราต้องได้รับการตักเตือนก่อนคนอื่น เป็นไปไม่ได้ที่ลูกหลานของเราดื่มสุราเสพยา แล้วไปสอนชาวบ้านว่าอย่าดื่ม อย่าเสพ ถ้าสอนแล้วลูกหลานของเราไม่เอา จึงมีสิทธิ์ไปสอนคนอื่น ถ้าสอนแล้วเขาไม่เอาไม่ได้หมายความว่าลูกหลานเรายังชั่วอยู่ไม่ต้องสอนคนอื่น ไม่ใช่ เราทำหน้าที่แล้ว แต่ฮิดายะฮฺไม่ใช่หน้าที่เรา เป็นเรื่องของอัลลอฮฺ
ท่านนบีอิบรอฮีมเรียกร้องบิดาของท่าน แต่ไม่ได้ผล จนสุดท้ายบิดาของท่านนบีอิบรอฮีมเบื่อ กล่าวกับท่านว่า
قَالَ أَرَاغِبٌ أَنْتَ عَنْ آَلِهَتِي يَا إِبْرَاهِيمُ لَئِنْ لَمْ تَنْتَهِ لَأَرْجُمَنَّكَ وَاهْجُرْنِي مَلِيًّا
ความว่า "โอ้อิบรอฮีมเอ๋ย! หากเจ้าไม่หยุดยั้ง (จากการตำหนิ) แน่นอน ฉันจะขว้างเจ้า (ด้วยก้อนหิน) และเจ้าจงไปให้พ้นจากฉันตลอดไป"[มัรยัม 19:46]
นบีอิบรอฮีมถือว่าทำหน้าที่เสร็จแล้ว จึงเริ่มไปทำหน้าที่กับกลุ่มชนที่อยู่ใกล้ชิด ท่านไปดูสถานที่บูชารูปเจว็ดที่ทางสังคมให้ความเคารพ พบรูปเจว็ดจำนวนมาก นบีอิบรอฮีมจึงทำลายรูปเจว็ดทุกตัว[1] เหลือแต่ตัวใหญ่ไว้ แล้วกลับบ้าน พอตอนเช้าคนเข้ามาเห็นรูปเจว็ดพังไปหมด จึงหากันว่าใครทำ
قَالُوا سَمِعْنَا فَتًى يَذْكُرُهُمْ يُقَالُ لَهُ إِبْرَاهِيمُ
ความว่า "พวกเขากล่าวว่า เราได้ยินเด็ก[2] หนุ่มคนหนึ่งกล่าวตำหนิรูปปั้นเหล่านี้ เขามีชื่อว่าอิบรอฮีม" [อัลอัมบิยาอฺ 21:60]
พวกผู้นำบอกว่า เอาตัวมาเลย มาตั้งศาลต่อหน้าสาธารณชน คนจะได้รู้ว่าใครทำลายผู้ที่เป็นพระเจ้าของเรา อิบรอฮีมชี้ไปที่รูปปั้นตัวใหญ่ที่ยังอยู่ บอกว่า "ลองถามดูสิว่าใครทำลาย มันก็อยู่ด้วย มันหลับรึไง" ผู้หลักผู้ใหญ่ของพวกบูชาเจว็ดอึ้งกันหมดเลย ไม่รู้ว่าจะตอบยังไง แต่สุดท้ายก็ดื้อกับสัจธรรม ดื้อกับความจริง บอกกับนบีอิบรอฮีมว่า ท่านต้องถูกลงโทษด้วยความผิดอย่างมหันต์ที่ท่านทำลายรูปเจว็ดของเรา
เหตุการณ์นี้ให้บทเรียนหลายเรื่อง เรื่องแรกคือ ความฉลาด ต้องเข้าใจว่าอิบรอฮีมได้อุทิศตนเองเพื่อปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับพระบัญชาจากอัลลอฮฺ ในการเทศนากับกลุ่มชนบนโลกใบนี้ และองค์ประกอบในชีวิตของท่านล้วนเป็นไปเพื่ออำนวยให้ประสบความสำเร็จ โดยมีพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ช่วยเหลือองค์เดียว เพราะตอนนั้นไม่มีใครมีอีมานศรัทธานอกจากท่านนบีอิบรอฮีม[3] ถ้าอิบรอฮีมไม่ทำหน้าที่แล้วสัจธรรมจะเกิดได้อย่างไร? หมายความว่า คนที่อยู่ในโลกตอนนั้นยังไม่มีใครรับสัจธรรมเลย ฉะนั้นต้องมีสักคนหนึ่งทำหน้าที่
