มัสยิดอัลนะบะวีย์ หรือที่เราเรียกว่า มัสยิดนบี เป็นมัสยิดที่ท่านศาสดานบีมูฮัมหมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทรงสร้างกับบรรดาซอฮาบะห์ของท่าน
หัวใจของมัสยิดอัลนาบาวีคือบริเวณที่เราเรียกว่า "เราเฎาะห์"
มัสยิดอัลนะบะวีย์ เป็นมัสยิดที่ท่านนบี(ซ.ล.) สร้างกับบรรดาซอฮาบะห์ของท่าน โดย อาจารย์ประสาน (ซารีฟ) ศรีเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักจุฬาราชมนตรี เป็นผู้ให้ข้อมูล
มัสยิดอัลนะบะวีย์ หรือที่เราเรียกว่า มัสยิดนบี เป็นมัสยิดที่ท่านศาสดานบีมูฮัมหมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทรงสร้างกับบรรดาซอฮาบะห์ของท่าน รอฎิยัลลอฮุอันฮุม เมื่อตอนที่ย้ายมาจากเมืองมักกะห์มาอยู่ที่มาดีนะห์ใหม่ๆ เป็นมัสยิดที่เกิดขึ้นบนรากฐานของความตักวา (ยำเกรง) มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากมัสยิดอัลหะรอมที่เมืองมักกะห์
มัสยิดอัลนะบะวีย์ เป็นมัสยิดที่โอ่อ่าอลังการณ์มาก เสามีอยู่ 2,104 ต้น แต่ละต้นตกแต่ง ประดับประดาไปด้วยทอง ดูแล้วตื่นตาตื่นใจมาก ภายในติดแอร์เย็นฉ่ำ มีหลังคาส่วนที่เรียกว่าโดมเป็นรูปลูกปิงปองครึ่งซีกครอบอยู่ 27 โดม เขียนลวดลายสวยงามมาก แต่ละโดมมีพื้นที่ประมาณ 10x10 เมตร หนัก 80 ตัน เลื่อนปิดเปิดด้วยระบบไฟฟ้า และยังมีส่วนที่เป็นร่มเปิดปิดได้ด้วยระบบไฟฟ้าเช่นกันอีก 12 ร่ม (เฉพาะตัวมัสยิดไม่เกี่ยวกับรอบอาคารมัสยิดซึ่งมีจำนวนมาก) ชั้นจอดรถใต้ดินมีสองชั้น จอดได้สี่พันกว่าคัน บนดาดฟ้าจุคนประมาณเก้าหมื่นกว่าคน แต่น่าเสียดายตอนเราไปเขาไม่เปิดโอกาสให้ขึ้นไป ทั้งหมดรวมบริเวณลานด้านนอกจุคนได้เจ็ดแสนกว่าคน ในเทศกาลฮัจย์ที่มีผู้คนหนาแหน่นสามารถได้ทั้งหมดในคราวเดียวกันประมาณ 1 ล้านคน
ถ้าฝนตกหรือแดดออกโดมจะปิด เวลาอากาศดีๆ โดมจะถูกเปิด นั่งแล้วโล่งสบาย ตกตอนเย็นจะมีคนชอบไปนั่งใต้โดมเพื่อคอยดูเวลาโดมเลื่อนเปิด พื้นภายในเป็นหินอ่อนแต่เขาจะปูพรมเต็มเกือบตลอด ถ้าเป็นวันศุกร์จะมีชาวเมืองมาละหมาดวันศุกร์ด้วย บนลานด้านนอกเขาก็จะปูพรมเต็มพื้นที่เลย ที่นี่สถาปนิกเขาออกแบบได้เนี้ยบมาก ในอาคารไม่เห็นหลอดไฟเลย นอกจากโคมไฟประดับเท่านั้น ช่องแอร์จะหลบอยู่ในเสาทุกต้นดูไม่ออก จะทราบก็ต่อเมื่อเอามือไปอังตรงลวดลายที่ประดับอยู่ที่เสา ภายในมัสยิดมีคูลเลอร์ใส่น้ำเย็นตั้งเป็นจุดๆ