สำหรับปัจจุบันนี้ ถ้าใช้การทำลายรูปเจว็ดเป็นวิถีทางในการเผยแผ่จะมีผลหรือไม่? คำตอบคือไม่มีผล เพราะมีวิธีอื่นที่อาจจะมีผลดีกว่า นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้มีผลไม่ดีสะท้อนกลับสู่เรา สถานการณ์อาจไม่เอื้ออำนวย หรือมีคนอื่นกำลังทำหน้าที่ตรงนี้แล้ว เช่นมีบางนิกายในพุทธศาสนาที่พูดเรื่องนี้ มีนิกายที่ไม่ยึดรูปเจว็ด ไม่ยึดรูปปั้นหรือวัตถุ
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของท่านนบีอิบรอฮีม มีบทเรียนที่เราได้รับจากการกระทำของท่าน คือ ท่านนบีอิบรอฮีมพยายามทำสิ่งที่กระตุ้นสติปัญญาของผู้คนให้คิด สมัยก่อนไม่มีสื่อหรือวิธีการศึกษาเหมือนปัจจุบัน จึงต้องทำสิ่งรุนแรงเพื่อกระตุ้นสติปัญญา แต่ถ้ามาทำในปัจจุบันนี้คงไม่มีคนคิดแล้ว เพราะคนสมัยนี้เมาด้วยสุรา ด้วยยาเสพติด ด้วยการพนัน คิดไม่ออก ต้องหาวิธีอื่น แต่ไม่ใช่หมายถึงไม่ทำลายรูปเจว็ดที่อยู่ภายใต้อำนาจของเรา ใครจะมาทำรูปเจว็ดในบริเวณมัสญิดที่วะกัฟไม่ได้ ใครจะมาเทศนาศาสนาอื่น ๆ ในมัสยิดหรือในที่วะกัฟก็ไม่ได้ เราต้องพยายามประคับประคอง รักษาอะกีดะฮฺภายใต้อำนาจของเรา โดยรักษาความปลอดภัยในฐานะที่เราเป็นส่วนน้อยในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม
บทเรียนอีกประการที่ได้จากประวัติของท่านนบีอิบรอฮีมคือ ท่านนบีอิบรอฮีมได้เผชิญกับประชาชนอย่างรุนแรง ไม่มีโอกาสที่ท่านจะใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป เพราะโลกทั้งหมดเป็นกาเฟร ต้องเผชิญ พวกบูชารูปเจว็ดจึงไม่ยอม บอกว่าต้องลงโทษคนทำลายรูปเจว็ด ศาลตัดสินให้จุดไฟใหญ่โตแล้วโยนนบีอิบรอฮีมไปเผา เมื่อนบีอิบรอฮีมถูกโยนเข้าไปในไฟ
قُلْنَا يَا نَارُ كُونِي بَرْدًا وَسَلَامًا عَلَى إِبْرَاهِيمَ
ความว่า "เรา (อัลลอฮฺ) กล่าวว่า ไฟเอ๋ย จงเย็นลง และให้ความปลอดภัยแก่อิบรอฮีมเถิด" [อัลอัมบิยาอฺ 21:69]
พวกบูชารูปเจว็ดเห็นนบีอิบรอฮีมเดินเล่นในไฟ แล้วออกมาไม่มีรอยไหม้อะไรเลย จึงเริ่มมีสติไตร่ตรองเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้น
อีกเหตุการณ์คือการเผชิญหน้าเรื่องการไหว้และบูชาดวงดาว ระหว่างท่านนบีอิบรอฮีมกับกลุ่มชนของท่าน และมีเหตุการณ์การโต้เถียงกับผู้นำที่อ้างตนว่าเป็นพระเจ้า ชื่อ นัมรูด ที่บอกว่าตนเองเป็นพระเจ้า อิบรอฮีมโต้เถียงกับคนทุกระดับ เป็นบทเรียนว่านักเผยแผ่ต้องมีผลงานกับทุกระดับในสังคม พูดคุยกับชาวบ้านขึ้นไปถึงผู้นำ ไปในโบสถ์ ในสถานที่บูชาของเขา ไปถึงผู้นำสูงสุด
นบีอิบรอฮีมพูดกับนัมรูดที่อ้างตัวเป็นพระเจ้า [ในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 258] นบีอิบรอฮีมบอกว่า "อัลลอฮฺของฉันทำให้คนเป็นและตายได้" นัมรูดบอกว่า "ฉันก็ทำได้ ฉันสั่งให้ประหารชีวิตคนที่อยู่ในคุก ฉันก็ทำให้เขาตาย หรือฉันจะบัญชาให้ปล่อยออกไป ฉันก็ให้เขาเป็น" นบีอิบรอฮีมเถียงกับคนโง่ ๆ แบบนี้ไม่ได้ จึงต้องเอาสิ่งที่ทุบกระแทกหัวให้ตื่นซะที บอกว่าไม่ต้องพูดเรื่องเป็นเรื่องตายแล้ว "แค่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก ท่านทำให้มันออกทางทิศตะวันตกได้มั้ย" นัมรูดตอบไม่ได้ เหตุการณ์เหล่านี้อัลกุรอานได้เล่าเพื่อให้เราใช้เป็นบทเรียนในการเผยแผ่ศาสนา ในการโต้เถียงคนที่ไม่ศรัทธากับอัลลอฮฺ และได้รู้ถึงบทบาทของท่านนบีอิบรอฮีมด้วย
นอกจากนี้ มีเรื่องราวของท่านนบีอิบรอฮีมที่ไม่ได้ถูกระบุในอัลกุรอาน แต่ถูกระบุในซุนนะฮฺของท่านนบี เช่น เมื่อตอนที่ท่านนบีอิบรอฮีมเทศนาที่เมืองบาบิโลนไม่ได้ผล ต้องอพยพไปเมืองอียิปต์กับท่านหญิงซาเราะฮฺ และเมื่ออยู่ไม่ได้ก็ต้องหนีไปอยู่เมืองชาม ท่านนบีอิบรอฮีมอยู่กับท่านหญิงซาเราะฮฺที่เมืองชามจนอายุของท่านประมาณ 80 ปี ยังไม่มีลูก ท่านหญิงซาเราะฮฺมีทาสหญิงคนหนึ่งชื่อ ฮาญัร จึงยกให้ท่านนบีอิบรอฮีมแต่งงานเพื่อจะได้มีลูก ท่านนบีอิบรอฮีมก็ได้ลูกชายคนหนึ่งชื่อ อิสมาอีล เป็นคนแรก และภายหลังมีลูกกับท่านหญิงซาเราะฮฺชื่อ อิสหาก
ท่านนบีอิบรอฮีม ได้รับการทดสอบจากอัลลอฮฺในลูกคนแรกของท่านคือ ท่านนบีอิสมาอีล เพื่อทดสอบความรักต่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺทรงสั่งให้นบีอิบรอฮีมเชือดท่านนบีอิสมาอีล แต่เมื่อท่านนบีอิบรอฮีมปฏิบัติตามคำบัญชาของอัลลอฮฺ กำลังจะเชือดลูก อัลลอฮฺก็ยกเลิกคำบัญชาของพระองค์ และนำแกะสองตัวมาจากชั้นฟ้าให้ท่านนบีอิบรอฮีมเชือดแทน จนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการถวายกุรบาน ที่เราเชือดกุรบานเพื่อขอบคุณถวายให้อัลลอฮฺ ดั้งเดิมมาจากศาสนาของท่านนบีอิบรอฮีมด้วย เพราะรากฐานและเนื้อหาของศาสนาอิสลามหลายประการมาจากศาสนาของท่านนบีอิบรอฮีม ดังที่อัลลอฮฺระบุไว้ในซูเราะฮฺอันนะหฺล
ثُمَّ أَوْحَيْنَا إِلَيْكَ أَنِ اتَّبِعْ مِلَّةَ إِبْرَاهِيمَ حَنِيفًا وَمَا كَانَ مِنَ الْمُشْرِكِينَ
ความว่า "แล้วเราได้วะฮียฺแก่เจ้าว่า จงปฏิบัติตามศาสนาของอิบรอฮีมผู้เที่ยงธรรม และเขามิได้อยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี" [อันนะหฺลฺ 16:123]