การเข้าละหมาดที่นี่จะแยกพื้นที่กันระหว่างผู้หญิงผู้ชาย การเข้าเยี่ยมกุโบร์นบีสำหรับสภาพสตรีเขาจะเปิดแค่วันละสองรอบ คือตอนเช้าประมาณแปดโมงกับตอนบ่ายประมาณบ่ายสอง เขาจะแบ่งเป็นประเทศๆ พวกตัวใหญ่ๆ เช่นอิหร่าน หรือแถบตะวันตกจะให้อยู่กลุ่มหนึ่ง อัฟริกากลุ่มหนึ่ง โซนเอเชียเช่นอินโดฯ มาเลย์ ไทย จะอยู่กลุ่มหนึ่ง และมีอีกหลายๆกลุ่ม จะมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบแต่ละกลุ่ม ถือป้ายยืนปักหลักอยู่บริเวณหนึ่ง พอได้เวลาเจ้าหน้าที่ก็พาเข้าเยี่ยม ทิ้งช่วงสักพัก ก็จะมีกลุ่มอื่นตามเข้าไป หมุนเวียนกันเข้าออก ต้องทยอยกันเข้า เราอยู่ในบริเวณนี้ประมาณ 30 นาทีก็ต้องออก กลุ่มใหม่ก็เข้าไปแทน
บริเวณนี้ เป็นจุดที่เบียดเสียดแย่งกันเข้ามากที่สุดจุดหนึ่ง เพื่อให้ได้ใกล้ชิดบริเวณที่เราเรียกว่า“เราเฎาะห์” ให้มากที่สุด เราเฎาะห์คือบริเวณที่อยู่ระหว่างบ้านของท่านนบีครั้งยังมีชีวิตอยู่กับมิมบัร (แท่นสำหรับนั่งเทศนา) จะอยู่บริเวณด้านข้างของกุโบร์ กิจกรรมที่ทำบริเวณนี้คือการละหมาดและขอดุอาอฺ(ขอพร)จากอัลลอฮฺ(ซบ.)ให้ได้มากและสมบูรณ์ที่สุด เรียกได้ว่าหัวใจของมัสยิดอัลนาบาวีย์ คือบริเวณที่เราเรียกว่า "เราเฎาะห์" นั่นเอง
ในด้านความสำคัญและการละหมาดในมัสยิดนบีจะมีผลเป็นทวีคูณ และเป็นหนึ่งในสามมัสยิดที่ศาสนาส่งเสริมให้ไปเยี่ยม โดยมีหะดิษซอเฮี๊ยะห์ในบันทึกของมุสลิม ความจากอบีฮุรอยเราะห์ (ร.ด.) รายงานจากท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) ความว่า “ต้องไม่เดินทาง (เพื่ออิบาดะห์) นอกจากจะไปยัง 3 มัสยิด : มัสยิดหะรอม มัสยิดฉันนี้ (มัสยิดนบี) และมัสยิดอัลอักศอ”
การละหมาดในมัสยิดนบี จะได้กุศลทวีคูณถึง 1,000 เท่า ท่านนบี(ซ.ล.) กล่าวในบันทึกของมุสลิม ความว่า “ละหมาดในมัสยิดฉันนี้ ดีกว่าละหมาดที่มัสยิดอื่นๆ ถึงหนึ่งพันละหมาด นอกจากมัสยิดหะรอม”
การละหมาดฟัรดูในมัสยิดนบี 40 เวลา ต่อเนื่องกัน จะได้กุศลพิเศษ 3 ประการ ดังท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) กล่าวจากรายงานของอะนัส บินมาลิก (ร.ด.) ความว่า “ผู้ใดละหมาดในมัสยิด 40 ละหมาดโดยต่อเนื่องทุกเวลา เขาย่อมได้รับการบันทึกไว้ ซึ่งการพ้นจากนรก, พ้นจากการทรมาน และพ้นจากการเป็นคนสับปรับ(มุนาฟิก)”