ขณะที่ท่านนบีอิบรอฮีมอยู่ที่เมืองชาม ท่านถูกสั่งให้นำอิสมาอีลกับนางฮาญัรอพยพไปสู่เกาะอาหรับมักกะฮฺ เพื่อสร้างกะอฺบะฮฺ เรื่องนี้ถูกระบุในอัลกุรอานในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ หลังจากสร้างกะอฺบะฮฺแล้วท่านก็กลับไปอยู่กับครอบครัวของท่านที่เมืองชาม ที่นั่นอิสหากเกิด เมื่อท่านนบีอิบรอฮีมเสียชีวิตไป มีนบีสองท่านที่ทำหน้าที่เทศนาต่อ คือ ท่านนบีอิสหากอยู่ที่เมืองชาม และท่านนบีอิสมาอีลอยู่ในเกาะอาหรับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทั่วโลกไม่มีนบีอื่นนอกจากนี้ เพราะอัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า
إِنَّا أَرْسَلْنَاكَ بِالْحَقِّ بَشِيرًا وَنَذِيرًا وَإِنْ مِنْ أُمَّةٍ إِلَّا خَلَا فِيهَا نَذِيرٌ
ความว่า "และไม่มีประชาชาติใด เว้นแต่จะต้องมีผู้ตักเตือนมายังพวกเขา" [ฟาฏิร 35:24]
ตราบใดที่มีมนุษย์อยู่บนแผ่นดินนี้ ก็ต้องมีนบีและร่อซูลมายังพวกเขา แต่เป็นใครเราไม่รู้ อัลลอฮุอะอฺลัม อย่าชี้ขาด ถ้าระบุว่าคนนี้เป็นนบีแน่นอน อันนี้ผิด ละเมิดสิทธิ เพราะการชี้ขาดว่าคนนี้เป็นนบีแสดงว่าต้องศรัทธา และถ้าไม่ศรัทธาก็เป็นกาเฟร พูดอย่างนี้ไม่ได้ แต่ถ้าในเชิงศึกษาหรือวิเคราะห์ อาจจะเป็นไปได้ว่าคนนั้นหรือคนนี้เป็นนบี เพราะเนื้อหาของการเทศนาของเขาสอดคล้องกับคำสอนของอัลลอฮฺ อาจจะเป็นไปได้ อย่างนี้ถือว่าไม่ผิด
หลังจากที่ท่านนบีอิบรอฮีมเสียชีวิตไปแล้ว มีท่านนบีอิสมาอีลที่เกาะอาหรับ เป็นบิดาของชาวอาหรับ และมีนบีอิสหากเป็นบิดาของชาวยะฮูด ท่านนบีอิสหากมีลูกชายชื่อ ยะอฺกู๊บ และยะอฺกู๊บมีบุตรชาย 14 ท่าน มีภรรยา 2 คน 12 คนมาจากภรรยาแรก เรียก อัลอัสบาฏ ซึ่งเป็นรากเผ่าตระกูลหลักของชาติยิว และอีกภรรยาหนึ่งมีลูกสองคนชื่อ ท่านนบียูซุฟและท่านบินยามีน ทั้ง 14 ท่านถูกระบุในอัลกุรอานในซูเราะฮฺยูซุฟ แต่ที่เป็นรากตระกูลของชาวยิวคือ 12 ท่านที่เรียกว่า อัลอัสบาฏ ยูซุฟกับบินยามีนไม่มีลูกหลาน และตระกูลอาหรับทั้งปวงก็มาจากท่านนบีอิสมาอีล โดยเฉพาะจากหลานของท่านนบีอิสมาอีลท่านหนึ่งชื่อ อัดนาน เผ่าอาหรับทุกเผ่ามาจากตระกูลอัดนานซึ่งเป็นหลานของท่านนบีอิสมาอีล เล่าเรื่องนี้เพื่อให้รู้ว่าเริ่มต้นมีสองประชาชาติที่อยู่ใกล้เคียงกัน เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน และทุกประชาชาติก็ได้รับการช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าในการสอนสัจธรรม