การเยี่ยมมัสยิดนบี
โดยมารยาทแล้วเมื่อถึงยังเมืองมาดีนะห์ สิ่งแรกที่ควรจะกระทำคือ การไปละหมาดที่มัสยิดนบี เมื่อไปมัสยิดควรเดินไปอย่างสำรวม สงบ และตั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ เมื่อถึงมัสยิดให้เริ่มก้าวเท้าขวาเข้ามัสยิด พร้อมกับกล่าวดุอาอฺ และเมื่อที่เราเฎาะห์มีที่พอละหมาดได้ ให้เข้าไปละหมาดเคารพมัสยิดที่นั่น 2 รอกาอัต แต่ถ้าไม่สามารถจะละหมาดในเราเฎาะห์ได้ก็ให้ละหมาดในมัสยิดตรงไหนก็ได้ เมื่อแล้วเสร็จจากการละหมาดเคารพมัสยิดให้มุ่งยังห้องของท่านนบีอันเป็นสุสานของท่าน โดยหันหน้ายังสุสานของท่านแล้วให้สลามอย่างน้อยว่า “อัสสลามุอะลัยก่า ยารอซูลั้ลลอฮ์” จากนั้นควรให้สลามกับสาวกศาสดาอีกสองท่านคือ ท่านอะบูบักร์และท่านอุมัร (รอฎิยั้ลลอฮุอันฮุมา)
นอกจากมารยาทที่กล่าวแล้วในการเยี่ยมมัสยิดนบี ควรรักษามารยาทอีกคือ
1. ควรมีการศอละวาต(ให้พร)ต่อท่านนบีให้มาก ๆ
2. ต้องไม่ส่งเสียงดังในมัสยิดนบี เพราะเป็นข้อห้ามดังอัลลอฮฺ(ซบ.) ทรงตรัสในกุรอาน ความว่า “บรรดาศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าได้ขึ้นเสียงของพวกเจ้าเกินเสียงของท่านนบี และพวกเจ้าอย่าได้พูดจาเสียงดังกับท่าน เหมือนกับพูดเสียงดังในหมู่พวกเจ้าที่มีต่อกัน ซึ่งจะมีผลให้กิจการของพวกเจ้าสูญเสียไปด้วยโดยพวกเจ้าไม่รู้ตัว” (อัลหุญุรอต2) เพราะการให้เกียรติท่านนบี(ซ.ล.) นั้นต้องมีทั้งขณะท่านมีชีวิตและเมื่อท่านเสียชีวิตแล้ว
3. ควรทำละหมาดที่มัสยิดนบีทุกเวลา ตราบที่ยังอยู่ในมหานครมาดีนะห์
4. ควรทำละหมาดสุนัตให้มาก (หากมีละหมาดกอฎอควรทำก่อนสุนัต) อ่านอัลกุรอาน และซิกรุ้ลลอฮฺ
5. ควรมีมารยาทต่อคณะเดินทาง ต่อคนอื่นๆ และต่อบุคคลที่ร่วมกิจกรรมด้วย
ต้องเข้าใจว่า “การเยี่ยมมัสยิดนบี” สามารถกระทำได้ตลอดเวลาไม่ว่าก่อนฮัจย์หรือหลังฮัจย์และไม่ว่าจะเป็นเทศกาลฮัจย์หรือไม่ก็ตาม หมายความว่าสามารถเยี่ยมได้ตลอดปี และที่สำคัญการเยี่ยมมัสยิดนบีไม่เกี่ยวข้องกับกิจการฮัจย์ เป็นอิบาดะห์ต่างหากที่ไม่มีผลได้หรือเสียต่อการทำฮัจย์ เพราะการเยี่ยมมัสยิดนบี ไม่ต้องมีการแต่งการชุดเอี๊ยะรามหรือชุดพิเศษใดเป็นการเฉพาะ แต่สามารถแต่งกายได้ตามปกติ
ภาพ: Brunei Islam
ที่มา: www.thaimuslim.com