โดยมีนบีและร่อซูลมายังสองประชาชาตินี้ โดยเฉพาะประชาชาติแรกคือ ชาวยิว เป็นลูกหลานของท่านนบีอิสหาก และประชาชาติอาหรับเป็นลูกหลานของท่านนบีอิสมาอีล ชาวยิวมีนบีและร่อซูลมากมาย แต่สำหรับชาวอาหรับไม่ได้รับใครเป็นนบีและร่อซูลนอกจากนบีอิสมาอีล จนถึงท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
[1] การใช้ลักษณนามของรูปเจว็ดว่า "องค์" ถือเป็นการให้เกียรติ ดังนั้นมุสลิมพึงหลีกเลี่ยง
[2] อัลกุรอานระบุว่า "เด็ก" ทำให้ทราบว่าบรรดานบีและร่อซูลบางท่านเริ่มมีบทบาทตั้งแต่ยังเด็ก
[3] ภายหลังมีท่านหญิงซาเราะฮฺ (ภรรยาคนแรกของท่านนบีอิบรอฮีม) ศรัทธาด้วย มีหะดีษบทหนึ่งจากท่านนบีมุฮัมมัด รายงานว่า ท่านนบีอิบรอฮีมเคยพูดกับท่านหญิงซาเราะฮฺว่า "ไม่มีใครในโลกใบนี้ที่ศรัทธาในอัลลอฮฺ นอกจากเราสองคน"
ที่มา : เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, 2547-01-02 ชีวประวัติท่านนบีมุฮัมมัด 01 (ทับช้าง)
https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/20223
บทความที่น่าสนใจ
- ประวัตินบีนูฮ์ น้ำท่วมโลก
- ชีวประวัติ นบีอัยยูบ ผู้มีความอดทนยอดเยี่ยม
- เรือนบีนั๊วะหรือเรือโนอาห์
- เรื่องราวของ กอรูน ผู้ถูกทดสอบด้วยทรัพย์สมบัติ
- ประวัติย่อของท่านนบีนัวะห์
- ประวัติย่อของนบีอิสมาอีล สู่การทำพิธีฮัจย์
- ท่านอุมัรกับการมอบหมายที่ถูกต้อง
- ใครคือ มุหัมมัด ?
- ความลับของดุอาอฺนบียูนุส ขณะที่ท่านอยู่ในท้องปลาใหญ่
- ประวัตินบีฮูด (อ.) เรื่องราวของนบีฮูดกับประชาชาติที่ถูกลงโทษ
- ชีวประวัตินบีอิสฮากและนบียะกู๊บ
- เชื้อสายนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลาม พร้อมประวัติแบบย่อ
- ชื่อลูกของท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.)
- นบียูนุส ในท้องปลากี่วัน ประวัตินบียูนุส ย่อ
- ประวัติ นบีซะกะรียา อะลัยฮิสสลาม
- ประวัตินบีนูห์ อะลัยฮิสสลาม (โนอาห์) ฉบับในคำภีร์อัลกุรอาน
- รู้หรือไม่ ทำไมท่านนบีมูฮำหมัด (ซ.ล) มีภรรยาถึง 12
- ชีวประวัติ ท่านนบีอาดัม อะลัยฮิสสลาม
- ประวัตินบีมูซา นักวิทย์ฯยอมรับ เคยข้ามทะเลแดงจริงตามคัมภีร์ระบุ
- ประวัติ นบีอิบรอฮีมและการทำกุรบาน ที่ปรากฎอยู่ในคัมภีร์กุรอาน
- ประวัตินบีนัวะห์แบบย่อ ซากเรือ นบีนัวะห์ ความจริงจากอัลกุรอาน
- ประวัตินบีลูฏ (โลฏ)
- ประวัตินบีนุหฺ ชัยฏอนในเรือของนบีนูหฺ
- ประวัตินบียะห์ยาเเละการเสียชีวิต
- ประวัตินบีซอและห์ แบบย่อเข้าใจง่าย